17 ธ.ค. เวลา 03:19 • ธุรกิจ

‘ผู้นำที่ดีต้องเงียบให้เป็นและรู้ว่าเวลาไหนควรพูด’ กฎเหล็กของการเป็นผู้นำที่คุณก็ทำตามได้

ในโลกของการทำงาน หนึ่งในความสามารถที่สำคัญที่สุดของผู้นำ ไม่ใช่การสื่อสารโดยพูดออกไปทุกอย่าง แต่คือการรู้ตัวว่าเมื่อไหร่ ‘ไม่ควรพูด’ เพราะการสื่อสารที่ดีไม่ได้หมายถึงการพูดทุกครั้งหรือให้ข้อมูลตลอดเวลา แต่เป็นการเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม และความตั้งใจที่ถูกต้องในการสื่อสารเรื่องนั้นๆ
‘ความเงียบที่กลายเป็นพลัง’ หลายคนอาจรู้สึกว่าการสื่อสารคือการแสดงออกถึงความโปร่งใสและความใส่ใจ แต่เคยสังเกตไหมว่า การ ‘พูดมากเกินไป’ กลับสร้างปัญหาให้ทีมได้โดยไม่รู้ตัว?
ตัวอย่างง่ายๆ เช่น การประชุมที่ยืดยาว การอัปเดตใน Slack ที่ไม่มีที่สิ้นสุด หรือการส่งอีเมลที่ล้นกล่องจนทีมรู้สึกว่ากำลังถูก ‘ล้มทับด้วยข้อมูล’ มากกว่าจะเป็นการสื่อสารด้วยความชัดเจน นั่นแหละ คือจุดเริ่มต้นของปัญหา 🌀
[ ทำไมการ ‘เงียบให้เป็น’ ถึงสำคัญ? ]
1. ลดความตื่นตระหนกในภาวะวิกฤติ
ในช่วงที่เกิดโควิด-19 เราจะเห็นว่าผู้นำที่เลือกพูดเฉพาะประเด็นสำคัญ ช่วยให้ทีมรู้สึกสงบ และมีสมาธิกับเป้าหมายปัจจุบันได้ดีกว่า ขณะที่บางคนที่อัปเดตทุกอย่างกลับสร้างความกังวลมากขึ้น
2. สร้างโอกาสให้ทีมได้คิดเอง
การไม่บอกคำตอบทุกอย่างทันที เป็นการแสดงความเชื่อมั่นในความสามารถของทีม คุณกำลังบอกพวกเขาว่า “ฉันเชื่อว่าคุณแก้ไขปัญหานี้ได้” ซึ่งช่วยเสริมความมั่นใจและความคิดสร้างสรรค์ให้พวกเขาได้ดีทีเดียว
3. ป้องกันความสับสนในระหว่างการตัดสินใจ
ถ้าคุณยังไม่มีแผนที่ชัดเจน การประกาศอะไรออกไปก่อน อาจทำให้ทีมไขว้เขวไปจากเป้าหมายหลักได้ การรอเวลาที่เหมาะสมจะช่วยให้การสื่อสารของคุณมีพลังมากขึ้น
[ การเลือกที่จะ ‘ไม่พูด’ ต้องใช้กลยุทธ์ ]
การเงียบไม่ใช่การเพิกเฉย และนี่คือคำถามที่ผู้นำควรถามตัวเองก่อนที่จะสื่อสาร
1. สิ่งที่ฉันจะพูด เพิ่มความชัดเจนหรือสร้างความสับสน?
หากคำตอบคืออย่างหลัง ให้รอจนคุณพร้อมจะอธิบายได้อย่างชัดเจนก่อน ค่อยสื่อสารออกไป
2. นี่ใช่เวลาที่เหมาะสมหรือยัง?
การพูดในจังหวะที่ใช่จะช่วยเสริมความมั่นใจและขับเคลื่อนทีมไปข้างหน้า ดีกว่าพูดทิ้งเอาไว้แล้วสร้างความกังวลให้กับทีม
3. ข้อมูลนี้ช่วยเสริมเป้าหมายของทีม หรือแค่เพิ่มความกังวลให้พวกเขา?
เพราะเป้าหมายไม่ใช่การพูดทุกอย่าง แต่คือการสื่อสารในสิ่งที่สำคัญเท่านั้น
นอกจากคำถามแล้วยังมี ‘Framework’ ที่น่าจะช่วยให้ผู้นำที่ดีอย่างคุณตัดสินใจในการเลือกพูดได้
[ Selective Communication Plan Framework ]
การสื่อสารอย่างมีจุดมุ่งหมาย (Selective Communication) เป็นกลยุทธ์ที่ผู้นำต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากการเลือกจะสื่อสารหรือไม่สื่อสารสามารถส่งผลกระทบต่อความชัดเจนและความไว้วางใจในทีมได้อย่างมาก เพื่อให้การตัดสินใจมีประสิทธิภาพ ผู้นำสามารถใช้เฟรมเวิร์ก 6 ขั้นตอนดังนี้
📢 1. เริ่มจาก การประเมินผลกระทบ (Assess the Impact) โดยพิจารณาว่าการสื่อสารข้อมูลนั้นจะช่วยเพิ่มความชัดเจนหรือสร้างความสับสน หากเป็นกรณีหลัง ควรรอจังหวะที่เหมาะสมกว่า
📢 2. พิจารณาเวลา (Consider the Timing) ว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ หากยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินการ อาจรอจนถึงเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิผลมากขึ้น ถัดมา
📢 3. ตรวจสอบความสอดคล้อง (Check Alignment) กับเป้าหมายของทีม หากข้อมูลที่จะแชร์จะเบี่ยงเบนโฟกัสของทีม การเก็บไว้ก่อนอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
📢 4. การทบทวนเจตนา (Reflect on Intent) เป็นขั้นตอนสำคัญ ผู้นำต้องถามตนเองว่า การไม่สื่อสารเกิดจากความต้องการเสริมพลังทีม หรือเป็นเพราะรู้สึกไม่สบายใจที่จะพูดออกไป หากเป็นอย่างหลัง อาจต้องพิจารณาใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้ความเงียบส่งผลเสีย
📢 5. การสร้างวงจรป้อนกลับ (Establish a Feedback Loop) ก็มีความสำคัญไม่น้อย เพื่อป้องกันไม่ให้ความเงียบถูกตีความผิด ควรมีช่องทางที่ชัดเจนสำหรับการรับฟังความคิดเห็น
📢 6. การจัดการช่องทางการสื่อสาร (Manage Communications Channels) ควรลดความซับซ้อนของช่องทางการสื่อสาร โดยยึดติดกับแพลตฟอร์มหลักที่ทีมคุ้นเคย เพื่อให้ทีมรู้ว่าจะติดตามข้อมูลสำคัญจากช่องทางไหน และลดความสับสนในการสื่อสารที่มากเกินไป
การใช้เฟรมเวิร์กนี้ช่วยให้ผู้นำตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความไม่ชัดเจน เพิ่มความไว้วางใจ และสร้างวัฒนธรรมการสื่อสารที่โปร่งใสในทีม 😊
[ สรุป ]
การเป็นผู้นำที่ดีย่อมต้องมีความสามารถในการสื่อสาร แต่การสื่อสารอย่างผู้นำที่ดีย่อมต้องรู้ว่าเวลาไหนควร หรือ ไม่ควรพูดสิ่งเหล่านั้น ผู้นำที่ดีจะต้องพูดในสิ่งที่ ‘ใช่’ ในเวลาที่ ‘เหมาะสม’ ดังนั้นคุณต้องรู้จักใช้ ‘ความเงียบ’ เป็นกลยุทธ์ ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างโฟกัสที่ดีให้กับทีม ยังสามารถสร้างความน่าเชื่อถือในฐานะของผู้นำที่มองการณ์ไกลได้อีกด้วย
หากคุณลังเลว่าจะพูดดี หรือ ไม่พูดดี ลองถามตัวเองว่า “สิ่งนี้จะเพิ่มความชัดเจนหรือสร้างความสับสนให้กับทีม” คำตอบอาจทำให้คุณประหลาดใจและพาทีมไปสู่ความสำเร็จได้อย่างเหนือความคาดหมายยิ่งขึ้น
เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์
#FutureTrends #FutureTrendsetter ##FutureTrendsLeadership
โฆษณา