วันนี้ เวลา 06:50 • ข่าว

เปิดผลสอบแม่พาลูกตระเวนรับยาพ่นจมูกมาขาย

พบรับยาถี่ผิดปกติ ลงบันทึกประจำวันแล้ว
สปสช.แจ้งตำรวจแล้ว หลังพบเคสแม่หัวหมอ พาลูกตระเวนรับยาพ่นภูมิแพ้มาขายต่อ เหตุทำกองทุนเสียหาย เผยผลตรวจสอบเบื้องต้น รับยาถี่ผิดปกติจริง เร่งเช็กเชิงลึกรับที่เดัยวหรือหลายที่
จากที่มีข้อมูลเผยแพร่ในสื่อโซเชียลมีเดีย กรณีมีคุณแม่นำยาพ่นเพื่อบรรเทาอาการภูมิแพ้และคัดจมูก ซึ่งได้รับจากการพาลูกเข้ารับการรักษาใน รพ.และนำมาขายทางออนไลน์ โดยระบุใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่
เรื่องนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ได้ออกมาระบุเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า จะมีการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ให้สัมภาษณ์ ว่า เป็นเรื่องของระบบ สปสช.ที่สามารถตรวจสอบได้ ที่ผ่านมาได้มีการตรวจสอบ ลงโทษหรือดำเนินคดีบางรายแล้ว ส่วนเรื่องการตรวจสอบระบบไอทีจะต้องทำให้เข้มงวดขึ้น ไม่ให้มีอะไรที่ผิดพลาดออกมา
"ส่วนกรณีนี้กำลังรวบรวมข้อมูลทั้งหมด คงไม่มีปัญหาอะไร ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่สามารถป้องกันได้"
เมื่อถามต่อว่า มีช่องโหว่อะไรที่ทำให้เกิดการตระเวนไปตาม รพ.เพื่อนำยาออกมาขายได้ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมาก ใน 1 ปี มีผู้ป่วยมา รพ. 304 ล้านคน/ครั้ง/ปี มุ่งเน้นการรักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วยทั้งประเทศ
สธ. กำลังทำนโยบายลดการป่วยให้น้อยลง บุคลากรในส่วนของ สปสช.ที่ทำอยู่งานก็หนัก แต่เมื่อลดผู้ป่วยน้อยลง การใช้จ่ายก็น้อยลง ก็จะมีเวลาตรวจสอบได้ถี่ถ้วนมากขึ้น ไม่ใช่ไม่ได้ดูรายละเอียด แต่มีคนไข้มาก จึงมีหน้าที่ลดคนป่วยโดยการป้องกันก็ทำมา 2 เดือนแล้วในปีงบประมาณ 2568
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. ให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบเป็นการไปรับยาในความถี่ที่แปลกๆ ผิดปกติจริง จึงได้มอบหมายให้ สปสช.เขตที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบรายละเอียดว่าเป็นการไปรับยาที่หน่วยบริการหน่วยเดียวหรือหลายๆ หน่วยบริการ และให้ สปสช.เขตไปลงบันทึกประจำวันไว้ก่อน
ถามถึงการเอาผิดกับผู้กระทำลักษณะเช่นนี้ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ตามหลักกฎหมาย ต้องพิจารณาว่าใครเป็นผู้เสียหาย เบื้องต้นสปสช.ลงบันทึกประจำวันไว้ก่อน เพราะในภาพใหญ่กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ได้รับความเสียหาย เนื่องจากเงินทั้งหมดเป็นงบประมาณแผ่นดิน
เงินทั้งหมดมีไว้เพื่อจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลแทนประชาชน เมื่อประชาชนที่มีสิทธิบัตรทอง 30 บาทป่วยก็จะได้รับบริการ โดยใช้งบประมาจากกองทุนฯ จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลแทนประชาชน
ดังนั้น หากมีการรับยาถี่เกินไป ซึ่งดูจากพฤติกรรมแล้วมักจะไปในคลินิกหรือห้องฉุกเฉินนอกเวลาราชการที่มีความเร่งด่วน และเห็นใจแพทย์พยาบาลที่ห้องฉุกเฉินที่จะต้องเอาเวลาส่วนหนึ่งมาดูผู้ป่วย และบังเอิญช่วงนั้นมีคนไข้ที่ฉุกเฉินกว่าเข้าไป ยิ่งทำให้การตรวจสอบน้อย กรณีเช่นนี้ก็ว่าตามกฎหมาย
ส่วนจะสามารถเอาผิดไปถึงคนที่มีพฤติการณ์แบบนี้หรือไม่ เบื้องต้นหลักการใหญ่ๆเอาผิดแน่ๆ ส่วนจะไปถึงตรงไหนก็จะต้องเป็นเรื่องตามกฎหมาย ซึ่งการเจอการกระทำความผิดเช่นนี้ตรวจสอบเจอเมื่อ 10 ปีก่อนโดยนำข้อมูลมาดูว่ามีการใช้บริการที่ผิดปกติ มี 1 ราย หลังจากนั้นก็ไม่เจออีก จนมาปรากฏกรณีนี้
สำหรับระบบป้องกัน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า กรณีนี้เป็นการเบิกจ่ายจากงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งสปสช.ได้มีการโอนงบประมาณไปให้หน่วยบริการแล้ว เมื่อโอนขาดไปแล้วในส่วนของ สปสช.จึงมีการมอนิเตอร์ในภาพใหญ่เรื่องของการรับบริการในภาพใหญ่เป็นอย่างไร
"มีการไปรับซ้ำ หรือในความถี่ที่ผิดปกติหรือไม่ ถ้าเจอมีการรับบริการในความถี่ผิดปกติจึงลงไปดูในรายละเอียดว่าไปรับซ้ำ รับถี่เกินไปหรือไม่ เป็นการมอนิเตอร์ในภาพกว้าง" ทพ.อรรถพรกล่าว
โฆษณา