15 ธ.ค. เวลา 08:44 • ความคิดเห็น

Have Backbone; Disagree and Commit

แต่หัวหน้าที่ดีต้องรับฟังความคิดเห็นเสมอ แม้ไม่ทำตาม
หนึ่งใน DNA ของ Amazon คือ leadership principle ที่เรียกว่า Have Backbone; Disagree and Commit ที่ค่อนข้างไม่เหมือนใคร
ขอเริ่มต้นจากส่วนหลัง Disagree and Commit มีที่มาหลายที่ แต่หลายๆ คนเชื่อว่า คนที่เริ่มต้นเรื่องนี้น่าจะเป็น Andy Grove อดีต CEO ของ Intel แต่คนมักจะเข้าใจผิดถึงวลีนี้ วลีนี้ต้องแยกเป็น "Disagree" และ "Commit"
Disagree
ผู้นำที่ดีต้องส่งเสริม และสร้างบรรยากาศให้ลูกน้องเกิดการโต้เถียง สามารถออกไอเดียที่ไม่เห็นด้วยได้ โดยเฉพาะเวลาที่จะตัดสินใจอะไรสำคัญๆ ไม่ใช่ว่าลูกน้องไม่เห็นด้วย แต่ไม่กล้าพูดต่อหน้า พูดในที่ประชุม เพราะกลัวหัวหน้า จนต้องเก็บเอาไว้เอง หรือไว้ในคุยกับคนอื่นนอกที่ประชุม ผู้นำที่ไม่ส่งเสริมวัฒนธรรมแบบนี้ เป็นผู้นำที่ไม่ฉลาดพอ ไม่กล้าที่จะได้ความเห็นที่แตกต่างออกไป กลัวตัวเองเสียหน้า ผู้นำที่เก่งจะเปิดให้โต้แย้ง และจะช่วยทำให้นำไปสู่ทางเลือกที่ดีขึ้น ปิดจุดอ่อนที่อาจจะคาดไม่ถึงได้
Commit
และหลังจากได้แสดงความเห็น และที่ประชุมมีการถกเถียงและคุยกันแล้ว มีข้อตกลงอย่างไร ทางทีมก็ควรที่จะร่วมกันผลักดันให้งานประสบความสำเร็จแม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม
ส่วนวลีแรก Have Backbone เป็นส่วนที่ Amazon เพิ่มขึ้นมา เพื่อเน้นว่า คนแต่ละคนในทีมควรจะมีความคิดเป็นของตัวเอง เชื่อมั่น และมั่นใจที่จะนำเสนอความเห็น และกล้าที่จะโต้แย้ง ถ้ามีไอเดีย ก็ต้องพูด ไม่ใช่เงียบๆ ไว้ แล้วมาบอกภายหลังว่า "I told you so"
ตัวอย่างเคสแบบนี้ เห็นได้ชัดในช่วงที่ผมทำงานที่นั่น Amazon กำลังพยายามสร้างฐานผู้ใช้ Amazon Prime ระบบสมาชิกที่มาพร้อมกับสิทธิประโยชน์มากมาย ปัญหาที่เกิดในช่วงนั้น คือ Ethan Evans ที่เป็น Director ของ WW Appstore for Android and Fire และ Mike George Vice President of Apps, Games, and Cloud Drive มีปัญหากันว่าจะจัดสรรรายได้ของ Amazon Prime ลงแต่ละผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเรียก model นี้ภายในว่า Prime Attribution Model
ในตอนแรกๆ ช่วงที่ผมทำงาน คนไม่ได้สนใจเรื่องนี้กันมากนัก ทีมผมทำงาน หาลูกค้าได้เท่าไหร่ ใช้เงินเท่าไหร่ หัวหน้าผมไม่ได้สนใจ ตอนนั้น แทบจะตู่เอาว่า ถ้าขาย Amazon Fire Tablet มากขึ้นได้ ก็พอแล้ว เลยใช้เงินแบบไม่ค่อยคิดกันมาก
แต่พอภายหลัง ผลประกอบการไม่ค่อยดีอย่างที่คาด จึงเริ่มมีการคุยเรื่อง Prime Attribution Model ในตอนนั้น Ethan Evans ที่ในช่วงหลังได้ถูก promote ขึ้นมาเป็น VP ของฝั่งเกม ก็คิดว่า ถ้าคนซื้อ Fire มาเพื่อเล่นเกม ยิ่งมีคนเล่นเกมมาก ก็ควรจะให้ revenue แบ่งมาฝั่งเขามากกว่านี้สิ เขาจึงเริ่มที่จะโต้แย้ง Jeff ว่าไม่เห็นด้วยกับ Prime Attribution Model ที่ทาง finance ทำขึ้นมา
ตอนแรก ทาง CFO ก็แทรกขึ้น และถาม Jeff ว่า จะให้เขาช่วยจบปัญหานี้มั้ย แต่ Jeff บอกว่าไม่ต้อง มีอะไรก็คุยกันให้จบๆ ดีกว่า ทาง Ethan จึงพยายามโต้แย้ง และนำข้อมูลมาเสมอ แต่ในที่สุด Jeff ก็ยืนยันตามแผนเดิม ในภายหลังถึงแม้เรื่องนี้จะจบไปครั้งแล้ว แต่พอมีข้อมูลเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน Ethan ก็ยังคงเอาเรื่องนี้มาคุยใหม่ทุกครั้ง และ Jeff ก็ยินดีรับฟังข้อมูลใหม่ทุกครั้ง ถึงแม้ว่าจะยังไม่ค่อย buy idea ของ Ethan ก็ตาม
หลายๆ คนเห็นแบบนี้คงจะนึกว่า Ethan คงโคตรจะเกลียด Jeff แต่เปล่าเลย การที่ Jeff เปิดเผย กล้ารับฟังข้อโต้แย้งเสมอนี่แหล่ะ ทำให้ Ethan รักที่จะทำงานกับ Jeff อยู่ ในขณะที่ Jeff ก็พิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่าเขาสามารถผลักดัน Amazon Prime Revenue ได้สูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
ในเมืองไทย ผมกลับเห็นวัฒนธรรมแบบกลับด้าน หัวหน้ามีไอเดียอะไร อยากจะทำก็สั่งลูกน้อง โดยไม่รับฟังความคิดเห็น ใครกล้าเห็นต่างกล้าเถียง ก็มักจะไม่เจริญ ขัดแย้งกับคำที่ว่า "สุวิชาโน ภวํ โหติ ผู้รู้ดี เป็นผู้เจริญ" เป็นยิ่งนัก
วัฒนธรรมไทยเราจึงจบกันที่ว่า "ได้ครับพี่ ดีครับนาย สบายครับผม เหมาะสมครับท่าน" มาจนถึงทุกวันนี้ และก็อยุ่แถวๆ นี้มากันจนทุกวันนี้
โฆษณา