Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Thai Burma railway ทางรถไฟสายมรณะ
•
ติดตาม
23 ธ.ค. 2024 เวลา 02:13 • ประวัติศาสตร์
เส้นทางรถไฟสายมรณะ
การกลับมาประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของทหารญี่ปุ่นเพื่อตามหากระดูกของสหายร่วมรบ
การกลับมาเพื่อตามหาสหายศึกของทหารญี่ปุ่นที่ ปรังกาสี จังหวัด กาญจนบุรี
หลังจากสงครามสิ้นสุดลง 30 ปี มีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับเรื่องราวทางรถไฟสายมรณะที่เชื่อว่าหลายคนคงไม่ทราบมาก่อน
แต่ก่อนจะไปเรื่องอื่นขอย้อนความเล่าเรื่องสักเล็กน้อย ในช่วงการก่อสร้างทางรถไฟสายไทยพม่า
ทหารญี่ปุ่นหน่วยงานหลักๆที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างคือ กรมทหารรถไฟที่ 5 ดูแลการก่อสร้างจากเมืองตันบูซายัต ประเทศพม่า จนถึงสถานีเกริงกวยทะ ประเทศไทย
และ กรมทหารรถไฟที่ 9 ดูแลการก่อสร้างจากสถานีหนองปลาดุก-เกริงกวยทะ
เมื่อทางรถไฟเปิดใช้งานในวันที่ 25 ตุลาคม 1943
กองทัพญี่ปุ่นได้ส่งกรมทหารรถไฟที่ 5 ขึ้นไปดูแลรักษาป้องกันเส้นทางรถไฟทางเหนือของพม่าแถบเมือง มิตจีนา ล่าเสี้ยว
และให้กรมทหารรถไฟที่ 9 เข้าดูแล รักษาป้องกัน และดูแลการเดินรถไฟจากสถานีเมาะละแหม่งจนถึงสถานีนิเถะ (แม่น้ำรันตี สังขละบุรี)
และจากสถานีนิเถะจนถึงสถานีหนองปลาดุก เป็นพื้นที่ของกองพันทหารรถไฟพิเศษที่ 4 เข้าดูแลแทนที่กรมทหารรถไฟที่ 9 ที่ย้ายไปดูแลทางรถไฟฝั่งพม่า
ในช่วงปี 1944-1945 เมื่อสถานการณ์การรบในพม่า ทหารญี่ปุ่นเป็นฝ่ายเสียเปรียบ
ทหารญี่ปุ่นหลายๆหน่วยถอยร่น ทหารหลายนายเสียชีวิตระหว่างการสู้รบและการล่าถอย
ในส่วนของกรมทหารรถไฟที่ 5 ที่ดูแลเส้นทางรถไฟทางเหนือของพม่านั้น
ในสถานการณ์การรบทั่วๆไป ปรกติแล้วทหารที่เสียชีวิต กระดูกจะถูกส่งกลับไปยังประเทศญี่ปุ่น
แต่ด้วยสถานการณ์ในการรบและความตึงเครียดและการที่ทางรถไฟสายต่างๆในพม่าถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดทำลาย
ทำให้กระดูกของทหารในกรมทหารรถไฟที่ 5 ที่เสียชีวิตไป ต้องถูกเก็บรักษาไว้ที่กองบังคับการกรม
และเมื่อกองบังคับการกรมย้ายที่ตั้ง ก็จะมีการนำเอาเถ้ากระไปด้วยตลอด
สัญลักษณ์ของทหารรถไฟญี่ปุ่น เป็นรูปหน้าตัดของรางรถไฟ และมีขวานไขว้กัน
ในหนังสือ The Early Life of the Railway Soldiers, และหนังสืออนุสรณ์กรมทหารรถไฟที่ 5
ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในช่วงสิ้นสุดสงครามตลอดจนช่วงที่ทหารญี่ปุ่นตกเป็นเชลยศึก กองบังคับการกรมทหารรถไฟที่ 5 ได้รับคำสั่งจากฝ่ายสัมพันธมิตรให้มาดูแลการบำรุงรักษาและเดินรถไฟในบริเวณเส้นทางรถไฟสายไทยพม่าอีกครั้ง
โดยสถานีรถไฟปรังกาสี เป็นที่ตั้งหลักของกรมทหารรถไฟที่ 5 ที่ซึ่งทหารรถไฟต้องอยู่อาศัยและทำงานในฐานะเชลยศึก
หลังสงครามจบลง 1 ปีในเดือนตุลาคมปี1946 ทหารญี่ปุ่นจากกรมฐานรถไฟที่ 5 ซึ่งตกเป็นเชลยศึก ก็ถึงวาระที่จะต้องถูกส่งตัวกลับประเทศญี่ปุ่น
ข้าวของสัมภาระของเชลยศึกญี่ปุ่นถูกตรวจค้นอย่างละเอียดก่อนถูกส่งกลับ
สิ่งหนึ่งที่เชลยศึกญี่ปุ่นตั้งใจจะนำกลับไปด้วยก็คือเถ้ากระดูกของเพื่อนที่ตายในสนามรบ
แต่พวกเขาได้รับคำสั่งจากทหารฝ่ายสัมพันธมิตร ว่าห้ามมิให้นำเถ้ากระดูกของเพื่อนทหารกลับไปประเทศญี่ปุ่นด้วย (ผมก็ไม่ทราบเหตุผลนะครับ)
ในเมื่อเชลยศึกญี่ปุ่นไม่ได้รับอนุญาตให้นำเถ้ากระดูกเหล่านี้กลับไปด้วย
เมื่อนำเพื่อนกลับไปด้วยไม่ได้ ก็จำเป็นที่จะต้องหาที่เก็บรักษาและรอวันที่จะกลับมาพาเพื่อนกลับไปอีกครั้งในอนาคต
พวกเขาจึงได้แอบเอาปูนซีเมนต์สร้างหลุมสีเหลี่ยมเพื่อเก็บเถ้ากระดูกของเพื่อนทหาร บริเวณภูเขาทางตะวันออกของสถานีปรังกาสี
พร้อมกันนั้นมีการทำฝาปิดด้านบน และมีการทำศาลเล็กๆวางไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวบ้านที่อยู่ในแถบนั้นเข้าใจผิดและเข้าไปขุดทำลาย
พวกเขาได้เตรียมทำบ่อคอนกรีตไว้รอ
ช่วงเย็นวันสุดท้ายก่อนทหารสัมพันธมิตรและเชลยศึกญี่ปุ่นจะถอนกำลังออกจากปรังกาสี ในระหว่างที่ทหารสัมพันธมิตรมีการส่งมอบข้าวของอุปกรณ์ต่างๆในสถานีรถไฟปรังกาสีให้แก่ทางการไทย
กลุ่มทหารญี่ปุ่นส่วนหนึ่งได้นำเถ้ากระดูกของเพื่อนทหารที่เสียชีวิต ไปฝังในบ่อปูน
ในเวลานั้นทหารที่ยังมีลมหายใจอยู่ ได้แต่ให้คำมั่นสัญญาด้วยน้ำตาว่าวันหนึ่งจะกลับมารับเถ้ากระดูกของเพื่อนที่ตายไปแล้ว กลับบ้านให้จงได้
จุดที่ฝังเถ้ากระดูกนั้นอยู่บนภูเขาฝั่งตะวันออกของสถานีปรังกาสี ทหารญี่ปุ่นเรียกว่า ケヒロング Kehilong (ภูเขาไม่ไกลจากวัดจันเดย์หรือวัดจวบจันทร์วนาราม)
วันจันเดย์
เวลาล่วงเลยไปเกือบ 20 ปี
ในปี 1965 มีความพยายามรวมตัวของกลุ่มทหารผ่านศึกจากกรมทหารรถไฟที่ 5 ในประเทศญี่ปุ่น
และมีการประสานงานติดต่อกับทหารผ่านศึกชาวญี่ปุ่นที่อยู่ที่ประเทศไทย คือคุณ Yoshihisa Matsuda เจ้าของโรงแรมอัมรินทร์
