Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ
•
ติดตาม
14 ธ.ค. เวลา 07:34 • การศึกษา
ศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษา DCI พระนครศรีอยุธยา
สตรีที่ปฏิบัติข้อประพฤติ เปรียบดั่งเป็นภิกษุณี จะได้บุญเทียบเท่ากับผู้บวชเป็นภิกษุหรือไม่ ?
โยมถาม : สตรีที่ปฏิบัติชอบตามข้อประพฤติในการเป็นภิกษุณี ถือศีลครบทุกประการตามพระไตรปิฎก แต่ไม่ได้บวช ไม่ได้ใส่ชุดภิกษุณี สตรีผู้นั้นจะได้รับผลบุญกุศลเทียบเท่ากับผู้บวชเป็นภิกษุณีหรือไม่ แล้วทำไมภิกษุจึงได้ฐานะสูงกว่าภิกษุณีคะ
พระอาจารย์ตอบ : คนส่วนใหญ่มักจะรู้สึกว่าข้อนี้ไม่เป็นธรรม ผู้หญิงเสียเปรียบผู้ชาย แต่อาตมภาพจะขอตอบตามหลักการ ดังนี้
ภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา คือ พระนางปชาบดี โคตมี ซึ่งเป็นพระน้านางของเจ้าชายสิทธัตถะ พอเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ 7 วัน พระนางมหามายาเทวี พระราชมารดาก็สวรรคตลง พระนางปชาบดี โคตมี จึงเป็นผู้เลี้ยงดูเจ้าชายสิทธัตถะในเวลาต่อมา
ภายหลังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ว พระนางปชาบดี โคตมี จึงต้องการจะออกบวช ลงทุนนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ซึ่งในประเทศอินเดียผู้หญิงมีวิธีนุ่งห่มผ้าส่าหรีคล้าย ๆ พระภิกษุครองผ้าอยู่แล้ว ต่างกันเพียงสีและลักษณะเนื้อผ้าเท่านั้น
cr:dmc.tv
เนื่องจากพระนางปชาบดี โคตมี ต้องออกเดินป่าเป็นเวลานาน จึงให้ช่างตัดผ้าเลือกใช้ผ้าสีเข้มเพื่อเห็นความสกปรกได้ยาก พระนางออกเดินรอนแรมไปพร้อมกับผู้หญิงคนอื่น ๆ อีก 500 คน ไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อจะขอบวช ในครั้งแรกพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงไม่อนุญาต
ฝ่ายหญิงเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมองไปยังประโยชน์ใหญ่ต่อมหาชนทั้งฝ่ายหญิงและชายทั้งโลกเป็นหลัก
ถ้าฝ่ายหญิงมาบวชจะเกิดผลกระทบทำให้พระสัทธรรมดำรงมั่นนั้นสั้นลงมา จริงอยู่ที่ฝ่ายหญิงถือเป็นกำลังสนับสนุนงานหลักแก่พระศาสนา ที่พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ถึงปัจจุบันนี้ ก็ได้ฝ่ายหญิงมีส่วนมากในการเป็นกำลังสำคัญอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา มากกว่าฝ่ายชายเสียอีก
ผู้หญิงมีศรัทธาดี มีความตั้งใจดี มีข้อดีมากมาย แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้างเหมือนกัน อย่างอารมณ์ของฝ่ายหญิงที่ขึ้นลงง่ายกว่าผู้ชายตามธรรมชาติ บางทีอารมณ์หวือหวาขึ้น ๆ ลง ๆ ง่ายโดยเฉพาะในช่วงที่ฮอร์โมนภายในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงแต่ละเดือน ผลกระทบตรงนี้เกิดมี ถึงจะไม่ใช่กับผู้หญิงทุกคนก็ตาม
อังเกลา โดโรเทอา แมร์เคิล (เยอรมัน: Angela Dorothea Merkel)
ยกตัวอย่าง อังเกลา โดโรเทอา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีประเทศเยอรมัน ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศมานานถึง 15 ปี หรือ มาร์กาเรต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นผู้หญิงที่มีลักษณะพิเศษแบบสุด ๆ
เนื่องจาก ผู้หญิงมีข้อดีกว่าผู้ชายหลายเรื่อง ถึงจะมีอารมณ์หวือหวา แต่มีความอดทน มีความละเมียดละไมของอารมณ์ มีความละเอียดอ่อนกว่าผู้ชาย
ผู้ชายมีพละกำลังมาก แต่ความอึดนั้นกลับมีไม่มากเท่าผู้หญิง ผู้หญิงมีความอดทนต่ออะไร ๆ ที่ยืดเยื้อยาวนานได้ดีกว่าผู้ชาย คนเรามีลักษณะดีร้ายผสมกันไปอย่างนี้ทั้งหญิงและชาย
แต่เมื่อออกบวชแล้ว อารมณ์หวือหวามีโอกาสที่จะเกิดความกระทบกระทั่งกันสูงขึ้น แล้วธรรมชาติผู้หญิงผู้ชาย ถ้ายังไม่หมดกิเลส แม้ความตั้งใจดี แต่ถ้าอยู่ใกล้กันก็มีโอกาสจุดชนวนให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้ พอเห็นข้อจำกัดหลายอย่าง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงไม่ทรงอนุญาต
พระนางปชาบดี โคตมี ไม่ละความพยายาม ขอให้พระอานนท์ช่วยไปขอร้องพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้อีกทางหนึ่ง จนสุดท้ายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต โดยมีครุธรรมให้ 8 ข้อ
หนึ่งในครุธรรม คือ สตรีแม้บวชมาแล้ว 10 ปี หรือ 100 ปี ถ้าเจอภิกษุที่เพิ่งบวชใหม่ต้องก้มกราบเพื่อทอนทิฐิมานะ เพราะผู้หญิงนั้นมีทิฐิมานะโดยรวมมาก
ถ้าใครเคยเดินทางไปประเทศที่นับถือนิกายมหายาน และยังมีการบวชภิกษุณีอยู่ เช่น ไต้หวัน เกาหลี จะพบว่า ภิกษุณีค่อนข้างมีพลังอำนาจมาก บางวัดมีเจ้าอาวาสเป็นภิกษุ แต่กลับมีมือซ้ายมือขวาคนตัดสินใจเป็นภิกษุณีเกือบทั้งหมด
เหล่านี้อาจจะเป็นเหตุผลให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า ให้โอกาสภิกษุณี แต่ต้องทำตามกติกาที่วางไว้ เพราะมีข้อจำกัดด้วยสรีระที่ไม่เหมือนกัน ความปลอดภัยของชายหญิงก็ไม่เหมือนกัน ฮอร์โมนและอารมณ์ก็ไม่เหมือนกัน
ถ้าฝ่ายหญิงยอมรับครุธรรม 8 ประการได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงอนุญาตให้บวชได้ ซึ่งพระนางปชาบดี โคตมี ก็ยอมรับ จึงได้บวชเป็นภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา แล้วสืบสานต่อมาเรื่อย ๆ
ภายหลังภิกษุณีจะบวชได้ ต้องขอบวชจากภิกษุสงฆ์สองฝ่าย คือ ภิกษุและภิกษุณีเท่านั้น แต่ในเวลาต่อมาฝ่ายนิกายเถรวาทภิกษุณีขาดวงศ์ลง เปรียบเสมือนเหลือแต่พ่อไม่มีแม่ ผู้ที่ต้องการจะบวชภิกษุณีใหม่จึงบวชไม่ได้ เพราะขัดพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดไว้
ครั้นจะให้นิมนต์ภิกษุณีมาจากไต้หวัน ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะภิกษุณีทั้งสองฝ่ายถือพระวินัยไม่เท่ากัน ในทางพระพุทธศาสนา เรียกว่า นานาสังวาส คือ อยู่กันคนละนิกาย จึงทำสังฆกรรมร่วมกันไม่ได้ ถือว่าผิดพระวินัย
Cr: wikipedia.org
ยกตัวอย่าง ศีลของพระสงฆ์นิกายมหายาน สามารถละศีลปาณาติบาตเพื่อฆ่าโจรด้วยความเมตตา เพราะขืนปล่อยให้โจรมีชีวิตอยู่ต่อไป เขาก็จะทำบาปกรรมต่อไปอีก
