เมื่อวาน เวลา 06:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เปิดรายชื่อ 22 หน่วยงานรัฐ "ไม่เซ็น ไม่เรียกเอกสาร" ประหยัดต้นทุน

หอการค้าฯ ลุยต่อ หนุน ก.พ.ร. กรมพัฒน์ ต่อยอด 12 หน่วยงานรัฐ ไม่เซ็นไม่เรียกเอกสาร พร้อมเสนอ Sandbox เดินหน้าสู่ e-Government
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผนึกกำลังร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ขยายผลความสำเร็จการเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ตามแนวทาง ไม่เรียก ไม่เซ็นเอกสาร ลดภาระซ้ำซ้อน พร้อมย้ำความพร้อมระยะที่ 2 กับ 12 หน่วยงานรัฐ ลุยยกระดับบริการภาครัฐ อำนวยความสะดวกธุรกิจและประชาชน ช่วยประหยัดต้นทุนได้รวมกว่า 7,100 ล้านบาทต่อปี
สุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย
นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ภาคเอกชนสนับสนุนภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงขั้นตอนและข้อจำกัดทางกฎหมาย รวมถึงระเบียบต่าง ๆ โดยเฉพาะการขออนุมัติ/อนุญาตให้มีความสะดวก ซึ่งเมื่อช่วงกลางปีนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ประสานกับ 10 หน่วยงานรัฐ จนเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นผลสำเร็จ ทำให้ลดกระบวนงานเรียกเอกสารได้จำนวนมาก ถือเป็นต้นแบบความสำเร็จระยะที่ 1 ของการไม่เรียกไม่เซ็นเอกสาร ลดภาระต้นทุนและเพิ่มความคล่องตัวให้ธุรกิจและประชาชน
การขยายผลเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ระยะที่ 2 ครอบคลุมหน่วยงานรัฐเพิ่มอีก 12 หน่วยงาน จากเดิม 10 หน่วยงาน รวมเป็น 22 หน่วยงาน ที่เชื่อมโยงข้อมูลและยกเลิกการเรียกเอกสารนิติบุคคลได้ ถือเป็นการยกระดับบริการภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้หอการค้าฯ เตรียมทำ Sandbox ขับเคลื่อนแนวทางไม่เรียก ไม่เซ็นสำเนา ในทุกเอกสารและทุกกระบวนงาน ในลักษณะ B2G นำร่องกระบวนงานสำคัญ เพื่อเป็น Quick Win ต้นแบบการอำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจ เดินหน้าสู่ e-Government แบบครบวงจร.....นายสุรงค์ กล่าว
อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร.
ด้านนางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ โดยผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ผ่านการออกกฎหมายต่าง ๆ ได้แก่
  • พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 เพื่อแก้ปัญหาความไม่สะดวกต่างๆ ของการอนุมัติ อนุญาต
  • พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารราชการแผ่นดิน
  • พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 เพื่อส่งเสริมให้การทำงานและการให้บริการของภาครัฐสามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักได้เพื่อไปสู่รัฐบาลดิจิทัล
  • ร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. .... โดยกฎหมายฉบับนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐเพื่อให้บริการประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
จากความสำเร็จในระยะแรกของ 10 หน่วยงานรัฐ สำนักงาน ก.พ.ร. และ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ขยายผลกับหน่วยงานอื่นที่เหลือ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
  • 1.
    กลุ่มที่มีความพร้อมยกเลิกการเรียกรับเอกสารเกี่ยวกับนิติบุคคลได้ ภายในเดือนธันวาคม 2567 จำนวน 12 หน่วยงาน ซึ่งได้แถลงข่าวในครั้งนี้
  • 2.
    กลุ่มที่ต้องมีการทบทวนกระบวนงานซึ่งสามารถยกเลิกการเรียกรับเอกสารเกี่ยวกับนิติบุคคลได้ ภายในเดือนธันวาคม 2568 จำนวน 25 หน่วยงาน
  • 3.
    กลุ่มที่อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสามารถยกเลิกการเรียกรับเอกสารเกี่ยวกับนิติบุคคลได้ ภายในเดือนธันวาคม 2569 จำนวน 27 หน่วยงาน
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจาก 22 หน่วยงานรัฐ ที่ร่วมขับเคลื่อนการยกเลิกใช้เอกสารเกี่ยวกับนิติบุคคลทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายในภาพรวมได้กว่า 7,100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะร่วมกันผลักดันให้ครบทุกหน่วยงานภายในปี 2569 เพื่อพัฒนาระบบราชการให้เป็นเสาหลักของการพัฒนาประเทศ นางสาวอ้อนฟ้า.....กล่าว
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยจะดำเนินธุรกิจได้ง่ายและสะดวกขึ้น ไม่ต้องใช้เอกสารข้อมูลนิติบุคคลในการติดต่อราชการอีกต่อไป ด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ที่มุ่งหวังอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ ความมุ่งมั่นในการยกระดับระบบราชการไปสู่ Digital Government และเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
ข้อมูลที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เชื่อมโยงให้กับหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย 7 ชุดข้อมูล
  • 1.
    ข้อมูลทะเบียนนิติบุคคล
  • 2.
    ข้อมูลบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
  • 3.
    ข้อมูลงบการเงิน
  • 4.
    ข้อมูลทะเบียนพาณิชย์
  • 5.
    ข้อมูลการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
  • 6.
    ข้อมูลทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ
  • 7.
    ข้อมูลสนับสนุนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของนิติบุคคล
ภายหลังประกาศยกเลิกเรียกรับเอกสารนิติบุคคลของ 10 หน่วยงานชุดแรกไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พบว่ามีการใช้บริการเอกสารจากระบบรวม 2.8 ล้านรายการ โดยหน่วยงานที่มีสัดส่วนการใช้บริการสูงสุด 5 อันดับแรก คือ กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมที่ดิน ตามลำดับ.....นางอรมน กล่าว
เปิดรายชื่อ 22 หน่วยงานรัฐ “ไม่เซ็น ไม่เรียกเอกสาร”
รายชื่อ 12 หน่วยงานภาครัฐพร้อมเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลระยะที่ 2
1. กรมทรัพย์สินทางปัญญา
2. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
3. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
4. กรมทางหลวงชนบท
5. กรมการท่องเที่ยว
6. กรมท่าอากาศยาน
7. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
8. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
9. สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
10. สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
11.สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)
12.สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช)
รายชื่อ 10 หน่วยงานภาครัฐพร้อมเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลระยะที่ 1
1. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
2. กรมที่ดิน
3. กรมธนารักษ์
4. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
5. กรมโรงงานอุตสาหกรรม
6. กรมสรรพสามิต
7. ธนาคารแห่งประเทศไทย
8. กรมศุลกากร
9. กรมบัญชีกลาง
10 กรมสรรพากร
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/238701
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา