15 ธ.ค. เวลา 08:39 • ธุรกิจ

ส่องอนาคต ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ ทำไม? ถึงกลายเป็นแหล่งพลังงานใหม่ของไทย ไปสู่ Net Zero ไวขึ้น

ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มีโจทย์สำคัญต้องเร่งแก้ นั่นคือ ภาวะโลกเดือด และปัญหาด้านพลังงาน ซึ่งทั้ง 2 เรื่อง เป็นปัญหาใหญ่ที่มีความเชื่อมโยงกัน หลายประเทศจึงคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการผลิตพลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก
หนึ่งในพลังงานที่ได้รับความสนใจและกำลังถูกจับตามองก็คือ “ไฮโดรเจนสีเขียว” ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงาน (Energy Transition) และคงจะเป็นอีกแหล่งพลังงานใหม่ที่สำคัญในอนาคตอันใกล้สำหรับประเทศไทย ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ไวขึ้น มาติดตามกันว่า “ไฮโดรเจนสีเขียว” ทำไม? ถึงกลายเป็นแหล่งพลังงานใหม่ของไทย ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้ถึง 42% และจะทำให้เราไปสู่ Net Zero ไวขึ้นได้อย่างไร?
ภาคพลังงานทั่วโลกและประเทศไทย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขนาดไหน?
สำหรับภาพรวมโลก ในปี 2567 มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานทั่วโลก ประมาณ 36 - 38 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (GtCO2e) โดยอุตสาหกรรมพลังงาน การผลิต และขนส่งยังคงเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลักมาจาก โรงไฟฟ้า อุตสาหกรรม การขนส่ง
สำหรับประเทศไทย มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานประมาณ 180-220 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (TgCO2e) โดยแหล่งปล่อยหลัก ๆ มาจาก โรงไฟฟ้า อุตสาหกรรม และการขนส่ง เช่นกัน
จากข้อมูลของ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้พลังงาน 6 เดือนแรกของปี 2567 (เดือนมกราคม – มิถุนายน 2567) พบว่า การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงาน อยู่ที่ระดับ 121.9 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน
โดยในภาคการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ (ภาคครัวเรือน เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และกิจกรรมอื่น ๆ) มีการปล่อยก๊าซ CO2 ลดลงที่ร้อยละ 16.8 1.2 และ 1.5 ตามลำดับ ในขณะที่ภาคการผลิตไฟฟ้ามีการปล่อยก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8
ทำไม? ไฮโดรเจนสีเขียว ถึงเป็นความหวังใหม่ ในการลดก๊าซเรือนกระจก
ปัจจุบัน ไฮโดรเจน ที่ลดการปล่อยคาร์บอนสำหรับผลิตไฟฟ้ามีอยู่ 3 ประเภทหลัก คือ ‘ไฮโดรเจนสีฟ้า’ ซึ่งเป็นผลผลิตพลอยได้ของซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมี และ ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ ผลิตจากไฟฟ้าพลังงานสะอาด รวมไปถึง ‘ไฮโดรเจนสีเทา’
โดยไฮโดรเจนแต่ละประเภทปล่อยคาร์บอนฯ ในปริมาณที่แตกต่างกัน โดยก๊าซธรรมชาติที่ใช้ป้อนโรงไฟฟ้าในไทยปล่อย CO2 อยู่ราว 66.6 Kg/ MMBTU (กิโลกรัมต่อล้านบีทียู) สูงกว่าไฮโดรเจนสีฟ้าที่ปล่อย CO2 ประมาณ 34.8 Kg/MMBTU และสีเขียว 17.4 Kg/MMBTU ในขณะที่ไฮโดรเจนสีเทาปล่อย CO2 สูงถึงราว 104.5 Kg/MMBTU หรือสูงกว่าก๊าซธรรมชาติ 1.5 เท่า
ไฮโดรเจน เป็นสารประกอบไฮโดรเจนที่มีมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะ ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) จะใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือลม นำมาผ่านกระบวนการแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำ (Water Electrolysis) เป็นก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น โดยการเผาไหม้จะไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ จึงไม่กระทบต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ผลผลิตที่ได้เป็นน้ำและพลังงานเท่านั้น ทำให้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดไม่ปล่อยมลพิษ จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ด้วยเหตุนี้ ทำให้พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว กลายเป็นหนึ่งในพลังงานทดแทน ทางเลือกที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดปัญหาโลกร้อน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ให้เป็นศูนย์ (Net Zero Commitment)
