16 ธ.ค. เวลา 11:09 • ธุรกิจ

อธิบายคำศัพท์ธุรกิจ “Diseconomies of Scale” ยิ่งผลิตเยอะ ต้นทุนยิ่งบวม พร้อมตัวอย่างแบบเข้าใจง่าย ๆ

-หลายคนจะคุ้นเคยกับคำว่า Economies of Scale หรือการประหยัดต่อขนาด ซึ่งหมายความว่า “ยิ่งผลิตมากขึ้น ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วย ยิ่งน้อยลง”
แต่รู้หรือไม่ ? ว่าจริง ๆ แล้ว Economies of Scale ก็มีจุดที่อิ่มตัว
คือเมื่อผลิตสินค้าเยอะ ๆ จนเต็มกำลังการผลิตแล้ว ถ้าเราอยากจะผลิตสินค้านั้นให้มากเกินกว่ากำลังการผลิตเดิมที่รับได้ เมื่อถึงจุดนี้ ยิ่งผลิตเยอะ ก็ยิ่งมีต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยมากขึ้น
ซึ่งปรากฏการณ์ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยที่มากขึ้นนี้ เราเรียกว่า Diseconomies of Scale
คำว่า Diseconomies of Scale มีอะไรที่ต้องเข้าใจบ้าง ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
เพื่อให้เข้าใจภาพ เรามาดูกลไกของการเกิด Economies of Scale กันก่อนเลย
ตัวอย่างเช่น
ถ้าเราจะสกรีนเสื้อขาย ต้นทุนที่เกิดขึ้นคือ
- ต้นทุนผันแปร เช่น ค่าเสื้อสีพื้น และค่าสกรีน
- ต้นทุนคงที่ เช่น ค่าจ้างออกแบบดิไซน์ และค่าบล็อกสำหรับสกรีนเสื้อ
สมมติเงื่อนไขให้
- ค่าเสื้อสีพื้นตัวละ 80 บาท
- ค่าตั้งเครื่องจักรหรือค่าผลิต ตัวละ 20 บาท
รวมต้นทุนผันแปร = 100 บาท
- ค่าบล็อกสกรีนเสื้ออย่างดี 1,500 บาท
- ค่าออกแบบดิไซน์ 500 บาท
รวมต้นทุนคงที่ = 2,000 บาท
ถ้ามองเผิน ๆ เราก็จะเห็นได้ว่า เราต้องใช้ต้นทุนค่าใช้จ่าย อย่างต่ำ 2,100 บาท
ถึงจะสั่งสกรีนเสื้อมาขายได้ 1 ตัว
1
ทีนี้ ถ้าเราลองทำเสื้อมาขาย แบบลายเดียวทีละมาก ๆ เลย
ต้นทุนที่เราต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ก็คือต้นทุนค่าเสื้อสีพื้น ซึ่งเป็นต้นทุนผันแปร
ส่วนต้นทุนคงที่ อย่างค่าสกรีนเสื้อและค่าออกแบบดิไซน์ รวมกันเท่ากับ 2,000 บาท เท่าเดิม
ทำให้ยิ่งสั่งผลิตในลายเดิมมากขึ้น ต้นทุนเฉลี่ยต่อเสื้อ 1 ตัว ก็ยิ่งลดลงเรื่อย ๆ
- สั่ง 10 ตัว จะมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด (10 x 100) + 2,000 บาท เท่ากับ 3,000 บาท
ต้นทุนการผลิตต่อหน่วย เท่ากับ 3,000 / 10 = 300 บาท ต่อตัว
- สั่ง 50 ตัว จะมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด (50 x 100) + 2,000 บาท เท่ากับ 7,000 บาท
ต้นทุนการผลิตต่อหน่วย เท่ากับ 7,000 / 50 = 140 บาท ต่อตัว
- สั่ง 100 ตัว จะมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด (100 x 100) + 2,000 บาท เท่ากับ 12,000 บาท
ต้นทุนการผลิตต่อหน่วย เท่ากับ 12,000 / 100 = 120 บาท ต่อตัว
- สั่ง 500 ตัว จะมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด (500 x 100) + 2,000 บาท เท่ากับ 52,000 บาท
ต้นทุนการผลิตต่อหน่วย เท่ากับ 52,000 / 500 = 104 บาท ต่อตัว
- สั่ง 1,000 ตัว จะมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด (1,000 x 100) + 2,000 บาท เท่ากับ 102,000 บาท
ต้นทุนการผลิตต่อหน่วย เท่ากับ 102,000 / 1,000 = 102 บาท ต่อตัว
จะเห็นได้ว่า
- ถ้าสั่งผลิตเสื้อ 1 ตัว มีต้นทุนการผลิต 2,100 บาทต่อตัว
- ถ้าสั่งผลิตเสื้อ 10 ตัว มีต้นทุนการผลิต 300 บาทต่อตัว
- ถ้าสั่งผลิตเสื้อ 50 ตัว มีต้นทุนการผลิต 140 บาทต่อตัว
- ถ้าสั่งผลิตเสื้อ 100 ตัว มีต้นทุนการผลิต 120 บาทต่อตัว
- ถ้าสั่งผลิตเสื้อ 500 ตัว มีต้นทุนการผลิต 104 บาทต่อตัว
- ถ้าสั่งผลิตเสื้อ 1,000 ตัว มีต้นทุนการผลิต 102 บาทต่อตัว
จากตัวเลขด้านบนนี้ เราพอจะสังเกตเห็นอะไรหรือไม่ ?
