14 ธ.ค. เวลา 14:05 • ดนตรี เพลง

[รีวิวอัลบั้ม] GNX - Kendrick Lamar >>> สตาร์ทเครื่องคารวะ

-ถ้ายังจำรีวิว Mr.Morale and The Big Steppers ได้ ผมเขียนทิ้งท้ายหลังจากที่ตกผลึกหลังฟังอัลบั้มนั้นจบไว้ว่า “ผลงานต่อๆไปน่าจะทิ้งช่วงยาว แล้วกลับมาด้วยภาษาพิเศษ ประเด็นพิเศษที่ต้องตีความอีกชั้น เหนือกว่าภาษาสามัญไปแล้ว” กลับกลายเป็นว่า ผมทำนายผิดหมดทุกตรงเลย เป็นเซอร์ไพร์สอัลบั้มที่กลับมาด้วยภาษาที่ง่ายกว่านั้น โดยที่ไม่ต้องอาศัยการตีความหลายชั้นแบบสามอัลบั้มก่อนด้วยซ้ำ ชิวล์สุด แถมย่อยง่ายเหลือเกิน
-การกลับมาโลดแล่นด้วยเหตุผลแห่งการลงสนาม beef กับ Drake จนเป็นที่ฮือฮาด้วย 1 verse ในเพลง Like That ของ Future & Metro Boomin’ ตามด้วยเพลงดิส 4 ซิงเกิ้ล (euphoria, 6:16 in LA, Meet The Grahams และ Not Like Us) แน่นอนครับว่าศึก beef รอบนี้ในสายตาของชาวฮิปฮอปดูเหมือนจะได้ผู้ชนะตั้งแต่ยังไม่เริ่มศึกเลยด้วยซ้ำ
-ถึงแม้ว่า Kendrick จะแพ้ในเรื่องยอดขาย แต่ผลงานที่ผ่านมาของเขาก็ถูกยอมรับในความเฉียบคมมากกว่า Drake อยู่แล้ว Diss ในแบบที่ไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรมากนอกจากการอาศัยจังหวะเวลาที่ต้องตีเหล็กตอนร้อน แค่ต้องปั่นงานกับซาวน์ดเอ็นจิเนียร์กันให้วุ่นเพื่อให้เกิดการ update อย่างรวดเร็วก็เท่านั้น
-ผลตอบรับโดยเฉพาะ Not Like Us ก็เป็นประจักษ์แล้วว่ามัน massive hit ที่สุดในปีนี้ มีประสิทธิภาพจน viral ไม่ถึง 24 ชั่วโมงแบบ organic อีกทั้ง Drake ต้องออกมาดิ้นมากขนาดไหน แถมยังได้รับเลือกให้ไปเป็นศิลปินเล่นโชว์พักครึ่งของ Superbowl ในปี 2025 ที่จะถึงนี้ด้วย เดี๋ยวมีขยายความความรู้สึกที่ได้รับคัดเลือกเพิ่มเติมในแทร็คเปิดอัลบั้มในย่อหน้าถัดๆไป
-รูปโฉมใน era ใหม่นี้ช่างเรียบง่ายและ flex มากที่สุดของ Kendrick แล้วล่ะครับ ปกอัลบั้มที่ผ่านมาเน้นทางศิลป์ซะเยอะ แม้กระทั่ง good kid m.A.A.d city ก็มีรถแวนสีดำ ซึ่งอัลบั้มนั้นเน้นบริบทเล่าเรื่องมากกว่าอวดมั่งอวดมี สำหรับ GNX แทบจะไม่มีอะไรซับซ้อนไปมากกว่าการจงใจ pay homage ถึง west coast hip hop ที่เอารถแต่งคลาสสิคมาโยกๆในเอ็มวีกันอย่างคุ้นตา ถ้านึกออกอีกไวๆก็ชวนให้นึกถึงปกอัลบั้ม Vol.2…Hard Knock Life ของ Jay-Z และ The Carter II ของ Lil Wayne ที่ถ่ายคู่กับรถหรูคันดำเช่นกัน
-เหนือสิ่งอื่นใด Kendrick ไม่ได้ตั้งชื่ออัลบั้มตามรุ่นของรถ Buick คันโปรดเพียงลอยๆเท่านั้น ตามประวัติศาสตร์ของยานยนต์ Buick Grand National Regal GNX ถือกำเนิดขึ้นในปี 1987 ซึ่งเป็นปีเกิดของ Kendrick Lamar อีกด้วย นี่จึงเป็น fact ที่ยังคงแสดงให้เห็นถึงความลึกซึ้งใน easter eggs ของ Kendrick ที่อยู่นอกเหนือตัวเขาเองอีกเช่นเคย
-GNX ไม่ใช่แค่ชื่ออัลบั้ม แต่ยังเป็นรถคลาสสิคที่ทั้งเครื่องยนต์แรงและเกิดมาพร้อมๆกับ Kendrick นั่นเอง ซึ่งรถ GNX แกก็ซื้อมาเป็นของแกจริงๆตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถ้าใครได้ติดตามไอจีสำรอง jojoruski ก็จะคุ้นๆกับโพสต์ที่แกอวดรถ GNX คันดำนั้นด้วย
