9 ชั่วโมงที่แล้ว • ความคิดเห็น

เรื่องภาษีกันอีกหน่อย

ว่าจะไม่เขียนถึงเรื่องนี้อีกเพราะน่าเบื่อและคิดว่าอย่างมากสิ่งที่ผมจะลงเพิ่มคงเป็นแค่ส่วนขยายเฉยๆ แต่ก็อดไม่ได้เมื่อเห็นข่าวลงทั้งหน้าแบบนี้
วิกฤติคลังเกิดขึ้นได้ยังไง ผมคงไม่ถามแล้ว รู้ๆกันอยู่แก่ใจ
จากที่อ่าน มีความเห็นเรื่องนี้กว้างขวาง แต่ความเห็นที่มีทั้งจากนักวิชาการกับภาคธุรกิจเอกชนออกไปในแนวเดียวกันคือสมควรขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากปัจจุบันที่7%ได้แล้ว ส่วนจะขึ้นกันเป็นอัตราเท่าไหร่นั้นขอให้พิจารณากันให้ละเอียดเพราะการขึ้นภาษีตัวนี้มันกระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชนของประเทศทั้งหมด
แล้วก็ร่ายประวัติศาสตร์กับภูมิศาสตร์จากประเทศอื่นเขาที่เก็บเท่าโน้นเท่านี้ บ้านเราก็เคยเก็บมาเท่านี้ มีการขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้วก็กลับไปที่7%เหมือนเดิม
(ประวัติศาสตร์อันนี้เคยเจอครับ ตั้งแต่5% ไป7% ไป8% แล้วไป10% สุดท้ายกลับมาที่7%ยันตอนนี้)
ส่วนเรื่องลดภาษีนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดาเสียงดูจะแตกกันออกไป
ทางนักวิชาการไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับเรื่องนี้ เขาว่าบ้านเราก็มีอัตราภาษีนิติบุคคลที่ไม่สูงอยู่แล้ว ไหนจะมีบีโอไอที่คอยส่งเสริมการลงทุน มีค่าลดหย่อนเยอะแยะจนแทบไม่ต้องจ่ายภาษีอยู่แล้ว ไม่สมควรลดนะ
ส่วนเอกชนขานรับว่าน่าสนใจ น่าจะดึงบริษัทระดับใหญ่มาได้ไม่ยาก
(ขอแป๊บเรื่องลดภาษีนิติบุคคล เอกชนย่อมดีใจครับ เงินภาษีจะกลับเข้ากระเป๋าเห็นๆ ใครจะไม่ชอบ กระทั่งผมยังชอบเลย)
ส่วนภาษีบุคคลธรรมดาทางนักวิชาการไม่เห็นด้วยเหมือนกัน เก็บเป็นขั้นบันไดอย่างนี้ก็เหมาะสมอยู่แล้วนะ ไม่ต้องแฟลทเรทหรอก ส่วนเอกชนเขาว่าจะดีกับการจูงใจให้คนมีฝีมือมาทำงานในประเทศเพิ่มขึ้น
(เรื่องนี้ผมเห็นด้วยกับนักวิชาการนะ แฟลทเรทคนที่มีรายได้มากจะเสียภาษีน้อยลง คนรายได้น้อยกลับเสียมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกันในเชิงตัวเลขคำนวน แถมยังไม่มีค่าลดหย่อนที่เคยมีด้วย อันนี้หนัก อ้อ แล้วคนเมืองนอกที่มีฝีมือจะมาทำงานในบ้านเรานี่เอาเข้าจริงจะมีเยอะขนาดนั้นเลยหรือ ขึ้นทะเบียนยังไง เห็นว่าเป็นแบบไม่เปิดเผยตัวก็มีไม่น้อยนา)
ในฐานะชาวบ้านทำมาหากิน การจ่ายภาษีต่างๆดูจะเป็นเรื่องลึกลับ จุกจิก น่าเบื่อ น่ารำคาญใจพอๆกับน่ากลัว
