Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Praram 9 Hospital
•
ติดตาม
19 ธ.ค. เวลา 07:07 • สุขภาพ
โรงพยาบาลพระรามเก้า
โรคประสาทไขสันหลังอักเสบ โรคอันตรายและรุนแรงที่ควรรู้
โรคประสาทไขสันหลังอักเสบ (Transverse Myelitis) เป็นโรคทางระบบประสาทที่มีความอันตรายและรุนแรง เกิดจากการอักเสบของไขสันหลังซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกาย การรับรู้ความรู้สึก และควบคุมระบบขับถ่าย หากไม่ได้รับรักษาที่เหมาะสมอาจนำไปสู่ภาวะทุพพลภาพอย่างถาวร และอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
■
อาการของโรค
โรคประสาทไขสันหลังอักเสบสามารถแสดงอาการได้ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรง ซึ่งในบางครั้งการดำเนินโรคอาจรุนแรงและแย่ลงได้อย่างรวดเร็วขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่:
- อาการปวดเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหลังหรือปวดร้าวตามแนวประสาทแขนขา ซึ่งเป็นอาการแรกเริ่มของโรคได้ จึงทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วไป
- ความผิดปกติของประสาทรับความรู้สึก มักมีอาการชาหรือสูญเสียความรู้สึกบริเวณแขน ขา หรือลำตัว บางครั้งอาจมีรู้สึกเจ็บแปลบเหมือนไฟฟ้าชอร์ต หรือปวดแสบปวดร้อนร่วมด้วย
- ความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยอาจมีกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณแขน ขา หรือเกิดอัมพาตบางส่วน ส่งผลให้ทรงตัวลำบากหรือเดินไม่ได้ บางครั้งอาจส่งผลทำให้กล้ามเนื้อการหายใจเป็นอัมพาตทำให้มีการหายใจลำบากหรือเกิดภาวะการหายใจล้มเหลวได้
- ระบบขับถ่ายผิดปกติ ผู้ป่วยมักมีภาวะกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะไม่ออก
นอกจากนี้อาจพบการอักเสบของเส้นประสาทตาหรือสมองร่วมด้วย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติของสายตาและการมองเห็นได้
■
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรค
ประสาทไขสันหลังอักเสบ สามารถเกิดจากหลายสาเหตุ โดยมีสาเหตุสำคัญ ได้แก่:
- การติดเชื้อ: ได้แก่ ไวรัสเริม (Herpes), ไวรัสไข้หวัดใหญ่ หรือแม้กระทั่ง COVID-19 หรือ แบคทีเรียบางชนิด เช่น วัณโรค และ ซิฟิลิส
- โรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ: เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) หรือโรค NMO (Neuromyelitis Optica)
- ภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดวัคซีนบางชนิด ซึ่งพบได้น้อยมาก
- การบาดเจ็บที่ไขสันหลัง เช่น การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เป็นต้น
นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว ยังมีภาวะผิดปกติของประสาทไขสันหลังอื่น ๆ อีกหลายโรคที่อาจแสดงอาการคล้ายกับโรคไขสันหลังอักเสบได้ ยกตัวอย่างเช่น ภาวะไขสันหลังถูกกดทับจากกระดูกเสื่อมหรือเนื้องอก (compressive myelopathy) ภาวะโพรงน้ำในไขสันหลัง (syringohydromyelia) ภาวะหลอดเลือดดำผิดปกติในโพรงไขสันหลัง (spinal dural arteriovenous fistula) หรือแม้กระทั่งโรคเส้นประสาทอักเสบเฉียบพลัน (Guillain-Barre syndrome) ซึ่งมีความแตกต่างในแง่ของการรักษาอย่างสิ้นเชิง
ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะไขสันหลังอักเสบได้เช่นกัน ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง(Autoimmune disease) หรือ มีประวัติการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่รุนแรง เป็นต้น
■
การวินิจฉัยโรค
การวินิจฉัยประสาทไขสันหลังอักเสบต้องอาศัยการตรวจร่างกายโดยประสาทแพทย์อย่างละเอียด ร่วมกับการใช้เครื่องมือช่วยตรวจวินิจฉัยได้แก่
- การตรวจ MRI: เพื่อตรวจหาการอักเสบหรือความผิดปกติของไขสันหลัง
- การเจาะน้ำไขสันหลัง: เพื่อวิเคราะห์การอักเสบและตรวจหาการติดเชื้อในน้ำไขสันหลัง
- การตรวจเลือด: เพื่อตรวจหาโรคภูมิคุ้มกันผิดปกติและประเมินความรุนแรงของการอักเสบ
■
การรักษาโรคประสาทไขสันหลังอักเสบ
การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรง โดยแบ่งได้ดังนี้:
1. การรักษาในระยะเฉียบพลัน
การให้ยาสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบของไขสันหลัง
การกรองน้ำเหลือง(Plasmapheresis) หรือ ให้ยาปรับภูมิคุ้มกัน IVIG ซึ่งจะใช้ในกรณีที่การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ไม่ได้ผล และมีอาการรุนแรง
ยาต้านไวรัสหรือยาปฏิชีวนะ สำหรับในรายที่มีการติดเชื้อที่จำเพาะ
2. การรักษาในระยะฟื้นฟู
ในระยะนี้ผู้ป่วยมักมีอาการหรือความพิการหลงเหลือจึงจำเป็นต้องได้รับการกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันใกล้เคียงปกติมากที่สุด โดยจำเป็นต้องได้รับการดูแลดังนี้
- การกายภาพบำบัด: ช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อและความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกาย
- การทำกิจกรรมบำบัด: เพื่อปรับตัวให้กลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้ใกล้เคียงปกติ
- การดูแลอาการร่วมอื่น ๆ เช่น การให้ยาแก้ปวดเพื่อลดความเจ็บปวดจากอาการประสาทอักเสบ การดูแลระบบขับถ่าย เช่น การใช้สายสวนปัสสาวะ ในกรณีที่ไม่สามารถคุมควบการขับถ่ายได้เอง
- ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันต่อเนื่องเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคในอนาคต
■
การป้องกัน
โรคไขสันหลังอักเสบแม้จะป้องกันได้ยากในบางกรณี แต่การดูแลสุขภาพโดยรวมสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้ เช่น
- การรักษาสุขอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ
- การฉีดวัคซีนตามช่วงวัย ตามคำแนะนำของแพทย์
- รักษาโรคประจำตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
จะเห็นได้ว่าโรคประสาทไขสันหลังอักเสบเป็นภาวะที่มีอันตรายและมีความรุนแรงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะถ้าหากได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ล่าช้า อาจส่งผลให้มีความพิการและทุพพลภาพตลอดชีวิต หรือแม้กระทั่งอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นการหมั่นสังเกตตนเองเป็นประจำนั้นมีความสำคัญมาก และหากมีความผิดปกติของร่างกายที่อาจเป็นอาการเตือนเริ่มต้นของภาวะดังกล่าว เช่น มีอาการปวดร้าว อาการชา หรือ อาการอ่อนแรง แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจวินิฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
นพ.สิทธิ เพชรรัชตะชาติ
#โรงพยาบาลพระรามเก้า
#Praram9Hospital
#HealthcareYouCanTrust
เยี่ยมชม
pr9shop.praram9.com
แพ็กเกจตรวจสุขภาพ Young Active – Praram 9 Hospital
โปรดอ่านเงื่อนไขและข้อกำหนดก่อนการสั่งซื้อแพ็กเกจ …
ไลฟ์สไตล์
สุขภาพ
พัฒนาตัวเอง
บันทึก
2
2
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย