19 ธ.ค. เวลา 04:01 • ธุรกิจ

ยาหม่องตราเสือ กับ ธนาคาร UOB มีเจ้าของคนเดียวกัน

ยาหม่องตราเสือ (Tiger Balm) ของฝากสุดฮิตของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวไทย
ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่า จริง ๆ แล้ว ยาหม่องตราเสือ ไม่ใช่แบรนด์ของไทย..
แต่เป็นแบรนด์ ที่มีประวัติยาวนานหลายร้อยปี
ที่ก่อตั้งโดยคนจีนอพยพ ที่ไปปั้นแบรนด์ในประเทศพม่า ก่อนที่แบรนด์จะไปเติบโตที่สิงคโปร์
และรู้ไหมว่า ยาหม่องตราเสือ ยังมีความเกี่ยวข้องกับธนาคาร UOB (United Overseas Bank) ธนาคารที่ใหญ่เบอร์ต้น ๆ ของสิงคโปร์อีกด้วย
ที่มาที่ไปของ ยาหม่องตราเสือ เป็นอย่างไร ?
มาเกี่ยวอะไรกับธนาคาร UOB ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ยาหม่องตราเสือ ก่อตั้งโดยแพทย์สมุนไพรประจำราชสำนักขององค์พระจักรพรรดิจีน ที่ชื่อว่า โอ ชู กิง หรือ หู่ จื่อ ซิน
ก่อนที่ในช่วงปี 1850 สมัยกบฏไท่ผิง ได้เกิดสงครามกลางเมืองภายในประเทศ และความอดอยาก
โอ ชู กิง จึงลี้ภัยมายังพม่า ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้อาณัติของอังกฤษ
โดยเขาได้นำความรู้ทางการแพทย์มาพัฒนายาหม่อง เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดเมื่อยล้าของร่างกาย และเปิดร้านขายยาเล็ก ๆ ในเมืองย่างกุ้ง ชื่อว่า อัง เอิน ตง
ต่อมาเมื่อโอ ชู กิง ถึงแก่กรรม บุตรชายทั้งสองคน คือ โอว บุ้น โฮ้ว (แปลว่า เสือลายพาดกลอน) และ โอว บุ้น ป่า (แปลว่า เสือดาว) จึงเข้ามารับช่วงต่อกิจการ
ทั้งยังปรับสูตรยาหม่องให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
จนเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า บอกกันปากต่อปากออกไป
จนยาหม่องที่ทั้งสองคนร่วมกันพัฒนาขึ้นนี้ กลายเป็นผลิตภัณฑ์แชมเปียนของร้าน
พอได้รับความนิยมมากแบบนี้แล้ว จึงได้ขยายมาเป็นโรงงาน พร้อมติดต่อชักชวนร้านในเมืองอื่น ๆ ของชาวจีนด้วยกัน ให้ร่วมขายยาหม่องด้วย
ต่อมาในปี 1909 ทั้งคู่ก็ได้เริ่มคิดสร้างเครื่องหมายการค้าชื่อ ไทเกอร์ บาล์ม หรือ ตราเสือ ซึ่งก็มาจากชื่อของทั้งสองคนนั่นเอง
ความสำเร็จยังไม่หยุดแค่นั้น..
โอว บุ้น โฮ้ว ได้เริ่มเดินทางลงใต้ขยายตลาดเพิ่มเติมมายังในแถบมลายูและสิงคโปร์
ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกลของสองพี่น้องตระกูลโอว
ที่เห็นความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจสิงคโปร์ ที่มีบรรยากาศการค้าขายที่คึกคัก ด้วยความเป็นเมืองท่า ในขณะนั้น
เขาจึงย้ายถิ่นฐานไปสิงคโปร์ในปี 1926 และโรงงานที่ใหญ่และทันสมัยกว่าเดิม ก็ถูกสร้างขึ้น โดยมีกำลังการผลิตมากกว่าที่ย่างกุ้งถึงสิบเท่า
แถมยังขยายธุรกิจยาหม่องออกไปอีกหลายประเทศ
โดยมีโรงงานและตัวแทนจำหน่ายถาวร ทั้งในพื้นที่คาบสมุทรมลายู ฮ่องกง อินโดนีเซีย จีน และไทย
รวมถึงยังขยายไปยังธุรกิจอื่น ๆ อีกมากมาย อย่างเช่น หนังสือพิมพ์, ธนาคาร Chung Khiaw Bank
ซึ่งธุรกิจของตระกูลโอวต่าง ๆ จะอยู่ภายใต้บริษัทโฮลดิงที่ชื่อว่า Haw Par Brothers International ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์
4
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือปี 1971 และถือเป็นจุดจบธุรกิจครอบครัว..
โดยทางครอบครัวโอวได้เกิดมีปัญหาภายในขึ้น
จนเป็นเหตุให้ต้องขายหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท ให้กับ Slater Walker Securities บริษัทการเงินจากอังกฤษ
1
และต่อมาเมื่อ Slater Walker Securities ประสบปัญหาทางการเงิน
ทำให้ต้องขายสินทรัพย์บางส่วนเพื่อรักษาสภาพคล่อง
ก่อนที่สุดท้าย ในปี 1978 จะเป็นกลุ่มทุนของ Wee Cho Yaw ซึ่งเป็นลูกชายของ Wee Khiang Cheng หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งธนาคาร United Overseas Bank (UOB) เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
2
พร้อมทั้งหลังจากเข้าซื้อกิจการ Haw Par Brothers International ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Haw Par Corporation
และกลายเป็นธุรกิจในเครือของตระกูล Wee ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคาร UOB มาจนถึงทุกวันนี้
โดยปัจจุบันมี Wee Investments บริหารสินทรัพย์และการลงทุนของครอบครัว Wee ที่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของบริษัทเจ้าของยาหม่องตราเสือแห่งนี้
รวมถึงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคาร UOB อีกด้วย
2
ทั้งนี้ ครอบครัว Wee
- ถือหุ้นในธนาคาร UOB คิดเป็นสัดส่วน 10.15% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด มากเป็นอันดับ 1
- ถือหุ้นใน Haw Par Corporation คิดเป็นสัดส่วน 33.88% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด มากเป็นอันดับ 1
1
ปัจจุบัน Haw Par Corporation ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ มีมูลค่าบริษัทกว่า 64,000 ล้านบาท
สำหรับผลประกอบการที่ผ่านมาของ Haw Par Corporation
ปี 2021
รายได้ 3,530 ล้านบาท กำไร 2,753 ล้านบาท
ปี 2022
รายได้ 4,552 ล้านบาท กำไร 3,708 ล้านบาท
ปี 2023
รายได้ 5,802 ล้านบาท กำไร 5,414 ล้านบาท
โดยหลักรายได้จะมาจาก กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ อย่างเช่น ยาหม่อง, ยาดม, ปลาสเตอร์บรรเทาปวด และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ภายใต้แบรนด์ตราเสือ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สร้างกระแสเงินสดเป็นหลัก
ให้กับบริษัทคือเงินปันผล โดยมาจากการที่นำเงินไปลงทุนในบริษัทอื่น ๆ ที่มีมูลค่ารวมกันถึง 65,900 ล้านบาท
ซึ่งเงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนในหุ้นธนาคาร UOB
โดย Haw Par Corporation ถือหุ้น UOB อยู่ในสัดส่วน 2.79% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
และ UOL (United Overseas Land) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของสิงคโปร์
โดยปีที่แล้ว UOB และ UOL จ่ายปันผลให้กับ Haw Par Corporation รวมกันคิดเป็นเม็ดเงินกว่า 2,600 ล้านบาทเลยทีเดียว..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อหุ้นตัวนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
References
-รายงานประจำปีของบริษัท ปี 2023
โฆษณา