19 ธ.ค. เวลา 13:00 • สิ่งแวดล้อม

คาร์บอนเครดิตไทย ทำไมไม่ปัง?

☝️Click >> น่าสงสัย เหตุใด? ‘ตลาดคาร์บอนเครดิตไทย’ ไม่ปังเหมือนในต่างประเทศ
🔎Clear >> รายงานจากState and Trends of Carbon Pricing ของธนาคารโลกพบว่า เมื่อปี 2023 รายได้จากการกำหนดราคาคาร์บอนสูงถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ประมาณ 104 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรายงานระบุว่าการกำหนดราคาคาร์บอนอาจเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการช่วยให้ประเทศต่าง ๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
ซึ่งภาษีคาร์บอนและระบบ ETS (Emission Trading Scheme) หรือ ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปัจจุบันครอบคลุมเพียง 7% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าประเทศที่มีรายได้ปานกลางขนาดใหญ่ เช่น บราซิล อินเดีย ชิลี โคลอมเบีย และตุรกี กำลังมีความก้าวหน้าในการดำเนินการกำหนดราคาคาร์บอน
ส่วนประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก.ได้รายงานถึงสถานการณ์ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจของประเทศไทยจากโครงการ T-VER รอบปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566-กันยายน 2567) พบว่ามีปริมาณการซื้อขาย 686,079 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) มีมูลค่าการซื้อขาย 85.79 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 125.05 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
โดยประเภทการซื้อขายส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มชีวมวล ปริมาณซื้อขาย 300,572 ตัน มูลค่า 17.47 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 58.13 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
พลังงานแสงอาทิตย์ ปริมาณซื้อขาย 162,327 ตัน มูลค่า 8.32 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 51.31 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ป่าไม้ ปริมาณการซื้อขาย 100,762 ตัน มูลค่า 51.32 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 509.34 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
การจัดการน้ำเสียอุตสาหกรรม ปริมาณการซื้อขาย 86,500 ตัน มูลค่า 4.44 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 51.42 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ทั้งนี้ จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่ามีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง 20,005,408 ตัน มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ถูกชดเชย 1,887,115 ตัน และมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่อยู่ในตลาด 18,118,293 ตัน
ทางด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ปัญหาด้านราคาการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่อาจส่งผลต่อการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตในไทย ดังนี้
1.มีความสมดุลของราคาต่ำ (Price Equilibrium) จากผลสำรวจพบว่ามีเพียง 20-25% ของผู้ซื้อและผู้ขายเท่านั้น ที่สามารถตกลงราคาที่ยินดีซื้อและยินดีขายได้ตรงกัน ที่ราคาระหว่าง 51-200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับตลาดภาคบังคับในต่างประเทศ
2.กลไกภาคสมัครใจ ด้วยรูปแบบตลาดคาร์บอนของประเทศไทยมีลักษณะเป็นกลไกภาคสมัครใจ ทำให้ผู้ซื้อมีเหตุผลที่จะซื้อต่ำ นอกจากทำเพื่อ CSR หรือ เป็นนโยบายภายในเท่านั้น คาร์บอนเครดิตที่ซื้อขายกันส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงมีราคาซื้อขายค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับตลาดที่เป็นภาคบังคับ (Compliance Market)
>>แล้วถ้าอยากให้ราคาคาร์บอนเครดิตขายได้แพงขึ้นต้องทำอย่างไร
ปัจจุบันผู้ขายไม่สามารถพึ่งพาความต้องการ (Demand) คาร์บอนเครดิตปริมาณมากจนกดดันให้ราคาขึ้นสูงได้ เนื่องจากการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยอยู่ในรูปแบบสมัครใจ ดังนั้น หากผู้พัฒนาโครงการอยากขายคาร์บอนเครดิตให้ได้ราคาที่สูงขึ้น อาจพิจารณาใช้ปัจจัยต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า ดังนี้
1.Co-Benefit ผู้พัฒนาโครงการอาจเลือกพัฒนาโครงการที่ผู้ซื้อให้ความสนใจและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ชุมชน เช่น ป่าไม้ การทำปุ๋ยหมัก การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะมูลฝอย ซึ่งปัจจุบันโครงการประเภทดังกล่าวก็มีราคาซื้อขายที่ราคาสูง
2.ช่วงเวลาของคาร์บอนเครดิตที่ได้รับรอง (Crediting Period) ปัจจุบันคาร์บอนเครดิตไม่มีอายุการใช้งานทำให้เกิดการบิดเบือนตลาด (Market Distortion) จาก 2 กรณี ได้แก่
(1) คนซื้อเลือกซื้อตุนเฉพาะที่ราคาถูก
(2) ผู้ขายไม่ยอมนำคาร์บอนเครดิตมาขายเพราะหวังให้ราคาสูงขึ้นจนปริมาณ supply ล้นตลาด
แต่ในอนาคตจะมีข้อกำหนดการใช้คาร์บอนเครดิตชดเชยในบางมาตรการ ที่อนุญาตใช้คาร์บอนเครดิตรุ่นใหม่เท่านั้น เช่น CORSIA เป็นต้น ดังนั้น การซื้อตุน หรือการสต๊อกคาร์บอนเครดิตไว้ชดเชยหรือขายในอนาคตจะทำได้ยาก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการซื้อขายเครดิตรุ่นปัจจุบันมากขึ้น
3.ประเภทโครงการควรเป็นที่ต้องการ การพัฒนาโครงการในประเภทที่ยังขาดแคลนส่งผลให้ราคาซื้อขายสูงขึ้นได้ตามหลักการ Demand-Supply เช่น โครงการประเภทดักจับหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกโดยใช้เทคโนโลยี เช่น Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS), Direct Air Capture (DAC) ซึ่งมีราคาสูงใกล้เคียงกับมาตรฐานอื่นในระดับโลก ตามความต้องการในหน่วยงานที่ตั้งเป้าหมาย Net Zero แต่ไม่สามารถลดการใช้ GHG เองได้
ท้ายที่สุด ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีบทบาทสำคัญในการผลักดันราคาคาร์บอนเครดิตสูงขึ้น ซึ่งอาจนำกลไกภาคบังคับมาใช้ เช่น ภาษีคาร์บอน ในรูปแบบที่อนุญาตให้สามารถใช้คาร์บอนเครดิตไปชดเชยได้ในช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งอาจจะช่วยกระตุ้นตลาดคาร์บอนเครดิตและราคาคาร์บอนเครดิตในประเทศให้สูงขึ้นได้ในอนาคต
ที่มา: Thansettakij / worldbank / ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
โฆษณา