20 ธ.ค. เวลา 07:38 • ธุรกิจ

"425Degree" กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งด้วยคอมมูนิตี้และรีวิวที่จริงใจ เจาะตลาดคนรักแกดเจ็ต

กว่าจะมาเป็นแบรนด์แกดเจ็ตชื่อดังอย่างทุกวันนี้ 425Degree เริ่มต้นจากความฝันของกลุ่มเพื่อนวัยรุ่น 3 คน ที่ต้องการสร้างสรรค์พื้นที่สำหรับคนรักเทคโนโลยี ด้วยการนำเสนอสินค้าที่หลากหลาย พร้อมทั้งผลิตคอนเทนต์ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า 425Degree จึงไม่ใช่แค่ร้านค้า แต่เป็นคอมมูนิตี้ที่รวมผู้ที่หลงใหลในแกดเจ็ตและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไว้ด้วยกัน
บทความนี้ Bangkok Bank SME ชวนไปพูดคุยกับทีมผู้บริหาร เพื่อไขความลับของความสำเร็จ และฟังวิสัยทัศน์ในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
บริษัท 425ดีกรี จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา ด้วยความหลงใหลในสินค้ากลุ่มแกดเจ็ต (Gadget) (อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กเช่น สมาร์ทโฟน, หูฟัง, หรืออุปกรณ์เสริมต่าง ๆ) ของคุณวิธวินท์ เลิศสาโรจน์ (วี) คุณธนศักย์ เฉลิมกิตติชัย (เหลียง) และคุณรุ่งวิทย์ เอื้อวิวัฒน์สกุล (แชมป์) ทั้ง 3 จึงเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ที่ชื่นชอบสินค้าประเภทนี้
โดยมุ่งเน้นการสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ เพื่อให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจซื้ออย่างมั่นใจ จากความสำเร็จในช่องทางออนไลน์ จึงได้ขยายธุรกิจสู่ตลาดออฟไลน์ โดยเปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์ และปัจจุบันมีทั้งหมด 6 สาขาทั่วประเทศ
คุณวิธวินท์ กล่าวว่า เราเป็นกลุ่มเพื่อนที่หลงใหลในแกดเจ็ต ประกอบกับเห็นช่องว่างในตลาดที่ขาดข้อมูลน่าเชื่อถือ เราจึงตัดสินใจตั้ง บริษัท 425ดีกรี จำกัด ขึ้น โดยเริ่มจากการสร้างเว็บไซต์และเพจบนโซเชียลมีเดียเพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแกดเจ็ตต่าง ๆ อย่างละเอียด ใช้เวลาศึกษาและทดลองผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จนเกิดเป็นคอนเทนต์แรกที่เน้นรีวิวสินค้าแบบเจาะลึก พร้อมทั้งตอบคำถามที่ลูกค้าสงสัยอย่างตรงไปตรงมา
หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญในช่วงเริ่มต้นทำตลาดออนไลน์ คือการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ จึงต้องพิสูจน์ให้ลูกค้าเห็นว่า เราเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านแกดเจ็ตจริงๆ โดยการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพสูงและให้บริการหลังการขายที่ดีเยี่ยม ปัจจุบัน บริษัทเติบโตขึ้นอย่างมาก และมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง เพราะเราไม่เพียงแต่เป็นร้านค้าออนไลน์ แต่ยังเป็นคอมมูนิตี้ของผู้ที่ชื่นชอบเทคโนโลยีและแกดเจ็ต
สำหรับแบรนด์ที่เรานำเข้ามาจำหน่าย จะติดต่อตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย เพื่อสอบถามเงื่อนไขและรูปแบบการร่วมงานที่เหมาะสม นอกจากนี้ เรายังทำการทดสอบเคสกันกระแทกจริง เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพและให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ลูกค้า เช่น การทดสอบการตกกระแทก ซึ่งเป็นการทดสอบที่หาได้ยากในตลาด เราแบ่งประเภทของเคสกันกระแทกออกเป็นระดับต่าง ๆ ตามระดับความทนทาน ช่วยให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อเคสที่เหมาะสมกับงบประมาณและความต้องการได้ง่ายขึ้น
Gadget ที่รีวิวอย่างจริงใจ ตอบโจทย์ Insight ผู้บริโภค
เราแบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ออกเป็นระดับการป้องกันที่แตกต่างกัน เพื่อให้ลูกค้าที่ไม่มีความรู้ด้านเทคนิค สามารถเลือกซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น หากลูกค้าต้องการเคสที่ป้องกันการกระแทกได้สูงสุด ก็สามารถเลือกสินค้าที่อยู่ในระดับสูงสุดได้ทันที การจัดอันดับผลิตภัณฑ์ของเรา ไม่ได้เพียงแค่บอกว่าสินค้าดีหรือไม่ดี แต่เราจะเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของแต่ละรุ่น
เพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพรวมและตัดสินใจเลือกสินค้าที่เหมาะสมกับความต้องการมากที่สุด เราไม่ได้มุ่งเน้นที่จะเป็นผู้วิจารณ์ แต่ต้องการเป็นผู้ช่วยในการตัดสินใจซื้อสินค้าของลูกค้า
ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการข้อมูลที่ละเอียด เช่น ความหนา ความบาง และประสิทธิภาพในการป้องกันของเคสโทรศัพท์ หรือขนาดและความจุของกระเป๋า เพื่อช่วยในการตัดสินใจซื้อสินค้า เราจึงเพิ่มตัวเลือกในการแสดงข้อมูล เช่น ขนาดที่แท้จริง สีของสินค้า และความเข้ากันได้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ลูกค้าเห็นภาพสินค้าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น สำหรับกระเป๋า เราจะระบุขนาดที่แน่นอนว่าสามารถใส่ iPad หรือ iPhone รุ่นใดได้บ้าง และสามารถใส่เคสกันกระแทกได้หรือไม่ ความตั้งใจคือ เราทำรีวิวมากกว่าทำโฆษณา
สินค้าแกดเจ็ต กับการ Digital Transformations
บริษัท 425ดีกรี จำกัด ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบเทคโนโลยีมาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท ได้พัฒนาระบบบริหารจัดการภายใน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและรองรับการเติบโตของธุรกิจ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินงานทั้งหมดของเรามีการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) อย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า
จากความสำเร็จของป๊อบอัพสโตร์ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ซี่งเราเปิดเป็นสาขาแรก ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของประสบการณ์ลูกค้าแบบครบวงจร โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระหว่างช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ หลังจากมุ่งเน้นการเติบโตทางออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง เราจึงตัดสินใจขยายธุรกิจไปสู่การเปิดร้านค้า เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสผลิตภัณฑ์ของเราอย่างใกล้ชิดและสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำ
ร้านค้าของเราไม่ได้เป็นเพียงแค่ช่องทางการขาย แต่เป็นพื้นที่สำหรับให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ที่แตกต่าง โดยเราเน้นการจัดแสดงสินค้าแบบเปิด ให้ลูกค้าได้ทดลองใช้งานสินค้าจริงเสมือนอยู่ในเดโมช็อป ซึ่งสอดคล้องกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า
แม้ว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของเราจะทำการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ แต่การเปิดร้านค้าทำให้เราสามารถสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะสำหรับสินค้าที่ต้องการการสัมผัส เช่น กระเป๋าขนาดใหญ่หรือเป้ ซึ่งลูกค้ามักต้องการลองสะพายและสัมผัสเนื้อผ้าก่อนตัดสินใจซื้อ ร้านค้าของเราไม่เพียงแต่เป็นช่องทางการขาย แต่ยังเป็นสถานที่ที่ลูกค้าสามารถสัมผัสสินค้าได้อย่างใกล้ชิดและได้รับข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจซื้อ
นอกจากนี้ เรายังมีการกำหนดราคาและโปรโมชั่นที่สอดคล้องกันในทั้งสองช่องทาง เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าได้อย่างสะดวกและคุ้มค่า
อย่างไรก็ดี บริษัทให้ความสำคัญกับการสื่อสารและความร่วมมือกับแบรนด์ต่าง ๆ ที่ต้องการเปิดช่องทางการขายออนไลน์อย่างเป็นทางการ (Official Store) เนื่องจากบทบาทของเราและของแบรนด์นั้นแตกต่างกัน เราจึงจำเป็นต้องพูดคุยกันเพื่อทำความเข้าใจถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละฝ่าย
โดยทั่วไปแล้ว แบรนด์มักจะเน้นเรื่องการสร้างแบรนด์และการจัดการสต็อกสินค้า แต่การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความผูกพันในระยะยาวนั้น อาจเป็นสิ่งที่แบรนด์หลายแห่งยังขาดประสบการณ์
จุดแข็งของเราคือความเชี่ยวชาญในการดูแลลูกค้าตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย เราสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าและสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งขึ้นได้ ผ่านการให้บริการที่เป็นเลิศ เราจึงเสนอตัวเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับแบรนด์ที่ต้องการสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับลูกค้า โดยเราจะร่วมกันวางแผนและดำเนินกิจกรรม เช่น การสร้างแคมเปญทางการตลาด การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม และการให้บริการหลังการขาย เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกพึงพอใจสูงสุด
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ที่เราคัดสรรมาจำหน่าย มีความโดดเด่นในเรื่องคุณภาพและดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแบรนด์ โดยเราให้ความสำคัญกับการเลือกสินค้าที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าจะได้รับผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด เราทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้แนะนำผลิตภัณฑ์ที่เข้าใจความต้องการของลูกค้าแต่ละคน โดยจะคัดเลือกสินค้าที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์และความชอบของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งถือได้ว่าเราเป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงระหว่างแบรนด์และลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เทคโนโลยี AI ผู้ช่วยคนสำคัญ
คุณรุ่งวิทย์ กล่าวในประเด็นนี้ว่า ทีมวิจัยและพัฒนาของเราได้ศึกษาและนำเทคโนโลยี AI (ปัญญาประดิษฐ์) มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้า โดยเราเริ่มต้นจากการนำ AI มาใช้กับระบบบริการลูกค้า (Customer Service) เพื่อช่วยให้พนักงานสามารถค้นหาข้อมูลสินค้าและตอบคำถามลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ เรายังมีแผนที่จะนำ AI มาใช้ในการพัฒนาประสบการณ์การช้อปปิ้งของลูกค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดย AI จะช่วยในการแนะนำสินค้าที่ตรงกับความสนใจของลูกค้าแต่ละราย เช่น หากลูกค้าสนใจสินค้าสีแดง ระบบก็จะแสดงสินค้าสีแดงให้ลูกค้าเห็นก่อน เพื่อให้การเลือกซื้อสินค้าเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
เพื่อรองรับการทำงานเหล่านี้ เราได้พัฒนา AI ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทโดยเฉพาะ ทำให้คำตอบที่ได้จาก AI นั้นมีความถูกต้องและสอดคล้องกับข้อมูลของบริษัท ช่วยให้พนักงานสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีลูกค้าจำนวนมาก
เป้าหมายในอนาคต