-เรียบง่ายในแบบที่ไม่ต้องครอบด้วยคอนเซ็ปท์มากนักเหมือนอัลบั้มที่แล้วมา นี่จึงเป็นคอลเลคชั่นเพลงคารวะฮิปฮอปฝั่ง west coast ที่สามารถฟังได้ไหลไปเรื่อย ไม่สลักสำคัญในแง่เล่าเรื่องใดเรื่องนึง แต่ก็ไม่ได้ให้สนับสนุนฟังแบบ shuffle ซะทีเดียว ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีอะไรให้ขบคิดถึงปรัชญาส่วนตัว และเชื่อมโยงถึงกรณีวิวาทะที่อยู่นอกเหนือจากอัลบั้ม
-โดยเฉพาะกรณีที่ Drake นั้นเดิมเกมส์ beef โคตรพลาดด้วยการปั่นกระแส diss พึ่งตัวช่วย AI Generate เสียงเลียนแบบแรปเปอร์ระดับตำนานอย่าง 2Pac และ Snoop Dogg ในเพลง Taylor Made Freestyle ประหนึ่งอยากล้อเพลง Mortal Man เพลงปิดอัลบั้ม To Pimp A Butterfly ที่ได้นำฟุตเทจคลิปเสียงการให้สัมภาษณ์ของ 2Pac ในปี 1994 มาเป็นส่วนหนึ่งของเพลง Drake ก็โดนฝ่ายอสังหาริมทรัพย์ของ 2Pac ฟ้องกลับไปตามระเบียบ
-ด้วยความอุตลิดที่ใช้เทคโนโลยี AI ในการปลอมแปลงเสียงของคนอื่นคงเป็นสิ่งที่ทุกคนต่อต้านและมองว่าไม่สร้างสรรค์อย่างเห็นพ้องต้องกัน นั่นคงเป็นแรงแค้นลึกๆที่ Kendrick อยากจะสอนมวย Drake ในแบบที่ “อย่าหาว่ากูสอน” ด้วยการทำสิ่งที่อยู่ในร่องกับรอยและการให้เกียรติอันปราศจากการปลอมแปลง เราจึงได้เห็นแก่นความอุดมการณ์มากกว่าการบอกเล่าคอนเซ็ปต์อย่างเป็นเรื่องเป็นราวในอัลบั้มนี้ นั่นจึงไม่ต้องลำบากตีความอะไรมากมาย
-นอกจากรูปโฉมปกอัลบั้มที่คารวะ West Coast Hiphop โต้งๆแล้ว ยังคงทลายกำแพงทางภาษาด้วยการให้ชาว Mexico ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในบทเพลงด้วย เหมือนกับที่พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของถิ่นอาศัยลุงแซมดุจพี่น้องต่างเชื้อชาติภายใต้ชายคาเดียวกัน และนั่นก็ทำให้วัฒนธรรมและภาษา Mexico ได้แทรกซึมอิทธิพลใน Compton บ้านเกิดของ Kendrick มาอย่างช้านาน
ภาพเซลฟี่ Kendrick Lamar และ Deyra Barrera
-เริ่มจาก Deyra Barrera นักร้องสาวชาว Mexico วัย 49 ปี จุดเริ่มต้นที่ Kendrick ได้ค้นพบป้า Deraya มาจากเกมส์แข่งขันเบสบอลของทีม Los Angeles Dodgers ซึ่งจะมีช่วงที่ให้คุณป้า Deraya มาขับขานมารีอาชีเพื่อสดุดีต่อ Fernando Valenzuela นักเบสบอลผู้ล่วงลับในทีม Dodgers ก่อนที่จะเริ่มเกมส์ ซึ่ง Kendrick ก็เป็นหนึ่งในผู้ชมในเกมส์นั้นเกิดความประทับใจในการถ่ายทอดมารีอาชีของป้า Deraya เลยตัดสินใจให้มาเป็นตัวละครปริศนาทำหน้าที่ขับขานบทกลอนภาษาสเปนในที่สุด
-ไม่ใช่แค่ป้า Deraya ที่อยู่ในอัลบั้มนี้เท่านั้น ยังเปิดทางให้แรปเปอร์เชื้อสาย Mexican สองนาย Peysoh และ Lefty Gunplay ได้มาเฉิดฉายปล่อย verse ในอัลบั้มนี้ด้วย
Siento aquí tu presencia
La noche de anoche
Y nos ponemos a llorar
I feel your presence here last night, and we start to cry
ฉันรู้สึกได้ถึงการมีอยู่ของคุณเมื่อคืนนี้ และเราก็เริ่มร้องไห้ขึ้นมา
wacced out murals (Intro)
-นี่คือประโยคภาษาสเปนประโยคแรกที่เราได้ยินจากป้า Deyra ที่ฟังดูเป็นการระลึกผู้วายชนม์ตามธรรมเนียมของมารีอาชี อีกนัยนึงเมื่ออยู่ในเพลงเปิดอัลบั้ม wacced out murals ที่เริ่มต้นอย่างดุดัน บีทสุดแปร๋นกระหึ่มๆ น้ำเสียงสุดเยือกเย็นของ Kendrick
ประโยคข้างต้นคงเป็นการปลุกความ awareness บางอย่างที่ไม่ได้มาในรูปแบบของกลิ่นธูปจากคนบนฟ้าที่เราต่างคิดถึง แต่เป็นสัญญาณด้านลบบางอย่างที่จงใจทำให้ศิลปะแปดเปื้อนหรือเตือนถึงภัยอันตรายบางอย่างที่อาจทำให้ Kendrick จำเป็นต้องออกมาปกป้องศักดิ์ศรีตัวเอง และวิพากษ์วิจารณ์อุตสาหกรรมเพลงในปัจจุบันอีกครั้ง
