หัตถการ อบไอน้ำสมุนไพร

ในศาสตร์การแพทย์แผนไทย การอบไอน้ำสมุนไพรเป็นการกระตุ้นธาตุไฟ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของธาตุลมที่คั่งอั้น บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ เปิดทางเดินหายใจให้หายใจโล่งขึ้น กระตุ้นการไหลเวียนและปรับสมดุลของธาตุน้ำ
การอบไอน้ำสมุนไพร คือ การนำสมุนไพรสดหรือแห้งหลาย ๆ ชนิด ส่วนใหญ่จะเป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมหรือมีน้ำมันหอมระเหยมาต้มกับน้ำเพื่อให้เกิดไอน้ำและความร้อนขึ้นภายในห้องหรือกระโจมที่ใช้อบตัว เพื่อเป็นการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพร่างกายจากการเจ็บป่วย สำหรับการอบไอน้ำสมุนไพรนั้นมีประโยชน์อย่างไร มีข้อห้ามและข้อควรระวังอย่างไรบ้าง สามารถหาคำตอบได้ในบทความนี้ได้เลย
การอบไอน้ำสมุนไพรมีประโยชน์อย่างไร
- กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลมให้ดีขึ้น
- บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- บรรเทาอาการคัดจมูกในผู้ที่เป็นหวัด โรคภูมิแพ้อากาศ หรือโรคหอบหืดที่ไม่รุนแรง
- ช่วยเปิดรูขุมขนและขับเหงื่อ
- ช่วยขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอด
สมุนไพรที่ใช้ในการอบสมุนไพร
การใช้สมุนไพร อาจใช้สมุนไพรสดหรือสมุนไพรแห้ง ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการหาได้ในแต่ละท้องถิ่น แต่สมุนไพรสดจะมีคุณภาพดีกว่าสมุนไพรแห้ง เพราะคุณภาพสมุนไพรสดจะลดน้อยลงขณะทำให้แห้ง การใช้สมุนไพรมักไม่จำกัดชนิด อาจเพิ่มหรือลดชนิดตามความต้องการในการใช้ประโยชน์
สมุนไพรกลุ่มหลักจะมีอยู่ 4 กลุ่ม ได้แก่
1. สมุนไพรที่มีกลิ่นหอม กลุ่มนี้มีสาระสำคัญที่ออกฤทธิ์เป็นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งช่วยรักษาโรคต่าง ๆ เช่น ปวดเมื่อย หวัด คัดจมูก ตัวอย่างเช่น ไพล ขมิ้นชัน ตะไคร้ มะกรูด
2. สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว กลุ่มนี้มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ ซึ่งช่วยชะล้างสิ่งสกปรก ตัวอย่างเช่น ใบมะขาม และฝักส้มป่อย
3. เป็นสารประกอบที่ระเหิดได้เมื่อถูกความร้อนและมีกลิ่นหอม เช่น การบูร พิมเสน
4. สมุนไพรที่ใช้รักษาเฉพาะโรค เช่น ต้องการรักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน ใช้เหงือกปลาหมอ เป็นต้น
การอบไอน้ำสมุนไพรมีข้อห้าม/ข้อควรระวังอย่างไรบ้าง
- มีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส
- มีอาการอ่อนเพลีย อดนอน อดอาหาร
- หลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ ไม่เกิน 30 นาที
- ผู้ที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เช่น วัณโรค
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืดระยะรุนแรง โรคไตชนิดรุนแรง โรคหัวใจ
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ที่มีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ
- ผู้ที่มีบาดแผลเปิด มีการอักเสบของบาดแผล หรือโรคติดเชื้อทางผิวหนัง
- หญิงขณะมีประจำเดือน หรือตั้งครรภ์
- ผู้ที่แพ้สมุนไพร หรือแพ้ความร้อน
ข้อควรระวังในการอบไอน้ำสมุนไพร
- ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 หรือสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท มีความเสี่ยงต่อการเป็นลมหมดสติ ต้องสังเกตอาการและดูแลอย่างใกล้ชิด
- ไม่ควรอบนานเกิน 30 นาที จะทำให้สูญเสียน้ำและเกลือแร่ทางเหงื่อ ส่งผลให้อ่อนเพลียและอาจเป็นลมได้
- ในขณะอบไอน้ำสมุนไพร หากมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ควรหยุดทันที
2
สามารถอบไอน้ำสมุนไพรได้สัปดาห์ละ 2- 3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละราย กรณีการฟื้นฟูหญิงหลังคลอดอาจมีการอบไอน้ำสมุนไพรติดต่อกันได้ตามดุลพินิจของแพทย์ เมื่อสิ้นสุดการอบไอน้ำแล้วให้ดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำเกลือแร่ เพื่อทดแทนการสูญเสียเหงื่อ
โฆษณา