เราตั้งเป้าหมายในการเติบโตทุกปี ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ แต่จากข้อมูลในอดีต เรามีการเติบโตมาตลอด อีกทั้งยังมีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยเราต้องการขยายสาขาไปยังพื้นที่ที่สามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างแท้จริง เช่น การเลือกทำเลที่มีจำนวนลูกค้าในพื้นที่มาก หรือมีความสะดวกในการเดินทางมาหาเรา เพราะแม้ว่าลูกค้าสามารถซื้อสินค้าออนไลน์ได้ แต่หากลูกค้าสนใจสินค้าจริง ๆ หรือมีความต้องการที่จะเปรียบเทียบสเปค
ก็ยังคงต้องการเข้ามาชมสินค้าด้วยตัวเอง สำหรับการขยายสาขาในอนาคต เราจะเน้นที่การสร้างประสบการณ์ (Experience Store) ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก
ปัจจุบันเราเปิดให้บริการแล้วทั้งหมด 6 สาขา ได้แก่ เซ็นทรัลเวิลด์, เมกาบางนา, เอ็มสเฟียร์, เซ็นทรัลอีสต์วิลล์, แฟชั่นไอส์แลนด์ และสยามพารากอน ในส่วนการเติบโตทางธุรกิจ แม้เรายังไม่ได้เน้นการลงทุนในเรื่องการทำการตลาดในระดับใหญ่ หรือการสร้างแบรนด์ในเชิงการสร้างภาพลักษณ์ แต่เรามุ่งมั่นในการสร้างคอมมูนิตี้กับลูกค้า ตั้งแต่ขั้นตอนแรกที่ลูกค้าสนใจ จนถึงการตัดสินใจซื้อสินค้า เรามีการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน
ในช่วงหลังจากโควิด 19 เราเห็นว่าแพลตฟอร์มใหม่ ๆ อย่าง TikTok และรูปแบบการช้อปปิ้งในรูปแบบวิดีโอ มีผลกระทบต่อพฤติกรรมการซื้อของลูกค้า ลูกค้าในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจซื้อโดยไม่ต้องมีขั้นตอนการรู้จักสินค้าแบบเดิม แต่สามารถข้ามไปยังขั้นตอนการซื้อหรือการศึกษาข้อมูลโปรโมชั่นได้เลย ซึ่งเรายังคงตอบสนองแนวโน้มนี้ได้ดี เนื่องจากเราได้เตรียมตัวมาตั้งแต่ต้นและยังคงสอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าในปัจจุบัน
วิธีการขาย เราจะไม่ยัดเยียดโปรโมชั่นให้กับลูกค้า แต่เราเน้นการเอ็นเกจ (Engage) ผ่านการให้ข้อมูลสินค้าที่ลูกค้าสามารถใช้ในการตัดสินใจซื้อ ซึ่งตรงกับพฤติกรรมของลูกค้าปัจจุบันที่ต้องการข้อมูลสินค้ามากกว่าการรับรู้เพียงแค่โปรโมชั่น เทรนด์ในปัจจุบันมีแนวโน้มไปในทิศทางของการสร้างคอมมูนิตี้ ลูกค้าต้องการมีความสัมพันธ์กับแบรนด์มากขึ้น
ในช่วงแรกเราไม่ได้ตั้งใจทำเป็นกลยุทธ์แบบนี้ แต่เป็นเหมือนความบังเอิญ เพราะเราชอบสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า ร้านที่เราสร้างจึงมีความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างใกล้ชิด เมื่อเราทำแคมเปญหรือคอนเทนต์ จะมีการปฏิสัมพันธ์ให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วมกับเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับเทรนด์ในปัจจุบัน
แนวโน้มในการเติบโต หากมองเฉพาะช่องทางออนไลน์ ต้องยอมรับว่าเจ้าตลาดใหญ่อย่าง Lazada, Shopee และ TikTok จะครองตลาดในลักษณะที่ต้องมีการทุ่มเทการตลาดในระดับใหญ่ถึงจะสามารถแข่งขันได้ แต่สำหรับธุรกิจในขนาดเล็กกว่า การเติบโตจะมุ่งไปที่การผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ หรือที่เรียกว่า Omnichannel โดยไม่ใช่การเชื่อมต่อแบบเดิมที่มีการเช็คลิสต์ระหว่างออนไลน์และออฟไลน์
หากเรามองเทรนด์ของ Pop Mart ในปีนี้ จะเป็นตัวอย่างที่ดีทั้งในแง่ของออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการเล่นสื่อของพวกเขาจะเห็นว่าแตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน สินค้าที่จะเข้ามาในตลาดยุคนี้ ต้องนำเสนอในรูปแบบที่แตกต่างจากที่เคยมี และต้องตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง
425Degree กับแบรนด์สินค้า ลูกค้าเลือกซื้อจากอะไร?
เรามองว่า การตัดสินใจซื้อสินค้าของลูกค้าจะแบ่งออกเป็นสองแบบ คือ ลูกค้าที่ซื้อเพราะว่าเป็น 425Degree และสินค้าตัวนั้นมีอยู่ที่ร้านของเรา โดยพวกเขาเริ่มต้นจากการมองหาสินค้าที่เรามีให้บริการ หรืออีกกลุ่มหนึ่งคือ ลูกค้าที่เป็นแฟนของแบรนด์นั้น ๆ และต้องการซื้อสินค้า ซึ่งเราอาจจะมีสินค้าที่พวกเขากำลังมองหาอยู่
ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ เป็นโอกาสที่ดีทั้งคู่ สำหรับลูกค้ากลุ่มที่เลือกซื้อเพราะ 425Degree เราจะเรียนรู้เกี่ยวกับแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อเข้าใจไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ว่าเขาต้องการอะไร และจะซื้อสินค้าต่อไปอย่างไร ส่วนกลุ่มที่มองว่าแบรนด์เป็นตัวหลัก มองว่าเพราะเราเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ในเรื่องของบริการและประสบการณ์ เหมือนเป็นการพาลูกค้าทัวร์ร้านที่ให้ประสบการณ์ที่แตกต่าง เช่น การบริการส่งด่วนภายใน 3 ชั่วโมง และส่งได้ถึง 3 ทุ่ม เช่น
บางกรณีลูกค้าอาจต้องการซื้อเคสสำหรับโทรศัพท์ที่เพิ่งซื้อเครื่องใหม่ หรือบางครั้งต้องการสินค้าระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งเราสามารถดูแลลูกค้าได้ดีในเรื่องนี้ เพราะหากลูกค้าไม่สามารถไปห้างได้ทันเวลา บริการของเราสามารถตอบโจทย์พวกเขาได้
เราผสมผสานการบริการ ทั้งการโปรโมตสินค้าให้น่าสนใจ และสร้างบริการที่ดูแลลูกค้าได้อย่างเต็มที่ สำหรับแบรนด์ 425Degree เหมือนเป็นร้านเล็ก ๆ ในห้างที่มีบริการครบถ้วน ภาพรวมของห้างก็ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น แอร์เย็น และที่จอดรถสะดวก ซึ่งเป็นเซอร์วิสที่เราให้ลูกค้า เป็นเหมือนห้างที่รวมหลายแบรนด์เอาไว้ให้ลูกค้าได้รับประโยชน์
ฟีเจอร์ใหม่ และผลกระทบในการสร้างผู้สนับสนุน
ปัจจุบัน ฟีเจอร์ของแพลตฟอร์มต่าง ๆ เน้นการสร้างผู้สนับสนุน แต่ทั้งตลาดออนไลน์ และออฟไลน์มีจุดที่ไม่ค่อยต่างกัน คือทั้งสองมีความเกี่ยวข้องกัน (Affiliate) ในการขาย ซึ่งบางแง่มุมก็เหมือนกับการทำการตลาดในออฟไลน์ เช่น แม็คโคร และเซ็นทรัล ลูกค้าคนเดียวกันอาจจะไปทั้งสองที่ และซื้อสินค้าชนิดเดียวกัน แต่ในบทบาทที่แตกต่างกัน
ในฝั่งออนไลน์ การใช้ Affiliate และการเก็บฐานข้อมูลลูกค้าแต่ละคน จะมีจังหวะการขายและโจทย์ที่แตกต่างกันไป บางครั้งเน้นที่โปรโมชั่นและส่วนลด ขณะที่ 425Degree ก็มีฟีเจอร์เหล่านี้ แต่ภาพรวมของเราเน้นที่ความชัดเจนในการสร้างแบรนด์ และการสร้างการรับรู้ เช่น หากจะเปิดตัวสินค้าใหม่ เราจะเน้นสร้างการเอ็นเกจ (Engage) ผ่านแคมเปญและคอนเทนต์ เพื่อให้ลูกค้ารู้จักสินค้า และเพิ่มการมีส่วนร่วมกับแบรนด์
แต่ละแพลตฟอร์ม จะมีสินค้าที่เหมาะกับเราและสินค้าที่เหมาะกับแพลตฟอร์มอื่น ซึ่งนี่คือจุดที่เราเห็นความลงตัว เราไม่ได้ไปแข่งขันกับมาร์เก็ตเพลส (Marketplace) ตั้งแต่วันแรกที่ Lazada เปิดตัว เราไม่เคยต้องการไปแข่งขันกับ Lazada แต่เราจะเก่งที่สุดในสิ่งที่เราเชี่ยวชาญ หากคุณต้องการสร้างประสบการณ์หรือการรับรู้ หรือสร้างคอมมูนิตี้ในลักษณะที่เราเสนอ เราเก่งที่สุดในด้านนี้
มันเหมือนกับการมีห้างสองแห่งที่อาจตั้งอยู่ตรงข้ามกัน แต่คนเดินเข้าไปด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน เช่น คนหนึ่งอาจจะอยากดูสินค้าใหม่ หรือรับบริการเฉพาะทาง ขณะที่อีกคนอาจจะมองหาโปรโมชั่นหรือการซื้อที่ง่ายดาย ซึ่งในมุมมองออนไลน์ของไทย โจทย์ของลูกค้าจะแบ่งออกเป็นสองแบบ โดยไม่เกี่ยวกับโปรโมชั่น แต่มันขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าต้องการสินค้าตัวนั้นในลักษณะไหนมากกว่า
Affiliate Marketing และการสร้างความต่างในการขาย
คุณวิธวินท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การแข่งขันในแง่ของ Affiliate Marketing อาจจะมีคนที่เก่งในการรีวิวเท่าเราหรือเก่งกว่า แต่ในมุมหนึ่ง คุณภาพของการรีวิว จะไม่เท่ากัน เพราะเราไม่ได้ตั้งเป้าหมายหรือทำเงินจากการรีวิว แต่เราทำเพื่อให้เกิดเนื้อหาที่เป็นจริง แม้จะมีการรีวิวจากคนอื่นที่มีเป้าหมายเพื่อขาย แต่ในส่วนของเราจะเน้นทั้งการให้ข้อมูลและการดูแลลูกค้า ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการซื้อ เรามีอินไซด์ที่สามารถช่วยลูกค้าได้ก่อนที่จะซื้อสินค้าหรือสร้างคอนเทนต์ที่ทำให้การตัดสินใจง่ายขึ้น
เรารู้ดีว่าเมื่อคุณซื้อจากรีวิวแล้ว อาจจะเจอปัญหา แต่เราให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ (Relationship) กับแบรนด์ โดยตรง ทำให้สามารถขอซัพพอร์ต หรือดูแลลูกค้าได้ หากลูกค้าพบปัญหาหลังการซื้อ เรามีการดูแลลูกค้าอย่างครบวงจร หากเกิดปัญหาหรือมีข้อสงสัย บริษัทสามารถให้ฟีดแบคอย่างตรงจุด ไม่ใช่แค่ลูกค้าเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ แต่เจ้าของแบรนด์สินค้าก็จะได้ประโยชน์จากการที่เราช่วยสร้างเอ็นเกจเม้นท์ (Engagement) กับลูกค้าในมุมที่แตกต่างออกไป เราจึงมองว่านี่คือการทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น
การสร้างความไว้วางใจในโลกออนไลน์
ถ้าเราเริ่มต้นจากการเปิดหน้าร้านในห้าง ต้องใช้เงินค่อนข้างเยอะ ขณะที่คนเดินผ่านอาจจะมีจำนวนไม่เยอะเท่าไหร่ จึงเริ่มคิดว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ เราลองทำออนไลน์ดูก่อน
พวกเราเติบโตในยุคที่ Facebook และเกมออนไลน์เพิ่งเริ่มเข้ามา โจทย์คือทำอย่างไรให้ลูกค้าเข้าใจในตัวสินค้าและบริการ เราจึงตัดสินใจทำคลิปใน YouTube แล้วนำไปแปะในบทความต่าง ๆ ปรากฏว่า มีหลายคลิปที่ได้รับความนิยม และได้รับการดูมากถึง 200,000 วิวในช่วงนั้น
คลิปเหล่านั้นตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีมาก เพราะไม่ใช่แค่การอธิบายสินค้า แต่เป็นคอนเทนต์รีวิวที่ทำให้ผู้คนรู้จักสินค้าและสามารถกลับมาดูได้เรื่อย ๆ แม้เวลาจะผ่านไปนาน คลิปเหล่านี้ยังคงได้รับความสนใจอยู่จากนั้นเราจึงพัฒนาการทำคลิปวิดีโอจากเนื้อหาธรรมดา ให้มีความสนุกและหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของคอนเทนต์และเซอร์วิสในการทำการตลาดในช่วงแรก
