17 ธ.ค. เวลา 16:14 • ข่าว

ยาอมใต้ลิ้น ทำไมหมอไม่เคยบอก?

เนื่องจากมีรายการโชว์บางรายการมีการหยิบยกเรื่องของรูปแบบการกินยามาพูดถึง และทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารย์เป็นวงกว้าง ทั้งที่ถูก ที่ไม่ถูก และที่ถูกนิดหน่อย ทำให้มีบุคลากรทางการแพทย์หลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นในแง่ที่แสดงความเป็นห่วงในเรื่องการเข้าใจผิดเกี่ยวกับยา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "เ ภ สั ช ก ร"
(ซึ่งก็รวมถึงผมด้วยนี่แหละ)
วันนี้เลยจะมาบอกความจริง(บางส่วน) เกี่ยวกับยาอมใต้ลิ้น ว่ามันคืออะไร และจะใช้ในกรณีใดได้บ้าง ถึงเวลาต้องพูดบ้างครับ เดี๋ยวเขาหาว่าทำไมเภสัชฯจ่ายยาไม่เคยบอกเลย(😶)
ก่อนอื่นเราต้องรู้จักคำว่า ชีวประสิทธิผล หรือ Bioavailability ก่อนครับ เมื่อยาหนึ่งๆผ่านปากของเราดูดซึมเข้าทางกระเพาะหรือ/และ ลำไส้ เข้าสู่กระแสเลือด ปริมาณยาจำนวนหนึ่งจะหายไประหว่างทาง อาจดูดติดอยู่กับโปรตีน ผนังอวัยวะต่างๆ โดนกรดย่อย โดนตับย่อย และอีกสารพัดเหตุผล โมเลกุลยาที่รอดไปรับเหรียญทองที่ systemic circulation หรือผ่านตับซึ่งเป็นด่านสุดท้ายไปได้ จะเป็นยาที่ได้เข้าไปออกฤทธิ์ในกระแสเลือด(ตะไว้นิดนึงว่าไม่ใช่ยาทุกชนิดที่ออกแบบมาให้ทำงานในกระแสเลือด)
ยกตัวอย่างเช่น ยาพาราเซตามอล 500 mg มี Bioavailability ประมาณ 85% หมายความว่า ยาพาราฯที่จะรอดเข้ากระแสเลือดไปลดไข้คือ 500x.85= 425 mg
(เป็นเพียงตัวอย่างคร่าวๆ ในความเป็นจริงการตรวจวัดปริมาณยาในกระแสเลือดเป็นสิ่งที่ยากและซับซ้อน)
เพื่อลดผลของการสูญเสียก่อนการดูดซึม หรือภาษาเภสัชฯเรียกว่า "First-pass metabolism" ทั้งนี้เพราะยาบางชนิดมี Bioavailability ที่ต่ำมาก หรือต้องการให้ออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว หรือมักใช้ในบริบทที่คนไข้ไม่สามารถเอายาเข้าทางปากได้
ทำให้มีการออกแบบการบริหารยาในรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้มียาเข้าไปออกฤทธิ์ในร่างกายในปริมาณที่เพียงพอต่อการรักษา ปลอดภัย เกิดอาการไม่พึงประสงค์น้อยที่สุด ซึ่งก็มีหลายรูปแบบ ทั้งฉีดเข้าหลอดเลือด ฉีดเข้าผิวหนัง ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แผ่นแปะผิวหนัง หมากฝรั่ง และรวมไปถึง "ยาอมใต้ลิ้น" ด้วยนั่นเอง
ยาอมใต้ลิ้นถูกออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์ใหญ่ 2 อย่าง ถือ
  • หลีกเลี่ยง First-pass metabolism ซึ่งจะทำให้ยาดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ลดลง
  • ต้องการให้ยาออกฤทธิ์เร็ว (เร็วแบบมีผลเปลี่ยนแปลงต่อการรักษาที่มีนัยสำคัญทางคลินิก ไม่ใช่แค่ให้เร็วทันใจเฉยๆ)
การตั้งตำรับยาอมใต้ลิ้น ต้องพิจารณายาที่มีเหตุผลเหมาะสมที่จะตั้งตำรับยาอมใต้ลิ้น ทั้งนี้เนื่องจากยาอมใต้ลิ้นต้องอาศัยสารตั้งตำรับที่มีลักษณะเฉพาะที่ยาเม็ดแบบกินปกติไม่มี ซึ่งก็คือ "สารช่วยแตกตัว(disintegrants)" ซึ่งมีบทบาทสำคัญและเป็นตัวตัดสินว่า ยาไหนออกฤทธิ์แบบกิน ยาไหนออกฤทธิ์แบบต้องอมใต้ลิ้น
และเนื่องจากต้องการการแตกตัวและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว การตั้งตับรับยาอมใต้ลิ้นจึงต้องใช้มากกว่าแค่สารช่วยแตกตัว แต่ต้องใช้สารช่วยแตกตัวแบบพิเศษที่เรียกว่า "Superdisintegrant" ตัวอย่างสารช่วยแตกตัวในกลุ่มนี้คือ
Sodium starch glycolate ซึ่งแตกตัวผ่านกลไก swelling และพองตัวได้มากถึง 200-300 เท่า อีกตัวหนึ่งที่ถูกพูดถึงบอลในงานเภสัชกรรมอุตสาหการคือ Microcrystalline cellulose
แล้วเราทำให้ยาทุกตัวใช้โดยการอมใต้ลิ้นได้มั้ย?
คำตอบคือไม่ได้ ไม่ได้แน่นอน และอันตรายมากด้วยหากคิดแบบนั้น การสูญเสียยาก่อนถึงกระแสเลือดเป็นผลเสียก็จริง แต่ในบางกรณี กลไกนี้ก็ช่วยให้ร่างกายไม่ได้รับผลข้างเคียงที่เกิดจากยา การตั้งตำรับยาอมใต้ลิ้นจึงต้องพิจารณาช่วงการรักษาที่ปลอดภัย(therapeutic index) ที่กว้างและปลอดภัยพอ ถึงจะสามารถทำเป็นยาอมใต้ลิ้นได้
1
นอกจากนี้ ยาบางตัวอาจระคายเคืองที่ปากและลำคอ ยาบางตัวเสื่อมสภาพเมื่อเจอกับน้ำลายและกรดในปาก ยาบางตัวมีปัญหาในการละลายและการตั้งตำรับ ยาบางตัวถึงจะไม่ส่งผลอะไรต่อช่องปาก แต่ต้องใส่สารเพิ่มปริมาณในจำนวนที่มากหรือน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้เราอาจจะได้ยาอมใต้ลิ้นขนาดเท่ายาสอด หรือไม่ก็ขนาดเล็กจนตอกออกมาไม่ได้ จึงต้องใช้การเตรียมตำรับแบบอื่นแทน
แล้วยาเม็ดทั่วไปเอามาอมใต้ลิ้นเพื่อให้ออกฤทธิ์ได้มั้ย?
ก็ไม่ได้อีกนั่นแหละ อย่างที่ผมบอกว่ายาจะออกฤทธิ์แบบไหนขึ้นอยู่กับการตั้งตำรับ
การใช้สารเพิ่มปริมาณ สารช่วยยึดเกาะ สารช่วงแตกตัว ทุกอย่างต้องคิดตั้งแต่ต้น หากเอามาอมมั่วซั่ว บางทีก็ไม่ออกฤทธิ์เลย ละลายให้ขมเล่นๆในปาก บางทีก็ละลายออกมาแล้วทำให้เกิดการระคายเคืองในช่องปาก แย่สุดคือเกิดการดูดซึมเกินกว่าปกติจนเกิดอาการข้างเคียง ทำให้เจ็บป่วย พิการ หรือเสียชีวิตได้เลย!
เพราะฉะนั้นเรื่องยา ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน บางทีต่อให้ยาเหมือนกันแบบเป๊ะๆ การใช้ก็อาจจะแตกต่างกันตามผู้ป่วยแต่ละราย เนื่องจากแต่ละคนมีเงื่อนไขชีวิตต่างกัน จึงต้องการยาและวิธีการรักษาที่แตกต่างกันด้วย ความเห็นของคนคนหนึ่ง อาจสร้างประโยชน์หรืออันตรายมหันตร์ให้กับเราก็ได้ บางทีอาจต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะเห็นผลกระทบ หรือบางที ผลกระทบที่เกิดขึ้น มันก็อาจรวดเร็วจนเราไม่ทันได้บอกลาคนที่เรารักเลยด้วยซ้ำ
สุดท้ายนี้ขอฝากหัวใจนักปราชญ์ "สุ จิ ปุ ลิ" ไว้คอยเตือนใจ ฟังอะไรมาต้องคิด คิดเสร็จแล้ว หาข้อสงสัย สงสัยแล้วถาม หาข้อมูลให้ได้มากที่สุด จดบันทึกเรียบเรียงข้อมูล เพื่อรองรับข้อมูลใหม่ๆอยู่เสมอ น้ำห้ามเต็มแก้ว
ใครฟังข่าวลือ ตาบอดหนึ่งข้าง
ใครเชื่อข่าวลือ ตาบอดสองข้าง
2
อ้างอิง
โฆษณา