19 ธ.ค. เวลา 07:19 • ธุรกิจ

การเก็บและรักษาข้อมูล (Check Sheet)

ในการแก้ไขปัญหาใด ๆ ให้ได้ผล สิ่งที่สำคัญก็คือปัญหานั้นต้องสามารถวัดเป็นตัวเลขได้ เมื่อวัดเป็นตัวเลขได้เราก็จะสามารถเปรียบเทียบตัวเลขก่อนและหลังการปรับปรุงแก้ไขได้ว่า ผลลัพธ์ที่ได้มาดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน และเมื่อตัวเลขที่วัดได้มีความสำคัญ การเก็บข้อมูลในแบบที่วัดเป็นตัวเลขได้ก็จะยิ่งมีความสำคัญ
นอกจากนี้ข้อมูลก็ยังมีหลากหลายชนิดทั้งยังเกี่ยวข้องกับเวลาที่เปลี่ยนไปในขณะเก็บข้อมูล และหากการเก็บข้อมูลเริ่มต้นไม่ถูกต้อง ข้อมูลที่ได้มีมากเกินไป หรือข้อมูลที่สำคัญที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์ปัญหากลับไม่ได้ถูกเก็บมาตั้งแต่ต้น หรือสูญหายระหว่างทางการวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาก็จะยุ่งยาก และร้ายที่สุดอาจจะแก้ปัญหานั้นไม่ได้
ในการเก็บข้อมูลแบบถ่วงน้ำหนัก Weighted Score ต้องแน่ใจว่าผู้ตอบไม่เกิดการลำเอียง และข้อมูลที่เก็บได้ก็ควรจะต้องมากพอที่จะเป็นตัวแทนของข้อมูลทั้งหมดได้ สุดท้ายต้องอย่าลืมว่าการเก็บข้อมูลต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่าย ยิ่งใช้เวลามากจำนวนของข้อมูลที่ต้องการมาก ค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนในการเก็บข้อมูลก็จะมากขึ้นตามไปด้วย
การเก็บข้อมูล หรือ Check Sheet แบบคลาสสิค
การเก็บข้อมูลที่คลาสสิคที่สุดคือการทำ Check Sheet ขึ้นมา โดยมากมักเป็นกระดาษ A4 ระบุหัวเรื่องที่ต้องการเก็บข้อมูล รายการที่ต้องการเก็บ วัน เวลาในขณะที่เก็บข้อมูล และในบางข้อมูลอาจจะต้องระบุสภาพแวดล้อมอื่นด้วยเช่นอุณหภูมิ หรือความชื้น และแน่นอนว่าต้องระบุผู้จดบันทึกและผู้ให้ข้อมูลหรือเครื่องจักรที่กำลังถูกเก็บข้อมูลด้วย
Check Sheet เป็นได้ทั้งการเก็บข้อมูลจากหน้าจอมิเตอร์หรือการนับเป็นครั้ง ที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อเราต้องการตรวจสอบผลลัพธ์ที่ได้หลังจากการแก้ไขปรับปรุงเสร็จแล้ว การเก็บข้อมูลในครั้งหลังต้องยืนยันได้ว่าสภาพแวดล้อมในขณะเก็บข้อมูลในครั้งหลังไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับการเก็บข้อมูลในครั้งแรก
การเก็บข้อมูลแบบแอดวานซ์
ปัจจุบันมีเครื่องมือด้านซอฟท์แวร์มากมายที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยในการเก็บและบันทึกข้อมูล รวมทั้งการทำแบบสอบถาม เช่น Google Form หรือ MS Office Form ซึ่งนอกจากจะออกแบบได้ง่าย ใช้งานได้บน Tablet แล้วยังสามารถนำออกมาเป็น Spreadsheet ได้ ทำให้ง่ายต่อการวิเคราะห์และคำนวณเป็นอย่างมาก
โฆษณา