Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เศรษฐศาสตร์และการพัฒนาประเทศ
•
ติดตาม
15 ธ.ค. เวลา 13:55 • การเมือง
สงสารประเทศไทย ไม่เข้าใจด้วยกันทั้งคู่
อ่านข่าวเรื่องที่คุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีแนวคิดนำเอาเงินสำรองระหว่างประเทศเข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้สินเฟส 2 เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในชนบทผ่านกลไกสถาบันการเงินของรัฐ (ที่มา: ข่าวหุ้น 13 ธ.ค. 67) แล้วรู้สึกเศร้าใจขึ้นมาทันที
แต่ที่ว่าเศร้าใจนั้น ไม่ใช่เพราะเห็นว่าไม่ควรนำมาใช้ แต่เศร้าใจเพราะพอได้ฟัง รมต.พิชัย พูดแล้วก็เลยทำให้รู้สึกหมดหวังที่ผู้ที่กำลังคุมทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทยทำไมไม่มีความรู้พื้นฐานเศรษฐศาสตร์มหภาคเลยจึงได้คิดแนวทางนี้ออกมาได้ ถ้าแนวคิดนี้มาจากคนทั่วไปที่ไม่ทราบว่าแนวคิดนี้ทำได้หรือไม่นี้ยังยอมรับได้ แต่ถ้าเป็นแนวคิดที่มาจาก รมว.คลัง นี่ยอมรับไม่ได้จริงๆ ครับ เพราะประเด็นทางเทคนิคเหล่านี้ คนที่จะมาเป็น รมว.คลัง ต้องรู้
ครั้นยิ่งหันไปทางฝ่ายค้านเพื่อหวังเป็นที่พึ่ง กลับยิ่งไปกันใหญ่ เพราะคุณศิริกัญญาที่ฝ่ายค้านกำหนดตัวให้เป็นแม่ทัพทางเศรษฐกิจกลับพูดในสภาฯ ว่า การนำเงินทุนสำรองที่สะสมเป็นเงินตราต่างประเทศมาใช้ในประเทศ อาจส่งผลให้ “เงินบาทแข็งค่าเกินไป” และสร้างผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งทำให้เห็นว่า คุณศิริกัญญาก็ไม่เข้าใจเรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานของเศรษฐศาสตร์มหภาคเลย
เพื่อให้เข้าใจว่าทำไมผมจึงกล้าบอกว่าทั้งสองคนทั้ง รมว.คลัง และ แม่ทัพทางเศรษฐกิจของพรรคประชาชนไม่รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์มหภาค จะขออธิบายเรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศดังนี้ครับ
เริ่มจากที่มาของทุนสำรองระหว่างประเทศ
ทุนสำรองระหว่างประเทศมีที่มาจาก 4 ทางคือ
1. ได้จากประเทศเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งมาจาก 3 ช่องทางย่อยคือ
1.1. การเกินดุลการค้าและบริการ ประเทศมีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศจากการส่งออกมากกว่าที่ต้องจ่ายเงินตราต่างประเทศออกไปจากการนำเข้า ซึ่งประเทศไทยเกินดุลการค้าและบริการมาเป็นเวลานาน เพิ่งมาเริ่มขาดดุลบ้างในช่วงหลัง เงินตราต่างประเทศที่สะสมไว้จากการเกินดุลการค้าและบริการระหว่างประเทศจึงมีมาก และเงินก้อนนี้ที่จริงแล้วเป็นของภาคธุรกิจที่ส่งออก
1.2. เงินโอนสุทธิเข้า/ออกประเทศจากปัจจัยการผลิตขั้นต้น (คนทำงาน, ทุน) เงินก้อนนี้เกิดจากค่าจ้างคนทำงานและผลตอบแทนทุน ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาเรามีเงินโอนสุทธิเป็นลบ เพราะเงินที่เราได้จากที่คนไทยไปทำงานในต่างประเทศและผลตอบแทนทุนที่นักลงทุนไทยไปลงในต่างประเทศรวมกันแล้วน้อยกว่าเงินที่เราจ่ายให้คนต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทยรวมกับที่นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยแล้วโอนผลตอบแทนกลับออกไป
1.3. เงินโอนอื่นๆ ที่ไม่ใช่จากการทำงานหรือการลงทุน เช่น เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า ซึ่งมาจากทั้งภาครัฐและเอกชน เงินก้อนนี้ส่วนใหญ่ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีเงินไหลเข้าสุทธิ
1
เมื่อก่อนรัฐบาลออกกฎหมายว่าเงินตราต่างประเทศทั้งหมดที่ได้มา หากนำเข้ามาในประเทศต้องนำมาแลกเป็นเงินบาท ทำให้ธุรกิจหรือประชาชนเมื่อนำเงินต่างประเทศมาแลกเงินบาทที่ธนาคารพาณิชย์ก็ได้เป็นเงินบาทไป ส่วนธนาคารพาณิชย์เมื่อได้เงินตราต่างประเทศมาก็นำไปแลกบาทกับธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้เงินตราต่างประเทศไหลเข้าไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและเก็บไว้ในทุนสำรองระหว่างประเทศโดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแล (custody)
(ที่กล่าวกันว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะพิมพ์ธนบัตรออกมาต้องมีเงินตราต่างประเทศค้ำประกัน ก็มีที่มาจากกลไกนี้)
2. ได้มาจากเงินลงทุนสุทธิ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลัก คือ
2.1. การลงทุนโดยตรง หรือการลงทุนเพื่อทำธุรกิจหรือซื้อหุ้นของธุรกิจ ถ้าต่างประเทศนำเงินก้อนนี้มาลงทุนในไทย ก็ต้องนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาแลกเป็นบาทและนำเงินบาทไปใช้จ่ายสำหรับซื้อสินค้าและบริการในประเทศ เงินตราต่างประเทศที่ถูกนำมาแลกก็ไหลเข้าธนาคารแห่งประเทศไทยผ่านธนาคารพาณิชย์ที่เป็นจุดรับแลก
ตรงกันข้าม ในกรณีที่คนไทยหรือธุรกิจไทยต้องการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศก็ต้องนำเงินบาทมาแลกเป็นเงินตราต่างประเทศออกไป ทำให้เงินบาทไหลเข้าธนาคารแห่งประเทศไทยและเงินตราต่างประเทศก็จะไหลออกจากทุนสำรองระหว่างประเทศไปอยู่ในมือของผู้แลกเพื่อนำไปใช้เพื่อการลงทุนในต่างประเทศ
เมื่อก่อนที่ประเทศไทยเนื้อหอม เงินจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศสูงกว่าเงินจากไทยไปลงทุนในต่างประเทศมาก แต่หลังจากการเมืองไทยไม่สงบมาเป็นเวลายาวนาน ทำให้ประเทศไทยไม่เนื้อหอมในสายตาชาวต่างชาติประกอบกับมีคู่แข่งใหม่ๆ เกิดขึ้นในภูมิภาค ในช่วงหลังเราจึงเห็นเงินลงทุนสุทธิเป็นลบอย่างต่อเนื่อง (เงินไทยไปลงทุนต่างประเทศมากกว่าเงินต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย)
2.2. การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน เช่นการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซื้อหุ้นกู้ของธุรกิจเอกชน หรือในปัจจุบันที่เพิ่มเข้ามาคือสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะมีทั้งกรณีที่ต่างชาติเข้ามาซื้อสินทรัพย์เหล่านี้ในประเทศไทย และกรณีที่คนไทยหรือธุรกิจไทยนำเงินออกไปซื้อสินทรัพย์เหล่านี้ในต่างประเทศ
การนำเงินเข้ามาซื้อก็จะทำให้เงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาแลกเงินบาท และผ่านธนาคารพาณิชย์ไปยังทุนสำรองระหว่างประเทศที่ดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และในทางตรงกันข้าม การนำเงินออกไปซื้อก็จะทำให้เงินตราต่างประเทศไหลออกจากทุนสำรองระหว่างประเทศไปยังมือผู้นำเงินบาทมาแลก และทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง
3. ได้มาจากเงินกู้สุทธิ ซึ่งแบ่งเป็นเงินกู้ภาคเอกชนและเงินกู้ภาครัฐ ถ้าภาคเอกชนไทยหรือรัฐบาลไทยกู้เงินจากต่างประเทศ เงินตราต่างประเทศจะไหลเข้ามาในประเทศ ซึ่งต้องมาแลกเป็นเงินบาทจากธนาคารแห่งประเทศไทยโดยมีธนาคารพาณิชย์เป็นทางผ่าน เงินตราต่างประเทศก็จะไหลเข้าไปในเพิ่มทุนสำรองระหว่างประเทศ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเอกชนไทยหรือรัฐบาลไทยใช้หนี้ก้อนนี้หรือนำไปให้ต่างประเทศกู้ ก็ต้องนำเงินบาทมาแลกเงินตราต่างประเทศเพื่อส่งออกไปนอกประเทศ ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง
4. ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าแทรกแซงค่าเงิน เมื่อเห็นว่าค่าเงินบาทแข็งไปหรืออ่อนไป ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาเพราะเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องรักษาเสถียรภาพของค่าเงินแม้จะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวก็ตาม โดยหากเห็นว่าค่าเงินบาทแข็งไป ธนาคารแห่งประเทศไทยก็นำเงินบาทไปเข้าซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อทำให้บาทอ่อนลง ในกรณีนี้ทุนสำรองระหว่างประเทศก็เพิ่มขึ้น และเมื่อเห็นว่าค่าเงินบาทอ่อนเกินไป ก็นำเงินตราต่างประเทศออกมาซื้อเงินบาท กรณีนี้ทุนสำรองระหว่างประเทศก็ลดลง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเข้าแทรกแซงในระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวนี้จะทำสองฝั่งอยู่ตลอดเวลาทำให้โดยสุทธิแล้วไม่กระทบกับสถานะของทุนสำรองมากเหมือนกรณีที่ตรึงค่าเงินเหมือนกับสมัยก่อนปี 2540 ที่ตอนนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องนำทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาซื้อเงินบาทจนทุนสำรองหมดหน้าตัก
ครับ เมื่อเข้าใจที่มาของทุนสำรองระหว่างประเทศแล้ว เราก็จะเห็นได้ว่าแท้ที่จริงแล้ว ทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศของประชาชนที่นำมาฝากไว้กับธนาคารแห่งประเทศซึ่งต้องฝากตามกฎหมาย (โดยบังคับให้นำมาแลกบาท) และแม้ปัจจุบันจะลดเงื่อนไขดังกล่าวลงไปแล้ว แต่ด้วยความที่พฤติกรรมการใช้เงินในประเทศไทยยังใช้เงินบาทเป็นสกุลหลัก ทำให้เงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้าออกประเทศยังต้องแลกกับเงินบาทอยู่เป็นส่วนใหญ่
ด้วยเหตุนี้ การที่ รมว.คลังกล่าวว่าจะพิจารณานำเงินสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชน ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าจะทำได้อย่างไร เพราะเงินนี้เป็นของประชาชนทั้งคนในประเทศและคนต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกรรมทางการเงินในประเทศไทย และเนื่องจากเป็นเงินที่มีเจ้าของ กลไกการนำเข้านำออกจึงถูกกำหนดไว้เพื่อให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของตัวจริงสามารถนำไปใช้ได้เมื่อต้องการ แต่หากรัฐบาล อยู่ดีๆ ก็ไปเบิกออกมา ก็ผิดทั้งกฎหมายและผิดทั้งหลักการ
แต่การผิดกฎหมายนั้น สำหรับผมไม่สำคัญเท่ากับผิดหลักการ เพราะการผิดกฎหมายแต่ถูกหลักการอาจหมายความว่า กฎหมายไม่เหมาะสม อันนี้แก้กฎหมายได้ แต่การผิดหลักการหมายถึง "ไม่รู้เรื่อง" ซึ่งในกรณีของ รมต. ที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจถือว่าร้ายแรงมาก เพราะหมายความว่า ประเทศกำลังฝากอนาคตไว้กับคนที่ "ไม่รู้เรื่อง"
จริงอยู่ที่ในทุนสำรองระหว่างประเทศบางส่วนเป็นเงินของรัฐบาลเองที่กู้มาจากต่างประเทศแล้วนำมาแลกเงินบาทจากธนาคารแห่งประเทศไทยออกไปใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ ซึ่งเงินก้อนดังกล่าวก็ถูกนำมาแลกเป็นเงินบาทเข้าไปใช้ในระบบเศรษฐกิจสำเร็จแล้ว และสมมุติว่ารัฐบาลบังคับธนาคารแห่งประเทศไทยให้เอาเงินตราต่างประเทศก้อนเดิมออกมาให้รัฐบาลเพื่อเอามาแลกเงินบาทใหม่ ก็จะกลายเป็นการออกเงินบาทใหม่โดยไม่มีเงินตราต่างประเทศค้ำประกัน
ผลก็คือทำให้เงินบาทในระบบเพิ่มขึ้นโดยเกิดจากเงินตราต่างประเทศที่ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจรองรับ (เพราะเงินตราต่างประเทศก้อนนี้ เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในอดีตที่สำเร็จไปแล้ว) และผลนี้ก็จะเป็นแบบเดียวกัน หากไปนำเงินก้อนอื่นที่ไม่ใช่ของรัฐแต่เป็นของประชาชนออกมาใช้ การทำแบบนี้จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงเหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศที่ไม่มีวินัยทางการเงินเช่นอาร์เจนติน่าในอดีต
แต่หากจะทำจริงๆ ช่องทางที่เห็นว่าพอจะทำได้ก็คือ รัฐบาลกู้เงินบาทจากประชาชนโดยการออกพันธบัตรรัฐบาลแล้วนำเงินบาทดังกล่าวไปแลกเงินตราต่างประเทศออกมา คำถามก็จะเกิดขึ้นทันทีอีกเหมือนกันว่า เมื่อได้เงินตราต่างประเทศมาแล้วจะเอาไปทำอะไร ถ้าตอบว่าเอากลับไปแลกเงินบาทเพื่อนำเงินบาทไปช่วยประชาชนตามที่ รมว.คลังต้องการ ถ้าเป็นแบบนั้น ก็ไม่ต้องไปแลกเงินตราต่างประเทศออกมาให้เสียเวลา เพราะสามารถเอาเงินกู้ไปใช้ได้เลย เพราะกู้เป็นบาทอยู่แล้ว