Yoshihisa Matsuda
กลุ่มทหารผ่านศึกที่กลับไปที่ญี่ปุ่นยังคงคิดถึงคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับเพื่อนที่ยังรอในประเทศไทย
และพวกเขาตัดสินใจที่จะค้นหาและนำเอาเถ้ากระดูกของเพื่อนๆทหารกลับญี่ปุ่น
ในปี 1975
ตัวแทนทหารผ่านศึกญี่ปุ่นได้เดินทางมายังประเทศไทย ถึงยังกรุงเทพเมื่อวันที่ 25 มกราคม 1975
ในการเดินทางไปในครั้งนั้นภารกิจคือการตามหาหลุมฝังกระดูกที่สถานีปรังกาสี ตลอดจนการสำรวจดูพื้นที่ที่เคยเป็นค่ายทหารรถไฟ เป็นสถานีต่างๆ ว่ายังมีอะไรหลงเหลืออยู่หรือไม่
ในสถานที่ต่างๆของจังหวัดกาญจนบุรียังเป็นพื้นที่ป่ารก มีสัตว์ป่า เช่น เสือ หรือช้าง จำนวนมาก
ทางคณะจึงได้มีการนำเอาอาวุธติดไปด้วย มีปืนยาว 3 กระบอก ปืนพก 5 กระบอก ในการป้องกันตัว
คณะทหารผ่านศึกและผู้นำทางชาวไทยเริ่มเดินทางในวันที่ 27 มกราคม 1975
จนถึงปรังกาสีในวันที่ 29 มกราคม 1975 เรือถึงปรังกาสีช่วงประมาณ 14.20 น. (ในระหว่างทางมีการแวะตามจุดสำคุญต่างๆ ซึ่งผมขอข้ามไป เพราะบทความจะยืดยาวเกินไป)
คณะสำรวจขึ้นฝั่งและพยายามเดินฝ่าป่าที่หนาบทึบ เพื่อไปสำรวจพื้นที่ที่เคยเป็นสถานีปรังกาสี
ต่อมาคณะได้พบฐานคอนกรีตของท่อเติมน้ำ พบชานชาลาที่ใช้ในการเติมถ่านหินให้กับรถไฟ
ภูเขาด้านตะวันออกของสถานีปรังกาสีจะเป็นภูเขามีที่ยอดสูงกับยอดเตี้ยติดกัน คล้ายโหนกของอูฐ จุดที่ทหารญี่ปุ่นฝังเถ้ากระดูกของเพื่อนทหารจะอยู่ภูเขายอดเตี้ย
คณะทำการค้นหาอยู่พักหนึ่งจึงได้พบกับบ่อปูนที่เป็นที่ฝังกระดูก
จุดสีแดงคือตำแหน่งของบ่อปูนหลุมฝังศพ
ทุกคนในคณะต่างรีบไปยังจุดที่พบบ่อปูนที่เมื่อ 30 ปีที่แล้วพวกเขาได้ฝังเถ้ากระดูกของสหายของพวกเขาไว้
เวลาที่ค้นพบคือ 16.30 น. วันที่ 29 มกราคม 1975
เมื่อยืนยันว่าเป็นหลุมฝังกระดูกของเพื่อนแล้ว ก็มีทำพิธีเก็บเถ้ากระดูก
ทหารผ่านศึกในคณะอยากจะกล่าวต่อหน้าหลุมศพว่า ขอโทษด้วยนะเพื่อนที่ต้องรอคอยเป็นเวลานาน แต่พวกเขาก็ไม่สามารถพูดอะไรได้ ข้อความจุกที่อกและหลายคนก็ร้องไห้ออกมา
ทหารผ่านศึกญี่ปุ่นร้องไห้
เพราะรู้สึกผิดที่ต้องทิ้งเพื่อนไว้ที่ประเทศไทยนานหลายปี
ลักษณะของบ่อปูนคือ ฝาด้านบนและศาลที่ถูกสร้างไว้ไม่เหลือแล้วคาดว่าจะถูกไฟป่าเผาไหม้ไปหมด
ส่วนภายในบ่อปูนพบว่ามีดินกลบอยู่
บ่อปูนมีขนาดยาว 140 ซ.ม. / ยาว 86 ซ.ม. / สูง 48 ซ.ม./ ขอบปูนหนา 14 ซ.ม.
