ในช่วงที่ผ่านมา เรามักได้ยินคำที่ว่า "หลายภาคส่วนในไทยกำลังเร่งนำ AI มาประยุกต์ใช้ในงาน" แต่คำถามที่น่าสนใจกว่าคือ สิ่งนี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่? และแรงงานไทยในปัจจุบันมีทักษะในการใช้งาน AI มากน้อย แค่ไหน?
วันนี้เราจะพาทุกคนไปสำรวจสถิติและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการนำ AI มาใช้งาน รวมถึงทักษะการใช้งาน AI ของแรงงานไทยในปัจจุบัน จากดร.การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่อนาคตศาสตร์ FutureTales LAB by MQDC ที่ได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้จากงานวิจัยของ FutureTals Lab ในงาน The Standard: Economic forum 2024 “Brave New World” ในหัวข้อ "AI Upskill: Preparing the Workforce for Tomorrow ปัญญาประดิษฐ์พลิกแรงงานสู่อนาคต"
ในยุคที่ AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อทุกภาคส่วนของสังคม ความตื่นตัวในการนำ AI ไปปรับใช้ในองค์กรของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนจากสถิติที่แสดงในปี 2024 โดยวัตถุประสงค์หลักในการนำ AI ไปใช้ก็คือเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในองค์กร เพื่อเข้าถึงลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น และเพื่อสร้างมูลค่าใหม่
ในขณะเดียวกัน สำหรับองค์กรที่มีความตื่นตัว แต่ยังไม่สามารถที่จะนำ AI ไปปรับใช้ได้ เนื่องมาจาก นโยบายองค์กรยังไม่ชัดเจน พนักงานยังไม่มีความพร้อม และปัญหาในเรื่องของงบประมาณ
Microsoft และ LinkedIn ได้ทำสำรวจมุมมองของนายจ้าง ในเรื่อง "ความต้องการในการจ้างงาน สำหรับพนักงานที่ไม่มีความรู้ในเรื่อง AI แต่มีประสบการณ์ในการทำงาน" ผลปรากฎว่า 90% ขององค์กรในประเทศไทยมองว่า ทักษะด้าน AI คือสิ่งที่องค์กรต้องการมากกว่าประสบการณ์ เนื่องจากประสบการณ์คือสิ่งที่องค์กรสามารถสร้างขึ้นได้ทีหลัง และองค์กรในประเทศไทย ให้ความสำคัญในเรื่องนี้สูงกว่าเฉลี่ยของประเทศต่างๆทั่วโลก
แต่หากมาดูให้ลึกลงไปในรายละเอียด และความสามารถในการใช้งาน AI สำหรับแรงงานไทย กลับพบว่า แม้ว่ากว่า 90%* ของพนักงานในไทยจะใช้ AI ในการทำงาน แต่กลับมีเพียงไม่ถึง 30% ที่สามารถใช้งาน AI ได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของพนักงานในองค์กรอื่นๆทั่วโลก ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่า เราสามารถใช้งาน AI พื้นฐานได้ แต่ยังไม่สามารถใช้งานเชิงลึกเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะอย่างที่มีนัยยะสำคัญได้
อีกทั้งการใช้งาน AI ในปัจจุบัน ไม่ได้อยู่แค่พนักงานออฟฟิศเท่านั้น แต่ยังกระจายไปตามกลุ่ม หรือ segment ต่างๆ ซึ่ง segment ที่แตกต่างกัน ก็จะมีวิธีการ และปัญหาในการใช้งานก็จะแตกต่างกัน เช่นปัญหาการเข้าถึงการใช้งาน และเทคโนโลยีของผู้สูงอายุ ที่เป็นกลุ่มแรงงานที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก หรือปัญหาการแข่งขันและความรับผิดชอบในการใช้งาน AI ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี และเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพ สำหรับภาค SME และภาคการเกษตร