เมื่อวาน เวลา 13:00 • ประวัติศาสตร์

• รู้ไหมนี่คือลายมือของพระนางคลีโอพัตรา

ปฏิเสธไม่ได้ว่า พระนางคลีโอพัตราที่ 7 คือหนึ่งในราชินีที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากที่สุดของอียิปต์โบราณ หลายคนมักจดจำเรื่องราวความรักของพระนางกับจูเลียส ซีซาร์ รวมถึงมาร์ก แอนโทนี และในฐานะของผู้ปกครองคนสุดท้ายของอียิปต์โบราณก่อนที่จะถูกโรมันยึดครอง
แม้ว่าจนถึงทุกวันนี้ เราจะยังไม่ค้นพบพระศพหรือที่ตั้งสุสานของพระนาง แต่หนึ่งหลักฐานที่แสดงถึงการมีตัวตนของพระนาง ก็คือลายมือที่เขียนเป็นภาษากรีกว่า Ginesthoi (γίνεσθοι) ที่ปรากฏบนพระราชกฤษฎีกาที่ทำขึ้นในปี 33 ก่อนคริสตกาล
คำว่า Ginesthoi ในภาษากรีกแปลว่า ทำให้เกิดขึ้นหรือทำตามที่ข้าสั่ง โดยเป็นพระราชกฤษฎียกเว้นภาษีแก่เจ้าหน้าที่โรมันที่เชื่อกันว่า เป็นนายพลและกงสุลนามว่า พับลิอุส คานิดิอุส คราสซุส (Publius Canidius Crassus) โดยคราสซุสเป็นแม่ทัพของมาร์ก แอนโทนี คนรักของพระนางคลีโอพัตรา
เนื้อหาของพระราชกฤษฎีการะบุว่า คราสซุสได้รับอนุญาตให้ส่งออกข้าวสาลีและนำเข้าไวน์ได้ โดยที่ไม่ต้องเสียภาษีใด ๆ นอกจากนี้คราสซุสยังได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินทั้งหมดที่เขาถือครองในอียิปต์ โดยที่การยกเว้นนี้ครอบคลุมถึงผู้เช่าที่ดินของเขาด้วย
“เราได้มอบอำนาจให้พับลิอุส คานิดิอุส และทายาทของเขาส่งออกข้าวสาลีปีละ 10,000 อาร์ตาบัส [300 ตัน] และนำเข้าไวน์ปีละ 5,000 แอมโฟราโคอัน [ประมาณ 34,500 แกลลอน] โดยที่ไม่มีใครเรียกเก็บภาษีหรือค่าใช้จ่ายอื่นใดจากเขา” เนื้อหาในพระราชกฤษฎีกา
ในปี 31 ก่อนคริสตกาล ในยุทธการที่แอกติอุม (Actium) คราสซุสเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพของแอนโธนีที่ต่อต้านออกตาเวียน (Octavian ซึ่งต่อมาเป็นจักรพรรดิเอากุสตุส Augustus) ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของแอนโธนีและพระนางคลีโอพัตรา (และนำไปสู่ความตายในเวลาต่อมา) ส่วนทางด้านคราสซุสก็ถูกออกตาเวียนสั่งประหารที่อียิปต์
ศาสตราจารย์ปีเตอร์ ฟาน มินเนน (Peter van Minnen) จากมหาวิทยาลัยซินซินเนติ (University of Cincinnati) ที่เป็นผู้รวบรวมเอกสารดังกล่าวระบุว่า บุคคลเดียวที่สามารถให้สิทธิอำนาจดังกล่าวผ่านพระราชกฤษฎีกาได้ ก็คือผู้ปกครองของอียิปต์ในขณะนั้น ดังนั้นแม้ว่าจะไม่มีชื่อหรือลายเซ็นที่ใช้ยืนยันเรื่องนี้ แต่เป็นไปได้ว่าลายมือที่รับรองพระราชกฤษฎีกาก็ต้องเป็นของพระนางคลีโอพัตราอย่างแน่นอน
มินเนนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พระราชกฤษฎีกานี้ที่ถูกเขียนบนกระดาษปาปิรัส ที่ในเวลาต่อมาถูกรีไซเคิลใช้เป็นกระดาษห่อมัมมี่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกในสมัยอียิปต์โบราณ เพราะกระดาษปาปิรัสที่ไม่ได้ใช้แล้วมักจะถูกนำไปใช้ห่อมัมมี่
ติดตามช่องทางอื่น ๆ ของ Histofun Deluxe
อ้างอิง
• How Much Of Cleopatra’s Handwriting Has Survived The Centuries?. https://www.iflscience.com/how-much-of-cleopatras-handwriting-has-survived-the-centuries-70826
#HistofunDeluxe
โฆษณา