19 ธ.ค. เวลา 05:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

SCB EIC มองว่า กนง. ยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยอีกครั้งในปีหน้า

กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.25% ตามที่ SCB EIC มองไว้ โดย กนง. เห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อยังเป็นไปตามที่ประเมินไว้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ขยายตัวใกล้เคียงระดับศักยภาพ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ขอบล่างของกรอบเป้าหมาย การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมถึงเป็นการรักษา Policy space เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก
สำหรับมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ กนง. คงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 2.7%YOY และ 2.9%YOY ในปี 2024 และ 2025 ตามลำดับ แต่มองว่าความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจัยภายนอก ทั้งการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นและความไม่แน่นอนของแนวนโยบายประเทศเศรษฐกิจหลัก ขณะที่ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ โดยประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 0.4% และ 1.1% ในปี 2024 และ 2025 ตามลำดับ ลดลงเล็กน้อยจากประมาณการเดิม ณ เดือนตุลาคมที่ 0.5% และ 1.2%
SCB EIC มองว่าการสื่อสารของ กนง. ครั้งนี้ Hawkish ขึ้นพอสมควรเทียบกับการประชุมครั้งก่อน โดย กนง. ไม่ได้สื่อสารถึงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวม และประเมินว่าปัญหาของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ได้มาจากปัจจัยเชิงวัฏจักร
แต่มาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กระทบบางภาคส่วนของเศรษฐกิจ เช่น SMEs และภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่มที่เผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้น อาทิ กลุ่มยานยนต์
นอกจากนี้ กนง. ไม่ได้แสดงความกังวลมากนักต่อภาวะสินเชื่อที่ชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา โดยประเมินว่าสาเหตุหลักของการชะลอตัวมาจาก (1) การชำระคืนสินเชื่อจากธุรกิจที่ฟื้นตัวได้ดี เช่น ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ และภาคการค้า (ธุรกิจขนาดใหญ่) และ (2) ความต้องการสินเชื่อธุรกิจชะลอลงจากกลุ่มธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าหรือฟื้นตัวไม่เต็มที่ เช่น SMEs ในภาคการค้า ธุรกิจอสังหาฯ ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจยานยนต์ อีกทั้ง กนง. ยังประเมินว่าเศรษฐกิจในภาพรวมมีแนวโน้ม
จะขยายตัวได้ แม้สินเชื่อธุรกิจชะลอลง
ทั้งนี้ SCB EIC ตั้งข้อสังเกตว่า ในการประชุมครั้งนี้ กนง. ไม่ได้สื่อสารถึงกระบวนการ Debt deleveraging และความเปราะบางในภาคครัวเรือนมากนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ ธปท. ได้สื่อสารแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในการแถลงข่าวโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ไปแล้วในช่วงก่อนหน้า
อ่านบทวิเคราะห์ฉบับออนไลน์ได้ที่…
นำเสนอบทวิเคราะห์
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
โฆษณา