16 ธ.ค. เวลา 13:31 • ข่าว

อธิบายเรื่อง Stablecoin ที่ทักษิณพูดถึง มีโอกาสทำได้แค่ไหน กระทบระบบการเงินหรือไม่ ?

หลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้นำเสนอแนวคิดการออก Stablecoin ที่ค้ำประกันด้วยพันธบัตรรัฐบาลในงานสัมมนาพรรคเพื่อไทย พร้อมเปิดเผยว่านายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการคลังศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการดังกล่าว
ประเด็นสำคัญของแนวคิดนี้คือ การออก Stablecoin ที่มีพันธบัตรรัฐบาลเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน และเปิดให้นักลงทุนรายย่อยสามารถซื้อได้ ซึ่งอาจเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะใช้ภูเก็ตเป็นพื้นที่นำร่องในการรับชำระเงินด้วยสกุลเงินดิจิทัล
ท่ามกลางความสนใจจากทุกภาคส่วน คำถามสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ แนวคิดการออก Stablecoin ของรัฐบาลไทยจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ มีแนวทางการดำเนินการอย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของประเทศอย่างไรบ้าง Thairath Money ชวนมาทำความเข้าใจถึงความเป็นไปได้และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนวัตกรรมทางการเงินครั้งสำคัญนี้
➫ ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจก่อนว่า Stablecoin คืออะไร มีไว้ทำไม ?
Stablecoin คือเหรียญคริปโตที่ถูกออกแบบให้มีมูลค่าคงที่ ส่วนใหญ่จะผูกมูลค่าไว้กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในอัตรา 1:1 เสมอ เปรียบเสมือนการนำเงินดอลลาร์ไปฝากไว้กับบริษัท และได้รับ "ดอลลาร์ดิจิทัล" กลับมาใช้ในระบบคริปโต
1
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ Stablecoin เป็นที่ต้องการในตลาดคริปโต เนื่องจากคริปโตทั่วไปอย่าง Bitcoin หรือ Ethereum มีความผันผวนสูง ทำให้การนำไปใช้ซื้อขายสินค้าจริงทำได้ยาก นักลงทุนจึงต้องการพื้นที่สำหรับเก็บเงินในรูปแบบดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่ นอกจากนี้ Stablecoin ยังมีข้อดีในแง่ของการโอนเงินระหว่างประเทศ เพราะสามารถทำธุรกรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับการรักษาเสถียรภาพของ Stablecoin ทำได้ผ่านกลไกการค้ำประกันด้วยสินทรัพย์ต่างๆ เช่น เงินสด พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ระยะสั้น โดยหลักการสำคัญคือ เมื่อผู้ใช้ซื้อ Stablecoin 1 เหรียญ บริษัทผู้ออกจะต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกันมูลค่า 1 ดอลลาร์เสมอ ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือครอง
❂ Stablecoin บนโลกนี้มีที่ไหนบ้าง โมเดลเป็นอย่างไร?
สำหรับ Stablecoin ที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายบนโลกนี้ คือ USDT และ USDC โดย USDT หรือ Tether เป็น stablecoin ที่มีมูลค่าตลาดใหญ่ที่สุดในโลก ออกโดยบริษัท Tether Limited โดยมีรายได้หลักจากการนำเงินที่ได้จากผู้ซื้อ USDT ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้บริษัทได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ถือ USDT ไม่ได้รับส่วนแบ่งจากดอกเบี้ยนี้
ด้านการบริหารสินทรัพย์ Tether ต้องรักษาสัดส่วนสินทรัพย์ค้ำประกันให้เพียงพอกับ USDT ที่หมุนเวียนในตลาด โดยมีการเปิดเผยรายงานสินทรัพย์ค้ำประกันเป็นระยะ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ระยะสั้น
ส่วน USDC เป็น stablecoin ที่ออกโดยบริษัท Circle ร่วมกับ Coinbase มีจุดเด่นด้านความโปร่งใสและการกำกับดูแล แม้จะมีรายได้หลักจากดอกเบี้ยของสินทรัพย์ค้ำประกันเช่นเดียวกับ USDT แต่ USDC เน้นการตรวจสอบบัญชีโดยบริษัทชั้นนำทุกเดือน และมุ่งเน้นความปลอดภัยและการปฏิบัติตามกฎระเบียบมากกว่า
▶ แล้วสิ่งที่ทักษิณพูดถึง จะเป็นแบบใด ประเทศไทยมีโอกาสทำได้แค่ไหน ?
ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้ก่อตั้ง FWX แพลตฟอร์ม DeFi ระดับโลก อธิบายกับ Thairath Money ถึงแนวคิดการออก stablecoin (สกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่ โดยมีสินทรัพย์ค้ำประกัน) ของรัฐบาล โดยระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่จะใช้โมเดลเดียวกับ Tether และ Circle ผู้ออก stablecoin รายใหญ่ของโลก
โดยกลไกการทำงานของระบบคือ เมื่อมีผู้ต้องการ stablecoin จะต้องนำเงินมาให้ผู้ออก จากนั้นผู้ออกจะนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในพันธบัตร และใช้พันธบัตรนั้นเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน stablecoin ที่ออกมา
"ตราบใดที่ประชาชนยังใช้ stablecoin อย่างต่อเนื่อง ผู้ออกก็จะได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยพันธบัตรไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับที่ Tether ได้รับผลตอบแทนจากการถือพันธบัตรแทนผู้ถือ USDT (สกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าเทียบเท่าดอลลาร์สหรัฐ) ในปัจจุบัน" ผศ.ดร.อุดมศักดิ์อธิบาย
ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้ก่อตั้ง FWX แพลตฟอร์ม DeFi ระดับโลก
สำหรับแนวทางการดำเนินการในประเทศไทย มองว่า รัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องออกพันธบัตรไทยใหม่เพื่อรองรับ stablecoin โดยตรง แต่สามารถใช้พันธบัตรต่างประเทศที่มีอยู่แล้วมาเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน หรืออาจใช้วิธีออกพันธบัตรไทยแล้วนำเงินไปซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแนวทางที่กระทรวงการคลังดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยนำพันธบัตรเหล่านั้นมาเป็นสินทรัพย์สำรอง
ส่วนประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาในการออก stablecoin คือการเลือกประเภทบล็อกเชน ที่จะใช้ ระหว่าง Private Chain ซึ่งเป็นบล็อกเชนแบบปิดที่ควบคุมโดยองค์กรเดียว หรือ Public Chain ซึ่งเป็นบล็อกเชนสาธารณะที่ใครก็สามารถเข้าร่วมได้
โดย stablecoin นี้อาจไม่ได้อยู่ในรูปแบบสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC - Central Bank Digital Currency) แต่จะคล้ายกับการที่รัฐบาลทำหน้าที่เหมือน Tether บนบล็อกเชนสาธารณะ ซึ่งจะทำให้ผู้ถือสามารถใช้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ได้ โดยมีพันธบัตรรัฐบาลไทยเป็นหลักประกัน
✪ การใช้งาน stablecoin ในรูปแบบนี้อาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
1. การใช้งานภายในประเทศ โดยใช้เป็นระบบแต้มที่ไม่ผูกกับค่าเงินบาท เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหากับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งสามารถนำไปใช้ในระบบ DeFi (Decentralized Finance หรือระบบการเงินแบบกระจายศูนย์) เพื่อการให้กู้ยืมและธุรกรรมอื่นๆ ได้ โดยมีความเสี่ยงต่ำเนื่องจากธุรกรรมทั้งหมดอยู่บนบล็อกเชน
2. การใช้งานบน public blockchain ทั่วโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ให้กับระบบการเงินโดยรวม และรัฐบาลจะได้ประโยชน์จากการถือครองพันธบัตรและรับดอกเบี้ย คล้ายกับโมเดลธุรกิจของ Circle และ Tether อย่างที่อธิบายไปข้างต้น
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.อุดมศักดิ์แสดงความกังวลว่า หากจำกัดการใช้งานเฉพาะในประเทศไทย อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากเป็นการเพิ่มปริมาณเงินในระบบที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ถ้านำไปใช้ในระดับโลก ความเสี่ยงจะลดลงเพราะการไหลเวียนจะกระจายตัว ไม่กระจุกในประเทศไทย เปรียบเสมือนรัฐบาลไทยสามารถ mint เงินที่ใช้ได้ทั่วโลก โดยมีพันธบัตรค้ำประกัน
ด้านผลกระทบต่อค่าเงินตรงนี้จะขึ้นอยู่กับโมเดลการดำเนินการ หากรัฐบาลกำหนดให้ต้องนำเงินบาทมาแลกเป็น stablecoin ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินมากนัก เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบการถือครองจากเงินบาทเป็นสกุลเงินดิจิทัลบนบล็อกเชน แต่หากรัฐบาลใช้พันธบัตรที่มีอยู่เพื่อออก stablecoin โดยไม่มีเงินเข้ามาในระบบ ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้
โฆษณา