ข้อดีของพลังงานไฮโดรเจน
1. เป็นพลังงานสะอาด ไม่ปล่อยมลพิษขณะใช้งาน
2. ประสิทธิภาพเทียบเท่าน้ำมันเชื้อเพลิง
3. ประหยัดกว่าน้ำมัน 40 – 60%
4. มีระบบระบายความร้อนที่ควบคุมทางอิเล็กทรอนิกส์
5. ผลิตจากน้ำเปล่า เป็นธาตุที่ค้นพบได้ปริมาณมาก
Cr.ภาพ: cms.law
การนำไฮโดรเจนมาใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน
ประเภทการใช้งานต่าง ๆ ของไฮโดรเจนสามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้
การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม
ไฮโดรเจนถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการเปลี่ยนหรือปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดิบเพื่อผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ถูกนำมาเป็นสารตั้งต้นเพื่อกำจัดสารซัลเฟอร์ในน้ำมันซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เช่น ฝนกรด นอกจากนี้ไฮโดรเจนยังถูกนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในกระบวนการ Hydrodealkylation เพื่อเปลี่ยนโทลูอีนให้เป็นเบนซินและมีเทน เป็นต้น
เซลล์เชื้อเพลิง
ไฮโดรเจนถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าในเซลล์เชื้อเพลิง ซึ่งจะเกิดปฏิกิริยารีดักชันและออกซิเดชันในสารละลายอิเล็กโทรไลต์ทำให้เกิดเป็นกระแสไฟฟ้าขึ้น โดยถือเป็นการผลิตที่สะอาด เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการผลิตคือ น้ำ และไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
อุตสาหกรรมอาหาร
ในอุตสาหกรรมอาหารมีการเติมไฮโดรเจนเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างของกรดไขมันไม่อิ่มตัวในไขมันสัตว์และน้ำมันพืชให้กลายเป็นกรดไขมันอิ่มตัว เพื่อใช้ในการผลิตเนยขาว เนยถั่ว และเนยเทียม เป็นต้น
เภสัชภัณฑ์
ในอุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ได้ใช้ไฮโดรเจนเป็นสารตั้งต้นเพื่อผลิต Sorbitol ซึ่งเป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ ซึ่งนำไปใช้ผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง วัสดุประสาน และสารตึงผิว เป็นต้น
อุตสาหกรรมโลหะ
นอกจากนี้ยังมีการใช้ประโยชน์จากไฮโดรเจนอย่างกว้างขวางในทางวิศวกรรม โดยถูกใช้เป็นก๊าซป้องกันในการเชื่อม เช่น ในการผลิตสแตนเลส โดยปกติไฮโดรเจนจะถูกผสมกับอาร์กอนเพื่อใช้สำหรับการเชื่อม สแตนเลส นอกจากนี้ยังถูกใช้ในกระบวนการตัดโลหะต่าง ๆ
การบินและอวกาศ
ไฮโดรเจนเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศเนื่องจากคุณสมบัติเฉพาะของก๊าซไฮโดรเจน คือ น้ำหนักเบา และ เป็นแหล่งพลังงานสะอาด ซึ่งเซลล์เชื้อเพลิง 2 ชนิดที่เป็นที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ คือ เซลล์เชื้อเพลิง Proton Exchange Membrane Fuel Cell (PEMFC) และเซลล์เชื้อเพลิง Solid Oxide Fuel Cell (SOFC)
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้พลังงานไฮโดรเจนในประเทศต่างๆ
“ไฮโดรเจนสีเขียว” นับเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แม้ว่าปัจจุบันจะมีการผลิตเพียง 5% ของปริมาณไฮโดรเจนที่ใช้งานกันทั่วโลก แต่คาดกันว่าไฮโดรเจนสีเขียวนี้จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากหลังปี 2030 และในอนาคตราคาไฮโดรเจนสีเขียว อาจจะถูกกว่าไฮโดรเจนสีเทา ปัจจุบันมีการใช้ไฮโดรเจนกว่า 30 ประเทศทั่วโลก อาทิ
Cr. ภาพ://www.alstom.com
เยอรมนี ร่วมมือกับรัสเซีย ทำโครงการนำร่องผลิตพลังงานไฮโดรเจนในรัสเซีย และส่งผ่านท่อก๊าซ Ostsee-Pipeline Nord Stream 2 มายังเยอรมนี และเปิดบริการรถไฟพลังงานไฮโดรเจนเป็นครั้งแรกของโลก ทดแทนรถไฟดีเซล วิ่งได้ราว 1,000 กม./ไฮโดรเจนหนึ่งถัง ความเร็วสูงสุด 140 กม./ชม.
ส่วน ญี่ปุ่น ฮอนด้าทดสอบดาต้าเซ็นเตอร์พลังงานไฮโดรเจน และอีซูซุนำรถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจนทดลองวิ่งใช้งานจริงในญี่ปุ่น ก่อนเตรียมเปิดขายปี 2027
Cr. ภาพ: www.pragma-industries.com/light-mobility
ขณะที่ ฝรั่งเศส มีบริษัท Pragma Industries ผลิตจักรยานพลังงานไฮโดรเจน โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ บริษัทขนส่งสินค้า รัฐบาลส่วนท้องถิ่น และบริษัทเช่าจักรยาน โดยจักรยานพลังงานไฮโดรเจนนี้สามารถวิ่งได้ประมาณ 100 กิโลเมตร จากการใช้ไฮโดรเจนจำนวนสองลิตร โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีในการเติมเชื้อเพลิง ซึ่งดีกว่าจักรยานไฟฟ้าที่ต้องชาร์จไฟทีละหลายชั่วโมง
Cr. ภาพ: Flagships https://www.offshore-energy.biz/frances-first-hydrogen-powered-river-vessel-hits-the-water/
และบริษัท Compagnie Fluvial de Transport เริ่มใช้เรือพลังงานไฮโดรเจนในการขนส่งสินค้าเชิงพาณิชย์ ผ่านเส้นทางแม่น้ำ Seine ในฝรั่งเศสเป็นที่แรก ซึ่งเรือขนส่งสินค้าไฮโดรเจนนี้ เป็นผลผลิตจากการร่วมพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) และ Hydrogen Joint Undertaking (FCH JU) ระหว่างฝรั่งเศสและนอร์เวย์ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ยั่งยืนสำหรับการขนส่งทางน้ำ
นอกจากนี้ ยังมีการนำพลังงานไฮโดรเจนมาใช้ โดยนำเครื่อง Electrolyzer ผลิตไฮโดรเจนเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานให้แก่ที่พักบนเทือกเขาแอลป์ประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากในฤดูหนาวแผงโซล่าร์เซลล์จะไม่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เต็มที่ จึงต้องพึ่งพาพลังงานไฮโดรเจนที่ผลิตและกักเก็บไว้ในช่วงฤดุร้อน และถูกแปลงเป็นไฟฟ้าให้แก่ผู้เข้าพัก
โดยในฤดูร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนเกินจะถูกกักเก็บไว้เป็นพลังงานไฮโดรเจนเพื่อใช้พลังงานในช่วงฤดูหนาว ทั้งนี้ไฮโดรเจนที่ผลิตได้จะถูกเก็บไว้ในอาคารขนาดเล็กแยกจากห้องพักเพื่อความปลอดภัยจากถังแรงดันบนพื้นที่ยอดเขาสูง
ตัวอย่างการใช้งานไฮโดรเจนในประเทศไทย
โรงไฟฟ้าบางปะกง
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการใช้งานไฮโดรเจนในรูปแบบต่างๆ เช่น กังหันก๊าซของบริษัท GE ที่ทำงานโดยใช้เชื้อเพลิงที่มีไฮโดรเจนเป็นส่วนผสมในภาคส่วนอุตสาหกรรม รวมถึงโรงงานเหล็ก โรงกลั่นน้ำมัน และโรงงานปิโตรเคมี มานานหลายทศวรรษแล้ว กลุ่มผลิตภัณฑ์กังหันก๊าซ H-Class ของจีอี มีระบบการเผาไหม้ DLN 2.6e
ทำให้สามารถใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงได้ในอัตราส่วน 50% เมื่อผสมกับก๊าซธรรมชาติ ระบบการเผาไหม้นี้เป็นคุณสมบัติมาตรฐานของกังหันก๊าซรุ่น 9HA.01/9HA.02/7HA.03 โดยปัจจุบันมีลูกค้ามากกว่า 50 รายใน 20 ประเทศทั่วโลก
สำหรับ เครื่องกังหันก๊าซ HA ของจีอี ได้เริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ที่โรงไฟฟ้าบางปะกงของ กฟผ. เพิ่มกำลังการผลิตอีกราว 1,400 เมกะวัตต์ เทียบเท่ากับความต้องการใช้ไฟฟ้าของกว่า 3 ล้านครัวเรือน และจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของโรงไฟฟ้าได้
บริษัท จีอี (GE) และ กฟผ. ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศ ได้มีการประกาศเดินเครื่องเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 1 และ 2 ที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าบางปะกงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2520 ซึ่งดั้งเดิมนั้น ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าจำนวน 5 ชุดที่ใช้ก๊าซธรรมชาติและดีเซลเป็นเชื้อเพลิง โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมใหม่สองชุดนี้
ที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงและขับเคลื่อนด้วยอุปกรณ์ของจีอี จะผลิตไฟฟ้าแทนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนและโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ปลดระวางแล้ว และควบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้าบางปะกง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของโรงไฟฟ้า
