18 ธ.ค. เวลา 06:31 • หุ้น & เศรษฐกิจ

20 บาทมาแน่ เรือธง “รัฐบาลอิ๊งค์” สุริยะ กดปุ่ม ก.ย.68 ดึงเอกชน รับตั๋วร่วม

  • “สุริยะ” ปักธง ก.ย.68 ประชาชนใช้รถไฟฟ้าสารพัดสี รับนโยบาย 20 บาทตลอดสาย
  • หลังครม.เคาะร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ดันเข้าสภา ฯ คาดใช้ ก.ย.68
  • สนข.เตรียมตั้งกองทุนฯชดเชยรายได้อุ้มเอกชนผู้รับสัมปทานดึงเข้าระบบเดียวกัน
การประกาศนโยบาย ภายใต้ แคมเปญ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง : 2025 Empowering Thais: A Real Possibility” ในโอกาส นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลงานครบ90วัน เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา
หนึ่งในนั้นคือ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โครงการเรือธงของพรรคเพื่อไทย ที่ได้สานต่อมาจาก “รัฐบาลเศรษฐา” โดยมีเป้าหมายลดภาระค่าครองชีพประชาชนเดินทางเชื่อมถึงแหล่งงานย่านใจกลางเมืองได้อย่างสะดวก ภายใต้ การกำกับดูแล ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
เกิดแน่20บาทตลอดสาย
ในการนี้ นายสุริยะ ตอกย้ำ กับนางสาวแพทองธารว่านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเกิดแน่ ภายในเดือนกันยายน 2568 ตามไทม์ไลน์ เชื่อมโยงโครงข่าย5เส้นทาง ซึ่งจะสอดรับกับ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ....คาดการณ์ ว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะเห็นชอบวาระ 3 ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญ ในการขับเคลื่อน โครงการเชื่อมต่อทุกระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
ตั้งกองทุนตั๋วร่วม /ดึงเอกชนเข้าระบบเดียว
โดยใช้บัตร เป็นรูปแบบใหม่ EMV (Europay Mastercard and Visa) บัตรเดบิตและบัตรเครดิตทุกธนาคารที่มีสัญลักษณ์ Contactless สามารถใช้แตะค่าโดยสาร/จ่ายค่าบริการแทนเงินสดได้ ซึ่งปัจจุบันนำร่องรถไฟฟ้า 2 สาย (สายสีม่วง/สายสีแดง)
ขณะเดียวกัน สามารถตั้งกองทุนตั๋วร่วมชดเชยรายได้เอกชน ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้า ตั้งเป้าหมายใช้ระบบตั๋วร่วมภายใน เดือนกันยายน 2568 ไปพร้อมๆกับรถไฟฟ้า20บาทตลอดสาย โดยดึงเอกชนเข้าระบบบัตรใบเดียวที่เชื่อมต่อทุกระบบขนส่งสาธารณะ
หลังประสบความสำเร็จจากการนำร่องรถไฟฟ้า 2 สาย ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีม่วงของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)และ รถไฟฟ้าสายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มสูงในแต่ละเดือน และคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติต่ออายุ รถไฟฟ้า20บาทตลอดสาย ของรถไฟฟ้าสองเส้นทางต่ออีก1ปี หรือจนถึงสิ้นปี 2568
ย้อนรอย 20 บาทตลอดสาย
หากย้อนไปเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นช่วงที่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศเป็นนโยบายหาเสียงครั้งแรก สร้างความตื่นเต้นให้กับประชาชนในกรุงเทพฯและปริมณฑลไม่น้อย ที่จะได้ใช้รถไฟฟ้าทุกเส้นทางในราคาที่ถูก จับต้องได้
โดยพบว่าในปัจจุบันค่าโดยสารรถไฟฟ้ามีราคาเริ่มต้นที่ 12-62 บาทต่อสาย เมื่อมีการเดินทางรถไฟฟ้าข้ามสายหลายเส้นทางจะทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเกือบ 200 บาทต่อวัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ครม. มีมติอนุมัติดำเนินการนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย ซึ่งได้นำร่องรถไฟสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่มีจุดเชื่อมต่อที่สถานีบางซ่อน
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 มติครม.ให้กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม ร่วมกันศึกษาแนวทางนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
ขณะเดียวกันวันที่ 30 ตุลาคม 2567 พบว่าร่างพ.ร.บ.ระบบขนส่งทางรางฯ ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ หนึ่ง หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ครม.มีมติอนุมัติต่ออายุมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายออกไปอีก 1 ปี โดยจะครบกำหนดในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2568 จากเดิมจะสิ้นสุดอายุมาตรการในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567
และเพื่อให้ รัฐบาลแพทองธาร ยังคงเดินหน้านโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ. ตั๋วร่วมฯ เพื่อให้สอดรับกับความสะดวกในการเดินทางของประชาชน นอกจากค่าโดยสารรถไฟฟ้า20บาทตลอดสายแล้ว
หาก พ.ร.บ. ตั๋วร่วม ประกาศใช้ เท่ากับว่าประชาชนจะถือบัตรโดยสาร เพียงใบเดียว เชื่อมต่อรถไฟฟ้าได้ทุกสีทุกสายรวมถึงระบบขนส่งสาธารณะอื่น
ดันร่างตั๋วร่วม เข้าสภาฯธ.ค.นี้
ขณะความคืบหน้า กระทรวงคมนาคม จะเสนอต่อที่ประชุมสภาฯพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ภายในเดือนธันวาคม 2567 คาดว่าที่ประชุมสภาฯพิจารณาเห็นชอบร่างพ.ร.บ. ตั๋วร่วมฯ วาระ 3 ภายในเดือนมิถุนายน 2568 และประกาศใช้นโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายในเดือนกันยายน2568ดังกล่าว
นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมยืนยันนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ทุกสีทุกสายจะใช้ได้ภายในเดือนกันยายน 2568 ปัจจุบันต้องรอให้ร่างพ.ร.บ. ตั๋วร่วมฯ ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯก่อน
ทั้งนี้พบว่าในช่วงที่ผ่านมาที่มีการนำร่องรถไฟฟ้า 2 สาย ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีประชาชนใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สะท้อนให้เห็นว่านโยบายนี้ช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายลงได้ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังคงขาดทุน แต่คาดว่าภายใน 2 ปีหลังจากนี้นโยบายดังกล่าวจะทำให้รถไฟฟ้าทั้ง 2 สายมีกำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ชดเชยรายได้ 1.6 หมื่นล. ใน 2 ปี
อย่างไรก็ตาม เมื่อพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ มีผลบังคับใช้ เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมได้เตรียมงบประมาณเพื่อชดเชยรายได้ปีละ 8,000 ล้านบาท เมื่อรวมทั้ง 2 ปีต้องชดเชยรายได้ประมาณ 16,000 ล้านบาท โดยเป็นการใช้งบประมาณจากรายได้สะสมของรฟม. มาดำเนินการ
หากงบประมาณส่วนนี้ไม่เพียงพอก็มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณกลางเพื่อสอดรับการชดเชยรายได้ในช่วง 2 ปี ระหว่างเดือนกันยายน 2568-สิงหาคม 2569 และระหว่างเดือนกันยายน 2569-สิงหาคม 2570
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มีบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เป็นผู้รับสัมปทานเดินรถ ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572
หลังจากนั้นรถไฟฟ้าสายนี้จะกลับคืนมาเป็นของรัฐ ทำให้การชดเชยรายได้ของเอกชนจากภาครัฐน้อยลง หากรัฐบาลยุคต่อไปได้เห็นถึงความสำคัญการปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะก็ควรเดินหน้านโยบายนี้ต่อ เนื่องจากในปัจจุบันพบว่ารถไฟฟ้าสายนี้มีปริมาณผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 70-80% ต่อวัน
คลังหาแหล่งทุนสนข.ตั้งกองทุนตั๋วร่วม
ความชัดเจน เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาเรื่องแหล่งเงินทุน
โดยให้ทั้ง 2 กระทรวง คำนึงถึงเรื่องของผลประโยชน์ที่จะได้รับและความคุ้มค่าทางการเงิน รวมทั้งแหล่งที่มาของเงินด้วยว่าจะจัดการและชี้แจงได้อย่างไรเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ให้เร็วที่สุด
เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมกำหนด 2 แนวทาง โดยแนวทางที่หนึ่งการซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชนกลับมาเป็นของภาครัฐ ซึ่งมีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังในการจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย
โดยแนวทางแรกจะใช้รูปแบบการลงทุนจาก PPP Net Cost เป็น PPP Gross Cost โดยกองทุนนี้มีระยะเวลา 30 ปี คาดว่าจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) ใน 5 ปีแรก ซึ่งดำเนินการจัดเก็บในอัตรา 40-50 บาท
หลังจากนั้นจะเพิ่มการจัดเก็บค่าธรรมเนียมทุกๆ 5 ปี คาดว่าผลการศึกษาจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในกลางปี 2568 ทั้งนี้พื้นที่ที่คาดว่าจะดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด(Congestion Charge) เช่น รัชดาภิเษก, สุขุมวิท, สยามพารากอน, สีลม เนื่องจากเป็นพื้นที่ใจกลางเมืองตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า
ปัจจุบันมีรถใช้บริการกว่า 700,000 คันต่อวัน โดยกระทรวงการคลังจะต้องศึกษาข้อกฎหมายมารองรับ อีกทั้งต้องขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกรุงเทพมหานคร (กทม.) แต่ปัจจุบันไม่ได้มีการจัดค่าธรรมเนียมในส่วนนี้
1
หากการตั้งกองทุนซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนนั้นมีข้อมูลที่ชัดเจนถึงรายได้ในแต่ละปีที่เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนตามที่กำหนด ขณะเดียวกันกองทุนนี้ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมระดมทุนได้ เชื่อว่าจะมีนักลงทุนให้ความสนใจด้วย ส่วน
แนวทางที่สอง กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ สนข.ดำเนินการเร่งรัดจัดตั้งกองทุนระบบตั๋วร่วม คาดว่าจะใช้งบประมาณชดเชย 7,000-8,000 ล้านบาทต่อปี
ขณะนี้เป็นที่แน่ชัดว่า ร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วมอยู่ระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา คาดว่าจะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาะที่ 2 ภายในเดือนธันวาคมนี้และพิจารณาวาระ3 ในเดือนมิถุนายน 2568
ขณะที่การนำรายได้ของรฟม.จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่ปัจจุบันมีรายได้ 10,000 ล้านบาทต่อปี ตลอดจนนำกองทุนอนุรักษ์พลังงานจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 50 สตางค์ มาช่วยอุดหนุนเพื่อชดเชยรายได้ให้เอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้า เพื่อรองรับนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย
นอกจากนี้หากผลการศึกษาการตั้งกองทุนซื้อสัมปทานรถไฟฟ้ายังไม่แล้วเสร็จ กระทรวงคมนาคมจะนำแนวทางที่ 2 มาดำเนินการแทนเพื่อให้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทันตามแผนที่ตั้งเป้าไว้ภายในเดือนกันยายน 2568
ผู้โดยสารเพิ่ม-รายได้ลด
อย่างไรก็ตาม นโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ของสองเส้นทางนำร่อง พบว่ามีแนวโน้มยอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุว่า ช่วงเดือนตุลาคม 2567 รถไฟฟ้าสายสีแดง มีผู้ใช้บริการอยู่ที่ 1,056,783 คน ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีม่วง เดือนตุลาคม 2567 มียอดผู้ใช้บริการอยู่ที่ 2,153,904 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทางด้าน นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า หลังจากกระทรวงฯ เริ่มนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา พบว่าสูญเสียรายได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยผลการดำเนินมาตรการ สะสม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567
เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 รถไฟชานเมืองสายสีแดง ก่อนดำเนินมาตรการ มีรายได้ 203.47 ล้านบาท เมื่อดำเนินมาตรการแล้วรายได้ลดลงจากเดิม 2.59 ล้านบาท
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วง ก่อนดำเนินมาตรการ มีรายได้เฉลี่ย 455.46 ล้านบาท เมื่อดำเนินมาตรการแล้วรายได้ลดลงจากเดิม 119.33 ล้านบาท
เช่นเดียวกับปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยของรถไฟฟ้าทั้งสองสาย เมื่อเปรียบกับช่วงเดียวกับของปี 2566 ภายหลังเริ่มดำเนินมาตรการ ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา ในภาพรวมพบว่ามีผู้โดยสารรวมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน
โดยจำนวนผู้โดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดง เพิ่มขึ้นประมาณ 51.86% ในขณะที่ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง เพิ่มขึ้นประมาณ 17.54%
โฆษณา