ครม.เห็นชอบ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

เข้าร่วมเป็นพันธมิตรใน International Partnership for Blue Carbon (IPBC) ในนามประเทศไทย ในการประชุม ครม. ครั้งที่ 14/2567 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรฯ ได้เสนอต่อที่ประชุม เรื่องที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับหนังสือจาก IPBC เพื่อเชิญเข้าร่วมเป็นพันธมิตรใน IPBC ในนามของประเทศไทย
ซึ่งการเป็นพันธมิตรของ IPBC จะทำให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสามารถประสานความร่วมมือกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในด้านบลูคาร์บอน โดยนักวิชาการของไทยจะได้รับเชิญให้มีส่วนร่วมในนโยบายและการแลกเปลี่ยนทางเทคนิคเกี่ยวกับการดำเนินงานที่เป็นตัวอย่างของความสำเร็จในระดับโลก
ทั้งนี้ ทีมประสานงานของ IPBC คือ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน สิ่งแวดล้อมและน้ำ ของรัฐบาลออสเตรเลีย ซึ่งทีมประสานงานของ IPBC จะเป็นผู้ดูแลการดำเนินงานของพันธมิตร ซึ่งรวมถึงการติดต่อกันระหว่างพันธมิตรการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ต่าง ๆ
โดย IPBC เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties : UNFCCC COP) ครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2558
ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 50 ประเทศ มีวิสัยทัศน์ที่ให้ความสำคัญในการปกป้อง ฟื้นฟู และจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนที่เชื่อมโยงกับระบบนิเวศบลูคาร์บอนในขอบเขตระดับโลก อันมีส่วนช่วยสนับสนุนการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจมหาสมุทร และการดำรงชีวิตของชุมชนชายฝั่ง
ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็นพันธมิตรครั้งนี้ ได้แก่
1.การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรไม่มีค่าธรรมเนียม แต่เป็นในลักษณะของการร่วมดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การเป็นเจ้าภาพในการประชุมเชิงปฏิบัติการและ/หรือกิจกรรมคู่ขนานในการประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ
การจัดสรรทรัพยากรที่เป็นประโยชน์สำหรับการหารือระดับกลุ่มเจ้าหน้าที่ด้านนโยบายและด้านเทคนิค หรือสนับสนุนเอกสารแนวทางและสื่อประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการสนับสนุนเงินทุน (Funding) หรือการสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ (in-kind support) สำหรับกิจกรรม การบริหารและประชาสัมพันธ์ของสำนักเลขาธิการ IPBC
2.การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรใน IPBC จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์และนโยบายด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งที่เชื่อมโยงกับแนวคิดบลูคาร์บอน รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อผลักดันการดำเนินงานและการเข้าถึงโครงการ กิจกรรม หรือข้อริเริ่มใหม่ๆ อีกทั้งเป็นโอกาสในการพัฒนาบุคลากรจากการถ่ายทอดความรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านวิทยาศาสตร์นโยบาย และการจัดการวางแผนที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศชายฝั่ง
ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การอนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งที่สำคัญ คือ ป่าชายเลนและหญ้าทะเลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งมีความสอดคล้องและสนับสนุนการดำเนินการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อตอบสนองนโยบายตามพันธกิจต่าง ๆ [เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ความตกลงปารีส (Paris Agreement) อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) เป้าหมายภายใต้กรอบงานคุนหมิง - มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ]
การเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตรดังกล่าวเป็นการร่วมปกป้อง ฟื้นฟู และจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนที่เชื่อมโยงกับระบบนิเวศบลูคาร์บอน ในระดับโลก และเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ และการจัดการระบบนิเวศทะเลและชายฝั่งของไทย รวมถึงการสนับสนุนการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายภายใต้กรอบงานคุนหมิง-มอลทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลกต่อไป
"พี่ต่อ"
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
โฆษณา