13 ธ.ค. เวลา 13:33 • ประวัติศาสตร์

LSS-EP2–ตำนานรักมะเมี๊ยะ&เจ้าน้อยศุขเกษม

เรื่องเล่าตำนานความรักของบุตรชายของเจ้าอุปราชเมืองเชียงใหม่ที่ได้ไปพบรักกับแม่ค้าขายบุหรี่ขณะกำลังเดินเที่ยวตลาด และทั้งสองได้ให้สัตย์สาบานต่อกันว่าจะรักกันตลอดไปและจะไม่ทอดทิ้งกัน หากผู้ใดทรยศ ก็ขอให้ผู้นั้นอายุสั้น และนี่คือจุดเริ่มต้นโศกนาฏกรรมตำนานความรักระหว่างมะเมี๊ยะและเจ้าน้อยศุขเกษม
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนนะครับว่าเรื่องราวที่กระผมกำลังจะเล่าต่อจากนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้นะครับ ว่ามีความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน และตัวละครในตำนานรักเรื่องนี้แท้จริงแล้วคือใครกันแน่?
เรื่องราวเหล่านี้ว่ากันว่ามาจากบันทึกของเจ้าบัวนวลอดีตคู่หมั้นคนแรกของเจ้าน้อยศุขเกษมที่ภายหลังได้ถอนหมั้นไป และผู้ที่นำเรื่องราวเหล่านี้มาถ่ายทอดก็เป็นเจ้าบัวชุมชายาของเจ้าน้อยศุขเกษม แต่เป็นที่โด่งดังรู้จักมาจากการที่คุณปราณี ศิริธร ณ พัทลุง นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ชาวเชียงใหม่ ได้เขียนลงในหนังสือเพ็ชรล้านนา และชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่
เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2411 ช่วงปลายๆรัชกาลที่ 4 - ต้นรัชกาลที่ 5 เจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าเมืองเชียงใหม่ถึงแก่พิราลัย เจ้าแก้วนวรัฐซึ่งดำรงตำแหน่งอุปราชเมืองเชียงใหม่ยังไม่รู้ว่าสยามจะตั้งใครขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่คนต่อไป ได้ทำการส่งบุตรชายแต่ข้อมูลบางแหล่งก็อ้างว่าเป็นหลานชาย นามว่าเจ้าอุตรการโกศลหรือเจ้าน้อยศุขเกษม ณ เชียงใหม่ ในวัย 15 ปี ไปเรียนโรงเรียนเซนต์แพทริกโรงเรียนกินนอกชายล้วน คาทอลิก ที่เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า
เจ้าน้อยศุขเกษมเรียนหนังสืออยู่ที่นั่นผ่านไป 4 ปี วันหนึ่งขณะที่กำลังเดินเที่ยวในตลาดก็ไปพบกับแม่ค้าขายยามวนหรือบุหรี่นางหนึ่งอายุอ่อนกว่า 4 ปี หน้าตาสละสวยนามว่ามะเมี๊ยะแปลว่ามรกต ทั้งสองตกหลุมรักซึ่งกันและกัน และได้ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภรรยาภายใต้การสนับสนุนของทางบ้านมะเมี๊ยะ โดยทั้งสองได้ไปสาบานต่อกัน ณ ลานหน้าพระธาตุใจ้ตะหลั่นอันเป็ที่เคารพสูงสุดของชาวเมืองว่า จะรักกันตลอดไปและจะไม่ทอดทิ้งกันและกัน หากผู้ใดทรยศต่อความรักที่มีให้กัน ก็ขอให้ผู้นั้นอายุสั้น
ผ่านไป 1 ปี เมื่อเจ้าน้อยศุขเกษมอายุครบ 20 ปี จบการศึกษาก็มีถูกเรียกตัวกลับเมืองเชียงใหม่ ด้วยความรักทำให้มะเมี๊ยะปลอมตัวเป็นชายติดตามขบวนกลับของเจ้าน้อยศุขเกษมกลับเชียงใหม่ด้วย และให้คนสนิทและคนติดตามช่วยกันปกปิดเป็นความลับ แต่เมื่อกลับมาถึงเชียงใหม่ทั้งสองก็พบว่าพ่อและแม่ของเจ้าน้อยฯได้ทำการหมั้นหมายเจ้าน้อยไว้กับเจ้าบัวนวลลูกสาวของเจ้าสุริยวงษ์ไว้ก่อนแล้วตั้งแต่ปีที่เจ้าน้อยเดินทางไปเรียนที่พม่า แม้ว่าภายหลังเจ้าบัวนวลได้ขอถอนหมั้นไปเพราะทราบเรื่องของมะเมี๊ยะ
เจ้าน้อยศุขเกษมคิดใคร่ครวญอยู่หลายวัน ด้วยความรักที่มีต่อมะเมี๊ยะอย่างล้นเหลือจึงตัดสินใจบอกเล่าความจริงให้พ่อแม่ฟัง โดยหวังว่าพ่อกับแม่จะเห็นใจในความรักที่ทั้งสองคนมีแต่กัน แต่ทว่าเรื่องราวกลับไม่ง่ายเสียแล้ว เมื่อพ่อกับแม่ของเจ้าน้อยศุขเกษมไม่ยอมรับมะเมี๊ยะเป็นสะใภ้และสั่งให้ส่งตัวกลับทันที สาเหตุหนึ่งก็เนื่องมาจากชาติตระกูลแต่อีกสาเหตุหนึ่งก็เป็นเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ
เนื่องจากเวลานั้นพม่าถือเป็นอาณัติของอังกฤษ การที่มะเมี๊ยะซึ่งถือเป็นคนใต้บังคับของอังกฤษ หากตบแต่งเป็นภรรยาออกหน้าออกตากับเจ้าน้อยศุขเกษมซึ่งภายหน้ามีโอกาสจะได้ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่เนื่องจากบิดาเป็นอุปราชมีโอกาสได้ครองเมืองเป็นคนถัดไปและตัวเขาก็เป็นบุตรชายของอุปราชก็จะมีโอกาสครองเมืองต่อ อาจจะทำให้อังกฤษถือโอกาสเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง และอาจจะกระทบชิ่งส่งผลให้ล้านนามีปัญหากับสยามอีกด้วย ซึ่งตอนนั้นล้านนาภาคเหนือของไทยในปัจจุบันกับสยามยังไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแบบทุกวันนี้
จากเรื่องความรักของคนสองคนกลับกลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ทำให้มะเมี๊ยะเห็นแก่ความลำบากของเจ้าน้อยศุขเกษมและเมืองเชียงใหม่ จึงจำเป็นต้องยอมกลับมะละแหม่งแต่โดยดีเป็นที่มาของฉากการร่ำลาที่โด่งดัง ว่ากันว่าเย็นวันก่อนที่มะเมี๊ยจะถูกส่งกลับพ่อและแม่ของเจ้าน้อยฯได้ทำการนิมนต์พระมาทำพิธีรดน้ำมนต์เรียกขวัญเจ้าน้อยฯ เพราะเชื่อว่าถูกมะเมี๊ยะทำของให้หลงใหล
เช้าวันออกเดินทางกลับบรรยากาศเต็มไปด้วยความเศร้า เจ้าน้อยศุขเกษมสวมกอดมเมี๊ยะด้วยความอาลัยพร้อมทั้งย้ำคำสัตย์สาบานที่เคยให้ไว้ว่าจนกว่าชีวิตจะหาไม่จะไม่นอกใจมะเมี๊ยะไปสมรสกับหญิงอื่นเด็ดขาด หากผิดจากนี้ขอให้ชีวิตตนเองประสบแต่ความทุกข์ทรมานใจ แม้แต่อายุก็จะไม่ยืนยาว และภายใน 1-3 เดือนจะหาทางกลับไปหามะเมี๊ยะให้จนได้
1
มะเมี๊ยะได้ฟังคำมั่นสัญญาจากคนรักก็คุกเข่าลงไปกับพื้น ก้มกราบเจ้าน้อยฯพร้อมสยายผมออกเช็ดเท้าเจ้าน้อยฯด้วยความอาลัย มะเมี๊ยะกระโดดลงหลังช้างสวมกอดเจ้าน้อยหลายต่อหลายครั้งไม่ยอมจากไปโดยง่าย จนสายเลยเวลาเป็นเหตุให้ต้องถูกตักเตือนจึงจะยอมจากไป
ความงามของมะเมี๊ยะเลื่องลือไปทั่วเมือง ว่ากันว่าวันที่มะเมี๊ยะเดินทางกลับชาวบ้านชาวเมืองต่างแห่มารอดูความงามของมะเมี๊ยะที่ประตูหายยาหรือประตูไหยา 1 ใน 5 ประตูเมืองเชียงใหม่กันอย่างเนืองแน่น ตรงนี้มีเกร็ดที่น่าสนใจอยู่ว่าประตูหายยาเป็นประตูที่ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ชาวเชียงใหม่เชื่อกันว่าเป็นประตูผีเนื่องจากตั้งอยู่ตำแหน่งกาลกิณีเมือง เมื่อก่อนถูกใช้เป็นประตูเคลื่อนศพมาณาปนกิจที่สุสานหายยา
