เมื่อวาน เวลา 10:15 • ข่าว

สธ.จ่อคุยธุรกิจทำอาหารลด "โซเดียม-หวานมันเค็ม"

เล็งออก กม. ใครลดโรค NCDs มีมาตรการภาษีช่วย
รมช.สธ.เผยคนไทยตายจากโรค NCDs ปีละ 4 แสนคน ป่วยมากกว่า 14 ล้านคน เหตุกินหวานมันเค็ม ได้รับโซเดียมเกินพิกัด จ่อหารือทุกหน่วยงาน ธุรกิจอาหารคุมโซเดียม ตั้งเป้าอนาคตอาจออกกฎหมาย ใครช่วยลดโรค NCDs ได้ ช่วยลดภาระประเทศ ควรมีผลกำไรกลับคืน หรือมีมาตรการทางภาษี
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.  นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรมเปิดบ้านกรมอนามัย เปิดใจ โลว์คาร์บ ไม่โลว์แคล สื่อมวลชน ห่างไกล NCDs (Open House Meet the Press @DOH)  ว่า ปัจจุบันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึง 41 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็นร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตของประชากรโลกทั่งหมด โดยเฉพาะโรคเบาหวาน  และโรคความดันโลหิตสูงที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับประเทศไทย โรค NCDs เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเกิน 4 แสนคน และคนไทยมากกว่า 14 ล้านคนกำลังเผชิญกับโรค NCDs มากกว่า 4.8 ล้านคนเป็นโรคเบาหวาน สาเหตุหลักของการเกิดโรค NCDs คือ การบริโภคอาหาร โดยเฉพาะของหวาน มัน เค็ม
จากข้อมูลพบว่า คนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา ซึ่งมากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา และได้รับโซเดียมจากอาหารที่บริโภคเฉลี่ย 3,636 มก./วัน ซึ่งมากกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำให้ประชาชนบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มก./วัน
นอกจากนี้ ยังพบว่า คนไทยมีกิจกรรมทางกายลดลงอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จากร้อยละ 74.6 เหลือเพียงร้อยละ 55.5 ในปี 2563 และลดลงเป็นร้อยละ 19.1 กรมอนามัยจึงกระตุ้นให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอโดยในปี 2566 คนไทยมีกิจกรรมทางกายสูงขึ้นอยู่ที่ ร้อยละ 68.1
นายเดชอิศม์ กล่าวว่า สธ.มีนโยบายที่มุ่งแก้ไขปัญหาโรค NCDs โดยสื่อสารให้ อสม.เรียนรู้เรื่องการนับคาร์บ หรือคาร์โบไฮเดรต ไม่ให้เกินร้อยละ 20 ของพลังงานที่ร่างกายต้องการ รวมทั้งผลักดันการส่งเสริมสุขภาพและแนวคิดวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดี ปรับปรุงกฎหมาย มาตรการ สิทธิประโยชน์ให้เอื้อในการต่อสู้กับโรค NCDs
จัดตั้งศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs เพื่อลดอัตราการป่วยก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา และสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการปรับพฤติกรรมสุขภาพ ทั้งการกินอาหารให้เหมาะสมกับการใช้พลังงาน การออกกำลังกาย ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยในผู้ป่วยรายเก่าและลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนและรัฐบาลได้
เมื่อถามว่านโยบายที่มอบให้กรมอนามัยขับเคลื่อนลดโรค NCDs นายเดชอิศม์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ รณรงค์ให้ความรู้ประชาชน ถึงพฤติกรรมการกิน อย่างกินมากเกินไป ทั้งหวาน มัน เค็ม  และไม่ออกกำลังกาย จึงต้องรณรงค์ให้เข้าใจลดเลี่ยงอาหารเสี่ยงต่อสุขภาพ และหมั่นออกกำลังกาย และต้องสื่อสารให้เข้าใจว่า เมื่อป่วยโรคเอ็นซีดี จะเป็นภาระให้ตนเอง ป่วยแล้วก็เหมือนทำร้ายตัวเอง และยังเป็นภาระต่อผู้ดูแล คนที่รัก ครอบครัว และภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ
ถามว่านโยบาย สธ.มุ่งเน้นลดโรค NCDs แต่ต้องมีมาตรการอะไรให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารลดหวาน มัน เค็ม โซเดียม นายเดชอิศม์กล่าวว่า สธ.จะหารือรอบด้าน คุย 360 องศา คุยทุกองค์กรที่เกี่ยวกับสุขภาพของประชาชน อย่างบริษัทผู้ผลิตอาหารต้องควบคุมโซเดียม ไม่ให้หวาน มัน เค็ม จนเกินไป ซึ่งก็ต้องหารือร่วมกัน
และในอนาคตคิดว่า ผู้ที่มีส่วนได้เสีย ใครทำให้โรค NCDs ลดลงได้ เท่ากับลดภาระให้กับกระทรวงสาธารณสุข ลดภาระประเทศชาติ ก็เหมือนลดการใช้งบประมาณแผ่นดิน ก็ควรมีผลกำไรกลับคืน หรือองค์กรไหนที่ผู้ป่วยโรค NCDs ลดลง ก็ควรต้องมีมาตรการทางภาษีให้กับองค์กรนั้นๆด้วย ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะออกเป็นกฎหมาย
ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า  กรมอนามัยสนับสนุนนโยบายการนับคาร์บ ร้อยละ 20 ที่เหมาะสำหรับผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ผู้เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ต้องฉีดอินซูลิน เพื่อคำนวณปริมาณคาร์บในแต่ละมื้อให้เหมาะกับยาฉีดอินซูลิน หรือผู้ที่มีความเสี่ยงเบาหวาน ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ผู้ดูแลสุขภาพที่ต้องการรักษาน้ำหนักตัว การจำกัดปริมาณคาร์บ ช่วยลดน้ำหนักได้หากลดน้ำหนักได้จะลดความเสี่ยงให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
การทราบปริมาณคาร์บที่ควรได้รับในแต่ละมื้อ จะช่วยรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และป้องกันความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน และแนะนำการเจาะน้ำตาลก่อน และหลังอาหาร เพื่อคัดกรองภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน
สำหรับโรคความดันโลหิตสูง โรคไต หากทราบปริมาณโซเดียมในอาหาร เราจะสามารถควบคุมโซเดียมต่อวันไม่ให้เกิน 2,000 มก./วัน กรมอนามัย ยังแนะนำวิธีการลดความดันโดยไม่ใช้ยา ดังนี้
1. ควบคุมความดัน โดยลด เลี่ยง การทานอาหารโซเดียมสูง เช่น ส้มตำ ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ขนมจีนน้ำยา เกาเหลา น้ำแกง สุกี้น้ำ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาร้า อาหารแปรรูป กุนเชียง หมูยอ ไส้กรอก
2. กินผักสด สีเขียว วันละ 4-6 ทัพพี และผลไม้สดวันละ 4-6 ทัพพี หลากหลายสีสัน
3. การออกกำลังกาย 3-5 ครั้ง/สัปดาห์ วันละ 30-45 นาที โดยมี เป้าหมาย 150นาที ต่อสัปดาห์ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของหลอดเลือดช่วยลดความดันโลหิตได้ 4-9 หน่วย (มิลลิเมตรปรอท) และการลดน้ำหนักตัว ทุกๆ 10 กิโลกรัม ทำให้ความดันลดลงได้ 5-20 หน่วย (มิลลิเมตรปรอท)
4. DASH diet พืชสด : ด้วยเน้นวัตถุดิบสดตามธรรมชาติ เลี่ยงอาหารแปรรูป ลดเกลือ : ควบคุมปริมาณโซเดียม ไม่เกิน 2,300 มก./วัน เนื้อน้อย : เลือกปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ในปริมาณที่เหมาะสม ด้อยไขมัน : จำกัดการบริโภคน้ำมัน และเลือกกลุ่มไขมันดี น้ำตาลต่ำ : ลดหวาน น้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา/วัน ช่วยลดความดันได้ 8-14 หน่วย (มิลลิเมตรปรอท)
5.วัดความดันซ้ำทุก 1 เดือน โดยนั่งพัก 10-15 นาที ก่อนวัดความดันซ้ำ ในอิริยาบทที่ผ่อนคลายที่บ้านหรือสถานีสุขภาพใกล้บ้าน และ 6. การนอนหลับอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง (ไม่ตื่นบ่อยกลางดึก) วันละ 7-8 ชั่วโมง การสวดมนต์ ผ่อนคลาย นั่งสมาธิ การจัดการความเครียด ก็สามารถลดความดันโลหิตได้เช่นกัน และยังมีเทคนิคการให้อายุยืนยาว ด้วย Life Style Medicine ที่ประชาชนทุกกลุ่มวัยสามารถปฏิบัติตามได้ เพื่อสุขภาพที่ดี
โฆษณา