มันมีแต่ความสับสนว่าไอ้โน่นได้ไม่นี่ไม่ได้ วันดีคืนดีก็เปลี่ยนอีก ใครมันจะตามทันวะ
ภาษาที่ใช้ประกาศอ่านไปอ่านมาขอเครื่องแปลภาษาจากโดเรมอนมาได้ก็ดี อ่านแล้ว ฮ่วย! อิหยังวะ
ภาษีนิติบุคคลที่ทำท่าจะลดให้เพื่อหวังให้มีบริษัทใหญ่ๆข้ามประเทศมาลงทุน ผมว่าลดไปก็งั้นๆ เขาใหญ่จนเกินกว่าจะมาคิดตัวเลขแบบนี้แล้ว มันกระติ๋วเดียว แต่ที่โอดโอยมันคือการต่อรองครับ แหม จ่ายน้อยก็ย่อมดีกว่า จริงป่ะ
ส่วนบริษัทในไทยขนาดใหญ่ ขอเน้นว่าใหญ่นะครับ การลดในส่วนนี้ก็งั้นๆครับ เงินที่ได้กลับมาคิดหรือครับว่าจะเอามาลงทุนจ้างงานเพิ่ม
เงินส่วนนี้มันเกิดจากการลดภาษีครับ ไม่ได้เกิดจากการผลงานการผลิตหรืออะไรทั้งนั้น
มันคือเงินเก็บตก มีไว้จ่ายให้ตัวเองกับผู้ถือหุ้นต่างหาก ไม่ได้เอาไปขยายไลน์งานต่างๆ
ถ้าไม่เชื่อก็ลองคิดดูว่าถ้าการลดภาษีนิติฯมันทรงพลังขนาดนั้นจริงๆทำไมหลายบริษัทยักษ์ใหญ่เมืองนอกที่ยาหอมบ้านเราไว้เยอะแต่สุดท้ายถึงได้ย้ายไปเวียดนาม ทั้งที่ไทยเปิดกว้างทั้งยังมีสิทธิประโยชน์ต่างๆรวมถึงลดภาษีนิติฯให้ด้วย
ภาษีบุคคลก็อีหรอบเดียวกับภาษีนิติฯครับ เชื่อเหอะว่าคนที่จะต้องจ่ายมากขึ้นเมื่อเทียบกันคือพนักงานปกติทั่วไปที่เงินเดือนอยู่ในระดับปานกลางลงล่าง คนที่เคยจ่ายอยู่แล้วก็เหมือนเดิม เพิ่มเติมไม่มีค่าลดหย่อน แถมหลวงจะหาทางควานหาเงินจากคนเหล่านี้มากขึ้นกว่าเดิมเพราะระดับบนมันเสียน้อยลงไปแล้ว หาทางนี้ง่ายกว่า
เล่นกับบริษัทใหญ่ หลวงต้องพินอบพิเทาเข้าหา เอามือกุมเป้า ดีครับ ดีครับ เหมาะสมแล้วครับ
เล่นกับรายกลางรายย่อยหรือชาวบ้านมีแต่ขึงขังนั่งนับตั้งแต่เช้ายันเย็น เรียบร้อยก็บัญชาลงมาเป็นตัวเลขเท่านั้นเท่านี้ ชาวบ้านได้แต่ยืนนั่งกุมเป้า ครับ ครับ ครับ
เพื่อนผมเคยเปิดบริษัท มันว่าวันแรกนี่หลวงมาทวงว่าต้องมียอดเท่านั้นเท่านี้ สรุปมาให้เป็นรายวันรายเดือนรายปี รวมถึงคำนวนภาษีมาให้เสร็จ
เพื่อนผมบอกว่ายังไม่มีออเดอร์อะไรเลยนะครับพี่ เพิ่งเปิดวันนี้เอง ทางนั้นก็ไม่ยอม จะเอาให้ได้
สุดท้ายเปิดบริษัทมาได้ไม่นาน หุ้นส่วนก็ไม่ลงมาช่วยกันสักราย เงินเข้ายังไม่มี ออเดอร์ยังไม่มา มีแต่รายจ่าย
มันสะระตะแล้วปิดบริษัททิ้ง กลับไปสมัครงานเป็นลูกจ้างเขาเหมือนเดิม
สบายใจกว่าว่ะ มันว่า
ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม ระดับชาวบ้านจริงๆน่าจะไม่เห็นด้วยเอาซะเลยเพราะมันไปเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายอย่างตรงจุดที่สุด