Yesterday, somebody whacked out my mural
That energy'll make you niggas move to Europe
But it's regular for me, yeah, that's for sure
The love and hate is definite without a cure
wacced out murals (Verse 1)
สำหรับ wacced out murals ได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ที่จิตรกรรมฝาผนังรูปตัวเขาเองข้างร้านอาหารแห่งหนึ่งใน Compton ที่ถูกวาดโดย Gustavo Zermeño ถูกมือดีทำลายงานศิลป์ด้วยการสเปรย์ข้อความอักษรย่อ PK (ย่อมาจาก Piru Killer) เป็นการต่อต้านและป้ายสีไปในตัวด้วยการชี้เป้าว่า Kendrick เลือกข้าง Crips เป็นพวกต่อต้านแก๊งค์ Piru ซึ่งทั้งสองแก๊งค์เป็นอริมาอย่างช้านาน
อย่างที่ทราบกันดี Kendrick ก็แสดงออกชัดเจนแล้วว่า เขาไม่เคยเป็นสมาชิกของแก๊งค์ใดแก๊งค์นึงเลยด้วยซ้ำ ซึ่งจุดยืนนี้มีมาตั้งแต่ที่ลั่นวาจาว่า เขาขอใส่เสื้อขาว ในอัลบั้ม good kid m.A.A.d city และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ชื่อเพลงแทนที่จะใช้คำว่า whack เลยต้องเปลี่ยนเป็น cc แทน เพื่อเลี่ยงบาลี ck ที่อาจถูกตีความว่า crips killer ก็เป็นได้ ต่อให้ในคอนเสิร์ต The Pop Out: Ken & Friends จะมีโมเมนต์สำคัญในการตั้งใจสลายสีเสื้อแก๊งค์แล้วก็ตาม แต่เรื่องแก๊งค์ Crips และ Piru ยังคงละเอียดอ่อนอยู่ เลี่ยงได้ก็ต้องเลี่ยง
สภาพจิตรกรรมฝาผนัง Kendrick Lamar โดย Gustavo Zermeño หลังจากถูกมือปริศนาฉีดสเปรย์บอมบ์ผลงาน
แน่นอนว่า wacced out murals ไม่ได้พูดถึงแค่งานศิลปะจากแฟนเพลงที่ถูกแปดเปื้อนอย่างเดียว นี่คือเพลงที่ยาวสุดในอัลบั้มที่ร่ายยาวความในใจต่อประเด็นปัญหาที่ผ่านมา มีประเด็นให้พูดถึงเยอะเลยครับ สัญญาว่าจะขยายความอะไรยาวๆแค่เพลงนี้เพลงเดียว
Snoop posted "Taylor Made," I prayed it was the edibles
I couldn't believe it, it was only right for me to let it go
wacced out murals (Verse 2)
ศึก beef กับ Drake สุดแสนจะฮือฮาอันมาจากเพลงเจ้าปัญหา Taylor Made Freestyle ซึ่งดันไปโดน Snoop Dogg เต็มๆ แทนที่จะต่อต้านหรือออกมาด่าที่ตัวเองและเพื่อนผู้ล่วงลับโดนปลอมแปลง กลับกลายเป็นมาทำคลิป reaction ผ่าน IG ทันที่อัลบั้มนี้ถูกปล่อยออกไป ป๋า Snoop ก็ทำเนียนด้วยการช่วยโปรโมทอัลบั้มให้ อีกทั้งยังแซวตัวเองว่า It was the edibles เป็นเพราะเมากัญชาจริงๆไอ้น้องชาย
Used to bump Tha Carter III, I held my Rollie chain proud
Irony, I think my hard work let Lil Wayne down
wacced out murals (Verse 2)
นอกจากประเด็นความคับข้องใจที่มีต่อรุ่นพี่ Snoop Dogg แล้ว อย่างที่ผมหยอดไว้ข้างต้น ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ ประเด็นการได้รับเลือกให้แสดงสดในช่วงพักครึ่ง Super Bowl ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของใครหลายคน และเป็นครั้งที่สองถัดจากปี 2022 ที่ขึ้นเวทีร่วมกับ Dr.Dre, Snoop Dogg, Eminem, Mary J. Blige, 50 Cent
แต่การที่ Kendrick ได้รับคัดเลือกในครั้งนี้กลับมีแค่ Nas เท่านั้นที่ร่วมแสดงความยินดี และก็มีใครบางคนไม่พอใจ ซึ่งก็คือ Lil Wayne แรปเปอร์เจ้าถิ่น New Orleans สถานที่จัดศึกเกมส์ Super Bowl ในปี 2025 นั่นเอง
ความคับข้องใจก็ยังคงมีต่อเนื่องกับแรปเปอร์รุ่นพี่ที่ Kendrick นับถือเป็นอย่างมาก ขนาดยุคของ The Carter III ที่รุ่งเรืองจนถึงขีดสุดจนกลายเป็นอัลบั้มฮิปฮอปสุดคลาสสิคที่แฟนเพลงฮิปฮอปทุกนายต้องฟัง Kendrick ก็ไม่พลาดที่จะฟังวนไปจนแทบจะ swag อวดเพื่อนไปทั่วเลยด้วยซ้ำ
ด้วยความที่ Kendrick สามารถไต่เต้าเป็นศิลปินฮิปฮอปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนี้ได้ จากเด็กที่เห่อ The Carter III ในวันนั้น กลับทำให้รุ่นพี่ที่มาก่อนไม่พอใจยิ่ง จนเป็นประเด็นวิวาทะที่อาจจะเปิดศึก diss ในอนาคต สยบข่าวลือที่ Kendrick จะเชื้อเชิญ Lil Wayne ขึ้นเวทีร่วมด้วย เมื่อยังไม่ถึงวันแสดงก็ยังต้องติดตามตอนต่อไปว่าจะเป็นเช่นไร
Okay, fuck your hip-hop, I watched the party just die
wacced out murals (Verse 3)
อีกหนึ่งประเด็นที่อยากจะเก็บตก หากใครยังจำกันได้ เพลงปริศนาที่ Kendrick โพสต์ลง Instagram (ชื่อเพลงโดยนัย The Day The Party Died) ที่ดูเหมือนส่งสาสน์บางอย่างที่ไม่ได้แค่ประกาศชัยชนะในการปิดยุคสมัยของ Drake โดยตรง แต่ยังวิพากษ์วิจารณ์อุตสาหกรรมฮิปฮอป รวมไปถึงอิทธิพลของ influencer ที่อิงแอบกับฮิปฮอปจนได้ดิบได้ดีและเป็นส่วนนึงที่ทำให้อุตสาหกรรมเพลงถูกขับเคลื่อนด้วยพลังงานที่ไม่สร้างสรรค์เท่าที่ควร
บางรายหนักข้อถึงขั้นเป็น “นายแบก” ให้กับศิลปินบางคนในการปล่อยข่าวเพื่อสร้างภาพคนของตัวเอง แซะแฟนเพลงและศิลปินที่อยู่ฝั่งตรงข้าม
หาก The Day The Party Died คือการเฝ้ามองสิ่งผิดประหลาดในอุตสาหกรรมฮิปฮอปกำลังตายอย่างช้าๆ overall ของ wacced out murals ยังคงเชื่อมโยงกับเพลงนั้น โดยการกลับมาคัดกรองสิ่งที่ผิดประหลาดออกไปโดยที่ไม่ประนีประนอมต่อชื่อเสียงที่สั่งสมมาของใครบางคน ตราบใดที่มีคนประสบความสำเร็จจากอุตสาหกรรมนี้ อย่าเรียกตัวเองว่า God หรือ GOAT เลย หากวงการนี้ไม่มีกู มันก็คงไม่มีตำนานบทต่อไปอย่างแน่นอน
จบการขยายความเพลงเปิดอัลบั้มแต่เพียงเท่านี้ เพลงต่อๆไปก็เข้าสู่โหมดปล่อยจอยตัดสลับกับจริงจังในอุดมการณ์แย้ปอย่างละนิดแล้วล่ะครับ
-squabble up ซิงเกิ้ลแรกที่มีท่อนอินโทรเดียวกับที่เอ็มวี Not Like Us เคยเรียกน้ำย่อยก่อนหน้านี้ เปิดโหมดคารวะ West Coast hiphop ด้วยท่วงท่า G-Funk ให้ได้มีชีวิตชีวาในฮิปฮอปกระแสหลักอีกครั้ง ตรงตัวตามชื่อเพลงอันเป็นศัพท์แสลงของชาว L.A. ที่แปลว่า เต้นล้อมวง หรือ ประจันหน้า แล้วแต่จะตีความ
-tv off หนึ่งเพลงสนุกที่โปรดิวซ์โดย Mustard ที่ยังคงทิ้งกลิ่นอาย Not Like Us และการตะโกน Mustaaaaaard อันเป็น producer tag พิเศษที่ Kendrick อยากจะมอบให้ ซึ่งท่อนนี้เองก็ถูกเอาไปแซวเป็นมีมตั้งแต่วันแรกที่ได้ปล่อยอัลบั้ม
เป็นเพลงสนุกที่ซ่อนด้วยอุดมการณ์แห่งการลุกขึ้นมาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง จงออกไปยืนบนถนนกับแนวร่วม อิสรภาพและการปฏิวัติไม่ได้มาเคาะที่ประตูบ้านโดยที่ไม่ทำอะไรเลยและยังอยู่บ้านดูแต่ทีวีที่มีแต่สื่อของพวกคนขาวอยู่ ซึ่งเป็นการตอกย้ำสาสน์ The Revolution Will Not Be Televised เพลงประท้วงเพื่อพี่น้องชาวแอฟริกันของ Gil Scott-Heron ทั้งนี้การที่ Kendrick กำลังจะแสดงโชว์พักครึ่ง Super Bowl ในปีหน้าก็แสดงให้เห็นถึงการที่คนดำอย่างเขาเริ่มมีบทบาทในสื่อโทรทัศน์เหนือกว่าคนขาวได้อย่างเต็มภาคภูมิ
-luther โหมดฮิปฮอปอาร์แอนด์บีสุดคลีน ไม่ติด explicit แบบนานๆครั้งจะมีที SZA มาร่วมงานในรอบหลายปีถัดจาก All The Stars เคมีของทั้งคู่ยังคงดีงามและเป็นเหตุผลอันเหมาะเหม็งที่จะออกทัวร์ร่วมกัน ชื่อเพลงยังคงคารวะต่อ Luther Vandross เจ้าของเพลง If This World Were Mine ที่นำมาแซมเปิ้ลในเพลงนี้อีกที ใจความของ luther จึงเป็นการจับมือร่วมกันสร้างสัมพันธ์ที่สวยงามและการเปลี่ยนแปลงหล่อเลี้ยงโลกคอนกรีตแห่งนี้
-man at the garden กลับเข้าสู่โหมดจริงจังอย่างไม่ประนีประนอมต่อความทะยานอยากที่ยังคงเคลมต่อพระเจ้าด้วยการ repeat ประโยค I deserve it all ในเกือบทุกบาร์ พร้อมทั้งสาธยายว่า ทำไมเขาควรได้รับคัดเลือกจากพระเจ้าให้สามารถเข้า “สวน” หรือ “สวรรค์” ตามพระคัมภีร์นั้นได้
อีกทั้งยังทิ้งบอมบ์ต่อบทสนทนา ใครคือ GOAT ? ด้วยความแดกดันที่ว่า อะไรที่ทำให้พวกมึงทั้งหลายมั่นอกมั่นใจว่าควรค่าแก่การเป็น GOAT มากขนาดนั้น ในเมื่อกูนั้นสมควรได้ทุกสิ่งอย่างอยู่แล้วเว้ย โดยเพลงนี้ก็ยังคารวะความเป็น old school ด้วยการนำเพลง One Mic ของ Nas (คนเดียวกับที่แสดงความยินดีที่ Kendrick ได้แสดง Super Bowl) มาเป็นแซมเปิ้ลในเพลงนี้ด้วย
Que reflejan tu mirada
La noche, tú y yo
That reflects your gaze
The night, you and I
ที่สะท้อนแววตาของเธอ คืนนั้นเธอและฉัน
reincarnated (Intro)
-นอกจากการเคลมว่า เขาคือผู้ชายที่ควรอยู่ใน “สวน” ตามที่เขาสมควรจะได้แล้ว ถึงเวลาสื่อสารกับพระเจ้า ในเพลง reincarnated อันเป็นเพลงที่มีความสำคัญต่ออัลบั้มนี้ในแง่ของตีมและแก่นอุดมการณ์ที่อยาก represent ชัดเจนตั้งแต่การใช้เพลง Made N****z ของ 2Pac มาเป็นแซมเปิ้ล และการใช้น้ำเสียงแร็ปที่ดุดันชวนระลึกถึงไอดอลผู้ล่วงลับยิ่งทำให้ความเป็น west coast เกิดความเลือดข้นยิ่งขึ้น อีกนัยนึงคงหนีไม่พ้น โชว์การคารวะที่ถูกที่ควรเป็นการตบหน้า Drake ที่ใช้ AI ปลุกผี 2Pac อย่างเห็นได้ชัด
สอง Verse แรกจะเป็นการเล่าเรื่องของตำนานผู้ล่วงลับ 2 ท่าน เริ่มจากการเล่าเรื่องของ John Lee Hooker นักร้องและมือกีตาร์เพลง Blues ที่ต้องจากบ้านตั้งแต่ยังวัยรุ่นจนกลายเป็นศิลปินที่มีความมั่งคั่งมหาศาลจากการที่เพลงของเขาถูกนำไปใช้โฆษณามากมาย เงินทองหลั่งไหลเข้ามาใช้ไม่หมดมือ ส่วน verse ถัดมาก็บอกเล่าชีวิตของ Billie Holiday นักร้องสาวในตำนานที่มีชีวิตมืดมนและมีจุดจบน่าเศร้าแห่งการตกหลุมพรางยาเสพติดจนเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 44 ปี
Verse สุดท้ายเหมือน Kendrick ตั้งใจทบทวนชีวิตตัวเอง พร้อมทั้งสื่อสารกับพระเจ้าถึงเป้าหมายชีวิตในปัจจุบัน โดยถอดบทเรียนจากศิลปินในตำนาน 2 ท่านใน 2 verse ที่สะท้อนถึงด้านกิเลสแห่งเงินทองและกิเลสแห่งยาเสพติดที่ล้วนเป็นสิ่งยั่วยุที่นำพาให้เขาใช้ชีวิตศิลปินที่ตกหล่นจากเป้าประสงค์ของการพยายามยกระดับวงการ ซึ่งก็นำพาซึ่ง internal battle ระหว่างอำนาจไฝ่ต่ำและไฝ่ดีที่คอย conflict กัน ไหนที่มึงบอกว่า มึงคือ peacemaker แล้วทำไมมึงชอบที่จะมีเรื่องกับคนอื่นด้วยล่ะ ?
ทั้งนี้การเกิดใหม่ reincarnated จึงไม่ต่างอะไรกับการพยายามตามหาความหมายที่แท้จริงของพลังอำนาจผ่านบทเพลงที่หาใช่พลังอำนาจแห่งเงินตราที่ตามมาจาก commercial success และการเกิดใหม่ในที่นี้ Kendrick น่าจะจงใจให้คนฟังพยายามระลึกถึงมรดกที่เหล่าศิลปินผู้ล่วงลับทั้งหลายได้ทิ้งไว้ ในขณะเดียวกันต้องเรียนรู้ความผิดพลาดจากพวกเขาเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยตกหลุมพรางตามไปด้วย
-การเปิดทางให้แรปเปอร์ระดับ local artist มาเป็นแขกรับเชิญ ตอกย้ำการเผื่อแผ่ spotlight ให้ได้รู้จักยิ่งขึ้น อาทิเช่น Dody6 ที่เพิ่งพ้นโทษจำคุก 7 ปี ได้รับโอกาสเด็ดปล่อย verse ยาวกว่าคนอื่นและดูเจ๋งแบบพอเห็นแววได้มากที่สุดในเพลง hey now ร่วมกันบำเพ็ญตนในการเอาชนะสิ่งเร้าอย่างโชกโชน ภายใต้บีทสุดแหบพร่าที่รังสรรค์โดย Mustard
-gnx คือตัวอย่างแห่งการเป็นป๋าดันที่ชัดเจน ในฐานะที่ไตเติ้ลแทร็คมีหน้าที่ represent ในสิ่งที่อัลบั้มนี้เป็น แต่ Kendrick เลือกที่จะยืนเหล่ท่อข้างๆเครื่อง ส่งไม้ต่อให้กับ Peysoh, Hotta J3 และ YoungThreat เป็นคนร่วม represent ความเข้มข้นจัดจ้านในแต่ละคนแทน ซึ่ง Rascal หนึ่งในโปรดิวซ์เซอร์เพลงนี้เคลมถึงเบื้องหลังที่โคตรโหดกับการเพิ่งได้บีทเพลงนี้แบบสดๆร้อนๆเพียงแค่ 2 วันก่อนที่จะปล่อยอัลบั้มเต็ม นั่นอาจเป็นเหตุให้การปล่อยอัลบั้มค่อนข้างเลทกว่าปกติ
-dodger blue ที่สุมแขกรับเชิญไว้เยอะมากๆ มาร่วมขับขานอย่างละนิดอย่างละหน่อยในท่วงท่า vibrant อาทิเช่น Roddy Ricch, Sam Dew, Ink, Wallie The Sensei และ Siete ร่วมพรรณนาถึงเพื่อนบ้านแถบ L.A สุดแช่มชื่น ไม่ได้จักสำคัญมากนัก
-เพลงที่สั้นสุดในอัลบั้มอย่าง peekaboo ที่แซะศิลปินฮิปฮอปในยุคนี้ที่มักจะเก่งแค่ในโซเชี่ยล และตั้งใจแหย่ความเป็นเด็กของ Drake ซึ่งหลายเพลงที่ผ่านมาก็ต่างพูดอะไรไปเยอะแล้วพอสมควร เป็นเหมือน interlude คั่นเวลา เน้นปั่นเล่นเสียมากกว่า ยังดีที่มอบพื้นที่ให้ AzChike มากหน่อย แต่พอมาอยู่ในบริบทเพลงลักษณะนี้กลับไม่ช่วยฉายแสงอะไรมากอยู่ดี
-มาถึงเพลงที่ไม่พูดถึงไม่ได้ heart pt.6 เพราะนี่คือการทวงคืนซีรี่ย์เพลง Heart จาก Drake ที่ขโมยเอาไป diss ในชื่อเดียวกันที่เป็นการเสี้ยมประเด็นเพื่อนร่วมหุ้นส่วน Dave Free แอบไปมีชู้กับ Whitney Alford เมียของ Kendrick และก็มีแก้ต่างให้ตัวเองด้วยการบอกว่า เพลงที่ Kendrick ปล่อยออกมา คอนเทนท์ในนั้นล้วนเป็นข่าวปลอมที่กูป้อนให้คนใกล้ชิดมันเอง สุดท้ายสิ่งที่ Drake แก้ต่างไม่มีใครเชื่อแทบทั้งสิ้น โดนแฟนเพลงกด dislike โห่ไปตามระเบียบ
