16 ธ.ค. 2024 เวลา 09:55

3 เคล็ดวิชาทำงานให้ดีและมีความสุข

ทำงานให้ดีและมีความสุข
ด้วย 3 เคล็ดวิชาบาลานซ์ชีวิต
(1) ปิระมิด 3 สุข
(2) การสร้างแรงจูงใจภายใน
(3) การเขียนขอบคุณ
#BennOte จาก MBA-TU Talk #9
โดย ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์
ผู้อำนวยการ หลักสูตร MBA ธรรมศาสตร์
ผู้ใหญ่หลายคนบอกให้ sharpen the saw และวันนี้อาจารย์นภดลก็พูดถึงเรื่องนี้ใน MBA Thammasat Talk ด้วย ได้ข้ออ้างของการไปเรียนโน่นเรียนนี่ฟังโน่นฟังนี่เพิ่มแล้วหนึ่ง 555 ล้อเล่นค่ะ ที่จริงเห็นด้วยมาก ๆ เลยว่าเราต้อง “ลับคม” อยู่เสมอ ไม่งั้นหัวจะทื่อ สมองจะทึมถึ่มทึ่ม ชีวิตจะซึม เซา เฉา จืด ชืด ชมัดเรยยยย
และวันนี้ก็เป็นอีกวันที่เบ็นใช้เวลาวันอาทิตย์ให้มีประโยชน์ได้และมีความสุขด้วยค่ะ โดยการตามไปฟังอาจารย์นภดลทอล์คเรื่อง “การทำงานอย่างมีความสุข” 🥰
การทำงานกับความสุขมันจะไปด้วยกันยังไง๊ ... เรามองชีวิตอาจารย์มันดูเหมือนจะ “เวิร์คไร้บาลานซ์” เลยนะคะ อาจารย์ทำอะไรเยอะแยะมาก ๆ อ่านหนังสือ ทำเพจ เล่นกีฬา ทำพอดแคสต์ เอาเวลาที่ไหนมาทำงาน ... เอ้ย ไม่ใช่สอมันควรจะตรงกันข้ามเนาะ 555 อาจารย์สอนด้วย ทำวิจัย เขียนหนังสือ ทำงานบริหาร เอาเวลาที่ไหนไป “เล่น” ไปมีความสุข ... เอาจริงคือนึกไม่ออกว่าอาจารย์นอนตอนไหนดีกว่า 555
อาจารย์บอกว่าที่จริงอาจารย์มีเวลาว่างเยอะนะ นอนก็เยอะด้วย 8 ชั่วโมงต้องมี ... ทำได้ไง??? พอคนมาถาม มาเชิญให้ไปพูดเรื่องนี้ อาจารย์ก็เลยมานั่งตกผลึกและทำออกมาเป็น presentation หรือ talk นี้ค่ะ อาจารย์บอกว่ามีคนเชิญบรรยายเรื่องนี้บ่อยมาก เป็นรองแค่เรื่อง OKRs ที่อาจารย์เชี่ยวชาญเลย ล่าสุดอาจารย์ก็เพิ่งบรรยายให้น้องปี 1 ฟังว่าเข้ามาเรียนที่ Thammasat Business School แล้วจะทำไงให้เรียนได้ดี มีความสุข ไม่ burn out เฉาตายไปซะก่อน (วรรคหลังนี่เบ็นกล่าวค่ะ อาจารย์ไม่ได้กล่าว 555)
อ่ะ ... ตามมาฟังเคล็ดวิชาบาลานซ์งานและความสุขของอาจารย์กันค่ะ
=================
ก่อนจะไปชมเคล็ดวิชา
เรามาดู “งาน” และ “ความสุข”
ของอาจารย์กันก่อนนะคะ
=================
🔵 #งาน
งานของอาจารย์มหาวิทยาลัยมีสี่อย่าง อาจารย์ก็จัดไปแน่น ๆ จุก ๆ ทั้ง 4 อย่างกันไปเลยค่ะ
1. สอน >> ในปีที่ผ่านมาอาจารย์บรรยายไป 20,000 คน-ชั่วโมง นั่นเทียบกันสอน session ละ 3 ชั่วโมงประมาณ 3 – 5 session ต่อสัปดาห์
2. วิจัย >> ปีที่ผ่านมาอาจารย์มีงานวิจัยตีพิมพ์กับวารสารนานาชาติ 4 บทความ วารสารไทย 1 บทความ และยังมีที่รอตีพิมพ์อีก 3 บทความ
3. งานบริการวิชาการสู่สังคม >> เป็นวิทยากร เป็นที่ปรึกษา เป็นกรรมการหลายต่อหลายต่อหลายองค์กร
4. บริหาร >> เป็นผู้อำนวยการหลักสูตร MBA สร้าง Alumni ทำกิจกรรม ทำอีเว้นท์ จัดทริป มากมายมหาศาลล้านแปด
อห.... อาจารย์เอาเวลามาจากไหน๊ ... (เราแค่ทำงานเดียวก็หัวฟูแระ เวลายังไม่ค่อยจะมีหายใจ หรือวันของอาจารย์มี 48 ชั่วโมง 55)
🔵 #ความสุข
งานก็แน่น ฝั่งเล่นหรือความสุขก็ไม่พร่องค่ะทุกคน อ.นภดลทำทุกสิ่งที่เราอยากทำ แต่...ไม่มีเวลา
- ตี Pickleball (อินเทรนด์ฟุ่ด)
- ตีแบด
- ทำ Book Club
- อ่านหนังสือ ปีนี้อาจารย์อ่านไป 170 กว่าเล่มแล้วทุกโค้นนนน (เบ็นล่ะ ... มีแค่งานเดียว แตร่อ่านได้ 30 เล่ม แห่ะ...)
