เมื่อวาน เวลา 11:39 • ปรัชญา

ดวงตาที่ 3

ผู้ให้ธรรม
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
วันที่นำเข้าข้อมูล
วันอาทิตย์, 03 มกราคม 2564
 
แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง
กามคุณ | หลง
 
นอกจากโลกมนุษย์แล้วไม่มี ไม่มีโอกาสจะศึกษาธรรมปฏิบัติธรรมแม้แต่สวรรค์ เพราะมัวแต่จมอยู่กับกามคุณ 5 รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ต้องบอกว่าโงหัวไม่ขึ้น มันก็ไม่มีโอกาสได้หายใจ อากาศบริสุทธิ์ หายใจแต่เรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
อยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นในโลกมนุษย์นี้ ท่านจึงพูดกันบ่อย ๆ ที่เราเคยได้ยิน เกิดมาเป็นมนุษย์นี้โชคดีนักหนา เป็นโอกาสอันแสนประเสริฐ ประเสริฐเสียยิ่งกว่าอยู่ในสวรรค์ไม่ว่าชั้นใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้เรื่องของธรรมะ เพื่อจะขัดเกลาฝึกใจของตนเองให้พร้อมด้วยสติ สมาธิ ปัญญา จนช่วยชีวิตนี้ให้รอดพ้นได้
เมื่อฝึกปรือจิตใจของตนเองขัดเกลาจิตใจของตนเองจนกระทั่งวิชาเพิ่มพูนมากขึ้น ๆ เต็มอยู่ในหัวใจขับไล่อวิชาออกไป นั่นแหละดวงตาที่ 3 เกิดขึ้น เพราะภาพนี้เขียนโดยชาวทิเบต เพราะเขาชอบพูดถึงดวงตาที่ 3 ที่เป็นดวงตาที่อยู่ที่หน้าผาก
โดยสมมุติ ดิฉันก็อยากจะเรียกว่าเป็น ดวงตาแห่งธรรมะปัญญา ดวงตาแห่งธรรมะปัญญาก็คือดวงตาภายใน ดวงตาข้างในที่จะสามารถมองเห็นอะไร ๆ ได้ทั่ว ดวงตาเนื้อนี้มันเห็นอะไรก็เห็นแต่เพียงตามสมมุติสัจจะอย่างที่เราพูดกันมาแล้วใช่ไหมคะ ตามที่สมมุติกันตั้งกันมาบัญญัติกันมาแต่ไหนแต่ไรมา โดยไม่คิดที่จะดูว่าโดยแท้จริงมันสมมุติ
ถ้าสมมุติว่าเราเป็นคน อย่างดิฉันสร้างเป็นคนคิดประดิษฐ์ของชิ้นนี้ขึ้นมา ดิฉันอาจจะไม่เรียกว่าไมโครโฟน ดิฉันอยากจะเรียกว่านี่ปากกา แล้วใครจะทำไม เพราะเราเป็นคนประดิษฐ์คิดขึ้น นี่เค้าก็ให้เกียรติกัน ใครประดิษฐ์อะไรขึ้นมาก็ตั้งชื่อสิ่งนั้น นั่นรถยนต์ นั่นเครื่องบิน นี่ระเบิดปรมาณู นั่นทีวี นั่นคอมพิวเตอร์ นั่นอะไร นั่นก็แล้วแต่คนที่เขาประดิษฐ์เขาคิดขึ้นมา นี่คือสมมุติสัจจะ ถ้าเราเป็นคนคิดขึ้นมาบ้างละ เรา
จะตั้งชื่อนี้แล้วจะทำไม หรือว่าเขาเรียกดอกไม้เรียกนั่นว่าดอกบัว เราไม่เรียกเราจะบอกดอกกุหลาบ เราก็มีสิทธิ์ที่จะเรียกได้แต่เราไม่อยากเสียเวลาไปสืบสาว เราก็เห็นว่าไม่เป็นไรเขาเรียกว่าอะไรเราก็เรียกอย่างนั้น เพื่อความสะดวกในการที่จะสื่อสารทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน นี่คือตาเนื้อจะเห็นอะไรก็เห็นตามสมมุติสัจจะที่ได้สมมุติกันมาเชื่อกันมา
ฉะนั้นในการที่จะศึกษาธรรมปฏิบัติธรรม สิ่งที่ดิฉันพูดว่าใช้ความรู้สึก สัมผัสเข้าไปข้างใน สัมผัสเข้าไป นี่แหละคือการสร้างดวงตาข้างในที่เรียกว่าเป็นดวงตาแห่งธรรมะปัญญาให้เกิดขึ้นทีละน้อย ละน้อย ละน้อย และเมื่อมันเกิดขึ้นจริงแล้ว มันจะสามารถเห็นอะไร ๆ ได้ทั้งหมด แม้แต่ผู้ที่ตาบอดคือจักษุพิการ ก็สามารถที่จะสร้างดวงตาแห่งธรรมะปัญญาเกิดขึ้นได้ ทุกคนมีสิทธิ์ นี่คือความวิเศษของศาสนาพุทธหรือการมาศึกษาธรรมะ นี่คือความวิเศษของการที่จะเป็นผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนมี
สิทธิ์ที่จะสร้างดวงตาที่ 3 คือดวงตาแห่งธรรมะปัญญาเกิดขึ้นได้เท่า ๆ กัน ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นเศรษฐีหรือเป็นกระยาจก จะเป็นคนแข็งแรงหรือเป็นคนที่พิการ สามารถทำได้เท่า ๆ กัน ขึ้นอยู่กับความพากเพียร ความศรัทธา ความตั้งใจที่จะกระทำเพื่อความหลุดพ้นจากปัญหาแห่งชีวิตของตน แม้แต่การทำทาน การทำทานทุกคนสามารถทำทานได้เท่ากัน ไม่จำกัดว่ากระยาจกเศรษฐีเช่นเดียวกัน แม้แต่ขอทานก็สามารถทำทานได้และก็ทำทานอันประเสริฐด้วย
ทานอันประเสริฐก็คืออะไรคะ คือการทำทานโลภะ โทสะ โมหะ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือบริจาคจาคะ โลภะ โทสะ โมหะออกไป ซึ่งมันมีอยู่ในใจของคนแต่ละคน ต้องซื้อหาไหมคะ ไม่ต้องไปเสียสตางค์ซื้อหาเลย มันมีอยู่แล้ว แล้วเราก็รักใคร่ทะนุถนอมมันนัก เก็บเอาไว้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่ค่อยยอมแจกจ่ายกับใคร นี่
แหละเป็นการทำทานที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญเพราะมันทำยาก การที่จะบริจาคความโกรธออกไปสักทีนึง หรือความโลภไปสักที ความหลงไปสักที แม้มันดึงกี่หนับ กี่หนับ มันก็ไม่ออก เพราะมันเก็บเอาไว้นานแล้วเห็นว่ามันดี เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นสิ่งที่พูดถึงว่าดวงตาที่ 3 คืออะไรนะคะ แล้วเราก็สามารถที่จะพัฒนาดวงตาที่ 3 ให้เกิดได้เหมือนกันทุกคน
ทีนี้ในตรงกลาง ตรงกลางของภาพ ก็จะเห็นว่าเขาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นสีขาว อีกส่วนหนึ่งเป็นสีดำ อันนี้ไม่ใช่ตรงกลางทีเดียว เป็นรอบที่สาม รอบที่สามก็เป็นส่วนสีขาวกับส่วนสีดำ พูดง่าย ๆ ก็คือกรรมดำกับกรรมขาว หรือบุญกับบาป กุศลกับอกุศลนั่นเอง และสังเกตไหมคะว่าในภาพสีดำเป็นตัวอะไร เขาเขียนภาพเป็น
ตัวอะไร สังเกตไหมคะในด้านข้างสีดำนี่ ลิง เขาเขียนภาพเป็นตัวลิง ลิงต่อ ๆ กัน นั่นคือจิตที่ยังดำมืด มันเป็นจิตเถื่อนเหมือนลิงที่พยศร้ายที่ต้องการฝึกฝนปราบพยศอย่างมากทีเดียว กว่ามันจะกลายเป็นลิงเชื่องและก็สามารถใช้งานได้ใช้ประโยชน์กับตัวเองได้ นั่นก็คือพอมนุษย์เกิดมานี่ก็ข้องแวะอยู่กับทำดีบ้างทำชั่วบ้าง ทำผิดบ้าง
ทำถูกบ้าง ก็มักจะอยู่ในลักษณะนี้ จนกระทั่งวันหนึ่ง จะจากการสั่งสอนอบรมที่เผอิญไปได้ยินผู้ที่เป็นบัณฑิตพูดเล่าบอกแล้วจิตนั้นก็เปิดรับขึ้นมา หรือบางทีก็เกิดจากประสบการณ์ความรู้สึกของตนเอง ทำดีบ้างชั่วบ้าง ดีบ้างชั่วบ้าง จนเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าการทำความชั่วนี่มันไม่มีคุณประโยชน์ ไม่สมควรกระทำ เบื่อก็หันมาทำความดี ฉะนั้นจึงเป็นกรรมขาวหรือเป็นสิ่งที่เรียกว่าบุญหรือกุศล ทีนี้ในขณะที่ทำสิ่งที่ดีที่เป็นบุญก็ยังเกิดความยึดมั่นถือมั่นในความดีนั้นอย่างที่เราเคยพูดมาแล้ว
