19 ธ.ค. เวลา 02:30 • ธุรกิจ

กรณีศึกษา ทำไมแบรนด์หรู นิยมต่อยอดธุรกิจ ร้านอาหารและคาเฟ ที่ประเทศ “ญี่ปุ่น”

รู้หรือไม่ว่า ก่อนที่ Louis Vuitton จะมาเปิดตัวร้านอาหาร “Gaggan at Louis Vuitton” และคาเฟ “Le Café Louis Vuitton” ใจกลางกรุงเทพฯ ให้เหล่าสายแฟได้เช็กอิน
Louis Vuitton เคยเปิดตัว “Sugalabo V” และ “Le Café V” เป็นร้านอาหารและคาเฟแห่งแรกของแบรนด์ ที่เมืองโอซากะ ประเทศญี่ปุ่น
คำถามที่น่าคิดคือ ทำไม Louis Vuitton ถึงบุกเบิกธุรกิจร้านอาหารและคาเฟ ในประเทศญี่ปุ่น เป็นแห่งแรก แทนที่จะเป็นบ้านเกิด หรือประเทศใกล้ ๆ ในทวีปยุโรป
นอกจากนี้ จะเห็นได้ชัดว่า ประเทศญี่ปุ่น ยังเป็นหมุดหมายที่เหล่าแบรนด์หรูมากมาย เลือกเข้ามาขยายกิจการร้านอาหารและคาเฟ ยกตัวอย่าง
ร้านอาหาร Gucci Osteria ของแบรนด์ Gucci
ร้านอาหาร BEIGE Alain Ducasse ของแบรนด์ Chanel
ร้านอาหาร Armani/Ristorante ของแบรนด์ Armani
คาเฟ Café Dior by Ladurée ของแบรนด์ Dior
คาเฟ Ralph's Coffee ของแบรนด์ Ralph Lauren
แล้วทำไมแบรนด์หรูถึงนิยมขยายธุรกิจดังกล่าว ในประเทศญี่ปุ่น ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่น ต้องบอกว่าการที่แบรนด์แฟชั่นหรู เข้าสู่ธุรกิจร้านอาหารและคาเฟ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น
แบรนด์ Giorgio Armani แฟชั่นเฮาส์กลุ่มแรก ๆ ที่เปิดตัวร้านอาหารในปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี 1998
หรือแบรนด์จิวเวลรี Tiffany & Co. ที่เปิดคาเฟชื่อ Blue Box Café ในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2017
ซึ่งสาเหตุหลัก ที่แบรนด์หรูเปิดร้านอาหารและคาเฟ ตามหัวเมืองใหญ่ ก็เป็นเพราะต้องการดึง Traffic ลูกค้าให้เข้ามาใช้เวลาร่วมกับแบรนด์มากขึ้น เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย
แต่หลังสิ้นสุดการระบาดของวิกฤติโรคร้าย จุดประสงค์ของธุรกิจร้านอาหารและคาเฟ ก็ได้ขยายขอบเขตออกไป
นั่นคือ แบรนด์หรูต้องการดึงดูดลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ อย่างกลุ่ม Millennials และ Gen Z
เนื่องจากคนรุ่น Millennials และ Gen Z กลายเป็นกำลังซื้อหลักที่ขับเคลื่อนวงการแบรนด์หรู ในปัจจุบัน
ซึ่งธุรกิจร้านอาหารและคาเฟ จะเป็นสถานที่ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ความหรูหรา และเข้าถึงแบรนด์หรูได้มากขึ้น เนื่องจากผู้คนสามารถใช้จ่ายในร้านอาหาร ได้ง่ายกว่าการซื้อสินค้าแบรนด์หรูสักชิ้น
อีกทั้ง ธุรกิจนี้ยังสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ให้คุณค่ากับประสบการณ์ และชอบแชร์ไลฟ์สไตล์ รูปภาพอาหารลงบนโซเชียลมีเดีย
เรียกได้ว่า “โมเดลธุรกิจร้านอาหารและคาเฟ” สามารถตอบโจทย์คนในยุคนี้ ได้อย่างพอดิบพอดี
ทีนี้มาถึงประเด็นสำคัญว่าทำไม “ญี่ปุ่น” ถึงเป็นประเทศที่บรรดาแบรนด์หรูนิยมเปิดธุรกิจดังกล่าว
เหตุผลข้อแรก “การเติบโตของตลาดแบรนด์หรูในญี่ปุ่น”
ตลาดแบรนด์หรูในญี่ปุ่น มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกาและจีน
ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าตลาดมากกว่า 1.4ล้านล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตปีละ 4.69% (CAGR 2024-2028)
หากเรามาดู ผลการดำเนินงานในปี 2023 ของบริษัทเจ้าของพอร์ตแบรนด์หรู
อย่าง “LVMH” เจ้าของ Louis Vuitton, Dior และ Celine
และ “Kering” เจ้าของ Gucci และ Saint Laurent
- สัดส่วนรายได้ 7% ของ LVMH มาจากญี่ปุ่น และมีการเติบโตของรายได้จากญี่ปุ่น +28% เมื่อเทียบกับปีก่อน
- สัดส่วนรายได้ 7% ของ Kering มาจากญี่ปุ่น และมีการเติบโตของรายได้จากญี่ปุ่น +23% เมื่อเทียบกับปีก่อน
โดยการเติบโตของรายได้จากญี่ปุ่น ของทั้ง 2 บริษัท ยังเป็นการเติบโตที่สูงที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ
ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแบรนด์หรูญี่ปุ่น มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง
ข้อสอง “พฤติกรรมการช็อปปิงของชาวญี่ปุ่น”
แม้ว่าอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ หรือการซื้อ-ขายสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั่วโลกจะเติบโต
แต่มากกว่า 75% ของการซื้อสินค้าแบรนด์หรูในญี่ปุ่น เกิดจากการช็อปปิงแบบออฟไลน์ ที่หน้าร้านค้าจริง
ซึ่งผลการสำรวจจาก McKinsey & Company พบว่า
ชาวญี่ปุ่นยังคงชื่นชอบการช็อปปิงแบบออฟไลน์ โดยคาดหวังว่าพนักงานขายจะพูดคุยด้วยง่าย มีความรู้ด้านผลิตภัณฑ์ และมอบประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัว
ทั้งนี้ ธุรกิจร้านอาหารและคาเฟ ก็น่าจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักช็อปปิงชาวญี่ปุ่น ให้แวะเวียนมาที่หน้าร้านมากขึ้น และช่วยเติมเต็มประสบการณ์การช็อปปิงได้อย่างครบวงจร
ข้อสาม “ญี่ปุ่นเป็นสวรรค์ของนักช็อปปิงแถบเอเชีย”
โตเกียว ถือเป็นเมืองหลวงของวงการแฟชั่น แห่งหนึ่งในโลก ไม่แพ้นิวยอร์ก, มิลาน หรือปารีส เลยทีเดียว
อ้างอิงข้อมูลจาก Lartisien เว็บไซต์ท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์ ที่จัดอันดับให้โตเกียวเป็นเมืองช็อปปิงสุดหรูที่ดีที่สุดในโลก โดยระบุว่าโตเกียวมีร้านค้าบูทีกของดิไซเนอร์กว่า 217 แห่ง และมีย่านกินซ่าเป็นแหล่งรวมร้านค้าแบรนด์หรู
โดยในปี 2023 ญี่ปุ่นดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศได้กว่า 25 ล้านคน และมีมูลค่ายอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท
ที่น่าสนใจ คือ 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนญี่ปุ่น ได้แก่ เกาหลีใต้, จีน, ไต้หวัน, ฮ่องกง, ไทย
และอย่างที่เรารู้กันดีว่าไอเทมจากแบรนด์หรู เป็นสินค้ายอดนิยมของชาวเอเชีย
โดยมีผลการวิจัยพบว่า ยอดซื้อสินค้าแบรนด์หรูสะสมตั้งแต่ปี 2000-2016 เป็นมูลค่ารวมกว่าครึ่งหนึ่งของนักช็อปทั่วโลกมาจากชาวเอเชีย ซึ่งกำลังซื้อสูงสุดมาจากชาวจีน
อ่านมาถึงตรงนี้ เราอาจสรุปได้ว่า
การที่เหล่าบรรดาแบรนด์หรู ปรับตัวให้เข้ากับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ด้วยการนำธุรกิจแฟชั่นที่เป็นหัวใจหลัก มาต่อยอดเป็นธุรกิจร้านอาหารและคาเฟ
ก็เป็นโมเดลธุรกิจที่ผสมผสานกันได้อย่างกลมกลืน
อีกทั้งการเลือกญี่ปุ่น ที่เปรียบเสมือนศูนย์กลางของการช็อปปิงในเอเชีย ก็ดูเป็นทางเลือกที่เหมาะสมทีเดียว..
โฆษณา