เพราะฉะนั้น จึงยอมบาปฆ่าเขาเสีย แต่พระสงฆ์นิกายเถรวาททำไม่ได้ ถ้าฆ่าคนก็จะปาราชิกทันที ภิกษุณีก็เช่นเดียวกัน ปาราชิก 8 ข้อ เพียงมีใจให้ชาย สัมผัสถูกต้องตัวกันก็ปาราชิกแล้ว พระทั้งสองฝ่ายจึงมีศีลไม่เท่ากัน
ดังนั้น เราจะเชิญภิกษุณีฝ่ายมหายานมาบวชให้ร่วมกันกับภิกษุฝ่ายเถรวาท โดยผู้บวชเป็นภิกษุฝ่ายเถรวาทนั้นไม่ได้ ผิดพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ไม่มีใครสามารถแก้ข้อบัญญัตินี้ได้ จึงขอให้เราเข้าใจถึงเหตุผลที่มาที่ไปด้วย
ถึงแม้ว่าฝ่ายหญิงจะไม่มีโอกาสบวชเป็นภิกษุณีแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าถูกตัดโอกาส ผู้หญิงสามารถเข้ามาเป็นอุบาสิกาอย่างที่ในประเทศไทย เรียกว่า “แม่ชี” รักษาศีล 8 เข้าถึงธรรมได้ไม่แพ้ฝ่ายชาย
ยกตัวอย่าง คุณยายอาจารย์ (คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง)ท่านเป็นแม่ชี รักษาศีล 8 ปฏิบัติธรรมจนหลวงปู่ยกให้เป็นหนึ่ง ไม่มีสอง ยอดเยี่ยมกว่าพระภิกษุด้วยซ้ำไป ท่านทำได้และยังมีศิษย์ยานุศิษย์ให้ความเคารพนับถือไปทั่วโลก
คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง
พวกเราจำเป็นต้องรักษาพระวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อภิกษุณีขาดวงศ์ไปแล้ว จู่ ๆ จะไปสมมติตั้งกติกาขึ้นมาใหม่เองนั้นไม่ถูกต้องตามหลักพระวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณยายอาจารย์ ท่านก็ไม่ได้ต้องการบวชภิกษุณี ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดไว้ แล้วปฏิบัติเข้าถึงได้ เป็นที่เคารพบูชาแก่ศิษยานุศิษย์โดยทั่วไป
ส่วนคนทั่วไป ถ้าตั้งกุศลจิตศรัทธาปฏิบัติตามศีลของภิกษุณีทั้ง 311 ข้อ ได้ก็ยิ่งดีใหญ่ ไม่มีข้อเสียอะไรเลย เพียงอย่าไปเผลอคิดว่าเราเป็นภิกษุณีไปแล้วเท่านั้น ให้เราตั้งใจปฏิบัติต่อไป ทั้งที่เป็นอุบาสิกาอยู่อย่างนี้ก็ทำได้
การจะได้บวชเป็นภิกษุณี ต้องบวชให้ครบด้วยสงฆ์สองฝ่าย ทั้งฝ่ายภิกษุและฝ่ายภิกษุณีในนิกายเดียวกัน ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนด
แต่ปัจจุบันมีบางประเทศมีภิกษุณีเถรวาทแล้ว เพราะเขาไปบวชโดยนิมนต์ภิกษุณีจากไต้หวันมาเป็นอุปัชฌาย์ให้ โดยพระวินัยแล้วไม่ถูกต้อง ยังไม่ถือว่าเป็นภิกษุณีโดยแท้จริง
ขอให้พวกเราเข้าใจ แล้วอย่าไปมัวเสียเวลากับเรื่องเหล่านี้เลย เอาเวลามาทุ่มเทกับเรื่องการปฏิบัติธรรม ฝึกตนเองให้ดียิ่งขึ้น เจริญยิ่งขึ้น ให้ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่ชาวพุทธตามที่เราตั้งใจ
ถ้าต้องการจะบวช ภพชาติต่อไปอธิษฐานขอให้ได้เกิดมาเป็นผู้ชาย เกิดในยุคที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ แล้วได้บวชสมดังปรารถนา พอบวชแล้วก็ขอให้ปฏิบัติอย่างจริงจัง สุดท้ายเราจะสำเร็จกิจในพระพุทธศาสนาตามความตั้งใจ
เจริญพร.
ข่าวรอบโลก
พัฒนาตัวเอง
พุทธศาสนา
บันทึก
4
8
4
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย