20 ธ.ค. 2024 เวลา 05:21 • ประวัติศาสตร์

เพราะอะไรที่ราบสูงโกลัน จึงสำคัญต่ออิสราเอล

จากกรณีที่ภายหลังการที่รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย ถูกโค่นล้มลงโดยกลุ่มกบฏ กองทัพอิสราเอล ได้เปิดฉากโจมตีฐานทัพอากาศซีเรียอย่างน้อย 3 แห่ง ที่มีเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินหลายสิบลำจอดอยู่ ซึ่งประกอบไปด้วย...
1. ฐานทัพอากาศกามิชลีทางตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย
2. ฐานทัพชินชาร์ชานเมืองฮอมส์
3. สนามบินอัครบาทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงดามัสกัส
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์วิจัยนอกกรุงดามัสกัสและศูนย์สงครามอิเล็กทรอนิกส์ใกล้กับพื้นที่ซาเยดา ไซนับ ในกรุงดามัสกัส ต่างถูกโจมตีหลายครั้งด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการตัดสินใจของอิสราเอล ในการบุกยืดพื้นที่กันชน “บนที่ราบสูงโกลันในซีเรียทันที” หลัง อดีต ปธน.อัสซาด หลบหนีออกนอกประเทศ จะทำให้ชาติมหาอำนาจในตะวันออกกลางประณามว่า เป็นการบ่อนทำลายความพยายามในการสร้างสันติภาพของตะวันออกกลาง
แต่อิสราเอล กลับชี้แจงในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ว่า ปฏิบัติการทางทหารดังกล่าว ไม่ได้เป็นการเข้าแทรกแซงความขัดแย้งในซีเรีย แต่เป็นการดำเนินมาตรการที่เป็นไปอย่างจำกัดและเป็นการชั่วคราวเพื่อปกป้องความมั่นคงของฝ่ายตัวเองเท่านั้น!
ทำไมที่ราบสูงโกลัน ถึงสำคัญต่ออิสราเอล จนต้องถึงขนาดชิงลงมือปฏิบัติการทางทหารแบบรีบร้อนถึงขนาดนี้?
วันนี้ “เรา” ไปทำความรู้จักกับ อีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์สำคัญบนดินแดนตะวันออกกลางนี้ด้วยกัน!
ที่ราบสูงโกลัน :
ที่ราบสูงโกลัน (Golan Heights) มีทิศเหนืออยู่ถัดจากภูเขาเฮอร์มอน ทิศตะวันตกใกล้กับแม่น้ำจอร์แดน และทิศใต้ติดกับทะเลสาบกาลิลี ซึ่งเป็นทะเลสาบใหญ่สุดของอิสราเอล มีระยะทางจากทิศเหนือถึงทิศใต้ประมาณ 71 กิโลเมตร จากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกประมาณ 43 กิโลเมตร และมีพื้นที่ประมาณ 1,200 ตารางกิโลเมตร
ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงดามัสกัส (Damascus) เมืองหลวงของประเทศซีเรียไปทางทิศใต้ ประมาณ 60 กิโลเมตร
พื้นที่บริเวณนี้ มีความสำคัญกับ “ชาวยิว” ทั้งในแง่ศาสนา เพราะเชื่อว่าพระเจ้าประทานผืนดินแห่งนี้แก่พวกเขา รวมทั้งในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ เพราะเป็นพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางตอนเหนือของอิสราเอล และยังเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญ
ในด้านความมั่นคง ซีเรียมีที่ตั้งทางทหารในพื้นที่โกลัน และการโจมตีที่ตั้งที่สูงนั้นช่วยให้ซีเรียสามารถโจมตีหรือข่มขู่เมืองต่างๆ ในอิสราเอลได้อย่างง่ายดาย
ดังนั้น การยึดโกลัน จึงเป็นการบรรเทาความเสี่ยงต่อความมั่นคงของอิสราเอล อีกทั้งการที่ ที่ราบสูงโกลันมีแหล่งน้ำและทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ การยึดพื้นที่นี้ช่วยให้อิสราเอลสามารถควบคุมแหล่งน้ำที่มีค่าเหล่านี้ได้
ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้อิสราเอลตัดสินใจโจมตีและยึดที่ราบสูงโกลันจากซีเรีย จนกระทั่งกลายเป็นส่วนสำคัญของความขัดแย้งในภูมิภาคอาหรับ-อิสราเอล ที่ยังกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในพื้นที่ มาจนถึงปัจจุบัน
ราบสูงโกลันกับปัญหาความขัดแย้ง :
อิสราเอล สามารถเข้ายึดพื้นที่ราบสูงโกลันได้เป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่สงครามหกวันในปี 1967 โดยเริ่มต้นในวันที่ 5 มิถุนายน 1967 สงครามนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มประเทศอาหรับ ได้แก่ อียิปต์ จอร์แดน และซีเรีย ซึ่งในระหว่างสงคราม อิสราเอลสามารถยึดพื้นส่วนใหญ่ของที่ราบสูงโกลันจากซีเรียได้ และทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอล ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หลังจากนั้น ในปี 1973 ได้เกิดสงคราม Yom Kippur โดยซีเรีย พยายามที่จะแก้ไขผลกระทบจากสงครามหกวันโดยการโจมตีอิสราเอลอีกครั้ง แม้ว่า ซีเรียจะได้รับชัยชนะในบางช่วง แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถเรียกคืนที่ราบสูงโกลันได้ทั้งหมดอยู่ดี
จากนั้น อิสราเอล จึงได้จัดการบริหารพื้นที่นี้มาอย่างต่อเนื่อง และในปี 1981 อิสราเอลได้ประกาศ "การรวมพื้นที่โกลันที่ยึดครองได้ ทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอิสราเอลอย่างเต็มตัว แม้ว่าการกระทำนี้ “จะไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติก็ตาม”
องค์การสหประชาติ กับปัญหาความขัดแย้งเหนือที่ราบสูงโกลัน :
สหประชาชาติ มีท่าทีที่ชัดเจนต่อการที่อิสราเอลยึดที่ราบสูงโกลัน โดยมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ในปี 1967 ขณะที่สงครามหกวันเกิดขึ้น และอิสราเอลได้ยึดที่ราบสูงโกลันจากซีเรีย สหประชาชาติได้ออกมติหมายเลข 242 ซึ่งเรียกร้องให้มีการถอนทหารอิสราเอล จากพื้นที่ที่ยึดได้ในสงครามดังกล่าว รวมถึงที่ราบสูงโกลัน
นอกจากนี้ ในปี 1981 เมื่ออิสราเอล ได้ประกาศการรวมพื้นที่โกลันเข้ากับรัฐอิสราเอล สหประชาชาติได้ออกมติหมายเลข 497 ซึ่งระบุว่า “การกระทำของอิสราเอลในการประกาศกฎหมายและการบริหารจัดการดินแดนโกลันนั้นเป็นโมฆะและไม่มีผลทางกฎหมาย” โดยให้ความสำคัญกับหลักการที่ว่าดินแดนที่ถูกยึดในสงคราม ไม่ได้มีสิทธิ์ที่จะถูกสละให้แก่ประเทศที่ยึด
อย่างไรก็ตาม แม้สหประชาชาติยืนยันถึงความจำเป็นในการกลับคืนพื้นที่โกลันให้กับซีเรีย และมองว่าทางออกที่ถูกต้องควรจะเป็นไปตามกระบวนการเจรจาและการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ เพื่อสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคและเคารพอธิปไตยของประเทศต่างๆ แต่ทั้งหมดกลับได้รับ “ความเมินเฉยจากอิสราเอล”
สถานการณ์ความขัดแย้งที่ราบสูงโกลัน ณ ปัจจุบัน :