ถ้าจะขึ้นก็คงต้องมีเหตุผลที่ดีกว่านี้อีกมากที่ต้องยกมาให้เห็น ไม่ใช่ว่าจะขึ้นอ่ะ จะขึ้นอ่ะ อย่างเดียว
การขึ้นภาษีตัวนี้ได้ผลเร็วยิ่งกว่าภาษีอื่นๆมากมายเพราะมันเป็นเรื่องใช้จ่ายปากท้อง คนเราต้องกินต้องใช้
ถ้าจะคิดประหยัดจริงๆก็ทำได้ แต่ยุคนี้มันไม่ใช่แล้วครับ ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมด
ยุคก่อนโน้นทำเองปลุกเองกินเอง เหลือค่อยแบ่งขาย สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆได้แต่นึกเอาเอง เต็มที่ก็มีเครื่องไฟฟ้าใช้งานหรือมีรถไถมอเตอร์ไซค์ช่วยงาน
ยุคนี้ทุกอย่างมาทางเน็ต เดินเข้าห้างเข้าร้านสะดวกซื้อ ทำเองกินเองปลูกเองเห็นทีจะอดเพราะที่อยู่ก็เท่าแมวดิ้นตาย ต้องลงทั้งยาทั้งปุ๋ยเพื่อเก็บเกี่ยววันข้างหน้า แต่ตอนนี้กรูหิวแล้ว จะให้ทำยังไงวะ?
รายได้ไม่พอรายจ่าย ทำอะไรเพิ่มก็ยังไม่พออยู่ดี
กัดฟันกันไปสิ
รากเลือดแล้วเว้ย!
...
แต่ถึงจะอย่างนั้นก็เถอะ การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มดูจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับหลวงในตอนนี้ ผมค่อนข้างเห็นด้วย เงินภาษีในส่วนนี้ได้มาจริง เต็มเม็ดเต็มหน่วย
แต่การถอนขนห่านมันต้องมีศิลปะครับ ไม่ใช่นึกจะถอนก็ถอน
ถ้าถอนทีละเส้นน่ะห่านไม่ร้องหรอก แต่นี่เล่นพรวดเดียวหลายเส้น ห่านที่ไหนมันจะยอม
มันต้องค่อยๆครับ เพิ่มทีละหน่อย ทอดเวลาไปอีกสักพัก พอคนชินแล้วค่อยเพิ่มอีกจนได้ระดับที่สมควร ไม่ใช่ระดับสูงสุด
แต่ยังไงคนไม่ยอมง่ายๆหรอกนะ
เหตุผลคือคนสมัยนี้เขาดูผลงานของหลวงด้วยว่ามันคุ้มค่าขนาดไหน ไม่ใช่อย่างสมัยก่อนที่ขึ้นนะแล้วไม่มีใครถาม ได้แต่ทำตาม
ไม่งั้นชาวบ้านเขาไม่ด่าถล่มทลายขนาดนั้นหรอกตอนที่โยนหินถามทาง
อย่างว่าครับ ถอยชั่วคราวแล้วค่อยมาว่ากันใหม่ เผลอๆจะหนักกว่าเดิมที่ถามทางมา
อีกอย่าง อย่าคิดว่าเก็บภาษีเพิ่มได้แล้วมันจะเพิ่มขึ้นมาได้จริงๆ
ชาวบ้านเขาจะรัดเข็มขัดเพิ่มขึ้นจนอยู่ตัว สินค้าที่คาดว่าจะได้เงินเพิ่มจากการนี้อาจไม่เป็นดังหวัง ไม่นับว่าเศรษฐกิจชะลอตัวในระยะแรกก่อนอีกต่างหาก เงินเฟ้อจะพุ่งพรวดชัวร์
ผมเองตอนที่จะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มสมัยก่อน ผมเองยังตุนของไว้เต็มก่อนเลย พอประกาศขึ้น ผมก็ค่อยๆทะยอยเอาออกมาลง คนก็มาซื้อไปตุนต่อ หมดแล้วค่อยมาซื้อ ถึงตอนนั้นราคาก็เปลี่ยนไปหมดแล้วค่อยมาว่ากัน สุดท้ายก็ยอดขายก็ไม่เท่าเดิมจริงๆ หายไปหมด คนรัดเข็มขัดกันแน่นหนา
บอกแล้วไงครับ ใครๆเขาก็รู้ทั้งนั้น
มีแต่หัวสี่เหลี่ยมที่ไม่รู้
...
อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มคงต้องมาแน่ แต่ตอนไหนยังไม่รู้ เพราะสารัตถะที่แท้จริงอยู่ที่การขึ้นภาษีตัวนี้มันได้เงินเต็มเหนี่ยวแน่นอน
ไม่ต้องมาทำลักลั่นว่าสินค้าไหนเก็บน้อยกว่า สินค้าไหนเก็บมากกว่า หรือถ้าซื้อตัวนี้มีเครดิตภาษีหรือเงินภาษีคืนมาให้ด้วย ผมว่าในบ้านเราปฏิบัติไม่ได้จริงเหมือนญี่ปุ่นหรอกครับเพราะโดยแนวคิดภาษีมูลค่าเพิ่มในบ้านเรามันถูกออกแบบมาให้เก็บเข้าอย่างเดียวในอัตราที่คิดได้ง่ายเหมือนกันทั้งหมดและไม่มีการคืนอะไรทั้งสิ้น แถมถ้าทำแบบนั้นจริงๆรับรองว่ามีช่องโหว่เจาะทะลุออกไปได้อย่างแน่นอน
ดังนั้น ผู้บริโภคสุดท้ายคือคนจ่ายครับ
แล้วใครล่ะคือคนสุดท้าย?
ก็ชาวบ้านทั่วไปนั่นล่ะ อันรวมถึงตัวผมด้วยนะ
อยู่สุดท้าย จ่ายรอบวง
อ้าว งั้นแสดงว่ามันก็ไม่เหลื่อมล้ำนี่ ทุกคนจ่ายเท่ากันหมด?
ฮ่วย คนมีเงินก็จ่ายได้ไม่ยี่หระ แต่ชาวบ้านนี่สิกระอัก ของเท่าเดิมเพิ่มเติมคือเงินที่ต้องจ่ายออก
ก็ลดภาษีบุคคลกับนิติฯเป็นแฟลทเรทแล้วไง ยุติธรรมนะ
โอย นี่คุณว่าจริงเหรอ คนกินเงินเดือนระดับทั่วไปนี่แหละที่จะเป็นเดอะแบกหนักกว่าเดิมทั้งภาษีทั้งแวต ส่วนคนเงินเดือนสูงหรือรายได้ดีเขาไปสะเทือนซางหรอก เต็มที่ก็บ่นว่าของแพง
หางานทำเพิ่ม
ตอบไปแล้วนะ งูกินหางอยู่เรื่อย
ภาษีเพื่อพัฒนาประเทศนะ
ไปบริหารงบที่มีให้ดีก่อนเถอะ
...
ถ้าพูดได้โดยไม่โดนอะไรก็อาจจะออกมาอย่างที่ผมว่านี่ล่ะ
สรุปส่งท้ายตอนนี้ว่าหลวงท่านยังแค่ศึกษา ไม่ได้จะดำเนินการเลย ไม่มีธงอะไร
ว่าตามจริง ไม่มีใครเชื่อหรอกครับ
ชาวบ้านชาวช่องเขารู้กันดีว่าถ้าออกมาแบบนี้มีความหมายว่าอะไร เขาถึงไม่ยอมไงครับ ด่ากันให้วุ่น ค้านกันให้ว่อน แทบจะเดินถนนประท้วง
แต่สิ่งที่เราๆท่านๆเชื่อมันจะเป็นจริงตอนไหนอย่างไรก็ต้องถ่างตากันไปเรื่อยๆ หลวงท่านมักชิงออกกฏโดยไม่บอกล่วงหน้า
ทำตาใสๆ บีบเสียงเครือๆ แต่จะเอาแบบนี้นี่ล่ะ จบนะ
พูดเสร็จแล้วก็สะบัดหน้าพรืด ไปทำงานกันได้แล้วทุกคน
ไอ้ที่เหลือก็ได้แต่อ้าปากค้าง ทำตาปริบๆ
กำหมัดแน่น...
cr. กรุงเทพธุรกิจ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา