15 ธ.ค. เวลา 08:38 • ความคิดเห็น

ปริศนาธรรม work life balance

เวลาพูดถึงเรื่อง work life balance ทีไรมักจะมีข้อโต้แย้งกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนใหญ่จะเป็นวิวาทะระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า ทางหนึ่งก็มองในมุมว่าความสุข ความสำคัญของชีวิตคืออะไร ทำแต่งานจนไม่มีเวลาให้กับเรื่องอื่นที่สำคัญในชีวิต ชีวิตก็ไม่มีความหมาย
2
อีกทางก็เป็นห่วงถึงการใช้ชีวิตที่สบายเกิน ไม่ทันกับสภาวะการแข่งขัน จะไปยากลำบากเอาตอนปลาย ผู้ใหญ่บางคนถึงกับบอกว่า ถ้าไม่ลำบากตอนนี้ จะไปลำบากตอนแก่หรือไง ก็เป็นประสบการณ์หรือมุมมองของแต่ละคน
3
แต่เขียนเรื่องนี้ทีไรทัวร์ลงทุกที..
ผมเองก็ไม่ได้มีข้อโต้แย้งกับทั้งสองเรื่อง ผมเป็นพวกสุขนิยมมาแต่ไหนแต่ไร ไม่ชอบทำงานหนัก แต่ก็ผ่านประสบการณ์มาพอที่จะรู้ว่าถ้าไม่สะสมอะไรไว้ตั้งแต่อายุยังน้อย พออายุมาก มีภาระ ร่างกายเริ่มถดถอย เด็กใหม่ๆ ที่เก่งและถูกกว่ากำลังมาแทน ชีวิตก็จะลำบากอยู่ไม่น้อย แทนที่จะถกเถียงกันอย่างไม่รู้จบและไม่มีใครถูกใครผิด ลองอ่านเรื่องนี้ดูก่อนนะครับ
2
ผมเคยได้ยินเรื่องราวหนึ่งที่คุณสตีเว่น โควี่ (Steven Covey) ผู้เขียนหนังสือ 7 habits อันโด่งดังเคยเล่าไว้ เป็นเรื่องคนตัดฟืนสองคน เจ้านายให้ไปตัดฟืนในป่าเป็นเวลา 8 ชั่วโมง คนแรกบ้าพลังมาก ไปถึงก็ทุ่มเทตัดฟืนอย่างสุดแรง คนที่สองตัดไปได้สองชั่วโมงก็เบรก หายไปซักพัก แล้วก็กลับมาตัดต่อ อีกซักสองชั่วโมงก็เบรกอีก ทำแบบนี้จนครบแปดชั่วโมง
คนตัดฟืนคนแรกคิดในใจว่า ไอ้คนขี้เกียจนี่แพ้เราแน่ เราน่าจะตัดได้มากกว่าและได้รางวัล เผลอๆ ได้โปรโมทเป็นหัวหน้าเอาด้วยซ้ำ แต่พอผลออกมาจริงๆ คนตัดฟืนคนที่สองตัดได้มากกว่ามาก ได้รับคำชม ได้รางวัลและต่อไปก็ได้พักเร็วกว่าแปดชั่วโมงเพราะตัดได้ตามเป้าก่อน
คนตัดฟืนคนแรกอดสงสัยไม่ได้เลยไปถามว่าทำได้อย่างไร คนที่สองจึงตอบว่า ตอนที่แว่บหายไปนั้น ไม่ได้ไปพัก แต่ไปลับขวาน… พอกลับมา ขวานคม ก็ตัดได้เร็วขึ้นและง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก ก็เลยได้ฟืนมากกว่าคนอื่น
4
ผมอ่านเรื่องนี้แล้วเหมือนกับเจอปริศนาธรรมสำหรับคนที่อยาก work life balance โดยที่ไม่ต้องลดคุณภาพชีวิต และยังสามารถสร้าง productivity ได้พอที่จะอยู่รอดหรือเติบโตในโลกที่แข่งขันกันดุเดือดได้ หัวใจสำคัญน่าจะอยู่ที่เวลาที่เรากันไว้สำหรับ “ลับขวาน”
2
ถ้าเราลับขวานได้คมมากพอ เราก็จะสามารถสร้างงานที่เท่ากับความคาดหวังแต่ใช้เวลาน้อยกว่าคนอื่น และถ้ายิ่งคมไปกว่านั้น ถ้าเราสร้างงานได้มากกว่าที่คาดหวังแถมใช้เวลาน้อยอีก โอกาสที่เราจะมีเวลาส่วนตัวไปทำโน่นนี่แถมก้าวหน้าได้ด้วย ก็น่าจะเป็นปริศนาธรรมที่น่าตั้งคำถามต่อไปว่าการ “ลับขวาน” ในยุคนี้คืออะไร