แต่ถ้ากู้บาทจากธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วนำไปแลกเงินตราต่างประเทศออกมา ก็จะเกิดคำถามเดียวกันว่า จะต้องไปแลกเงินตราต่างประเทศออกมาทำไมอีกเพราะเงินกู้ที่ได้ก็เป็นบาทอยู่แล้ว แต่กรณีกู้จากธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่เหมือนกับการกู้จากประชาชน เพราะการกู้จากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นการออกเงินใหม่เข้ามาในระบบจะมีแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ธนาคารแห่งประเทศไทยคงไม่ยอม
เหลือทางเดียวที่จะใช้ได้คือ เอาเงินกู้จากประชาชนไปแลกเงินตราต่างประเทศออกมาแล้วนำออกไปซื้อสินค้าและบริการของต่างประเทศเพื่อนำมาช่วยประชาชน ซึ่งกรณีเช่นนี้ก็จะส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศของไทยแย่ลง และไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของ รมว.คลัง ที่ต้องการเอาเงินมาให้สินเชื่อประชาชน
และที่ตลกซ้ำสองคือ คำพูดของคุณศิริกัญญา หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคประชาชน ที่บอกว่าการนำทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้จะทำให้ค่าเงินบาทแข็ง เพราะในความเป็นจริง การนำเงินตราต่างประเทศออกมา ต้องนำเงินบาทในระบบไปแลก ซึ่งมีแต่จะทำให้เงินบาทอ่อน และถึงแม้สมมุตว่ารัฐบาลสามารถใช้อำนาจเผด็จการบังคับให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำเงินตราต่างประเทศออกมาแล้วนำกลับไปแลกเงินบาทออกมา ก็จะกลายเป็นการออกเงินบาทสองครั้งจากเงินตราต่างประเทศก้อนเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อและทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง
ถึงตรงนี้ ผมจึงสรุปได้อย่างเดียวว่า ทั้ง รมว.คลัง และคุณศิริกัญญา ไม่เข้าใจว่าทุนสำรองระหว่างประเทศคืออะไร
และยิ่ง รมว.คลัง พูดถึงเงินสำรองระหว่างประเทศโดยบอกว่ามีสูงราว 4-5 ล้านๆ บาท ยิ่งเป็นการย้ำชัดว่า รมว.คลัง ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทุนสำรองระหว่างประเทศมีไว้ใช้เพื่อกิจการระหว่างประเทศ ตามชื่อของเงิน ไม่ใช้มีไว้เป็นสภาพคล่องสำหรับปล่อยสินเชื่อในประเทศ เพราะหน้าที่นั้นได้ถูกใช้ไปแล้วเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยนำเงินบาทออกมาแลกเงินตราต่างประเทศเข้าไปไว้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ
การพูดถึงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศโดยทั่วไปจึงไม่พูดถึงโดยใช้หน่วยเป็นบาท แต่จะใช้หน่วยเป็นเงินสกุลกลางของโลกเช่น USD เพราะพูดเป็นบาทไม่มีความหมาย เนื่องจากมีไว้เพื่อทำธุรกรรมกับต่างประเทศและค่าเงินบาทจะเปลี่ยนไปมา ไม่คงที่
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงรู้สึกเศร้าใจที่ประเทศมีผู้บริหารเศรษฐกิจที่ไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจ
เหตุการณ์นี้มักเกิดขึ้นเสมอ เพราะผู้นำทางการเมืองมักคิดว่าคนที่เก่งธุรกิจคือคนที่เก่งเศรษฐกิจ ซึ่งในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้นเลย เพราะธุรกิจ ไม่ว่าจะใหญ่เพียงไหน ก็เป็นแค่หน่วยเล็กๆ เพียงหน่วยเดียวในระบบเศรษฐกิจ ผู้ที่จะเข้าใจระบบเศรษฐกิจจึงต้องเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ
ส่วนกรณีของคุณศิริกัญญา แม้จะจบเศรษฐศาสตร์และเคยทำงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ แต่ด้วยคำพูดที่ออกมาจากคุณศิริกัญญาทำให้เห็นว่า พรรคประชาชนยังขาดผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์ตัวจริง
เศรษฐกิจ
การเมือง
3 บันทึก
4
2
4
3
4
2
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย