18 ธ.ค. เวลา 04:20 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Juror#2

"ความจริงสำคัญแค่ไหน และเราจะทำอย่างไรกับมัน"
งานของปู่คลิ้นต์ที่ยังไม่อยากให้เป็นเพลงหงส์
เป็นอีกครั้งที่ คลินต์ อีสต์วูด ชวนผู้ชมมานั่งในตำแหน่งลูกขุนคนที่ 13 เพื่อไตร่ตรองและตัดสินใจไปพร้อมกับตัวละคร ผ่านคำถามที่ทั้งง่ายและยากที่สุดในชีวิต
ผลงานการกำกับหนังของคลินต์ อีสต์วูดนั้นไม่เคยมีเรื่องไหนที่มีความซับซ้อน หนังของเขาโดดเด่นเสมอในความเรียบง่าย เขาเล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมาให้ผู้ชมค่อย ๆ เข้าใจการเดินทางของตัวละครและเนื้อเรื่อง โดยไม่ต้องอาศัยการตีความที่ซับซ้อน แต่มันกลับทรงพลังและสะเทือนอารมณ์ Juror#2 ก็ไม่ต่างจากผลงานชั้นดีในอดีตอย่าง Mystic River ,Million Dollar Baby, Gran Torino หรือกระทั่งงานก่อนหน้าอย่าง The Mule และ Cry Macho ซึ่งทั้งหมดมักนำเสนอเรื่องราวของคนธรรมดาที่เผชิญเรื่องที่ดูเหมือนง่ายๆ แต่มันชวนให้สะเทือนใจ
Juror#2 บอกเล่าเรื่องราวของ จัสติน แคมป์ (นิโคลัส ฮอลท์) ชายหนุ่มที่ได้รับเลือกเป็นลูกขุนหมายเลข 2 ในคดีฆาตกรรมหญิงสาว โดยผู้ต้องสงสัยคือแฟนหนุ่มของเธอ ผู้มีอดีตอันไม่น่าไว้วางใจและยังมีพยานหลายคนเห็นเขากับเธอทะเลาะกันอย่างรุนแรงในบาร์ ก่อนที่เธอจะเดินตากสายฝนหนีเขาไป จากนั้นชายหนุ่มเดินตามไป และมีการพบศพหญิงสาวในรุ่งเช้า
แต่ว่าในคดีนี้เขายืนยันความบริสุทธิ์ของตนเองอย่างเต็มที่ จัสตินรู้ดีว่าคดีนี้มีความเป็นมายังไงและเรื่องจริงที่เกิดขึ้นคืออะไร ซึ่งความจริงที่น่าตกใจคือ เขาสงสัยว่าตนเองอาจเป็นผู้ขับรถชนหญิงสาวโดยไม่ตั้งใจ และเหตุการณ์ทั้งหมดถูกปิดบังเอาไว้
Juror#2 ไม่ได้เล่นกับการสืบหาความจริงหรือแก้ต่างคดีความเหมือนหนังขึ้นศาลทั่วไป เพราะเอาเข้าจริงในหนังตัวอย่างก็เปิดเผยตั้งแต่แรกแล้วว่าลูกขุนหมายเลข 2 คือคนผิดโดยไม่เจตนา เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการสปอยล์เนื้อหาแต่อย่างใด เพราะเป็นสิ่งที่ทางบริษัทเผยข้อมูลให้ผู้ชมรับทราบอยู่แล้ว
แต่จุดที่ Juror#2 เด่นชัดคือการสำรวจความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของมนุษย์ ตัวละครหลักต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจครั้งสำคัญระหว่างการเปิดเผยความจริง หรือการปกป้องอนาคตอันสดใสของตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะเมื่อภรรยาของเขากำลังตั้งครรภ์ รวมถึงกระบวนการทางยุติธรรมตั้งแต่สอบสวน ทำสำนวน ตลอดจนดำเนินคดีที่กลายเป็นเรื่องการเมือง
หนังของปู่มุ่งตรวจสอบความยุติธรรมของศาลโดยเฉพาะในระบบลูกขุนว่ามันมีความยุติธรรมจริงหรือไม่ เมื่อคนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ต่างพากันละเลย ตำรวจสรุปสำนวนคดีอย่างง่าย โดยไม่ได้มองให้ถี่ถ้วนว่าเหตุฆาตกรรมมันอาจจะเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นได้อีกหรือไม่ ลูกต้องหาที่เคยมีประวัติติดตัวก็มักถูกมองว่าชั่วโดยสันดาน อัยการที่ทำหน้าที่ฟ้องคดีก็มุ่งหวังว่าจะประสบชัยชนะเมื่อคดีนี้เดิมพันถึงตำแหน่งอัยการรัฐที่เธอลงสมัครเลือกตั้ง