ยึดมั่นถือมั่นในความดีที่ตนได้กระทำว่าเป็นของฉัน กระนั้นมันก็ยังไม่พ้นจากสิ่งที่เรียกว่าเป็นปัญหาเพราะจะต้องเกิดความทุกข์จากการทำความดีเมื่อมันไม่ได้อย่างใจ
กรรมดีก็เรียกว่ากรรมขาว กรรมชั่วหรือกุศลกรรมบาปก็เรียกว่ากรรมดำ ถ้าจะเรียกคำว่ากรรมคือการกระทำ กระทำฝ่ายขาวก็คือทำความดี กระทำฝ่ายดำก็คือทำความชั่ว มนุษย์เราก็ติดอยู่ 2 ข้างนี่ บัณฑิตมันเป็นสิ่งคู่เหมือนกัน เดี๋ยวทำดีเดี๋ยวทำชั่ว พอละชั่วได้ก็ดีแล้ว หันมาทำความดีแต่ก็ยังไม่พ้นการยึดมั่นถือมั่นในความดีนั้น ท่านก็จึงสอนว่าถ้าจะให้รอดพ้นจากปัญหาจริง ๆ ต้องมีการกระทำที่อยู่เหนือกรรมดำและกรรมขาว ไม่ใช่ทำกรรมดำกรรมขาวผสมกัน ไม่ใช่กรรมดำกรรมขาวผสม
ภาวะกรรมดำกรรมขาวผสมท่านก็เปรียบเหมือนกับว่า เดี๋ยวก็เอาน้ำฝนรินลงไปในแก้วบ้าง เดี๋ยวก็น้ำโคลนน้ำขุ่นบ้าง น้ำนั้นก็ไม่สะอาดได้สักที ฉะนั้นจึงต้องทำกรรมที่เหนือกรรมดีและกรรมขาว เหนือกรรมดีกรรมขาวคือเหนือบาปเหนือบุญ เหนือสุขเหนือทุกข์ เพื่ออะไรหรือไว้ทำอย่างไร นั่นก็คือเป็นการกระทำที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าดี
หรือชั่ว ถูกหรือผิด แต่ทำเพราะมันเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ที่พูดซ้ำมาจนเบื่อแล้วนะคะตั้งแต่วันแรกจนวันนี้ พรุ่งนี้ก็ต้องพูดต่ออีกจนกว่าจะหมด ถ้าเบื่อแล้วจำได้ก็ไม่เหนื่อยเปล่าที่พูด แต่ถ้าเบื่อแล้วก็ทิ้งไว้ที่ตรงเสถียรธรรมนี่ก็ไม่มีใครต้องการนะคะ ทิ้งเปล่า ก็เอาเก็บไปซะดีกว่า
เพราะฉะนั้นการทำที่อยู่เหนือกรรมดีและกรรมขาว ก็คือทำการกระทำที่เห็นว่าถูกต้องเพราะเกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ตนเองคือไม่เป็นทุกข์และก็ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วย ฉะนั้นถ้าจะทำให้ถูกต้องก็คือทำกรรมที่อยู่เหนือกรรมดำและกรรมขาว
ที่สวนโมกข์ก็มีสถานที่แห่งหนึ่งเรียกว่าสระนาฬิเกร์ ท่านที่เคยไปสวนโมกข์แล้วหรือว่าอยู่ทางโน้นก็คงทราบ สระนาฬิเกร์ นาฬิเกร์ก็แปลว่าต้นมะพร้าว แล้วก็ท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านก็สร้างสระนาฬิเกร์นี้ขึ้นมาตามคำกล่อมเพลงกล่อมเด็กของทางภาคใต้ คำกล่อมนั้นก็มีว่าพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขึ้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญ พร้าวนาฬิเกร์ ต้นมะพร้าวอยู่
กลางทะเลขี้ผึ้ง ทะเลขี้ผึ้งคืออย่างไรคะ รู้จักทะเลขี้ผึ้งบ้างไหมคะ เราทั้งหลายนี่แหละอยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง โลกนี้แหละคือทะเลขี้ผึ้ง หมายความว่าไงคะ ก็ลองนึกถึงลักษณะของขี้ผึ้ง ถ้าหากว่าถูกความร้อนมันเป็นอย่างไร ละลายเหลว แล้วร้อนหรือเย็น ร้อนถ้าไปถูกเข้า มันลวกมือทำให้มือไหม้พองหนังหลุดได้ถ้ามันร้อนมากและมีมาก แล้วถ้ามันถูกความเย็นหรือว่าถูกเอาน้ำแข็งไปแช่ไปชะลอมันเป็นไง มันก็แข็ง
กระด้าง เย็น แต่ก็เย็นอย่างแข็ง เย็นอย่างกระด้าง ไม่ได้อ่อนนุ่ม ไม่ได้นุ่มนวล ไม่ได้อ่อนโยน นี่คือลักษณะของขี้ผึ้ง ทะเลขี้ผึ้ง โลกนี้เปรียบเหมือนกับทะเลขี้ผึ้ง เพราะอยู่ในโลกนี้เป็นอย่างไรล่ะคะ ปกติดีอยู่หรือ ลองถามตัวเราเอง ปกติดีอยู่หรือที่อยู่ในโลกทุกวันนี้ ที่ผ่านมาแล้วปกติดีอยู่หรือ มันก็ไม่ปกติเพราะมันสลับร้อน สลับแข็ง หรือสลับเย็น สลับอ่อนโยน สลับกระด้างอยู่เรื่อย ท่านจึงเรียกว่าเป็นทะเลขี้ผึ้ง ท่านก็เปรียบว่าเป็นทะเลขี้ผึ้ง ซึ่งมันก็จะเปรียบอยู่อย่างนี้
อันที่จริงถ้าจะถือตามธรรมชาติมันก็เปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย แต่เมื่อเกิดขึ้นกับใจของมนุษย์มันไม่ได้เปลี่ยนเอง มันเปลี่ยนตามเหตุปัจจัยที่มนุษย์ยอมให้อวิชชาเข้ามาครอบงำจิต ก็ยึด ยึดบุญบ้าง ยึดบาปบ้าง ยึดดียึดชั่ว พูดง่าย ๆ คือตกอยู่ในระหว่างของคู่ตลอดเวลา เรื่องของคู่นี้สำคัญนะคะ ขอให้ลองไปดูเถอะ แล้วไปนั่งเขียนของคู่จะได้หลายสิบคู่เป็นร้อยคู่ แล้วก็ไล่ดูว่าใจของเราที่ตกอยู่ในของคู่เหล่านี้
มีสักกี่คู่ และจะอัศจรรย์ไม่น่าเชื่อนับไม่ถ้วน นี่แหละที่ทำให้จิตของเราถูกตบซ้ายตบขวา ตบซ้ายตบขวา ชักเย่ออยู่ตลอดเวลาที่อยู่ในทะเลขี้ผึ้ง ทีนี้พร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน ถึงแม้จะมีคนอยู่รอบข้างเท่าใดก็ตาม แต่มันหนึ่งเท่านั้นและก็อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง นี่พูดถึงพร้าวนาฬิเกร์ที่ตามคำกล่อมของทางปักษ์ใต้ ฝนตกไม่ต้อง ไม่ต้องก็คือหมายความว่าไม่เปียก ฝนตกกลางทะเลก็ไม่เปียก ยืนอยู่ที่ฝนนี่ก็ไม่เปียก อันที่จริงเปียกไหมคะถ้าฝนตก ถ้าเราออกไปยืนกลางฝนนี่มันก็ต้องเปียก
แต่นี่ที่บอกว่าไม่เปียกเพราะอะไร อะไรที่ไม่เปียก อะไรที่ไม่เปียก ใจที่ไม่เปียก ไม่เปียกอะไรคะ ไม่เปียกความร้อนความหนาว ไม่เปียกความอ่อนโยนหรือความแข็งกระด้าง ไม่เปียก นั่นก็คือหมายถึงจิตที่ไม่กระเทือนต่ออะไร ต่ออะไรที่มากระทบ ต่อผัสสะที่มากระทบ ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง เสียงฟ้าร้องดัง ๆ น่ะ ถ้าคนหูไม่พิการต้องได้ยินกันทุกคนใช่ไหมคะ เสียงฟ้าร้องสนั่นหวั่นไหวมันก็ต้องได้ยิน ดังมากก็แหมรู้สึกว่ามันเข้ามาถึงแก้วหู แต่ในนี้ก็บอกว่าฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง ไม่ถึงอะไร
ไม่ถึงอะไร ไม่ถึงใจ คือใจนี่ก็ไม่กระเทือนอีกเหมือนกัน ไม่กระเทือนต่อผัสสะที่เกิดขึ้น ไม่ว่าผัสสะนั้นจะเป็นอะไรอย่างไหน ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง ไม่ได้หนีไปไหนนะคะ ยังคงอยู่ท่ามกลางความเป็นไปตามสภาวะของโลกที่ยื้อแย่งแข่งดีเบียดเบียนกัน มีการกระทบกระแทกกันอยู่ตลอดเวลานานาชนิด ดังที่เราได้ทราบถึงอาการของผัสสะที่เราเองก็กระทบอยู่ กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญเอย
ผู้พ้นบุญ จิตใดที่จะถึงซึ่งสภาวะนี้คือไม่กระทบ ไม่ว่าร้อนจะมากระทบก็เช่นนั้นเอง หนาวจะมากระทบก็เช่นนั้นเอง จะถึงได้ก็แต่จิตของผู้ที่พ้นบุญ
โฆษณา