Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Health Story - เฮ้วนี้มีเรื่อง
•
ติดตาม
เมื่อวาน เวลา 14:39 • สุขภาพ
สรุปที่มากระแส "โนโรไวรัส" ถึงไทย ระบาดนับพัน แค่ปั่นข่าว
กลายเป็นกระแสตื่นตระหนกยกใหญ่ เมื่อมีพาดหัวข่าวทางสื่อออนไลน์บางสำนักออกมาว่า "เตือน โนโรไวรัส ถึงไทยแล้ว ระบาดหนัก เด็กนักเรียนติดเชื้อแล้วกว่า 1,400 ราย" แล้วกระแสข่าวนี้มีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร แล้วโนโรไวรัสน่ากังวลมากน้อยแค่ไหน "เฮ้วนี้มีเรื่อง" มีคำตอบ
1.ที่มากระแสปั่นข่าวโนโรไวรัส
- วันที่ 16 ธันวาคม 2567 กรมอนามัยออกข่าวประชาสัมพันธ์ส่งให้แก่สื่อมวลชน ภายใต้ชื่อของ นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย โดยมีเนื้อหาสรุปโดยย่อว่า
จากกรณีการระบาดของโรคอุจจาระร่วงของนักเรียนและครูบุคลากร 2 โรงเรียน ในอำเภอแกลง จังหวัดระยอง พบผู้ป่วยรวม 1,436 ราย เกิดจากการติดเชื้อโนโรไวรัสที่ปนเปื้อนมากับ “น้ำและน้ำแข็ง” ในช่วงสัปดาห์การจัดกิจกรรมกีฬาสี โดยเชื้อนี้มักจะแพร่ระบาดในกลุ่มเด็ก โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว พบบ่อยตามโรงเรียน ภัตตาคาร โรงพยาบาล สถานที่เลี้ยงเด็ก รถหรือเรือท่องเที่ยว พร้อมให้คำแนะนำป้องกันตนเองและสำหรับสถานประกอบกิจการ
- สื่อมวลชนมีการนำข่าวนี้ไปนำเสนอ โดยสื่อออนไลน์บางแห่งบางสำนัก มีการพาดหัวในลักษณะที่เรียกยอดวิว โดยมีการใช้คำว่า "โนโรไวรัส" ถึงไทยแล้ว ระบาดหนักเด็กนักเรียนติดเชื้อแล้วกว่า 1,400 ราย ทำให้เกิดการแชร์และสร้างความวิตกกังวลให้แก่ผู้คนจำนวนมาก
- ต่อมามีผู้เชี่ยวชาญบางท่านออกมาให้ความรู้ว่า โนโรไวรัสไม่ใช่โรคใหม่ มีระบาดในไทยและในจีนทุกปี (ไม่ต้องปั่นข่าวให้แตกตื่นกันครับ)
- ล่าสุด ช่วงค่ำวันที่ 18 ธันวาคม 2567 กรมอนามัยในฐานะต้นข่าว ได้ส่งข้อความในไลน์กรุ๊ปให้แก่สื่อมวลชนว่า ขอยกเลิกข่าวกรมอนามัย แนะมาตรการป้องกันโรคโนโรไวรัส หวั่นระบาดช่วงเทศกาล เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 เนื่องจากมีข้อมูลคลาดเคลื่อน และมีเพจปลอมจำนวนมาก บิดเบือนข้อมูล เพื่อนำไปเรียกยอด Like กรมอนามัย จึงขอยกเลิกข่าวดังกล่าว และชี้แจงมา ณ ที่นี้
2.ความรับผิดชอบของคนทำสื่อ
หากเป็นนักข่าวด้านสาธารณสุข จะทราบกันดีว่า "โนโรไวรัส" ไม่ใช่เชื้อไวรัสตัวใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นเชื้อไวรัสที่มีอยู่ในประเทศไทยมานานมากแล้ว และถ้ายังจำกันได้ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2567 มีกระแสข่าวเด็กนักเรียน 2 โรงเรียนจากจังหวัดระยองป่วยท้องเสีย อุจจาระร่วงจำนวนมาก ซึ่งผลการสอบสวนโรคก็ออกมาว่า มาจากเชื้อโนโรไวรัสปนเปื้อนในน้ำและน้ำแข็ง
จากกรณีดังกล่าวก็เป็นการสะท้อนชัดเจนอยู่แล้วว่า เชื้อไวรัสก่อโรคนี้เป็นเชื้อโรคที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย เรียกได้ว่าเป้นโรคประจำถิ่นในบ้านเราก็ว่าได้ ไม่ใช่เชื้อไวรัสใหม่แต่อย่างใด
การที่สื่อหรือคนทำสื่อ พาดหัวปั่นข่าวเรียกยอดเช่นนี้ สะท้อนถึงความไม่รับผิดชอบต่อกระแสสังคม ทั้งที่สามารถสื่อสารในมุมที่สร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนได้ อย่างเรื่องของช่วงปีใหม่มีความเสี่ยงที่ไวรัสนี้จะระบาดในเด็กได้จากปัจจัยเสี่ยง สถานที่เสี่ยงใดบ้าง และควรระมัดระวังตัวอย่างไร
3.ข้อเท็จจริงโรคอุจจาระร่วงและโนโรไวรัส
- สถานการณ์โรคอุจจาระร่วง
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2567 พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ และ นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข่าว "ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ปลอดโรคและภัยสุขภาพ" โดยระบุถึงสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน/อาหารเป็นพิษในประเทศไทยในปี 2566 มีผู้ป่วย 689,954 ราย เสียชีวิต 2 ราย ปี 2567 มีผู้ป่วย 742,697 ราย เสียชีวิต 2 ราย ข้อมูลจากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด กรมควบคุมโรค พบรายงานการระบาดเป็นกลุ่มก้อนการระบาดเพิ่มขึ้น
นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ / พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์
เชื้อก่อโรคที่ตรวจพบส่วนใหญ่ มีการตรวจพบเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา สูงสุด จำนวน 24 เหตุการณ์ คิดเป็น 28.2% รองลงมา เชื้อแบคทีเรีย เอสเชอริเชีย โคไล จำนวน 20 เหตุการณ์ 23.5 % ,แบคทีเรียบาซิลลัส ซีเรียส จำนวน 17 เหตุการณ์ 20 % ,โนไรไวรัส จำนวน 17 เหตุการณ์ 20 % และแบคทีเรียแคมไพโลแบคเตอร์ จำนวน 6 เหตุการณ์ 7.1 % และมีเหตุการณ์ที่ไม่สามารถระบุเชื้อก่อโรคได้ จำนวน 29 เหตุการณ์ คิดเป็น 34.1%