โครงการโรงไฟฟ้าบางปะกง สอดคล้องกับเป้าหมายของ กฟผ. ในการเพิ่มประสิทธิภาพและเสถียรภาพ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ รวมทั้งลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ด้วยการใช้อุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่มีประสิทธิภาพสูง
โรงไฟฟ้าลำตะคอง
การนำกังหันลมมาทำงานร่วมกับเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานด้วย Wind Hydrogen Hybrid ที่ลำตะคองนั้น เป็นโครงการวิจัยของ กฟผ. เพื่อศึกษาข้อดี ข้อเสีย และประสิทธิภาพของการทำงานของระบบกักเก็บพลังงาน ตลอดจนนำไฟฟ้าที่ได้ไปใช้งานจริงในศูนย์การเรียนรู้ลำตะคองแห่งใหม่ของเมืองโคราช ที่ได้เปิดในปี 2561 และจะเป็นส่วนหนึ่งของการนำมาสาธิตในศูนย์ เพื่อการเรียนรู้ระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยอย่างครบวงจร
สำหรับ Wind Hydrogen Hybrid คือการกักเก็บพลังงานในรูปของไฮโดรเจน ก่อนนำมาผลิตไฟฟ้าโดยผ่านเซลล์เชื้อเพลิงเพื่อจ่ายไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้า หลักการทำงานของเครื่องกักเก็บพลังงาน Wind Hydrogen Hybrid คือ เมื่อกังหันลม ผลิตไฟฟ้าขึ้น ไฟฟ้าส่วนหนึ่งก็จะจ่ายเข้าระบบของ กฟผ.
ขณะที่ อีกส่วนหนึ่งจะจ่ายเข้าที่เครื่อง Electrolyzer หรือเครื่องแยกน้ำด้วยไฟฟ้า ที่ทำให้เกิดออกซิเจน (O2) และก๊าซไฮโดรเจน (H2) หลังจากนั้น ก๊าซไฮโดรเจนที่ได้มาจะนำไปกักเก็บไว้ในถังกักเก็บ และเมื่อถึงเวลาที่มีความต้องการไฟฟ้า จะนำก๊าซไฮโดรเจนดังกล่าวไปผ่านเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ขนาดกำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ เพื่อเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าเพื่อใช้งานต่อไป
จุดเด่นของการจับคู่โครงการไฮบริดลมกับเซลล์เชื้อเพลิงลำตะคอง คือ ทำให้สามารถกักเก็บพลังงานลม ซึ่งมักจะพัดมากในช่วงเวลากลางคืน นำไฟฟ้ามาใช้ในช่วงกลางวัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ศูนย์การเรียนรู้เปิดให้บริการ ซึ่งจะทำให้ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้กลายเป็น Zero Energy Building หรือเป็นอาคารที่พึ่งพาพลังงานจากพลังงานหมุนเวียน 100% อย่างมีเสถียรภาพ
โอกาสภาคธุรกิจไทย ในการใช้พลังงานไฮโดรเจน ลดก๊าซเรือนกระจก
สำหรับประเทศไทย มีความเป็นไปได้ในการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใน 4 ภาคส่วนหลัก ได้แก่
1. ภาคพลังงานไฟฟ้า ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงโดยตรงหรือนำไปผสมกับก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า ด้วยกังหันก๊าซไฮโดรเจนผ่านกระบวนการเผาไหม้โดยตรงหรือผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง รวมถึงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเทคโนโลยี Fuel Cell
2. การพลังงานความร้อน (เช่นเดียวกับภาคพลังงานไฟฟ้า) จะใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงโดยตรงหรือนำไปผสมกับก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันเตา
3. ภาคอุตสาหกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานความร้อนสูง เช่น อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ เคมีภัณฑ์ การกลั่นน้ำมัน
4. ภาคการขนส่ง ใช้ในการสังเคราะห์และปรับปรุงน้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันไบโอดีเซล โดยใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยผ่านเครื่องยนต์ ICE หรือ Fuel Cell ผลิตไฟฟ้าไปขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้าในรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) รวมถึงรถโดยสารและรถบรรทุก
แล้ว ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 42% ได้จริงหรือ?
จากแผน PDP ฉบับใหม่ (2024) และแผนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. กระทรวงพลังงานมีแผนนำไฮโดรเจนมาใช้ผลิตไฟฟ้าจากเดิมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานหลัก โดย PDP 2024 มีเป้าหมายชัดเจนว่า จะนำไฮโดรเจนมาผสมกับก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลงในการผลิตไฟฟ้า
โดยเบื้องต้น ประเมินว่า ในช่วงปี 2030-2037 จะมีการใช้ไฮโดรเจนในโรงไฟฟ้า IPP SPP และ กฟผ. เริ่มตั้งแต่ 5% หรือราว 141-151 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็นมูลค่ารวมราว 10,000-12,000 ล้านบาท ณ ระดับราคาไฮโดรเจนสีเขียวราว 2.5-2.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ จากการประเมินตามเป้าหมายของ กฟผ. ที่จะทยอยเพิ่มไฮโดรเจนสีเขียวในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติไปจนถึง 75% หรือราว 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2050 คาดว่า ราคาไฮโดรเจนสีเขียวที่จะลดลงเหลือราว 1.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ จากคุณสมบัติเด่นของไฮโดรเจนที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ จะช่วยให้การผลิตไฟฟ้าเข้าสู่เป้าหมาย Carbon neutrality ในปี 2050 ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำถูกระบุให้เป็นแหล่งพลังงานใหม่ในการผลิตไฟฟ้าของไทย
เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงสะอาด ที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในไทย (Pool gas) ราว 3 เท่า ซึ่งหากมีการใช้ไฮโดรเจนสีเขียวเป็นเชื้อเพลิงสูงสุด 75% ของปริมาณก๊าซที่ต้องใช้ในโรงไฟฟ้าในปี 2050 จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ ไม่น้อยกว่า 42% จากปี 2023 ซึ่งจะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมาย Carbon neutrality ในปี 2050 (พ.ศ.2593) ได้
นอกจากนี้ การนำไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำมาทดแทนก๊าซธรรมชาติ จะทำให้มูลค่าของไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำในประเทศไทยสูงขึ้นจากที่ประเมินไปเบื้องต้นอีกราว 20-25% ซึ่งหากไทยสามารถผลิตไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำเองได้ในประเทศ ก็จะช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศที่มีการผันผวนของราคาตามตลาดโลกได้อีกด้วย
สะท้อนให้เห็นว่า การใช้ ไฮโดรเจนสีเขียว ตามแผนพลังงานและ PDP ฉบับใหม่ (2024) และเป้าหมาย ของ กฟผ. โดยเฉพาะหากใช้ไฮโดรเจนสีเขียวในภาคการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วน 75% ภายในปี 2050 จะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนจากการผลิตไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 42% และยังกระทบต่อค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด จากต้นทุนพลังงานรวมต่ำที่สุดในปี 2030-2037 ที่ราว 1.6-1.7% ซึ่งหากผนวกกับการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนด้วยแล้ว ก็จะยิ่งช่วยให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ภายในปี 2065 ได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการใช้ไฮโดรเจนสีเขียว จะถือเป็นความหวังที่หลายประเทศทั่วโลกต่างมองหาในการไปสู่ความยั่งยืน (Sustainability) แต่ก็ยังมีความท้าทาย หากผู้ผลิตสามารถพัฒนาเทคโนโลยี ‘Electrolysis’ ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น หรือราคาอุปกรณ์ที่ถูกลง
รวมถึงผู้พัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าและภาครัฐที่กำกับดูแลด้านพลังงาน พัฒนาโมเดลการผลิตไฟฟ้าสะอาดรูปแบบใหม่ ที่เชื่อมโยงแหล่งพลังงานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยอาศัยโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้า คาดว่าจะมีส่วนช่วยให้ราคาไฮโดรเจนสีเขียวลดลงและต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจนก็จะลดลงด้วย
นอกจากนี้ การเพิ่มความเข้มข้นของนโยบายการใช้คาร์บอนเครดิตและระบบซื้อ-ขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นแบบภาคบังคับ จะช่วยทำให้กลไกราคาคาร์บอนฯ ในตลาดสูงขึ้น ทำให้โรงไฟฟ้าหันมาใช้ไฮโดรเจนสีเขียวมากขึ้น
หากทั่วโลกสามารถจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ได้ "ไฮโดรเจนสีเขียว" ก็จะกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ใช้ในการขับเคลื่อนอนาคตพลังงานที่ยั่งยืนได้อย่างแน่นอน
อ้างอิง
 
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพาณิชย์
โฆษณา