โดย heart pt.6 เป็นการล้างหู The Heart Part 6 ของ Drake ที่แสนเหนื่อยหน่ายและมีท่าที “กูยกธงขาวก็ได้ค่ะ” ด้วยท่วงทำนองสุดงดงามอันมาจากแซมเปิ้ลเพลง Use Your Heart ของ SWV ที่โปรดิวซ์โดย Pharrell Williams และ Chad Hugo ในนามของ The Neptunes แต่พอมาอยู่ในเพลง rap mode แบบนี้กลับทำให้เพลงฮิตสุดคลาสสิคถูกเอมาปรุงใหม่ด้วยบีทที่แน่นเปรี๊ยะกว่าเดิม
และเป็นเพลงซีรี่ย์ Heart ที่ติดหูเร็วที่สุดด้วยประโยชน์ของแซมเปิ้ล และเข้าใจง่ายที่สุดกับการพรรณนาถึงค่ายเก่า TDE ที่ตัวเองจากมา การได้เจอกับมิตรสหาย Black Hippy
เริ่มจาก Ab-Soul ที่ตัวเองชื่นชมในสกิล mumble rap สุดแปลกประหลาดของเขา การพยายามเข้าหา Jay Rock ศิลปินคนแรกของค่ายตัวจริง เพราะเล็งเห็นอะไรบางอย่าง การพยายามสานสัมพันธ์ให้แนบแน่นด้วยการยอมอยู่สตูดิโอเพื่อปั่นเพลงข้ามคืนให้เสร็จ การได้เจอ ScHoolboy Q ในสมัยที่เขายังเป็น homeless ซึ่ง Kendrick เองก็มีปัญหากับที่บ้านเช่นกัน นั่นก็ทำให้เรารู้ด้วยว่า Q ยังแร็ปไม่เป็น ยังให้ Kendrick สอนให้อีกต่างหาก สตูดิโอจึงกลายเป็นบ้านสำหรับหนุ่มผู้ไม่มีบ้านทั้งสองคน
การเคลียร์ประเด็นที่แฟนเพลงต่างคลางแคลงใจ นั่นก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับ TDE ทำไม Kendrick ถึงออกจากค่ายนี้ ? เหตุไฉนทำไมโปรเจคต์ supergroup Black Hippy ที่ค่ายได้หยอดไว้กลับไม่เคยเกิดขึ้นเลย ? เหตุผลของคำถามต่างๆเหล่านี้ก็ล้วนมาจากความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างกัน และแต่ละคนก็มีแนวทางเป็นของตัวเอง มันจึงเป็นการยากที่จะ blend เพื่อทำงานร่วมกัน อย่างไรก็ดีความสัมพันธ์ของพวกเขาไม่มีอะไรบาดหมาง
อีกทั้งประเด็นระหว่างเขากับ Dave Free ตกลงยังญาติดีกันหรือไม่? เพราะ Drake เคย diss ไว้แบบนั้น Kendrick ยังคงพูดถึง Dave Free ในแง่ดีดุจเพื่อนแท้ที่เป็นได้ทุกอย่าง ตั้งแต่โปรดิวซ์เซอร์ ผู้จัดการ ดีเจ และหุ้นส่วนคนปัจจุบันของ PGLang ค่ายของ Kendrick ที่ร่วมก่อตั้งกันมา
เป็นการส่งสาสน์เคลียร์ใจต่อเหล่ามิตรสหายร่วมค่าย TDE ที่น่าจะทำให้คนฟังซาบซึ้งและลดความคลางแคลงใจของแฟนเพลงลงไปได้ไม่น้อย
-ปิดท้ายอัลบั้มด้วย gloria ยังคงได้ SZA มาร่วมงานเป็นเพลงที่สอง และเป็นเพลงที่เป็นชื่อคนด้วย แต่ไม่ใช่ชื่อเจ้าของเพลงแซมเปิ้ลเหมือน luther แต่อย่างใด เป็นการอุปมาอุปไมยสาวที่ชื่อ gloria เปรียบเหมือน “ปากกาประพันธ์เพลง” เริ่มแรกก็ดูเหมือนจะเข้ากันไม่ค่อยได้ พยายามเสาะหาตัวตนลองผิดลองถูกซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกิดความ conflict หลายรอบ อย่างไรก็ตามเขาก็ยังคงรักและอุทิศให้กับ “ปากกาประพันธ์เพลง” ที่คอยขับเคลื่อนให้ศิลปะยืนยาวยิ่งกว่าชีวิตอยู่ดี
gloria ในภาษาสเปนยังแปลว่า ชัยชนะ (Glory) ที่บ่งบอกถึงการกำชัยเหนือกว่าคนอื่นๆ (โดยเฉพาะ Drake) จากความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับฮิปฮอปอย่างสม่ำเสมอ จะว่าไป การพรรณนาการผูกปิ่นโตระหว่างตัวศิลปินกับวงการฮิปฮอปก็ถูกศิลปินรุ่นพี่พรรณนามาแล้วตั้งหลายเพลง ไม่ว่าจะเป็น I Used To Love H.E.R ของ Common ที่เปรียบเปรยฮิปฮอปเป็นนายหญิงสูงส่งท่านนึง และ I Gave You Power ของ Nas ซึ่งจะมีอยู่ท่อนนึงของ SZA ที่ลั่นวาจารบเร้าต่อบทสนทนาของ Kendrick ด้วยประโยคอันเป็นชื่อเพลงของ Nas อย่างโต้งๆแบบตะโกนด้วย
-หลังจากที่ชนะศึกรอบแรกกับ Drake อย่างเป็นเอกฉันท์ด้วยการทำผลงานแบบตีแตกทุกกระแสเพลงและสังคมจนเป็นส่วนหนึ่งของ pop culture โดยไม่ต้องสงสัย Kendrick Lamar ในวันนี้มีความมั่นใจที่เต็มเปี่ยมยิ่งกว่าใคร การเดินเกมส์กลยุทธ์ปล่อยผลงานแบบเซอร์ไพร์ส ไม่มีการบอกกล่าวใดๆทั้งสิ้น และยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ช่างเป็นการเดินหมากเกมส์ที่หลักแหลม รู้กระแสลม Not Like Us ที่หลายคนยังคงสนุกอยู่ร่ำไป ละทิ้งการยึดความส่วนตัวเป็นศูนย์กลางไว้ก่อน ตัดสินใจใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย runtime ที่รวบรัด ไม่ยืดยาว
ต่อให้ไม่เลิศเลอตามบาร์มาตรฐานที่เคยตั้งไว้สูง ตั้งแต่ GKMC จนถึง DAMN. แต่ก็ไม่ฉาบฉวยเกินกว่าจะปล่อยผ่านไปได้ ทุก movement ของเขาคนนี้แม่งสำคัญจริงๆ
“How To Be More Like Kendrick for Dummies” คือชื่อหนังสือฮาวทูที่เป็น mockup ในเอ็มวี squabble up ที่อยากจะยืมมาใช้เพื่อนิยามการกลับมาในครั้งนี้ด้วยการเสี้ยมสอน “ทำให้เด็กมันดู” ที่เป็นรูปธรรมที่สุด มีเป้าประสงค์ที่มากกว่า diss แล้วหายไปนาน แต่เป็นการพยายามอย่างยิ่งยวดในการส่งสาส์นถึงวงการเพลงที่ต้องถูกผลักดันไปสู่การขบคิดในหลายเรื่องๆ ไม่ใช่ความบันเทิงที่ยึดติดกับวัตถุนิยมเหมือนๆกันหมด
Just walk that man down, that’ll do everyone a solid
It’s love, but tough love sometimes gotta result in violence
The Day The Party Died - Kendrick Lamar
ประโยคข้างต้นจากเพลงปริศนา The Day The Party Died น่าจะสรุปเป้าประสงค์ของ rap beef และการกลับมาด้วย GNX อีกนัยหนึ่งด้วยแง่ที่ว่า ความรักที่มีต่อวงการฮิปฮอปในนิยามของ Kendrick คงไปไกลกว่าการสนับสนุน แต่เป็นการให้ยาแรงอันแสนหยาบคายโดยที่ไม่ต้องเกรงใจอีกต่อไป ยากมากที่ rap beef จะจบศึกได้ในเร็ววัน เพราะฝ่ายนั้นก็เดินเกมส์ฟ้องร้องลามปามไปถึงค่ายเพลงต้นสังกัดแล้ว แฟนเพลงที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน ความโหดร้ายที่ไม่น่าจะตีกันแบบ physical แต่เป็นการหักหน้ากันเพื่อชิงชัยการเป็นตัวจริงในสายตาสาธารณะชน
ความโหดร้ายที่มากสุดสำหรับคนฟังคือความผิดหวังที่ดันเป็นจริง
Top Tracks: wacced out murals, squabble up, luther, man at the garden, hey now, reincarnated, tv off, heart pt. 6, gnx
Give 8/10
Thx 4 Readin’
See Y’all
โฆษณา