- ไปเที่ยวต่างประเทศ 3 ทริป
- จัดพอดแคสต์ทุกวัน!!! ย้ำว่าทุกวันนะทุกคน
เอาเวลามาจากไหนนนนนน ...
อาจารย์บอกว่าคนมักถามแบบนี้ คนมักคิดว่าอาจารย์ไม่มีเวลาเพราะทุกคนดูที่ outcome ค่ะ อาจารย์มี outcome เยอะ แต่จริง ๆ บางอย่างมันไม่ได้ใช้เวลามากขนาดนั้นนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “งาน” สำหรับอาจารย์ อาจารย์ใช้เวลาน้อยกว่าที่พวกคิดเยอะมาก ... ห๊ะ จริงดิ่ เทพเกินไปแล้ววววว
ที่จริงไม่ใช่เรื่องเทพหรือเมพอะไรค่ะ แค่เราต้อง priority เวลาของเราให้ดี ๆ ... ก็เท่านั้นเอง (อาจารย์กล่าวนะคะ ไม่ใช่เบ็นแน่ ๆ 555 ไม่งั้นคงไม่กรี๊ดร้องว่านอนไม่พออยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่อะไรค่ะ เอาเวลาไปดูซีรีย์หมด 🤣 งานคืออะรัยยย ... )
กลับมาที่เรื่องของเวลาค่ะ
อาจารย์บอกว่าชีวิตเรามี 3 อย่างหรือ 3 มุมที่ต่างก็ต้องการเวลาจากเราค่ะ นั่นคือ
- งาน
- นอน
- สังคม
ขอเรียกเจ้า 3 อย่างนี้ว่าสามเหลี่ยมชีวิตก็แล้วกันนะคะ
จาก 3 อย่างในสามเหลี่ยมชีวิตนี้ ถ้าให้เราเลือกได้แค่ 2 อย่างเราจะเลือกอะไรคะ บางคนเลือกงาน - สังคม บางคนเลือกงาน – นอน บางคนเลือก นอน - สังคม ไม่ว่าจะแบบไหน มันจะมีด้านใดด้านหนึ่งพังเสมอ ดูเหมือนว่าเราจะต้อง trade off เนอะ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ หรือเปล่านะ เราต้องเลือกจริง ๆ เหรอ ไม่เลือกได้ไหม เราจะทำให้ 3 อย่างนี้มันมาด้วยกันได้ไหม ...
อาจารย์บอกว่าได้ค่ะ ...
ยังไง ไหนบอก ...
อย่างนี้ค่ะ
.
.
.