เราจะเห็นได้ว่า เมื่อสั่งผลิตเสื้อเพียง 1 ตัว จะมีต้นทุนการผลิตสูงถึง 2,100 บาทต่อตัว
เพราะต้นทุนคงที่ หรือ Fixed Costs อย่าง ค่าบล็อกสกรีน ค่าตั้งเครื่องจักร หรือค่าดิไซน์ ยังถูกเฉลี่ยอยู่ในสินค้าเพียงตัวเดียว
แต่เมื่อสั่งผลิต 10 ตัว ต้นทุนต่อหน่วย จะลดลงอย่างมาก จนเหลือ 300 บาทต่อตัว
เพราะต้นทุนคงที่ ถูกกระจายไปในสินค้า 10 ตัว ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยลดลงอย่างมาก
แต่เมื่อเริ่มสั่งผลิตมากขึ้น อย่าง 50 ตัว, 100 ตัว หรือ 1,000 ตัว จะเห็นได้ว่าต้นทุนเฉลี่ยต่อตัว ก็จะลดช้าลงเรื่อย ๆ
จาก 140 บาทต่อตัว เหลือ 120 บาทต่อตัว และเหลือ 102 บาทต่อตัว
ยิ่งผลิตมากขึ้น ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยนั้น ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงแรก และจะลดลงอย่างช้า ๆ เมื่อปริมาณการผลิต เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ
โดยต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วย จะลดลง จนเข้าใกล้จุดต่ำสุดของต้นทุนการผลิต
ซึ่งเราจะเรียกจุด ๆ นี้ว่า Minimal Average Cost หรือ MAC
ซึ่งเราจะต้องผลิตสินค้า ในปริมาณที่จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วย เท่ากับจุด MAC ซึ่งเป็นจุดที่ต้นทุนต่อหน่วยต่ำที่สุดนั่นเอง
แล้ว MAC ในชีวิตประจำวันของเรา มันคือจุดไหนกันแน่ ?
เราสามารถมองจุด MAC ในธุรกิจของเราได้แบบคร่าว ๆ ก็คือ
- ร้านอาหารบุฟเฟต์แบบจำกัดเวลา ที่มีคนเข้าไปนั่งเต็มอยู่ตลอดเวลา
- โรงแรม ที่มียอดจองห้องพักเต็มทุก ๆ คืน
- รถโดยสาร รถไฟ หรือสายการบิน ที่มีคนนั่งโดยสารเต็มคัน หรือเต็มลำ
- โรงงานผลิตสินค้า ที่สามารถผลิตได้เต็มกำลังการผลิต 100%
พูดง่าย ๆ คือ จุดที่ธุรกิจใช้กำลังการผลิตแบบเต็มกำลัง ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินในธุรกิจอย่างเต็มที่ หรือที่ภาษาธุรกิจชอบพูดว่า Utilization Rate 100%
แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราผลิตสินค้าจนเกินไปกว่าจุด MAC ?
คำตอบคือ มันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “Diseconomies of Scale” ที่เป็นส่วนกลับของ Economies of Scale หรือการประหยัดต่อขนาด
คือ ยิ่งผลิตเยอะ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยต่อหน่วย ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น
ตัวอย่างเช่น
- ร้านอาหารบุฟเฟต์ ลูกค้าล้น จนร้านต้องขยายพื้นที่
- รถไฟฟ้า จุผู้โดยสารไม่พอ ต้องลงทุนเพิ่มขบวนใหม่
- โรงงานผลิตสินค้า มียอดออร์เดอร์ผลิตมาก จนเกินกำลังการผลิต ต้องขยายโรงงาน
เมื่อเป็นแบบนี้ ก็จะทำให้ธุรกิจ เริ่มเลยจุดที่เรียกว่า MAC จนกระทั่งเกิด Diseconomies of Scale
หรือยิ่งผลิตสินค้ามาก ก็ยิ่งมีต้นทุนที่มากขึ้น
โดยเคสการผลิตสินค้าที่มากเกินกำลัง ก็อย่างเช่น
โรงงานผลิตเสื้อผ้า ที่สามารถผลิตได้เต็มกำลังที่ 1,000 ชิ้นต่อเดือน
แต่อยู่มาวันหนึ่ง เสื้อผ้าขายดีมาก ๆ จนลูกค้าต้องออร์เดอร์เพื่อขอผลิตเพิ่มเป็น 1,500 ชิ้นต่อเดือน
เมื่อกำลังการผลิตไม่พอ นั่นหมายความว่าโรงงานจะต้องลงทุนเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็น
- ลงทุนในอุปกรณ์การผลิต หรือเครื่องจักรใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้ได้ยอดตามเป้าที่ 1,500 ชิ้นต่อเดือน
- ลงทุนจ้างพนักงานผลิตเพิ่มอีกกะ หรือให้พนักงานทำ OT เพิ่มเติม
หรือถ้าหากลูกค้าต้องการออร์เดอร์เสื้อผ้า เป็นหลาย ๆ เท่าตัว
เช่น 2,000 ชิ้น, 3,000 ชิ้น หรือ 4,000 ชิ้น เราก็อาจต้องพิจารณาลงทุนเพื่อขยายไลน์การผลิตเสื้อผ้าใหม่ หรือสร้างโรงงานผลิตใหม่ไปเลย
จะเห็นได้ว่า ทั้งหมดนี้ ก็หมายถึงเป็นการลงทุน เพื่อทำให้ Fixed Costs หรือต้นทุนคงที่นั้นเพิ่มขึ้นมา
เช่น ค่าซื้อเครื่องจักรใหม่, ค่าจ้างพนักงานชุดใหม่
ประเด็นคือ กำลังการผลิตหรือการบริการที่เพิ่มขึ้นมา อาจให้บริการได้ไม่เยอะในช่วงแรก ๆ คือ Utilization Rate ไม่เยอะ
เช่น ร้านอาหารส่วนที่ขยายเพิ่มขึ้นมา คนมานั่งไม่ถึงครึ่งหนึ่ง, เครื่องจักรส่วนที่เพิ่มขึ้นมามี Utilization Rate แค่ 30%
ซึ่งจากตัวอย่างที่ว่านี้ ทำให้ช่วงดังกล่าว ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยของการผลิตหรือให้บริการ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ดังนั้น เจ้าของธุรกิจก็ต้องวิเคราะห์ว่า ถ้าธุรกิจขยายไลน์การผลิต ขยายสาขาแล้ว จะสามารถทำ Utilization Rate ให้เยอะได้เหมือนเดิมไหม
ซึ่งถ้าทำได้ จากช่วงแรก ๆ ที่ขยายไปแล้วอาจจะเกิดอาการ Diseconomies of Scale
หรือยิ่งผลิตสินค้ามาก ก็ยิ่งมีต้นทุนที่มากขึ้น
สุดท้ายถ้าทำ Utilization Rate ให้เยอะได้เหมือนเดิม
ธุรกิจก็จะกลับมาเกิด Economies of Scale คือยิ่งผลิตมาก ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยยิ่งลดลงได้
ซึ่งคือจุดที่ควรจะเป็น สำหรับคนทำธุรกิจนั่นเอง..
โฆษณา