อิสราเอลยึดที่ราบสูงโกลันท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของโลกอาหรับและนานาประเทศ แต่ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น กลับประกาศรับรองให้ที่ราบสูงโกลานเป็นของอิสราเอล เมื่อ ค.ศ. 2019
เป็นเหตุให้ “รัสเซีย” ประเทศที่เรียกได้ว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐฯ ต้องออกมาแสดงตัวปกป้อง “ซีเรีย” พันธมิตรอันแนบแน่น โดยใน ค.ศ. 2022 ผู้แทนรัสเซียในยูเอ็น ได้ออกมาย้ำเรื่องนี้ว่า รัสเซียไม่รับรองอำนาจอธิปไตยของอิสราเอลเหนือที่ราบสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซีเรีย
สำหรับสาเหตุที่รัสเซีย ต้องเข้ามาเกี่ยวพันกับเรื่องนี้ด้วย ก็เพราะรัสเซียเป็นพันธมิตรอย่างยาวนานของซีเรียนั่นเอง โดยเฉพาะช่วง สงครามกลางเมืองซีเรีย ในปี 2011 ที่ชาวซีเรียพากันลุกฮือเรียกร้องให้ ปธน.บาชาร์ อัล-อัสซาด ลาออก จนบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง นั้น รัสเซีย ได้ออกมาแสดงตัวอย่างชัดเจนว่า พร้อมยืนอยู่เคียงข้าง ปธน.บาชาร์ อัล-อัสซาด
ทั้งนี้ รัสเซีย ซึ่งมีฐานทัพอยู่ในซีเรีย ก่อนจะเกิดสงครามกลางเมือง ได้เปิดฉากโจมตีทางอากาศ เพื่อสนับสนุนประธานาธิบดีอัสซาดใน ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสงคราม ทำให้รัฐบาลซีเรีย เป็นฝ่ายได้เปรียบ
โดยกองทัพรัสเซีย ระบุว่า โจมตีเป้าหมายที่เป็นผู้ก่อการร้ายเท่านั้น แต่นักเคลื่อนไหวระบุว่า การโจมตีของรัสเซียได้ทำให้กลุ่มกบฏกระแสหลักและพลเรือนเสียชีวิตอยู่เนืองๆ
 
ปัจจุบัน ซีเรียยังคงพยายามเรียกร้องดินแดนคืนจากอิสราเอล แต่อิสราเอลก็ยังคงดำเนินการจัดตั้งถิ่นที่อยู่ชาวยิวในที่ราบสูงโกลาน และจัดการพื้นที่เสมือนเป็นดินแดนของตนเอง ทั้งที่ในทางทฤษฎีแล้ว อิสราเอลเข้าครอบครองดินแดนแห่งนี้อย่างผิดกฎหมายระหว่างประเทศ
บทวิเคราะห์จาก ดร.ศราวุฒิ อารีย์ :
ทั้งนี้ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับ สำนักข่าวทรัสต์นิวส์ ต่อประเด็นความขัดแย้งที่ราบสูงโกลัน ณ ปัจจุบัน เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า...
จากท่าที่และการกระทำของอิสราเอล เชื่อว่า อิสราเอลจะยังเดินหน้ายึดที่ราบสูงโกลันต่อไป เนื่องจากเขายึดไปแล้ว 2 ใน 3 ของพื้นที่ คงเหลือแค่เพียงแนวบัฟเฟอร์โซนที่เป็นพื้นที่กันชน และไม่มีทางคืนให้ซีเรียแน่นอน
เนื่องจากชัยภูมิบนเทือกเขาโกลันสำคัญมากกับอิสราเอล เพราะเป็นพื้นที่สำคัญที่ทำให้สามารถสังเกตการณ์ได้ไกลเห็นถึงกรุงดามัสกัส ของ ซีเรีย
และที่ผ่านมา ในยุคของอัสซาด นั้น อิสราเอลค่อนข้างวางใจเรื่องของความมั่นคงของตัวเอง แต่แล้ว เมื่ออัสซาด ถูกโค่นอำนาจลง อิสราเอลจึงต้องพยายามเข้าไปควบคุมสถานการณ์ หรือ พูดง่ายๆก็คือ “ความปลอดภัยของตัวเอง” ให้ได้อีกครั้ง!
อ้างอิง : บทสัมภาษณ์​ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
#ที่ราบสูงโกลัน #อิสราเอล #ซีเรีย #GolanHeights #ตะวันออกกลาง #บทวิเคราะห์ #จุดยุทธศาสตร์ #สถานการณ์โลก #สำนักข่าวทรัสต์นิวส์ #Trustnews
โฆษณา