หลังจากที่มะเมี๊ยะกลับมาถึงมะละแหม่งก็เฝ้ารอเจ้าน้อยศุขเกษมอยู่ทุกวันแต่ก็ไร้วี่แววข่าวคราวหรือการติดต่อใดๆ จนเลยกำหนดตามที่เจ้าน้อยให้คำสัตย์ไว้ มะเมี๊ยะเสียใจมากและเพื่อต้องการแสดงออกถึงความรักความซื่อสัตย์ที่นางมีให้แต่เพียงเจ้าน้อยศุขเกษมเท่านั้น นางจีงตัดสินใจบวชชีที่วัดใจ้ตะหลั่น วัดที่เจ้าน้อยศุขเกษมและมะเมี๊ยะเคยได้ให้สัตย์สาบานกันเอาไว้
ภายหลังที่มะเมี๊ยะบวชเป็นแม่ชีแล้วไม่ทราบระยะเวลาว่าเนิ่นนานแค่ไหน แม่ชีมะเมี๊ยะได้ข่าวว่าเจ้าน้อยศุขเกษมได้ทำการแต่งงานกับเจ้าบัวชุม หญิงผู้สูงศักดิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผิดคำสัตย์สาบานและคำสัญญาที่เคยให้ไว้กับมะเมี๊ยะ
เมื่อแม่ชีมะเมี๊ยะทราบข่าวจึงออกเดินทางไปยังเมืองเชียงใหม่ขอพบเจ้าน้อยฯเป็นครั้งสุดท้าย แต่เจ้าน้อยศุขเกษมไม่ยอมออกมาพบแต่อย่างใด กลับส่งให้พี่เลี้ยงคนสนิทเป็นคนมาพบแทนพร้อมมอบเงินส่วนหนึ่งและแหวนทับทิมให้กับแม่ชีมะเมี๊ยะ
ว่ากันว่าเจ้าน้อยศุขเกษมที่ทำแบบนี้เพราะรู้สึกผิดที่ผิดคำสัญญาและสัตย์สาบาน อีกทั้งไม่อาจจะหักห้ามใจในความอาลัยรักและความสงสารแม่ชีมะเมี๊ยะได้จึงไม่กล้ามาสู้หน้าเอง และตลอดชีวิตสมรสของเจ้าน้อยฯเองก็ไม่เคยมีความสุขได้เลย ตลอดเวลาหลังสมรสก็กลายเป็นคนติดสุราอย่างหนักด้วยความเสียใจที่ไม่อาจครองคู่กับหญิงที่ตนรักได้ และหลังจากนั้น ปี 2456 ในวัย 33 ปี เจ้าน้อยศุขเกษมก็ตรอมใจเสียชีวิต
ส่วนแม่ชีมะเมี๊ยะหลังจากที่เจ้าน้อยศุขเกษมไม่ยอมพบหน้า ก็เสียใจอย่างมากตัดสินใจเดินทางกลับมะละแหม่งและใช้ชีวิตที่เหลือในฐานะแม่ชีมะเมี๊ยะจนสิ้นอายุขัย ปี 2505 รวมอายุได้ประมาณ 75 ปี
ภายหลังได้มีการตามรอยสืบหาความจริงโดยการสอบถามกับชาวบ้านผู้อาวุโสที่อยู่แถวประตูไหยามาตั้งแต่ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ร่ำลาระหว่างเจ้าน้อยศุขเกษมกับมะเมี๊ยะ พบว่าไม่มีชาวบ้านท่านไหนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงนั้นเคยได้ยินเรื่องนี้ หรือแม้แต่เคยได้ยินชื่อเจ้าน้อยศุขเกษมหรือมะเมี๊ยะก็ตาม
ต่อมาเคยมีการไปสอบถามพระที่วัดไจ้ตะหลั่น วัดที่ว่ากันว่ามะเมี๊ยะได้หนีมาบวชและใช้ชีวิตที่เหลือที่นี่ ซึ่งพระที่วัดนี้ได้เล่าว่าวัดแห่งนี้เคยมีแม่ชีชื่อนางข่องหรือปาระมีบวชและอาศัยอยู่ที่นี่แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นชาวไทยใหญ่ กะเหรี่ยง หรือชาวอะไร เวลาว่างมักจะทำการม้วนบุหรี่ให้น้องชายเอาไปขาย แต่ก็ไม่สามารถหาอะไรมายืนยันได้มากกว่านี้ได้ว่าแม่ชีท่านนี้คือมะเมี๊ยะจริง
เรื่องราวความรักของเจ้าน้อยศุขเกษมได้ถูกนำมาทำเป็นบทประพันธ์นิยาย ละครก็เคยทำมาแล้ว และอาจารย์จรัล มโนเพ็ชรยังได้แต่งเพลงบอกเล่าเรื่องราวและความเศร้าของความรักของทั้งคู่อีกด้วย
#มะเมี๊ยะ #ประวัติศาสตร์ #เจ้าน้อยศุขเกษม #ที่นี่มีเรื่องเล่า #history
โฆษณา