ขอเชิญทุกท่านพบกับปิรามิด 3 สุข ถ้าเราเข้าใจ 3 สุขนี้ เราจะจัดการเวลาในชีวิตของเราได้ดีขึ้นค่ะ
=============
เคล็ดวิชาที่ 1
ปิรามิด 3 สุข 🥰🥰🥰
=============
เคล็ดวิชามาจากหนังสือชื่อเดียวกัน เขียนโดย คุณหมอชิอน คาบาซาวะ (จิตแพทย์) คุณหมอชิอนบอกว่าความสุขของมนุษย์เรามี 3 ระดับค่ะ
1. สุขเซโรโทนิน มันคือ #ความสุขกายสบายใจ นั่นเองค่ะทุกคน ซึ่งเกิดจาก S – E – X อ่ะไม่ใช่ความหมายน้าน (รู้นะคิดอะไรอยู่ 555) มันเป็นตัวย่อค่ะ เราจะสุขเซโรโทนินได้เราต้อง Sleep well, Eat Well and Xcercise well ซึ่งจะทำให้เราหลังดี ความจำดี และอารมณ์ดี บั่บว่าเรามัน healthy ค่ะสาวววว ... แบบนั้นเรย 🥰
2. สุขออกซิโตซิน มันคือ #ความสุขใจในสายสัมพันธ์ ค่ะทุกคน ออกซิโทซินจะเพิ่มขึ้นเมื่อความรัก ความสัมพันธ์ของเรากับผู้คนรอบข้างดีค่ะ ข้อดีของสุขแบบนี้คือเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะอยู่ยาว ไม่หายไปง่าย ๆ ... นอกจากเราจะไปง่อยกะรอกใส่เพื่อนมาก ๆ น่ะนะคะ ส่วนใหญ่ความสัมพันธ์ที่เปิดขึ้นมาแล้ว มันจะไม่ปิดบัญชีกันง่าย ๆ แบบนั้น
ใด ๆ คือความสัมพันธ์นี้ไม่ใช่แต่กับผู้คนเท่านั้นนะคะ กับน้อนหมาน้อนแมว กับ art toy ของเรา teddy bear ของเราได้หมดนับหมดค่ะ ทุกความสัมพันธ์ดี ๆ ทำให้เรามีสุขแบบเซโรโทนินเพิ่มขึ้นทั้งนั้นค่ะ
3. สุขโดพามีน คือ ความสุขจากความสำเร็จ อันนี้เราต้องมีเป้าหมาย เมื่อพิชิตเป้าหมายได้สุขโดพามีนจะพุ่งขึ้นสู๊งงงงเลยค่ะ ข้อเสียของโอพามีนคือมันมีอายุสั้น อยู่ได้แป๊บเดียวก็หายไป ชินง่าย เสพติดง่าย หมายถึงว่าอะรก็ตามที่เราทำได้เท่าเดิม ถึงจะสำเร้จเหมือนกันก็จะไม่ทำให้เรามีความสุข เราจะอยากได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ
เช่นเคยได้ 10 ไลก์ก็แฮปปี้ ครั้งต่อไป 10 ไลก์จะเฉย ๆ ละ ต้องได้ 100, 1000, 10000 ไปเรื่อย ๆ สุขแบบนี้จึงพาทุกข์มาง่ายนะทุกคน ถ้าเราไม่ระวังใจ
สังเกตไหมคะว่าเจ้า 3 สุขใน pyramid มันก็คือ 3 มุมในสามเหลี่ยมชีวิตของเรานั่นเอง การให้เวลากับ 3 มุมจึงเท่ากับการเลือกฮอร์โมนแห่งความสุขให้กับชีวิต
- เซโรโทนิน = นอน เป็นฐานของปิรามิด
- อ๊อกซิโตซิน = สังคม เป็นส่วนกลางของปิรามิด
- โดพามีน = งาน เป็นส่วนยอดปิรามิด
คุณหมอชิอนบอกว่า in the long run เราต้องทำฐานให้แน่นไม่งั้นยอดปิรามิดก็จะโค่นลงมาได้ ถ้าเรามัวแต่สนใจยอด ทำแต่งาน ดูแลร่างกายไม่ดี น้องก็พัง ทำงานได้เงินมาแค่ไหน ก็จบที่ต้องใช้ทั้งเงินและเวลาไป “ซ่อม” ฐานหมด ... ไม่ต้องมีความสุขกันพอดี
“ลองคิดถึงการแข่ง F1 ถ้าคิดว่าการเข้า pitstop ไปเปลี่ยนยางมันเสียเวลา ฝืนตะบึงไปเรื่อย ๆ ในที่สุดยางก็จะแตกก่อน ไปต่อไม่ได้ ไม่สามารถเข้าเส้นชัยได้ เราต้องคิดว่าการเข้า Pitstop เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน ...” อ.นภดล
#การพักเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในชีวิต
การฝืนจิตใจและร่างกายมากเกินไปทำให้เกิดความเครียดสะสม ซึ่งจะทำให้ทั้งร่างกายและจิตใจบ้งนะคะทุกคน ต้องบอกว่าเซโรโทนินเป็นหนึ่งใน ingredient ที่จำเป็นของชีวิต และเชื่อหรือไม่ (แปลว่าให้เชื่อนั่นแหละ 555) ถ้าเราทำ 2 ฐานล่างดี คือสุขภาพกายใจของเราดี และสังคมหรือความสัมพันธ์ของเราดี เราจะทำ “งาน” ให้สำเร็จได้โดยใช้เวลาน้อยมาก ๆ ค่ะ
อาจารย์ยกตัวเองเป็นเคส-สตัดดี้ค่ะ ก่อนหน้านี้อาจารย์ทำงานไม่พัก ไปเที่ยวกับครอบครัวก็แบกงานไปทำด้วย จนลูกบอกว่าเหมือนพ่อไม่ได้มาด้วย TT__TT ตอนนั้นทำงานเท่าไหร่ก็ไม่แล้ว เครียด จนในที่สุดร่างกายก็พังค่ะ อาจารย์ panic attack ยืนหน้าชั้นแล้วหน้ามืด สอนไม่ได้ ต้องไปหาหมอ ฮีลใจ ร่างกายก็ต้องรักษากันให้วุ่นวาย
ตัดภาพมาปัจจุบัน ตอนนี้อาจารย์นอนเยอะ พักผ่อนเต็มที่ เล่นเยอะ แต่อาจารย์พบว่างานของอาจารย์มี productive กว่าเดิม ทำงานวิจัยได้มากกว่าเดิม เพราะร่างกาย fresh สมองแจ่มใสก็เลยคิดงานได้ลื่นปรื๊ด ๆ และการพาตัวเองไปอยู่ใน “สังคมที่ดี” ก็ทำให้มี “กำลังและพลัง” ในการทำงานเพิ่มขึ้นด้วย จะทำอะไรก็มีคนช่วยทำงาน (ผ่านการพูดคุย ให้คำปรึกษา ช่วยทำ ไปยันช่วยฮีลใจ)
#สังคมไม่จำเป็นต้องคนเยอะ
#เพื่อนที่ดีหนึ่งคนก็คือสังคมที่มีคุณค่าแล้ว
คนส่วนใหญ่เน้น “งาน” เวลางานไม่เสร็จเรามันจะเลือกทำงานต่อไปเรื่อย ๆ ไม่นอน แต่เอาจริงนะทุกคน (เชื่อว่าทุกคนผ่านจังหวะนี้มาหมดแล้ว) โม่งานมาทั้งวัน จนผ่านเที่ยงคืนไป ยังไงสมองเราก็ตื้อ คิดอะไรไม่ออกแล้ว ยิ่งไม่นอนยิ่งล้า งานก็ยิ่ง speed ช้าลงไปเรื่อย ๆ แต่พวกเรามักจะ ... ฮุยเล่ฮุยยย ชีวิตต้องสู้ เนอะ ทำมันต่อไป ... สรุปจบงานได้ตอน 6 โมงเช้า จากนั้นชีวิตพังไปอีก 2 วัน คือมานั่งที่ทำงานนะ แต่ตางี้ลอยเชียะ เบลอ ทำงานไม่ได้ มันง่วง
ลองเปลี่ยนดูนะคะ ถ้าเราตัดใจนอน ... ตอนเที่ยงคืน สมองได้พัก เช้ามาไอ้ที่เราใช้เวลา 6 ชั่วโมงโต้รุ่งนั่น เราอาจใช้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมงเสร็จก็ได้นะ นี่แหละค่ะที่อาจารย์บอกว่าทำงานจริง ๆ แล้วใช้เวลาน้อยกว่าที่เราคิดนะ ... ถ้ากายใจแจ่ม เราจะทำงานได้มากขึ้น ด้วยเวลาที่น้อยลง
“ยิ่งอยากให้ งาน สำเร็จ
ยิ่งต้องทำเรื่อง นอน + สังคม ให้ดี”
=============
เคล็ดวิชาที่ 2
สร้างแรงจูงใจภายใน 💖💖💖
=============
ทีนี้มาว่าด้วยเรื่องของ “งาน” ถ้าเราอยากให้งานสำเร็จไม่ใช่แค่เสร็จ และถ้าเราอยากให้งานเป็นโดพามีนของเรา แรงจูงใจภายนอกอย่างเงินทอง การเลื่อนตำแหน่ง การอวยยศใด ๆ อาจจะไม่พอในระยะยาวนะคะ เราต้องสร้างแรงจูงใจภายในด้วย self-determination theory 3 ตัวนี้ค่ะ A-C-R
