มจพ. ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ กับ วิทยาลัยอาชีวเทคนิคยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ...

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และ วิทยาลัยอาชีวเทคนิคยูนนาน (Yunnan Modern Vocational Technology College) สาธารณรัฐประชาชนจีน ลงนามความร่วมมือพัฒนาองค์ความรู้ ด้านยานยนต์ไฟฟ้าและระบบอัตโนมัติเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การฝึกอบรมแก่อาจารย์และนักศึกษาในหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อยกระดับความเข้าใจด้านวัฒนธรรม และพัฒนาทักษะด้านภาษา ต่อยอดความรู้ให้ผู้เรียน การวิจัยพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน
โดยมีเป้าหมายหลักในการฝึกอบรมทักษะและพัฒนาบัณฑิตให้มีทักษะวิชาชีพในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและระบบอัตโนมัติสมัยใหม่ที่รองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอนาคต
ศาสตราจารย์ ดร. ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ผศ ปรีชา อ่องอารี ผู้อำนวยการอุทยานเทคโนโลยี มจพ. ให้การต้อนรับ โดยมี ศ.ดร.เสาวณิต สุขภารังษี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ได้ลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงของความร่วมมือ (Letter of Intent for Cooperation : LIC) กับ Dr. Zhou Gang คณบดีวิทยาลัยอาชีวเทคนิคยูนนาน (Yunnan Modern Vocational Technology College)
พร้อมด้วย รศ. ดร. สมนึก วิสุทธิแพทย์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานบริการวิชาการและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ ผศ.ดร. สราวุฒิ สืบแย้ม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการคลังและกิจการทั่วไป และผู้บริหารของทั้ง 2 แห่ง ร่วมเป็นสักขีพยาน ในวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
โดยมี วัตถุประสงค์ความร่วมมือเพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและวิจัย การยกระดับหลักสูตรเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและระบบอัตโนมัติ ให้นักศึกษามีทักษะที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ของนักศึกษาและอาจารย์ของทั้งสองสถาบันทั้งหลักสูตรระยะสั้นและหลักสูตรการเรียนการสอน และ การพัฒนาคุณภาพของการเรียนการสอนและวิจัย
รวมทั้ง การฝึกอบรมทักษะและความรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมในเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคต ในโอกาสนี้ได้เข้าเยี่ยมชม ศูนย์ปฏิบัติการเทคโนโลยีและนวัตกรรมระบบราง อุทยานเทคโนโลยี มจพ. ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์/ระบบควบคุมอัตโนมัติ และ พลังงานทดแทนสมัยใหม่ (TFII-Schneider Electric Center of Excellence)
สถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส ห้องปฎิบัติการ clear room คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และ ห้องปฎิบัติการยานยนต์สมัยใหม่และระบบอัตโนมัติ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม โดยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางวิชาการระหว่างสองประเทศ ภายใต้ข้อตกลงนี้จะมีการปฏิบัติตามหลักการของการแบ่งปันทรัพยากรและความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง และ การปลูกฝังวัฒนธรรมการทำงานอย่างมืออาชีพ ที่สามารถสื่อสาร ถ่ายทอดเทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม อาทิเช่น ด้านเทคโนโลยีระบบรางกอปรกับ วิทยาลัยอาชีวเทคนิคยูนนาน เป็นมวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยี และเทคโนโลยีอาชีวศึกษา
โดยแยกเป็น 1) โครงการอบรมสำหรับนักศึกษา ทั้งสองฝ่ายจะจัดโครงการอบรมจากความร่วมมือระหว่างบริษัท BYD Co., Ltd. กับสถาบันของทั้งสองฝ่าย เพื่อยกระดับทางวิชาการในระดับที่สูงขึ้นในสาขาวิชาเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่และระบบอัตโนมัติ หลักสูตรเฉพาะและหลักสูตรที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ จะถูกสอนเป็นภาษาอังกฤษ ที่อุทยานเทคโนโลยี มจพ. มาบตาพุด จังหวัดระยอง
โครงการเหล่านี้เกิดจากความร่วมมือระหว่าง มจพ. และ วิทยาลัยอาชีวเทคนิคยูนนาน โดย BYD Co., Ltd. และ FXB Co., Ltd. มีเป้าหมายหลัก คือ การร่วมมือในการฝึกอบรมและพัฒนาบัณฑิตให้มีทักษะวิชาชีพในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและระบบอัตโนมัติสมัยใหม่
และ 2) การฝึกอบรมอาจารย์ แลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์การสอน และร่วมกันพัฒนาคุณภาพของการเรียนการสอนและวิจัย การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา การพัฒนาหลักสูตร การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์และเข้าถึงแบ่งปันทรัพยากรเป็นต้น รวมถึงการติดตามการจัดเรียนการสอนและหลักสูตรการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล
สำหรับการจัดตั้งฐานการฝึกอบรม เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสในการลงมือปฏิบัติจริงมากขึ้นและพัฒนาความสามารถเชิงปฏิบัติของตน และสอดรับการจัดตั้งฐานปฏิบัติการร่วมกันเพื่อตอบสนองความต้องการของนักเรียนในการฝึกงานและการฝึกอบรม ณ อุทยานเทคโนโลยี มจพ. มาบตาพุด จังหวัดระยอง รวมถึงการเสริมสร้างและพัฒนาด้านวิชาชีพ ความร่วมมือด้านหลักสูตรเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและระบบอัตโนมัติ
โดยร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและวิจัยที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และยกระดับคุณภาพของหลักสูตรความร่วมมือในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความทุ่มเทและความเชี่ยวชาญของทั้งสองมหาวิทยาลัย โดย บูรณาการด้านการจัดการองค์ความรู้ การวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยี การผลิตและพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีเพื่อการวางรากฐานสำหรับการแบ่งปันทรัพยากร แลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์การสอน
และร่วมกันพัฒนาคุณภาพของการเรียนการสอนและวิจัย ตลอดจนใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ตอบสนองความต้องการของประเทศ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศของเราและประชาคมโลก ...
ขวัญฤทัย - ข่าว / สมเกษ - ถ่ายภาพ ...
โฆษณา