18 ธ.ค. เวลา 14:27 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ความเห็นต่อข้อเสนอของ ดร.ศุภวุฒิ

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวบนเวทีเสวนา KTC FIT Talk 13 ‘โฟกัสเศรษฐกิจปี 2568: โอกาสและความท้าทาย’ โดยกล่าวถึงประเด็นเรื่องนโยบายการเงินว่า หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายนโยบายการเงินเชื่องช้าเกินไป ผลที่จะตามมาคือ กำลังซื้อในประเทศจะไม่แข็งแรงและเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นไปอีกได้ (ที่มา: The Standard Wealth 17 ธ.ค. 2567)
จากคำกล่าวของ ดร.ศุภวุฒิ ข้างต้น ผมเห็นด้วยกับ ดร.ศุภวุฒิ ในแง่ที่ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเชื่องช้าเกินไป แต่ไม่เห็นด้วยในประเด็นของผลที่จะตามมา ด้วยเหตุผลดังนี้
1. ถ้าผ่อนคลายนโยบายการเงินเชื่องช้าเกินไป กำลังซื้อในประเทศจะไม่แข็งแรง
ประเด็นนี้ไม่เห็นด้วยเพราะ นโยบายการเงินเป็นเพียงตัวช่วยกระตุ้นแค่ชั่วคราว แต่กำลังซื้อที่ยั่งยืนมาจากความสามารถในการผลิตของคนทำงานในระบบเศรษฐกิจ หากคนทำงานในระบบเศรษฐกิจมีความสามารถในการผลิตสูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ก็จะมีรายได้สูงขึ้น เมื่อมีรายได้สูงขึ้น กำลังซื้อก็จะมากขึ้น
การเพิ่มปริมาณเงินเข้าไปในระบบแต่เพียงอย่างเดียว แม้จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในระยะที่เงินเพิ่มเข้าไปได้ แต่หากความสามารถในการผลิตต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ในที่สุดก็จะไม่สามารถผลิตสินค้าหรือบริการที่เป็นที่ต้องการของชาวโลกได้มากเพียงพอ รายได้ก็จะไม่เพิ่มสูงขึ้นและไม่เพิ่มกำลังซื้อในระยะยาว
นอกจากนี้ หาก ดร.ศุภวุฒิ ให้ความสำคัญกับกำลังซื้อของผู้บริโภค การที่ ธปท. ยอมให้เงินบาทแข็ง ที่จริงก็ทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ การโฟกัสไปที่การลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อเพิ่มกำลังซื้อจึงไม่ใช่คำตอบเสมอไป
2. ถ้าผ่อนคลายนโยบายการเงินเชื่องช้าเกินไป เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นไปอีกได้
ไม่เห็นด้วยเพราะ ในสภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธปท. สามารถป้องกันค่าเงินแข็งโดยการนำบาทเข้าซื้อดอลลาร์ได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงิน และไม่ต้องกังวลเรื่องปริมาณเงินในระบบจะมากขึ้นจนไปกดดันต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินในต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
เพราะ ธปท. สามารถออกพันธบัตรดูดเงินออกจากระบบด้วยต้นทุนที่น้อยกว่ารายได้จากผลตอบแทนที่ได้จากการนำดอลลาร์ที่ได้จากการแทรกแซงไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน ซึ่งสร้างกำไรให้ ธปท. แทนที่จะทำให้เกิดการขาดทุนเหมือนกับกรณีการแทรกแซงค่าเงินไม่ให้อ่อนเมื่อปี 2540 หรือแทรกแซงเงินไม่ให้แข็งในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed
ที่จริง อัตราดอกเบี้ย หากเปรียบไปก็เหมือนกับวาล์วควบคุมปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นสิ่งที่เราควรกังวลมากกว่ากำลังซื้อคือ ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับปริมาณกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง เพราะเงินถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความคล่องตัว ถ้าปริมาณเงินมากเกินกว่าที่ปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะดูดซับได้ ระดับราคาก็จะสูงขึ้นเร็วกว่าที่ควร แต่ถ้าปริมาณเงินน้อยเกินกว่าที่ปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องการ ก็จะทำให้เศรษฐกิจฝืดเคืองและระดับราคาไม่สูงขึ้นหรือแม้แต่ต่ำลง