1. Autonomy
2. Competence
3. Relatedness
💖 Autonomy (ความมีอิสระ) อะไรก็ตามที่เราสนุก สังเกตไหมคะว่านั่นเป็นเพราะเราเลือกได้เอง เช่น เราชอบอ่านหนังสือเพราะเราเลือกได้ว่าจะอ่านอะไร เมื่อไหร่ก็ตามที่ถูกบังคับให้อ่าน หรือเรา force ตัวเองให้อ่านล่าแต้ม (เก็บ record ให้จำนวนเล่มได้เยอะ) การอ่านก็จะไม่สนุกอีกต่อไป ซีรีย์ก็เช่นกัน มันสนุกเพราะเราเลือกเรื่องที่เราอยากจะดูได้ ถ้าถูกบังคับหรือแม้แต่เราบังคับตัวเราเองให้ speed ให้จบให้หมด 24 ตอนใน 1 วัน ... ก็นะ กงยู อูซอก อะไรก็เอาไม่อยู่แระ
ในงานของเรา เราจึงต้องหามิติให้มันมี autonomy ให้ได้มาก ๆ ค่ะทุกคน คงไม่ได้ 100% หรอกเนาะ แต่อย่างน้อยก็มีส่วนที่เราเลือกได้ ถึงจะอยู่ในบทบาทที่เราไม่ค่อยชอบ แต่เราก็อาจจะเลือกเนื้องานที่ทำได้ เลือกเวลาที่จะทำงานนั้น ๆ ได้ กลับกันแม้เนื้องานจะเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ แต่เราก็อาจจะเลือกบทบาทได้ หรือ เลือกกระจายงานได้ เลือกช่วยกันทำกับเพื่อนได้ เป็นต้นค่ะ
ถ้าเราเป็นหัวหน้าทีม กับลูกน้องเราก็อาจจะต้องเปิดโอกาสให้ลูกน้องเลือกได้บ้างนะคะ เช่น เลือกว่าจะ onsite หรือ remote 😊
💖 Competence (ความเชี่ยวชาญ)
อะไรที่เราทำได้ดีเราจะมีความสุขและชอบที่จะทำค่ะ ดังนั้นมองมิตินี้เยอะ ๆ นะคะ เพราะเราอาจจะเลือกงานไม่ได้แต่เราเลือกที่จะใช้ “ความถนัด” ของเราในงานนั้นได้ค่ะ
เช่น ...
เราพรีเซนต์เก่ง >> ขอพรีเซนต์
เราเขียนเก่ง >> ขอเขียน
เราวิเคราะห์เก่ง >> ขอวิเคราะห์
หรือไม่ต้องขอ ทำ add-on ไปเลย ทำเกิน ๆ ไว้ไม่มีใครว่า (พี่โจ้ ธนาบอกว่าคนกลาง ๆ ต้องทำเกินค่ะ 😊) แล้วเราจะชอบงานนั้น (มากขึ้น / ในที่สุด) ความสามารถหรือความถนัดนี่มีดีตรงที่เพิ่มได้แทบจะไม่จำกัดนะคะ เพียงแต่เราต้อง invest เวลาค่ะ
Autonomy เพิ่มยาก
Competency เพิ่มได้
มีเรื่องเล่าจะพี่โจ้ ธนาเรื่องคนตัดไม้มาสอนใจเราถึงความสำคัญของเรื่องนี้ด้วยค่ะ มีคนตัดไม้ 2 คนทำงานให้เศรษฐี คนนึงตัดไม่หยุดเลย 6 ชั่วโมง ส่วนอีกคนตัด 2 ชั่วโมงแล้วหายไป 2 ชั่วโมงก่อนจะกลับมาตัดไม้ต่อ เศรษฐีก็คิดว่าคนที่ 2 ต้องตัดได้น้อยกว่าแน่ ๆ
ไม่ใช่ค่ะทุกคน คนที่ 2 ที่หายไปตัดไม้ได้เยอะกว่า เพราะ 2 ชั่วโมงที่หายไปนั้นเค้าไป “ลับขวาน” มาด้วย เราตัดไม้ไปเรื่อย ๆ ขวานก็ทื่อขึ้นเรื่อย ๆ ใช่ไหมคะ ถามว่ามันยังตัดได้อยู่ไหมก็ได้แหละ แต่มันใช้เวลามากกว่าในการตัดไม้ 1 ต้น
กลับไปที่ปิรามิด 3 สุขค่ะ
เราต้องพักและลับคมบ้าง ... เนอะ
อ่อ ... แต่จะลับขวานต้องดูด้วยนะคะว่าเราอยู่ถูกที่ไหม คนตรงนั้นให้คุณค่ากับสิ่งที่เราทำไหม ถ้าไม่เราอาจจะต้องเปลี่ยนขวานเป็นอย่างอื่นหรือยิ่งไปกว่านั้นเราอาจจะต้องเปลี่ยนที่ไปเลยค่ะ ... ถ้า value ไม่ match มี 2 ทางเลือกนะทุกคน ย้ายทักษะ หรือ ย้ายงาน
💖 Relatedness (ความหมาย)
งานของเราชีวิตของเรามันทำให้ชีวิตใครดีขึ้นกันนะ “ความหมาย” ของงานจะทำให้เรามีพลังค่ะ เช่น หมอรามาฯ เหนื่อยมาก ๆ เลย เงินเดือนก็น้อย ออกไปเปิดคลีนิกเองได้เงินเยอะกว่า ถามว่าทำไมยังทำ เพราะหมอทราบว่างานของหมอคือการรักษ์ชีวิตคน หมอกำลังรักษาชีวิตมนุษย์
หา value ของงานที่เราทำให้เจอ งานเราต้องไปเปลี่ยนชีวิตใครบางคน ไม่งั้นมันไม่เป็นงานตั้งแต่แรกแล้ว
สรุปวิธีเพิ่มแรงจูงใจนะคะ
ให้มองหา A – C - R
งานเราต้อง #เลือกโจทย์ได้
#ใช้ความถนัด และ #ชัดความหมาย
ในมุมของความสุขเราเอง เราต้องดูว่าเราขาดตัวไหน แล้วจูนคลื่นหามิติของงานของเรา ที่จะทำให้เรามี A-C-R เพิ่มขึ้น ในมุมของลูกน้อง ถ้าเราเป็นหัวหน้าแกงค์ ให้ดูว่าลูกน้องขาดตัวไหนแล้วก็พยายามชวนเค้ามาเพิ่มตัวนั้นด้วยกัน ทีมเราก็จะ Happy กับการทำงานมากขึ้น 😊
=============
เคล็ดวิชาที่ 3
การเขียนขอบคุณ 🙏🙏🙏
=============
ไม่มีงานไหนไม่มีปัญหา เราก็พยายามจะมีความสุขแหละ แต่เรา control โลกใบนี้ไม่ได้เนอะ เราอาจจะเจองาน นาย ลูกน้อง เพื่อนร่วมงานแย่ ๆ แต่เราต้องหาวิธีการจัดการกับสิ่งเหล่านั้นเพื่อที่จะ survive ไปให้ได้ค่ะ
จากแบบทดสอบและกิจกรรมที่อาจารย์นำมาให้ทำพบว่า “เราโฟกัสอะไร เราจะเห็นแต่สิ่งนั้นค่ะ” ทุกข์-สุข ดี-ร้ายก็เช่นกัน เราจึงต้อง train สมองให้ detect ความสุขมากกว่าความทุกข์ ให้เราโฟกัสเพื่อนร่วมงานดี ๆ 19 คนในแผนก เอาใจไปอยู่กับคนดี ๆ เรื่องราวดี ๆ มากกว่าคนแย่ ๆ 1 คน
“จงระวังคำบ่นของเราให้ดี ๆ
เพราะนั่นคือสิ่งที่เราโฟกัส
ยิ่งบ่นเท่ากับเรายิ่ง train สมอง
ให้จำเรื่องนั้น”
อาจารย์มีวิธี train สมองให้ focus เรื่อง positive มาเป็นเคล็ดวิชาสุดท้ายในวันนี้ค่ะ นั่นก็คือ “การเขียนขอบคุณ” หรือ Gratitude Journal ค่ะ เขียนอย่างน้อย 3 ข้อก่อนนอนทุกคืน (เขียนก่อนนอนจะทำให้ความรู้สึกขอบคุณนี้ฝังลงไปในจิตใต้สำนึกเราค่ะ)
ตอนเริ่ม ... ไม่รู้จะขอบคุณอะไรก็เป็นเรื่องปกติ อาจารย์เลยมี tips เล็ก ๆ มาให้ค่ะ
- ขอบคุณเรื่องเล็ก ๆ รอบ ๆ ตัว อย่ารอเรื่องใหญ่ ๆ มันหายาก กว่าจะสอบได้ที่หนึ่ง กว่าจะขายงานผ่าน นานไป๊ ... ขอบคุณกาแฟอร่อย ๆ แดดร่ม ๆ ลมเย็น ๆ ง่ายกว่า ขอบคุณได้ทุกวันด้วย 😊
- เขียนแรก ๆ อาจจะรู้สึกโง่ ๆ นะคะ ฉันขอบคุณกาแฟทำไม เขียนแล้วไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนไปเลยวะ นั่นเป็นเรื่องปกติค่ะทุกคน การเปลี่ยนแปลงมันต้องใช้เวลาเนาะ ขอแค่เริ่มลองเขียนดู เขียน ๆ ไปเราจะค่อย ๆ รู้สึกว่ามันง่ายขึ้น เราจะเริ่มมีความสุขง่ายขึ้น เพราะอะไรน่ะเหรอคะ
เพราะ ...
เราฝึกสมองใหม่ ใจเราละเอียดขึ้น เราฝึกตัวเองให้เห็นเรื่องดี ๆ ง่ายขึ้นและ ignore เรื่องร้าย ๆ เก่งขึ้น ... ทุก ๆ วัน 😊
- เกลียดอะไรให้เขียนขอบคุณเรื่องนั้นเยอะ ๆ ค่ะ หามุมดี ๆ ของอีเรื่องแย่ ๆ นั่นมาเขียนให้ได้ แล้วเราจะเห็นมุมดี ๆ ของเรื่องนั้นง่ายขึ้น
#ไกด์สี่หัวข้อที่ควรขอบคุณ
🔵 Active Happiness
1. ขอบคุณคนอื่นที่ดีกับเรา
2. ขอบคุณตัวเองที่ทำประโยชน์ให้คนอื่น
3. ขอบคุณที่เราได้พัฒนาตัวเอง
🔵 Passive Happiness
4. ขอบคุณ (ยินดี) ที่เห็นความสุขของคนอื่น เรามายืมความสุขคนอื่นหายใจกันค่ะทุกคน มีความสุขง่ายไม่เหนื่อยด้วย 555 จงใช้ social media ให้เกิดประโยชน์ เผือกแบบมีคุณค่าและดีต่อใจ 😊
การเขียนขอบคุณ (หรือการโฟกัสเรื่องดี ๆ) จะทำให้เราผ่านมรสุมไปได้ง่าย เพราะเรื่องร้าย ๆ มันจะกระทบใจเราน้อยลงค่ะ
=============
Q&A …
=============
🔵 เคล็ดลับบริหารเวลาของอาจารย์คืออะไร
ใส่เซโรโทนินกับอ๊อกซิโรซินไปในตารางเวลาด้วย ถ้าไม่ใส่โคพามีน (งาน) จะเอาเวลาเราไปหมด ใช้ technic ไหนก็ได้นะ เช่น time boxing ก็ได้ ที่สำคคัญคือ box แล้วอย่าปล่อยไหล มันก็กลับไปเหมื๊อนเดิม เราต้องยึดตารางนะ ... ยืด หยุ่น ได้ บ้าง แต่ไม่ใช่ปล่อยไหลลลลล ...
เราเพิ่มเวลาตัวเองไม่ได้
เราต้องจัดการเวลาที่มีให้ดี
 
🔵 การโฟกัสแต่เรื่องดี ๆ จะทำให้เราไม่ละเอียดอ่อนกับความทุกข์ของคนอื่นหรือเปล่า
ตรงกันข้ามเลย เพราะเราจะ empathize มากขึ้น เราจะอยากเห็นคนอื่นมีความสุข การโฟกัสเรื่องดี ๆ ไม่ได้แปลว่าเรา ignore ความทุกข์ของคนอื่น เราจะช่วยได้เท่าที่เราช่วยได้ และไม่ได้แปลว่าเราหลีกหนีความทุกข์ แต่เราจะจัดการกับมันให้ดี ไม่พาตัวเองไปอยู่กับมัน (เช่น เค้ามีดราม่ากัน เราก็พักเนาะ) และไม่จมตัวเองอยู่กับมัน (เราจะหามุมดีและก้าวข้ามมันไปจนได้)
🔵 เราจะจัดการกับกลุ่มที่มีพลังลบอย่างไร
เราเปลี่ยนเค้าไม่ได้หรอก เอาตัวเองออกมาเถอะ ถ้าเป็น “กลุ่มคน” เราคนเดียวจัดการคนอื่นเยอะ ๆ แบบนั้นไม่ไหวแน่นอน มันยากเกินไป ... ก็มุฟอร
 
กับที่ที่ไม่ใช่ยังไงก็ไม่ใช่ ต้นไม้ต้องการดินที่เหมาะสม อยู่ผิดที่ตลอดชีวิตนี้ก็ไม่โต เราต้องเปลี่ยนดินใหม่
You need to be in your own tribe!
🔵 ถ้าอยู่สายงานนึงมาชั่วชีวิต อายุเยอะแล้ว เราจะเปลี่ยนสายงานได้ไหม
ไม่มีอะไรสายเกินไป แต่อย่า jump อย่าเพิ่งลาออกจากที่เก่านะ ให้ prototype ก่อน ลองทำดูเล็ก ๆ ก่อน ว่ามันโอเคไหม มันตรงจริตเราจริงไหม ที่สำคัญมันยังชีพได้ไหม ถ้าได้ค่อย ๆ ถอนต้นไม้ของเราออกมาจากดินเดิม 😊
ใด ๆ คืออย่าลืมหาขวานเล่มใหม่ และลับขวานด้วยนะ!
🔵 ถ้าไม่ถนัดเขียน journal มีเพื่อนแนะนำให้พูด บอก ตอบแบบสอบถามที่เค้าให้เราเขียนประเมินก็ได้นะ คนทำจะได้เห็นด้วย + เจ้านายเค้าก็เห็น
อาจารย์บอกว่าที่จริงแค่คิดก็ได้ มีมหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่น (Warren Buffet แดนอาทิตย์อุทัยว่างั้น) เคยให้สัมภาษณ์ว่าที่ประสบความสำเร็จมากแบบนี้ เป็นเพราะขอบคุณวันละ 3,000 ครั้ง!
🔵 มีวิธีเพิ่มพลังให้เราทะลุขีดจำกัดของตัวองไหม
อาจารย์นภดลเชื่อว่าเราทุกคน under estimate ตัวเอง มนุษย์ทุกคนมี hidden potential เยอะมาก ถ้าเราจินตนาการถึงภาพความสำเร้๗ได้ เชื่อเถอะว่าเราไปให้มันถึงได้
#จงทำอะไรยากๆบ้าง เราจะได้รู้ว่าเราไปได้ไกลแค่ไหน เราจะได้เห็นถึงศักยภาพที่แท้จริงของเราเอง #อยากทำอะไรจงทำเลย ไม่ต้องสนใจว่ามันจะสำเร็จไหม ถ้าเป็นเรื่องที่เราคิดว่ามีประโยชน์ ทำแล้วตัวเราและคนอื่นไม่เดือดร้อน why not? … จงทำ
============
ขอบคุณอาจารย์นภดลสำหรับหลักคิดดี ๆ นะคะ ทุกครั้งที่ได้พบกับอาจารย์สมองเราจะมีรอยหยักเพิ่มขึ้นเสมอ และใจเราก็จะฟู ๆ กลับมาเสมอ เพราะเราจะได้อยู่ในแวดล้อมดี ๆ ของผู้คนดี ๆ อย่างวันนี้ผู้คนในห้องก็ทำให้ vibe ดี๊ดี มีคำถามดี ๆ และ sharing ดี ๆ ให้เก็บกลับบ้านเยอะเลย (เราใช้คำว่าดี ๆ เปลืองและซ้ำมากไปนะ แต่มันดี๊ดีจริง ๆ ค่ะทุกคน 😁)
ดีใจที่ได้พบคุณต้นและโอมคนคุ้นเคยแสนน่ารักจาก Book Club รวมทั้งน้องธูปและน้องจากเพจมันนี่คลับเพื่อนของโอมด้วย เวลาไปที่ที่ไม่คุ้นเคยมันจะวิเวกใจเบา ๆ คนอินโทรเวิร์ตอย่างเราแอบเครียด (จะเครียดทำไม ... ก็งงใจตัวเองอยู่ แต่มันห้ามใจไม่ได้จริง ๆ 55) วันนี้ตอนเดินเข้าห้องมาเจอหน้าคุ้น ๆ อ่ะ ... เลยไม่รู้สึกเหว่ว้า มีเพื่อนปั๊บ ห้องเป็นของเรา 555 เกิดความ belong ขึ้นมาทันใด แม้เราจะไม่เคยเรียนที่นี่ก็ตาม ตอนจบทอล์คน้องธูปยังใจดีถ่ายภาพสวย ๆ ให้ด้วย คนน่ารักก็มักจะมีเพื่อนน่ารักอ่ะเนาะ 😊💖💖
ดีใจที่ได้มีโอกาสพบคุณโชคด้วยค่ะ ใจฟูมากที่คุณโชคเดินมาบอกว่าอ่าน #BennOte อยู่ ขอบคุณที่ใจดีเดินมาทักทายกันนะคะ งานของคุณโชคน่าสนุกมาก หวังว่าจะได้พบกันอีกในโอกาสต่อ ๆ ไปค่ะ (หวังว่าคุณโชคจะผ่านมาอ่านโน้ตนี้นะคะ)
วันนี้ดีจัง
💖💖🥰🥰💖💖
#BennOte #bp_ben
#KnowledgeSharing
#BensGoodWords
#benji_is_drawing
#benji_is_learning
#inspirationalquotes
#perspectiveshift
โฆษณา