จากผลการดำเนินงานเฝ้าระวังเฉพาะเชื้อไวรัสก่อโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Lab Surveillance) ที่พบมากที่สุด คือ โรตาไวรัส 44.9 % รองลงมา คือ โนโรไวรัส จี 2 (Norovirus GII) 33.4% และซาโปไวรัส (Sapovirus) 7.1 %
ในส่วนของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน/อาหารเป็นพิษจากเชื้อโนโรไวรัส ตั้งแต่ปี 2561-2567 มีผู้ป่วยตรวจพบเชื้อ โนไรไวรัส จี 1 และ จี 2 จำนวน 729 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 0-4 ปี 21.6 % รองลงมา คือ 15-24 ปี 20.9 % และ 5-9 ปี 20.5%
- ข้อมูลทั่วไปของโนโรไวรัส
โนโรไวรัส เป็นไวรัสที่ติดต่อได้ง่าย มีความทนทานต่อความร้อน และน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ดี โดยทำให้เกิดโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบเฉียบพลันที่รุนแรงได้ในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าวัยอื่น คนส่วนใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคโนโรไวรัสจะหายดีภายใน 1 - 3 วัน แต่ยังคงสามารถแพร่เชื้อไวรัสต่อได้ อีก 2 – 3 วัน
โนโรไวรัสมักตรวจพบมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากสภาวะอากาศที่เย็น ทำให้ เชื้อสามารถเจริญได้ดี ส่งผลให้อาหารและน้ำดื่มมีโอกาสปนเปื้อน ดังนั้น ในช่วงฤดูหนำว มีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสเพิ่มมากขึ้นได้
การติดต่อ คือ การสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัส ,การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนโนโรไวรัส ,การสัมผัสวัตถุหรือพื้นผิวที่มีการปนเปื้อนแล้วนำนิ้วที่ไม่ได้ล้างเข้าปากระยะฟักตัว ประมาณ 12 – 48 ชั่วโมง
อาการของโนโรไวรัส คือ มีอาการท้องเสีย อาเจียน คลื่นไส้ ปวดท้อง ร่วมกับมีอาการอื่นๆ ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว
การรักษา ไม่มียารักษาเฉพาะ เป็นการรักษาตามอาการ ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อทดแทน ของเหลวที่สูญเสียไปจากการอาเจียนและท้องเสีย ซึ่งจะช่วยป้องกันการขาดน้ำ
การป้องกันโนโรไวรัส ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด อย่างน้อย 20 วินาที เป็นวิธีที่ดีที่สุด เนื่องจากแอลกอฮอล์ ไม่สามารถฆ่าเชื้อโนโรไวรัสได้ โดยล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำก่อนและหลังรับประทานอาหาร หรือประกอบอาหาร รับประทานอาหารปรุงสุก หากเป็นอาหารค้างมื้อ ควรอุ่นอาหารให้ร้อนจัดก่อนรับประทานทุกครั้ง ล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน ทำความสะอาดพื้นผิวด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมคลอรีน เด็กที่ป่วยด้วยโนโรไวรัสควรหยุดเรียนเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
ขณะที่กรมอนามัยออกคำเตือนข่าวปลอมโนโรไวรัสถึงไทย และให้คำแนะนำการป้องกันตนเอง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุที่มีภูมิต้านทานต่ำ ดังนี้
1) รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง
2) ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด
3) ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ก่อนและหลังทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
4) หลีกเลี่ยงดื่มน้ำที่ไม่สะอาด และหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำที่ไม่สะอาด
ส่วนหน่วยงานและสถานประกอบกิจการควรมีมาตรการควบคุมป้องกัน ดังนี้
1) การเติมคลอรีนในถังพักน้ำดื่มและน้ำใช้
2) การตรวจประเมินคุณภาพน้ำใช้ น้ำดื่มอย่างต่อเนื่อง
3) จัดให้มีจุดล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ที่เพียงพอ
4) การให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพและส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยส่วนบุคคลที่ดีสำหรับการป้องกันโรค
พร้อมยังเน้นย้ำว่า กรณีพบผู้ป่วยยังไม่พบอาการรุนแรง และเสียชีวิต ดังนั้น การที่สื่อออนไลน์ นำเพียงจำนวนตัวเลขการพบอาการอุจจาระร่วงในนักเรียนมาเผยแพร่ และให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ส่งผลให้ประชาชนเข้าใจผิดและหวาดกลัว โดยขาดข้อแนะนำและวิธีดูแลสุขภาพตนเอง ซึ่งเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) สามารถป้องกันได้ด้วยข้อแนะนำข้างต้น กรมอนามัย จึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว รวมทั้งหาข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานภาครัฐที่น่าเชื่อถือ
ข่าว
สุขภาพ
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย