18 ธ.ค. เวลา 01:08 • การเมือง
กรุงเทพ Bangkok

ม.บูรพาจัดเสวนามอดีต ปัจจุบัน อนาคต #สมรสเท่าเทียม ที่จะมีผล 22 ม.ค.ปีหน้า

วันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “สมรสเท่าเทียมของคู่รัก LGBTQ+ : อดีต ปัจจุบัน และก้าวต่ออนาคต” ณ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ คุณกิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ดร.ธนพัฒน์ เล็กเกียรติ์ขจร อาจารย์ประจาภาควิชานิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา อาจารย์ดารานี แสงนิล อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย อาจารย์คำผิว วิไลพอน นักวิชาการจาก สปป.ลาว น.ส.กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ ซึ่งเป็น ส.ส.บุคคลข้ามเพศจากพรรคพลังประชาชน
รองศาสตราจารย์ ดร. รัชนี แตงอ่อน หัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า การบัญญัติกฎหมายให้เกิดความเท่าเทียมกันในสถานภาพของบุคคลในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ครอบคลุมบุคคลที่มีความหลากหลายที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2568 นี้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เปิดประเทศไทยเข้าสู่สังคมโลก และยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs ขององค์การสหประชาชาติ
เป้าหมายที่ 5 มุ่งดำเนินการเพื่อให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศ และเป้าหมายที่ 16 ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ
นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กล่าวตอนหนึ่งว่า หากมองในประเด็นสมรสเท่าเทียม หรือMarriage equality ถือว่าไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีกฎหมายดังกล่าว คือ ทุกเพศสภาพใช้กฎหมายสมรสเดียวกัน ไม่ใช่กฎหมายที่เป็นประเภท Same-sex marriage ซึ่งเป็นประเทศที่มีกฎหมายคู่ชีวิตที่เป็นกฎหมายแยกกันต่างหากจากกฎหมายสมรสเดิมของคู่สมรสชาย-หญิงที่มีอยู่ในไต้หวัน และเนปาล
หลายประเทศก็กำลังจะใช้โมเดลของประเทศไทยเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนสมรสเท่าเทียม
พี่แดนนี่ กิตตินันท์
ส.ส.บุคคลข้ามเพศจากพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า เมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ ตนสามารถใช้ได้ในทุกมาตราไม่ว่าจะเป็นการรับบุตรบุญธรรม ผู้รับผลประโยชน์ต่าง ๆ ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่าถ้าไม่มีกฎหมายเราจะใช้ชีวิตร่วมกันอย่างไร เมื่อสร้างทรัพย์สมบัติร่วมกันแล้วก็กังวลว่าจะดำเนินการอย่างไรอีก ดังนั้นกฎหมายมีความจำเป็นหลายอย่างในการใช้ชีวิตร่วมกันในฐานะคู่สมรส และอนาคตน่าจะมีการแก้กฎหมายอีกหลายฉบับ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการอุ้มบุญ
โฆษณา