ขณะเดียวกันลูกขุนหมายเลข 2 ที่ต้องต่อสู้กับความรู้สึกผิดบาปของตนเองอย่างหนัก ก็ยังมีอนาคตที่สดใสกับภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ เขาจะเลือกอะไรระหว่างความถูกต้อง ความยุติธรรม หรืออนาคตของตนเองแล้วส่งผู้บริสุทธิ์ที่มีอดีตอาชญากรรมยาวเหยียดเข้าคุกไปแทน ขณะเดียวกันคณะลูกขุนที่มาจากหลากหลายอาชีพก็ถูกตั้งคำถามว่าสามารถเป็นตัวแทนความยุติธรรมได้แค่ไหน เมื่อทุกคนต่างก็มีภาระหน้าที่ มีอคติ มีความคิดแบบฝังหัว หลายครั้งเราจะเห็นว่าพวกเขารีบประชุมรีบลงคะแนนเพื่อที่จะรีบกลับบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติ
ว่าไปแล้ว Juror#2 เป็น "บทเรียนศีลธรรมที่ท้าทายผู้ชมให้หันกลับมามองตัวเองในฐานะลูกขุนคนที่ 13" ที่ต้องชั่งน้ำหนักความรู้สึกและความยุติธรรม แม้ Juror#2 จะดูห่างจากผลงานที่ดีที่สุดของคลินต์ มันเป็นเพียงงานระดับกลางๆขอเขา แต่ยังน่าชื่นชมคลินต์ อีสต์วูดที่เขายังคงความสามารถในการควบคุมจังหวะและโทนของเรื่องราวไว้อย่างมั่นคงที่ยังคงเรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง โดยเฉพาะการตั้งคำถามต่อระบบยุติธรรมว่า "มันยุติธรรมจริงหรือไม่ เมื่อผู้เกี่ยวข้องทุกคนต่างก็มีภาระหน้าที่ที่ทำให้มองข้ามความจริงบางอย่างไป"
หนังนำเสนอประเด็นที่ "กระชากหน้ากากระบบลูกขุน" ซึ่งบางครั้งก็ถูกลดทอนความศักดิ์สิทธิ์หรือความน่าเชื่อถือลงจากความเร่งรีบและอคติของมนุษย์เอง
Juror#2 มีความละม้ายคล้าย 12 Angry Men แต่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ตรงที่ 12 Angry Men คือความเข้มข้นของการร่วมกันค้นหาความจริงเพื่อช่วยชีวิตผู้ต้องหา แต่ Juror No. 2 กลับเป็นการตั้งคำถามทางศีลธรรมและความยุติธรรมที่บางครั้งก็ไม่สอดคล้องกับ "ความจริง" ของโลกความเป็นจริง และผู้ชมก็กลายเป็นลูกขุนที่จะต้องตัดสินใจระหว่างความจริงกับความรู้สึก เหมือนกับคำที่อัยการเขตเขียนไว้ในแคมเปญหาเสียงของเธอเองว่า
"กฎหมายเป็นสิ่งที่ไม่อาจละเมิดได้ แต่ความจริงใช่ความยุติธรรมหรือไม่"
ความน่าสนใจอีกประการคือ การที่หนังเรื่องนี้อาจเป็นผลงานการกำกับเรื่องสุดท้ายของอีสต์วูด เพราะแม้หนังจะออกฉายแบบที่วอร์เนอร์ บราเดอร์สไม่ใยดีทำการตลาด ให้โรงฉายน้อยนิด แล้วไม่ส่งชิงออสการ์ แต่ Juror#2 ก็ยังทำรายได้ถึง 20 ล้านเหรียญทั่วโลก จากทุนสร้าง 30 ล้าน ก่อนจะปล่อยให้ดูกันในระบบเปย์เพอร์วิว ตัวหนังคงจะไม่เจ็บตัวหรือขาดทุนกันแน่ ทำให้ยังอยากเห็นผลงานกำกับในลำดับที่ 41 ของปู่ต่อไปครับ
สุดท้ายแล้ว Juror#2 คือบทพิสูจน์อีกครั้งว่า คลินต์ อีสต์วูด ยังคงเป็นผู้กำกับที่สามารถสะท้อนแง่มุมที่ซับซ้อนในความเป็นมนุษย์ผ่านเรื่องราวที่เรียบง่าย เป็นหนังที่อาจไม่ใช่ผลงานชิ้นโบว์แดง แต่ก็ทิ้งคำถามสำคัญถึงผู้ชม งานชิ้นนี้ยังคงเปี่ยมไปด้วยความจริงใจและความสามารถในการขยี้ความรู้สึกผู้ชม
 
 
คะแนน: 7/10
โฆษณา