17 ธ.ค. เวลา 16:06

สกลนคร หนาวแล้วปลูก “มันฝรั่ง” แก้จน

เกษตรกร จ.สกลนคร เริ่มปลูก “มันฝรั่ง” ส่งโรงงานขนมแล้ว เป็นพืชหลังนาเหมาะกับอากาศหนาว ในปี 2567 คาดการณ์ปลูกมันฝรั่ง 1,200 ไร่ เกิดการจ้างแรงงานและสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน 20 ล้านบาท ด้านนักวิจัย ม.ราชภัฏสกลนคร พร้อมขยายผลพื้นที่โมเดลแก้จนเสริมเทคโนโลยีและแปรรูป
ชาวบ้าน ต.โคกก่อง อ.เมืองสกลนคร รวมกลุ่ม "แปลงใหญ่มันฝรั่งโคกก่อง" ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 500 คน ปลูกมันฝรั่งภายใต้สัญญาข้อตกลงซื้อขายผลผลิตพร้อมประกันราคา โดยทำเกษตรพันธสัญญา (contract farming) กับบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด
รูปแบบการปลูกมี 2 ประเภท คือ ปลูกเพื่อทำหัวพันธุ์ และปลูกส่งแปรรูปขนม โดยเกษตรกรจะได้รับปัจจัยการผลิตจากบริษัท เช่น ปุ๋ย ยา หัวพันธุ์มันฝรั่ง เป็นต้น
คุณอำพร บุญร่วม เกษตรกรบ้านโคกก่อง เล่าให้ฟังว่า ตนเองและครอบครัวปลูกมันฝรั่งมา 20 ปี ในปีที่ผ่านมาปลูก 6 ไร่ รายได้หลังหักรายจ่าย คือ ต้นทุนปัจจัยการผลิตของบริษัท และต้นทุนส่วนอื่น ๆ เช่น ค่าจ้างรถไถ ค่าจ้างแรงงานรายวัน ค่าน้ำมันเครื่องสูบน้ำ เดินท่อน้ำเข้าแปลง เป็นต้น เฉลี่ยได้กำไรประมาณ 70,000 บาทต่อรอบการผลิต
ด้าน อ.ภานุวัฒน์ บุญตาท้าว นักวิจัย ม.ราชภัฏสกลนคร กล่าวว่า ได้รับทุนการวิจัยจาก บพท. ดำเนินการโมเดลแก้จน ภายใต้แพลตฟอร์มขจัดความยากจนจังหวัดสกลนคร หลังจากลงพื้นที่ ต.โคกก่อง พบว่า ชาวบ้านปลูกมันฝรั่งเป็นอาชีพหลังนาและมีความต้องการแก้ปัญหาหลายด้าน แต่สอดคล้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ ม.ราชภัฏสกลนครมีพร้อมใช้ คือ เทคโนโลยีเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ หวังลดรายจ่ายทดแทนเครื่องสูบแบบน้ำมันไร่ละ 100 บาท และนวัตกรรมการแปรรูปมันฝรั่งที่ไม่ผ่านการคัดคุณภาพ
[อ่านต่อ]
โฆษณา