หากมองในภาพใหญ่ระดับโลก อย่างเช่น Amazon หรือ Lazada ที่เริ่มเข้ามาในยุคแรก เราไม่ได้มองตัวเองเป็นตลาดใหญ่แบบนั้น แต่มองสิ่งที่เราทำได้ในระดับที่ใกล้ตัวมากขึ้น เริ่มจากการให้บริการในสิ่งที่รู้และถนัด เช่น แกดเจ็ตและการหาพื้นที่เพื่อนำเสนอจุดเด่นของสินค้า โลกออนไลน์ เติบโตไปพร้อมกับการทำคอนเทนต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราถนัด แม้จะเริ่มต้นจากธุรกิจเล็ก ๆ แต่เราพยายามหาจุดแข็งที่สร้างความได้เปรียบ ทำให้เราเห็นช่องทางการเติบโต และสร้างความไว้วางใจในโลกออนไลน์ได้
ปัจจัยที่ทำให้ 425Degree ประสบความสำเร็จ
ความสำเร็จของเรา มาจาก Customer Insight หรือการตีความความต้องการของลูกค้าในแต่ละปีไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือการที่เราใส่ใจความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นในสเกลเล็กหรือใหญ่ เรามีโจทย์ในการทำคอนเทนต์ที่ตอบสนองความต้องการเหล่านั้นเสมอ
รวมถึงให้ความสำคัญกับการสร้างเซอร์วิสที่ลูกค้าสามารถจับต้องได้ เช่น การมีหน้าร้านและเดโมสินค้า เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกถึงความใกล้ชิดและตอบสนองต่อสิ่งที่พวกเขาต้องการ
นอกจากนั้น คือเราเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง และการรักษามาตรฐานที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรก แม้ว่าจะมีสิ่งใหม่เข้ามา เรายังคงรักษามาตรฐานนี้ไว้ พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในด้านบริการเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด มาตรฐานที่เราพูดถึงไม่ใช่มุมมองจากภายนอกที่ลูกค้ารับรู้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนในองค์กรสามารถทำตามได้ และปรับตัวได้ต่อเนื่อง แม้จะมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นก็ตาม
ทิ้งท้ายถึง SME
จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ คือการพยายามหาความแตกต่างให้กับตัวเอง ยิ่งในยุคนี้ ถ้าบอกแค่ว่าทำออนไลน์แบบปกติ ไม่มีทางที่จะชนะเจ้าตลาดใหญ่ ๆ ที่พร้อมแข่งขัน ผมเชื่อว่ายังมีช่องว่างในการตลาด ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญสำหรับคนที่เริ่มต้นธุรกิจที่ต้องหาช่องว่าง และตอบโจทย์ความต้องการ (Demand) ที่ยังไม่ได้รับการเติมเต็ม
คุณธนศักย์ เสริมว่า สิ่งที่ต้องระวังคือ อย่าตามเทรนด์ เพราะเราไม่รู้ว่าเทรนด์นั้นเป็นแค่แฟชั่น หรือเหมาะกับเราจริงหรือไม่ ดังนั้น ต้องมองให้ชัดว่าโจทย์ที่เราควรจะโฟกัสจริง ๆ คืออะไร ในมุมของผู้ประกอบการ การทำธุรกิจก็เหมือนการวิ่งมาราธอน ต้องลองผิด ลองถูก อาจจะลองผิดหลายครั้ง แต่เมื่อเราพบสิ่งที่ถูกต้อง ก็ต้องรักษาไว้และทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าคุณทำสิ่งที่ถูกต้อง..คุณก็จะเติบโตในที่สุด
โฆษณา