อย่างไรก็ตามเนื่องจากธุรกิจมีแรงจูงใจจากราคา ดังนั้นผู้บริหารปริมาณเงินในระบบจึงมักบริหารปริมาณเงินให้เกินความต้องการของระบบเศรษฐกิจอยู่เล็กน้อยเพื่อสร้างแรงจูงใจในการผลิตให้กับธุรกิจ และใช้ระดับราคาเป็นหนึ่งในมาตรวัดความเหมาะสมของปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา (วัดด้วย GDP)
นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเปิดในระดับสูง ดังนั้น ระดับราคาไม่ได้ขึ้นอยู่แต่เพียงปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใส่เข้าไป แต่ยังขึ้นอยู่กับราคาของสินค้าและบริการที่ประเทศไทยค้าขายกับโลกด้วย ด้วยเหตุนี้ หากราคาสินค้าและบริการของโลกสูงขึ้น ราคาในประเทศไทยก็สูงขึ้นด้วย เพื่อรักษาระดับราคาให้ไม่ผันผวนจนเกินไป ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีเครื่องมืออีกตัวหนึ่งคืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ
ภายใต้เงื่อนไข free flow of capital หรือเงินทุนไหลเข้าออกไปอย่างอิสระ และประเทศอยู่ในสถานการณ์ปกติไม่เกิดสัญญาณวิกฤตใดๆ ถ้าราคาสินค้าและบริการของโลกสูงขึ้น การคงอัตราดอกเบี้ยในประเทศให้สูงหรือไม่ต่ำลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นจะทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศ ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นและทำให้ระดับราคาสินค้าและบริการในประเทศไม่สูงขึ้นมาก และปริมาณเงินที่ไหลเข้ามาจากต่างประเทศจะชดเชยกับปริมาณเงินเดิมที่ถูกดูดออกไปจากระบบจากการที่อัตราดอกเบี้ยสูง
อย่างไรก็ตาม การไหลเข้าออกของเงินอาจเกิดจากการเก็งกำไร ประเทศที่ธนาคารกลางดำเนินนโยบายแบบ active อาจจะเข้าแทรกแซงค่าเงินหากเห็นว่าเกิดความผิดปกติของการไหลเข้าออก หากเห็นว่าการแทรกแซงไม่ส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ แต่ถ้าธนาคารกลางดำเนินนโยบายแบบ passive ก็จะไม่เข้าแทรกแซงมากไปกว่าการไม่ให้แกว่งตัวในแต่ละวันมากเกินไป ซึ่งที่จริง กรณีนี้อาจเกิดความเสียหายกับเศรษฐกิจหากการไหลเข้ามาทำให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นเร็วจนทำร้ายผู้ประกอบการที่เปราะบาง
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นผมจึงไม่เห็นด้วยกับการที่จะโฟกัสการใช้อัตราดอกเบี้ยไปเพียงเพื่อเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ
ผมมองว่าการแก้ปัญหาเรื่องกำลังซื้อโดยใช้นโยบายการเงินหรือการคลังนั้น เป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบกินยาแก้ปวดที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร่ำเรียนมา แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่สาเหตุครับ รัฐบาลยุคใหม่ควรเลิกการใช้นโยบายแบบนี้และหันไปสร้างประเทศให้เข้มแข็งในระยะยาวด้วยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลมากขึ้น พัฒนาศักยภาพของคนให้พร้อม สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในทุกด้านเพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างแข็งแรง และแทรกแซงเท่าที่จำเป็น มากกว่าการใช้ยาแก้ปวดไปเรื่อย ๆ แบบนี้
ในขณะที่ ธปท.เองก็อาจต้องหาทางดำเนินนโยบายที่ unconventional มากขึ้นเพื่อรับมือกับโลกที่ไม่ conventional เหมือนเดิม
โฆษณา