คณะจึงทำการขุดหาซากกระดูกที่คาดว่ายังหลงเหลืออยู่
ในการขุดค้นพบว่าด้านล่างของบ่อปูนยังคงมีซากกระดูกชิ้นเล็กๆจำนวนหนึ่งหลงเหลืออยู่
หลังจากขุดสำรวจในบ่อปูนเสร็จสิ้น กระดูกทุกชิ้นถูกเก็บไป
ชิ้นส่วนกระดูกที่หลงเหลือจากเวลา 30 ปี
ก็มีการนำเอาข้าวที่นำมาจากประเทศญี่ปุ่น โปรยทั่วพื้นที่ และได้นำเอาเหล้าสาเก มาเท เพื่อเป็นการอุทิศแก่ทหารที่เสียชีวิตเหล่านี้
มีการยิงปืนเพื่อไว้อาลัย และโค้งคำนับในจุดที่เป็นบ่อปูน เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
คณะเดินทางไปยังค่ายที่พักในบริเวณนั้น ในช่วงเย็นและตกดึก มีการฉลองดื่มกินในความสำเร็จในครั้งนี้
โดยที่คณะมีการสร้างแคร่ไม้ขึ้นและวางกระดูกเพื่อนทหารที่พึ่งค้นพบไว้ด้วย
รุ่งเช้าคณะได้เดินทางกลับ โดยล่องเรือตามกระแสน้ำมายังสถานีวังโพ แล้วขึ้นรถกลับกรุงเทพมหานคร
การพบเถ้ากระดูกทหารญี่ปุ่นถูกแจ้งไปยังสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เพื่อให้ทางการไทยรับทราบและอนุญาตให้คณะนำเอาเถ้ากระดูกของเพื่อนทหารกลับประเทศญี่ปุ่นได้
ในช่วงที่มีการติดต่อทางการไทย กระดูกถูกนำไปเก็บไว้ที่สมาคมชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย
ในการนำเอาเถ้ากระดูกจากปรังกาสีกลับไปที่ญี่ปุ่น ต้องใช้ระยะทางถึง 7000 กิโลเมตรเลยทีเดียว
แต่ระยะทางไม่สามารถเทียบกับความพยายามที่เพื่อนทหารญี่ปุ่นที่ยังมีชีวิตอยู่ ต้องการที่จะเอาเถ้ากระดูกของเพื่อนที่เสียชีวิตแล้วกลับมาตุภูมิ
การดำเนินการในเรื่องการขออนุญาตนำเอาเถ้ากระดูกกลับญี่ปุ่นเป็นไปได้ช้ามาก แต่แล้ว 6 เดือนหลังจากการค้นพบ
เถ้ากระดูกก็ถูกส่งกลับประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 19 มิถุนายน 1975
สมาคมทหารผ่านศึกจากกรมทหารรถไฟที่ 5 และครอบครัวจำนวนร้อยกว่าคนได้รอรับที่สนามบินฮาเนดะ
พิธีที่ศาลเจ้ายาซูกูนิ
หลังจากนั้นก็ถูกส่งต่อไปเก็บรักษาชั่วคราวไว้ที่ศาลเจ้ายาซูกูนิ
วันที่ 15 พฤษภาคม 1976
มีการนำเอาเถ้ากระดูกของทหารจากการรถไฟที่ 5 ที่ถูกค้นพบที่สถานีปรังกาสี ซึ่งในหนังสือได้ระบุว่าเป็นเถ้ากระดูกของทหารของกรมรถไฟที่ 5 จำนวน 433 นาย
ไปทำพิธีฝังอย่างสมเกียรติที่สุสาน Chidorigafuchi National Cemetery
พิธีที่ Chidorigafuchi National Cemetery
ท่องเที่ยว
การศึกษา
ประวัติศาสตร์
2 บันทึก
4
3
2
4
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย