18 ธ.ค. เวลา 03:07 • ข่าว

สภาพัฒน์ดันลงทุน 1 ล้านล้านปีหน้า เร่งโปรเจ็กต์ยักษ์พยุงเศรษฐกิจ นโยบายการเงินกองหน้า

เลขาธิการสภาพัฒน์ ดันเม็ดเงินลงทุนภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจ 1 ล้านล้านบาท ขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี’68 เผย 2 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญปีหน้า นโยบายกีดกันการค้าทรัมป์-ความขัดแย้งตะวันออกกลาง หวั่นสะเทือนราคาพลังงานสูง ธุรกิจนำเข้า-ส่งออกต้องระวังหนัก ประเมินปีหน้าดอกเบี้ยขาลงช่วยลดต้นทุนธุรกิจ เร่งเครื่องสารพัดโครงการลงทุนทั่วประเทศประคองเศรษฐกิจ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒน์ ชี้ครึ่งหลังปี’68 เศรษฐกิจไทยต้องเจอความเสี่ยงใหญ่ ดันนโยบายการเงินรับบท “กองหน้า” แทนนโยบายการคลังที่ต้องทยอยลดขาดดุล เผยอุตสาหกรรมยานยนต์-อสังหาฯต้องเหนื่อยอีก 3-5 ปี
2 ปัจจัยเสี่ยงใหญ่ปี’68
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ประเมินทิศทางเศรษฐกิจปี 2568 ว่า ในไตรมาสสุดท้ายปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้มากกว่า 3% ส่วนปี 2568 คาดว่าทั้งปีจะโตเฉลี่ย 2.8% (ช่วงคาดการณ์ 2.3-3.3%) สำหรับปีหน้ามีความเสี่ยงค่อนข้างสูง
โดยเฉพาะ 2 เรื่องสําคัญจากภายนอกประเทศ คือ 1.นโยบายการค้าของสหรัฐที่ขณะนี้ยังไม่ชัดเจน ทุกคนทราบเพียงว่าจะมีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะจากประเทศจีน แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด ซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะรุนแรงแค่ไหนจะขึ้นกับรายละเอียดที่จะออกมา
“ยกตัวอย่าง สมมุติว่า สหรัฐขึ้นภาษีสินค้าจีนที่ผลิตจากประเทศจีนเท่านั้น สินค้าที่ผลิตจากไทยก็อาจไม่ได้รับผลกระทบ แต่เราก็มีความเสี่ยง ที่ว่าไทยเกินดุลสหรัฐค่อนข้างเยอะ และเกินดุลมาตลอด ดังนั้น ถ้ามาตรการออกมาเป็นลักษณะสินค้าที่จะเข้าสู่สหรัฐ ต้องไม่มีชิ้นส่วนที่ผลิตจากจีน
อันนี้จะเริ่มมีความรุนแรง และเริ่มมีผลกระทบกับไทย หรือกรณีออกมาว่า สินค้าที่จะเข้าสู่สหรัฐ ถ้าเป็นผู้ผลิตจากจีนไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหนก็ตาม อันนี้ก็จะยิ่งหนักสุด ก็จะมีผลกับสินค้าที่เราส่งออก”
โดยหากสหรัฐออกมาตรการชุดแรกในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ก็อาจจะมีปัญหาในช่วงครึ่งปีหลัง จึงต้องมีความระมัดระวังและติดตามสถานการณ์
ปัจจัยเสี่ยงที่ 2.ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ซึ่งสถานการณ์ปรับเปลี่ยนค่อนข้างเร็ว แต่ยังโชคดีที่ขณะนี้ยังไม่ได้กระทบกับราคาน้ำมัน แต่หากสถานการณ์ลุกลามจนกระทบกับพื้นที่การผลิตน้ำมัน ก็จะมีผลต่อราคาพลังงานที่อาจพุ่งสูงขึ้น จึงต้องติดตาม และต้องเตรียมมาตรการรองรับ
นำเข้า-ส่งออกต้องระวังหนัก
นายดนุชากล่าวว่า ปีหน้าภาคธุรกิจต้องระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและนําเข้า เพราะมาตรการการค้าของสหรัฐ จะทำให้เกิดความผันผวนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในแง่ของอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนธุรกิจที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว ก็น่าจะยังมีแนวโน้มที่ดีอยู่
ส่วนอัตราดอกเบี้ยของไทยจะลดลงหรือไม่นั้น นายดนุชากล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องถามธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่หากพูดถึงแนวโน้มปีหน้า ก็มีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยอาจจะปรับลดลงได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยของธนาคารกลางแต่ละประเทศ
และมาตรการที่คาดว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ จะออกมา 2-3 มาตรการหลัก คือ 1.ลดภาษีนิติบุคคลภายในประเทศ เพื่อที่จะสร้างกําลังซื้อ 2.ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า ซึ่งแสดงว่าสินค้าที่จะเข้าสู่ประเทศสหรัฐจะแพงขึ้น ก็จะไปกดดันเงินเฟ้อ
ขณะเดียวกันสหรัฐอาจต้องมีการขาดดุลมากขึ้น ก็จะไปกระทบเรื่องการเงินการคลังอีก ซึ่งคงต้องมาดูว่าสุดท้ายแล้ว เงินเฟ้อสหรัฐที่เริ่มมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ หากมีมาตรการออกมาจะกระทบทำให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นใหม่หรือไม่ เพราะหากเงินเฟ้อสหรัฐขึ้น อัตราดอกเบี้ยก็อาจจะไม่ได้ลดลงอย่างที่คาดการณ์กัน ก็เป็นความเสี่ยง
“แต่ถ้ามองแนวโน้มขณะนี้ ก็คิดว่าดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งในแง่ของภาระค่าใช้จ่ายของคน หรือภาคธุรกิจ ก็จะลดลง ก็น่าจะทําให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น”
หนี้ครัวเรือนยังโจทย์ใหญ่
เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวว่า ขณะที่สถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง ก็ยังเป็นส่วนที่ฉุดรั้งการพัฒนาและการเจริญเติบโตของประเทศในปีหน้า แต่จากมาตรการแก้หนี้ที่ออกมาเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับกระทรวงการคลังแถลงไป จะช่วยลูกหนี้ได้ประมาณเกือบ 2 ล้านราย ซึ่งเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหา และยังมีโอกาสที่จะรอด ก็จะช่วยผ่อนคลายลดผลกระทบไปได้ส่วนหนึ่ง
“ถ้าลูกหนี้มีวินัยทางการเงิน ดําเนินการตามมาตรการนี้ไปเรื่อย ๆ ในช่วง 3 ปี น่าจะทําให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ สามารถที่จะลดผลกระทบ หรือว่าแบ่งเบาภาระของตัวเองจากปัญหาหนี้ที่มีอยู่ได้” อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/finance/news-1717712
โฆษณา