14 ธ.ค. เวลา 03:46 • ไลฟ์สไตล์
เทศบาลนครเชียงราย

EP. ๓ : การป่วยไข้

ช่วง ๑๐ - ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ เข้ารับการผ่าตัดเท้าแบนเพื่อจัดกระดูกและเย็บเอ็นที่ยืด นี่เป็นครั้งที่ ๒ ที่เข้าสู่สมรภูมิความเจ็บป่วย หลังจากผ่าตัดไส้ติ่งเมื่อ ๑๐ ปีก่อน เราได้เรียนรู้ "ความเจ็บ" อีกครั้งจากการเลือกบล็อกหลังเพื่อฉีดยาชาแทนการดมยาสลบ เพราะอยากเรียนรู้การอยู่กับปัจจุบันขณะ การวางใจ ดูอารมณ์ของตน เหล่านี้เหมือน
เราว่าเราก็เป็นนักปฏิบัติแค่ชั้นเตรียมอนุบาล เพียงแต่มีความมุ่งมั่นเพียรพยายามอยู่กับปัจจุบันขณะตามลมหายใจ มีเผลอขุ่นใจอยู่บ้างที่การผ่าตัดนี้ไม่แล้วเสร็จสักที
เมื่อพักฟื้นจากการผ่าตัด ช่วงที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เราก็ทำตามคำที่หมอ พยาบาล รวมถึงนักกายภาพบำบัดบอกอย่างเคร่งครัด ทำด้วยใจเบิกบาน มุ่งมั่น ไม่เกียจคร้าน ไม่งอแง อยู่อย่างนั้น ๓ วัน หมอถึงอนุญาตให้ออกไปรักษาตัวที่บ้านได้
ช่วงอยู่ที่บ้านก็ยังคงดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด พอเราทำด้วยใจเบิกบาน ร่างกายก็ดีขึ้น ช่วยเหลือตัวเองได้บ้างตามกำลัง คนดูแลก็บอกว่าดูแลง่าย ไม่มีปัญหา เว้นอยู่เรื่องเดียวที่ต้องขอให้คนอื่นช่วยจริง ๆ ก็คือการสระผม
การผ่าตัดผ่านไป ๑๒ วันแล้ว วันนี้เราเริ่มรู้สึกหงุดหงิดกับสิ่งที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะข้อเท้าที่ดามเฝือก เรายังความเคร่งครัดในการกินยา แต่นอกนั้นก็ทำด้วยใจขุ่นมัว รำคาญเฝือกที่ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันยากขึ้น ไม่คล่องตัว แถมต้องคอยระวังเฝือกไม่ให้โดนน้ำ
เราหงุดหงิดรำคาญตัวเองแบบนี้อยู่ ๒ วัน เลยคิดว่าน่าจะต้องใช้ธรรมะเข้าช่วยแล้วล่ะ
พยายามดูความไม่ปกติของขา ยืนเดินนั่งนอน มีความเจ็บปวดเกิดขึ้น ก็ดูอาการของมันไป แต่ใจยังหงุดหงิดขุ่นมัวอยู่ เลยย้ายมาอยู่กับลมหายใจ ตามลมหายใจ ตลอดเท่าที่จะระลึกได้ และพิจารณาว่าร่างกายของเรานี้ไม่เที่ยง เราบังคับไม่ได้ ในขณะที่เพียรดูเพียรทำ ก็เปิด YouTube ไปเจอคำสอนของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช เกี่ยวกับ " วิธีดูกาย - เวทนา - จิต " ที่ท่านเทศนาไว้ ณ วัดสวนสันติธรรม ๑๒ มกราคม ๒๕๖๓
หลวงพ่อท่านว่าถ้าจะดูกายให้ทำอาณาปาณสติก่อน มีสติเห็นว่าร่างกายเคลื่อนไหวหรือหยุดนิ่ง หรือดูร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ซึ่งวิธีการฝึกดูกายนี้อาจจะยากเกินไปสำหรับมือใหม่ เราก็เห็นตามท่านว่า เพราะเราเองลองแล้วก็ทำไม่ได้
ในคลิปนั้นหลวงพ่อบอกต่ออีกว่าสิ่งที่มือใหม่น่าจะเริ่มต้นได้คือดูเวทนาทางใจ ดูว่าขณะนี้ใจเราสุข ทุกข์ หรือว่าเฉย ๆ เมื่อดูเวทนาทางใจไปทั้งวัน เราจะเห็นว่าสุข ทุกข์ เฉย ๆ เป็นสิ่งไม่เที่ยง มันเกิดแล้วก็ดับอยู่ตลอดเวลา
ยังมีเรื่อง จิตตานุปัสนา ที่หลวงพ่อสอนว่าให้พิจารณากิเลสที่แรงที่สุดของเรา หากโทสะแรงก็ใช้โทสะกับไม่มีโทสะ โมหะแรงก็ใช้โมหะกับไม่มีโมหะ โลภะแรงก็ใช้โลภะกับไม่มีโลภะ จับคู่ตรงข้ามกันไปตามประเภทกิเลสของเรา
สรุปว่าการดูเวทนาทางกาย หลวงพ่อยังไม่แนะนำสำหรับมือใหม่ เพราะเราประสบการณ์การปฏิบัติของเราอาจยังน้อย ให้ลองดูเวทนาทางใจก่อน ดูความสุข ความทุกข์ ความเฉย ๆ ทีมันเกิดแล้วก็ดับอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหลักการทางพุทธศาสนาก็เรียกสิ่งเหล่านี้ว่า อนิจจัง กับ อนัตตา ส่วนการดูเวทนาทางจิต ก็เป็นเรื่องความรู้สึกที่อยู่ลึกลงไปในใจ ก็เป็นสิ่งที่เรียกว่า กิเลส นี่แหละ
ถ้าตอนนี้เรากำลังเจ็บป่วยหนัก ให้เราดูอาการเจ็บป่วยทางกายควบคู่กับใจที่เป็นทุกข์ แล้วจะเห็นความไม่เที่ยง ทำให้เกิดสติรู้ทันใจที่ทุรนทุราย แต่ไม่ต้องไปคิดแก้ไขอะไร แค่ให้รู้เฉย ๆ ดูจิตอย่างเดียว แล้วจะเกิดการตระหนักรู้ว่ากายและจิตไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เขาแยกกัน ตัวเราเป็นเพียงผู้ดูเท่านั้น
เมื่อดูเวทนาทางใจไปสักพัก สภาพจิตใจของเราจะเริ่มเป็นกลาง คือเกิดปัญญาเห็นว่า ความทุกข์ ความสุข ก็จะเกิดและดับอยู่อย่างนั้นตลอดเวลานั่นแหละ
ถ้าเราฝึกพิจารณาแบบนี้เนือง ๆ ก็จะเกิดปัญญาในขั้นที่สามารถแยกนาม แยกจิตได้ แต่ก็ต้องใช้เวลาเพื่อเพิ่มประสบการณ์ ซึ่งการดูเวทนาทางใจนี้ทำได้ตลอดเวลาที่เราสามารถระลึกตัวได้ว่าเรากำลังฝึกพิจารณาสิ่งเหล่านี้อยู่
มาถึงตอนนี้ ตัวเราเองก็ยังงู ๆ ปลา ๆ เรื่องการฝึกดูกาย - เวทนา - จิต แต่ก็ยังเพียรพยายามทำอยู่เนือง ๆ ตามความระลึกรู้ได้อย่างพระท่านว่านั้นแล
โฆษณา