1
ประการแรก การลับขวานน่าจะหมายรวมถึงการหาทักษะที่คนอื่นไม่มีและเราสามารถฝึกจนทำได้อยู่คนเดียวหรือเป็นคนกลุ่มน้อยที่ทำได้
ล่าสุดที่ผมได้ยินมาก็คือน้องๆ รุ่นใหม่สามารถตัดวีดีโอลงโซเชียลสำหรับการสร้างคอนเท้นท์ได้เร็วกว่าพี่ๆที่ใช้กระบวนท่าเดิมสมัยตัดต่อหนังโฆษณา ตัดต่อทีวีมาก พี่ๆใช้เวลาสามวัน น้องๆที่ใช้พรีเมียร์ตัดได้ในเวลาไม่ถึงวัน น้องๆรุ่นใหม่ใช้ capcut นี่ทำได้ภายในสองสามชั่วโมง การเรียนรู้เทคโนโลยีที่เป็น short cut ในการทำงานก็เป็นทางหนึ่ง โดยเฉพาะในยุค AI ที่ใครเข้าถึงและใช้มันเป็นก่อน ขวานก็จะคมกริบก่อนใคร
3
ทักษะที่คนอื่นไม่ถนัดหรือไม่มีก็ยังมีอีกหลายอย่าง ความสามารถในการเขียน การทำสไลด์ที่สวยงามและเล่าเรื่องได้ดี ทักษะด้าน storytelling ความสามารถในการขึ้นเวทีดำเนินรายการ เทคนิคการขาย ความสามารถทางภาษา หรือแม้แต่การใช้ความ “กล้า” ยกมืออาสาไปทำงานบางอย่างที่ไม่มีใครอยากทำเพื่อสร้างโอกาสอะไรบางอย่าง หรือทำงานแทนนายจนนายแทบจะเป็นง่อย ขาดเราไม่ได้ ก็เป็นยุทธศาสตร์การสร้างอำนาจต่อรองให้ตัวเองที่คนอื่นอาจจะทำไม่ได้ หรือทำได้ก็จะใช้เวลานานกว่าเรา
การแว่บไปฝึกฝน ไปลับขวานเพื่อหาสิ่งที่คนอื่นไม่มีบ้างก็จะเปิดโอกาสให้เราสามารถสร้าง productivity อะไรบางอย่างได้เร็วและดีกว่าคนอื่นจนสามารถมีอำนาจต่อรองในเรื่องเวลาการทำงานกับเวลาส่วนตัวได้มากกว่าการเป็นคนปานกลางที่ยังไงก็ต้องถูกบังคับเวลาการทำงานตามระบบ ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆสำหรับตัวเองได้เลย
ประการที่สาม ถ้าเราฝึกฝนจนมีทักษะพิเศษบางอย่าง หรือทำงานที่ลงตัวในการใช้ชีวิตได้แล้ว ก็ต้องไม่ประมาทคอยสังเกตว่าป่าที่เราตัดฟืนอยู่นั้นกำลังจะหมดลงหรือไม่ แม่น้ำที่จับปลาอยู่ที่น้ำลดนั้นเป็นน้ำขึ้นน้ำลงหรือแม่น้ำกำลังเปลี่ยนทิศ เพราะถ้าจับเทรนด์หรือสังเกตไม่ออก ทักษะหรือความสามารถพิเศษที่เรามีอยู่ที่เป็นอำนาจต่อรองเราในการใช้ชีวิตแบบที่อยากเป็นก็จะหมดลงได้
10
การแว่บไปเพื่อลับขวานจึงจำเป็นต้องทำตลอดชั่วชีวิตของเราจนเป็นนิสัย เป็นการไม่ประมาทเพราะด้วยโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วเหลือเกิน ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์นั้นอาจจะหายได้ภายในระยะเวลาแค่ไม่กี่ปี ปรับตัวไม่ทัน ไม่ได้ลับขวานก็จะลำบากตอนแก่เช่นกัน
เรื่องคนตัดฟืนสองคนจึงเป็นเหมือนปริศนาธรรมของ work life balance สำหรับผม เอาไว้ใช้ตอบคนรุ่นใหม่ที่มาถามความเห็นเรื่องนี้ ตอบแบบเป็นปริศนาไปคิดต่อ ดีกว่าตอบตรงๆ อันจะนำมาซึ่งรถทัวร์อยู่บ่อยครั้งครับ…
โฆษณา