20 ธ.ค. เวลา 11:00 • สิ่งแวดล้อม

‘Levi’s’ แคร์โลก ผลิตกางเกงยีนส์แพลนต์เบส ‘Plant-based 501’ รณรงค์ผู้บริโภคซื้อเสื้อผ้าอย่างมีสติ

☝️Click >> ‘Levi’s’ ลุยตลาดรักษ์โลก เพิ่มนวัตกรรมผลิต ‘ยีนส์แพลนต์เบส’ สวมใส่อย่างยั่งยืน พร้อมจัดแคมเปญรณรงค์ผู้บริโภคเลือกซื้อเสื้อผ้าอย่างมีสติ
🔎Clear >> ปัจจุบันกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจจากผู้บริโภคทั่วโลกมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ หันมาสนใจลงทุนพัฒนานวัตกรรมผลิตสินค้า ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมไปถึงสินค้าแฟชั่นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย อย่าง ‘กางเกงยีนส์’
Research and Markets รายงาน ในปี 2567 มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นทั่วโลก อยู่ที่ 142,060 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 15.5% และคาดว่าในปี 2571 จะมีมูลค่าสูงถึง 197,050 ล้านดอลลาร์
ซึ่งในบรรดาอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ การผลิตยีนส์เป็นมิตรต่อโลก ‘น้อยที่สุด’ มีข้อมูลที่นำเสนอผ่านสารคดีเรื่อง ‘Riverblue’ ได้อธิบายขั้นตอนการผลิตยีนส์ไว้ว่า มีการใช้น้ำจำนวนมาก ประมาณ 920 แกลลอนในการผลิตยีนส์รุ่นขายดีแต่ละตัว และยังใช้พลังงาน 400 เมกะจูลส์ ก่อให้เกิดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ มากถึง 32 กิโลกรัม
นอกจากนี้มีผลการศึกษาพบว่า สารเคมีที่ใช้ฟอกยีนส์มักปนเปื้อนในแหล่งน้ำใกล้แหล่งผลิต ตัวอย่างเช่น ในแม่น้ำจูเจียง ประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยีนส์ราว 1 ใน 3 ของโลก มีการปนเปื้อนจากสารเคมีสีน้ำเงินฟอกย้อมจำนวนมาก ซึ่งเชื่อกันว่าสามารถมองเห็นได้จากนอกโลกเมื่อดูจากภาพถ่ายดาวเทียมขององค์การนาซ่า
จากปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้สร้างความท้าทายให้ผู้ผลิตยีนส์ชั้นนำของโลกอย่าง ยีนส์ ‘Levi’s’ ที่หันมาใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยได้ประกาศการให้ความสำคัญกับ 3 สิ่ง ได้แก่ ภูมิอากาศ การบริโภค และชุมชน และได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนและพัฒนากระบวนการผลิต ยีนส์ ‘Levi’s’ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ดังนี้
1.ลดผลกระทบจากการใช้เส้นใย ในปัจจุบันคอตตอนเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตกางเกงยีนส์ทั่วโลก โดย ‘Levi’s’ เลือกใช้คอตตอนกว่า 83% จากแหล่งธรรมชาติที่ยั่งยืนเท่านั้น เช่น Better Cotton ที่ผลิตทั้งคอตตอนแบบออร์แกนิกและรีไซเคิล
อีกทั้งมีการใช้นวัตกรรมในการเพาะปลูกอย่างยั่งยืนเพื่อให้ได้เส้นใยที่ตอบสนองจุดยืนด้าน Sustainability พร้อมใช้นวัตกรรมในการออกแบบเนื้อผ้าที่ยั่งยืนและคงทน เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ ไม่เว้นแม้แต่ซิป และ Patch ตรงกระเป๋า
2.ลดปริมาณการใช้น้ำ การผลิตยีนส์ ‘Levi’s’ ตั้งแต่ปี 2020 ถึงปัจจุบัน มีกระบวนการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงทำให้สามารถประหยัดน้ำได้เกือบ 13 พันล้านลิตร นอกจากนี้ยังมีการวางแผนลดทรัพยากรน้ำในโรงงานผลิตให้ได้มากที่สุด โดยต้องการรีไซเคิลน้ำให้ได้มากกว่า 20% ของกระบวนการผลิต
3.ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ฝ่ายผลิตมีการตรวจวัดการใช้พลังงานในโรงงานอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงมีนโยบายลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยการใช้ไฟ LED และใช้ระบบควบคุมสภาพแวดล้อมภายใน หรือที่เรียกว่า HVAC (Heating Ventilation and Air Conditioning) เพื่อควบคุมสภาพแวดล้อม ทั้งอุณหภูมิ, ความชื้น, air flown และ ระบบการกรองของอากาศ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม
และเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ‘Levi’s’ ได้ตอกย้ำความเป็นผู้นำกางเกงยีนส์รักษ์โลก โดยได้เปิดตัวกางเกงยีนส์ รุ่น 501 Plant-based 501 ที่ผลิตจากวัสดุจากพืชอย่างน้อย 97% ซึ่งมีวัตถุดิบเป็นผ้าฝ้ายเกษตรอินทรีย์ซึ่งได้รับการรับรองว่าปราศจากการใช้สารฆ่าแมลง และใช้สีย้อมผ้าที่ทำจากพืชโดยตรง
ส่วนแผ่นป้ายด้านหลังกางเกง (Patch) ทำจากวัสดุ MIRUM ซึ่งเป็นวัสดุชีวภาพปราศจากพลาสติก นอกจากนี้ในส่วนของกระเป๋าด้านในกางเกงทำด้วยผ้าฝ้าย 100% พิมพ์ด้วยหมึกชีวภาพสีดำ ‘BioBlack TX’ ซึ่งผลิตจากเศษไม้ (Wood Waste) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน
นอกจากนี้ยังได้เปิดตัวโครงการ Buy Better, Wear Longer เพื่อรณรงค์สร้างการมีส่วนร่วมและส่งเสริมให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อเสื้อผ้าอย่างมีสติมากขึ้น เพื่อลดการใส่แล้วทิ้ง ซึ่งจะกลายเป็นขยะเสื้อผ้ากองใหญ่มหึมาทำลายยาก ผ่านกิจกรรมที่โดดเด่นและคืนกลับสู่งสังคม เช่น
1.Levi’s Secondhand เมื่อมีเสื้อผ้าชิ้นไหนที่ไม่ต้องการ สามารถนำมาบริจาคได้ผ่าน ในชอป Levi’s สาขาในประเทศไทย ซึ่งรับทั้งแบรนด์ Levi’s และแบรนด์อื่น ๆ โดยต้องอยู่ในสภาพที่ใส่ได้และสะอาด พร้อมรับส่วนลดและโปรโมชันต่าง ๆ โดยยีนส์ที่ได้รับมานั้นจะนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิกระจกเงา เพื่อใช้เป็นประโยชน์สำหรับผู้อื่นต่อไป
2.Levi’s Tailor Shop เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้ผู้สวมใส่แบรนด์ Levi’s สร้างสรรค์เสื้อผ้าที่มีอยู่ด้วยการปรับแต่งอย่างสร้างสรรค์ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งภายในชอปจะมีบริการพิเศษ Tailor Shop Service ซึ่งเป็นมุมสำหรับแก้ไขปรับแต่งสินค้า ตั้งแต่การแก้ทรง แก้ความยาว ซ่อมแซม ติดป้ายตกแต่งสินค้า และบริการปักด้วยเครื่อง ซึ่งลูกค้าสามารถนำแบรนด์ Levi’s ที่ใส่แล้วหรือสินค้าใหม่ที่เพิ่งซื้อ มาปักชื่อหรือตัวอักษรย่อได้โดยมีค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล
สำหรับประเทศไทย ไม่ได้มีการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจฟาสต์แฟชั่นไว้อย่างชัดเจน โดยรายงานจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สรุปภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย สะสม 5 เดือน ตั้งแต่มกราคม-พฤษภาคม 2567 มีมูลค่า 2,550.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY)
สอดคล้องกับรายงานจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่คาดว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มมากขึ้น ประมาณ 4-8% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งประเทศ อีกทั้งมีจำนวนขยะปริมาณมากขึ้น แบ่งเป็นเสื้อผ้าที่ขายไม่ออกถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ 85% และถูกนำไปบริจาคหรือรีไซเคิล 15%
จากข้อมูลดังกล่าว ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย หรือ ภาคธุรกิจผู้ผลิตและจัดจำหน่ายแบรนด์เครื่องแต่งกายของคนไทย ต้องหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อลดโลกร้อนอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา: Levi’s / thaitextile / onceinlife / สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
โฆษณา