16 ธ.ค. เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

คุณค่าของธรรมาภิบาล

ขอเริ่มต้นด้วยการระบุว่า บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ
เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน พี่หนึ่งหัวหน้าของผมในเวลานั้นได้สังเกตเห็นว่า กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ในเวลานั้น มีมูลค่าบริษัทต่ำกว่าบริษัทคู่เทียบอื่นค่อนข้างมาก ในเวลานั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์มีบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด 4 บริษัทด้วยกันคือ
1. บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ (CPF)
2. บมจ.กรุงเทพผลิตผลอุตสาหกรรมการเกษตร (BAP)
3. บมจ.กรุงเทพโปรดิ๊วส (BKP)
4. บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อีสาน (CPNE)
นอกจากนั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังมีบริษัทอื่นๆ อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์อีกนับร้อยบริษัท มีรายการธุรกรรมระหว่างกันจำนวนมาก แถมมีการถือหุ้นไขว้กันไปไขว้กันอีกมาก จนทำให้นักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศ ไม่มั่นใจที่จะลงทุนในบริษัท
ในตอนนั้น จึงได้พยายามชักชวนให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ปรับเปลี่ยนโครงสร้างกิจการ จนในปี 2542 เครือเจริญโภคภัณฑ์ก็ได้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยเอา บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ เป็นบริษัทหลัก เข้าทำการซื้อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกสามบริษัท รวมทั้งทำ tender offer เพื่อซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อย และ delist บริษัทเหล่านั้นในที่สุด ส่วนบริษัทที่อยู่นอกตลาด ก็ได้มีการซื้อบริษัทเหล่านั้นเข้ามารวมด้วยเช่นกัน
การทำแบบนี้ ทำให้นักลงทุนสามารถเข้าใจโครงสร้างบริษัทได้ง่ายขึ้น ตีมูลค่ากิจการได้ง่ายขึ้น และไม่ต้องมากังวลเกี่ยวกับการมีส่วนได้เสีย และรายการระหว่างกันของบริษัทในเครือเหมือนเดิม
หลังจากการทำธุรกรรมดังกล่าว ทำให้มูลค่ากิจการของบริษัทสูงขึ้นอย่างชัดเจน ผลกำไรของบริษัทก็ดีขึ้น เนื่องจากผู้บริหารสามารถที่จะโฟกัสกับการทำกำไรได้มากขึ้น
นี่เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจว่า ในเวลานั้น การมีธรรมาภิบาลที่ชัดเจน ส่งผลกับราคาหุ้นอย่างไร
โฆษณา