17 ธ.ค. เวลา 11:18 • หุ้น & เศรษฐกิจ

WealthMePlease: อุ่นใจวัยเกษียณ!! RMF ตัวเลือกชั้นดีรับสองเด้ง

ชีวิตคนทำงาน การออมเพื่อวัยเกษียณมีแบบภาคบังคับ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนบำเหน็จบำนาญ (กบข.) สำหรับผู้ที่เป็นราชการ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือจากประกันสังคมสำหรับผู้ที่ทำงานในบริษัทเอกชน แต่…เงินที่ได้มันน้อย ไม่พอกับการใช้ชีวิตในตอนเกษียณ ที่อย่างน้อยก็ใช้ 20 ปี แล้วจะหาเพิ่มจากไหน?!
"Wealth Me Please" EP นี้ มาคุยกับนายสาธิต สันติบวรฤทธิ์ นักวางแผนการเงิน ,CFP และวิทยากรของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงการเพิ่มแหล่งเงินออมที่ไว้ใช้ตอนเกษียณ คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งเป็นการออมแบบภาคสมัครใจ ถือเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะได้ประโยชน์ทางภาษีสองเด้ง คือเมื่อลงทุน RMF เราสามารถนำจำนวนเงินที่ลงทุนไปหักลดหย่อนภาษีได้ในปีที่ซื้อได้ และผลตอบแทนที่ได้ก็ไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย
แม้ว่าการออมผ่าน RMF จะได้ประโยชน์ทางภาษี แต่ก็มีเงื่อนไขสำคัญ คือ ผู้ลงทุนจะถอนออกมาได้ต้องถือจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องลงทุนมาอย่างน้อย 5 ปี อย่างไรก็ดี หากผิดเงื่อนไขเรื่องการลงทุนไม่ครบ 5 ปีก็ต้องคืนภาษีเท่ากับจำนวนภาษีที่เราได้รับลดหย่อน และกำไรที่ได้ก็ต้องเสียภาษีด้วย ส่วนกรณีที่ผิดเงื่อนไขที่ถอนออกมาก่อนครบอายุ 55 ปี ต้องคืนภาษีย้อนหลัง 5 ปี แต่กำไรที่ได้ไม่ต้องเสียภาษี
ในเมื่อมีการลงโทษหากผิดเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด ทำให้หลายคนไม่อยากซื้อกองทุน RMF เพราะกลัวถือไม่ถึงอายุ 55 ปี หรือ ลงทุนไม่ถึง 5 ปี
นายสาธิต ชี้ให้เห็นว่า การออมเพื่อเกษียณเป็นเรื่องจำเป็นทุของกคน แม้ว่าเราจะไม่ลงทุนกองทุน RMF เราก็ต้องออมไว้ก้อนหนึ่งอยู่แล้ว แต่การออมลงทุน RMF ถือว่ายืดหยุ่นเพราะไม่จำกัดเงินลงทุน แต่อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้สนใจเรื่องภาษีอย่างเดียว และไม่อยากให้กลัวความเสี่ยงจากการลงทุน
หลายคนตีความ "ความเสี่ยง" ว่าขาดทุน แต่จริงแล้วไม่ใช่ ความเสี่ยงการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ คือมีเงินไม่พอใช้ตอนเกษียณ… ความเสี่ยงที่ชีวิตจะไม่บรรลุเป้าหมาย ถ้าเรากลัวความเสี่ยงที่จะขาดทุน ชีวิตเราจะไม่บรรลุเป้าหมาย
นายสาธิต ย้ำว่า ให้มองความเสี่ยงชีวิตที่ไม่บรรลุเป้าหมาย เพราะตอนวัยเกษียณ เงินที่ใช้เป็นเงินก้อนใหญ่มาก และต้องลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินเฟ้อที่คาดไว้ประมาณ 5% ต่อปี ที่จะทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น
พร้อมแนะลงทุน RMF ที่มีนโยบายลงทุนหุ้นโลกเพื่อกระจายความเสี่ยง ไม่ใช่การลงทุนในประเทศอย่างเดียว หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยหากอายุยังน้อยก็ให้มีสัดส่วนลงทุนหุ้นสูงขึ้นเพื่อรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่หากอายุมากแล้วก็ควรลดสัดส่วนการลงทุนหุ้นลง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์
โฆษณา