20 ธ.ค. เวลา 09:47 • หนังสือ

"ซ่งฉือ" บิดาแห่งนิติเวชศาสตร์จีน

หวังหงเจี่ย เขียน / ชาญ ธนประกอบ แปล
โปรยสำนักพิมพ์แมงมุมบุ๊ก :
แปดร้อยปีก่อน ในยุคที่ยังไม่มีวิทยากรสมัยใหม่ ยามเกิดคดีปริศนาที่ไม่มีผู้ใดไขกระจ่าง ตุลาการ "ซ่งฉือ" เซอร์ล็อก โฮล์มส์ แห่งประเทศจีน คือบุคคลเดียวที่คลี่คลายทุกคดี ผ่านกระบวนการทางนิติเวชศาสตร์
หลังอ่าน :
เห็นรูปเล่มครั้งแรกไม่แน่ใจว่าจะอ่านแนวอัตชีวประวัติรอดหรือร่วง แต่ความอยากลองมีมากกว่า พอหยิบมาอ่านเท่านั้นแหละ อยากบอกว่านี่เป็นนิยายแนวประวัติชีวิตบุคคลที่อ่านสนุกมาก เล่าเรื่องอย่างเรียบเรื่อย แต่ไม่มีช่วงเหนื่อย ช่วงเบื่อเลย!
“ซ่งฉือ บิดาแห่งนิติเวชศาสตร์” เล่าชีวประวัติของซ่งฉือ นักนิติวิทยาศาสตร์คนแรกในประวัติศาสตร์ ผู้บุกเบิกการใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ในการสืบสวนคดีอาชญากรรมและการชันสูตรศพ เป็นผู้เขียนหนังสือ “บันทึกล้างมลทิน” ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นตำรานิติเวชศาสตร์ฉบับสมบูรณ์เล่มแรกของโลก
ความน่าอ่านของเล่มนี้อยู่ที่ซ่งฉือมิได้สืบสวนเก่งกาจแต่แรก ทว่าบิดาเป็นตุลาการชื่อ "ซ่งก่ง" ฆ่าตัวตายเนื่องจากเคยตัดสินคดีผิดพลาดไป และสั่งเสียว่าไม่ให้ซ่งฉือยึดอาชีพเป็นตุลาการ ซ่งฉือจึงจำใจต้องเก็บตัวอยู่ที่บ้าน และไม่ยอมรับตำแหน่งใด ๆ เพราะเชื่อฟังคำสั่งนี้
หลายปีต่อมาเพื่อนรักของซ่งฉือไปรับราชการต่างแดนและถูกลอบสังหาร ซ่งฉือจึงต้องกลับเข้าสู่แวดวงตุลาการอีกครั้งเพื่อชำระคดีให้เพื่อน โดยสะสมความรู้ความเข้าใจจากการหมกมุ่นในตำราทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับเป็นมรดกจากหมอคนหนึ่งนับสิบปี และไม่ท้อถอยที่จะเสาะแสวงหาความรู้เพิ่มเติม ทำให้ภายหลังได้ตัดสินคดีอันมีเงื่อนงำอีกมากมาย สร้างชื่อเสียงว่ามีใจเที่ยงธรรม ตัดสินอย่างยุติธรรม และเป็นที่พึ่งพาอย่างแท้จริงให้แก่ประชาชนทั่วไป
กล่าวถึงหนังสือ “บันทึกล้างมลทิน” ซ่งฉือ เขียนขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1247 เพื่อเป็นคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ โดยประมวลคดีทางนิติวิทยาศาสตร์หลายเรื่องพร้อมด้วยประสบการณ์ของตนเข้าเป็นหนังสือเล่มนี้ เพื่อเป็นแนวทางปัดเป่าความไม่เป็นธรรม กลายเป็นที่ยึดถือของข้าราชการหลายรุ่นสืบมา ทั้งยังได้รับการแปลหลายภาษา นับเป็นตำราลายลักษณ์อักษรทางนิติวิทยาศาสตร์เล่มแรกของโลก
ในชีวประวัติของซ่งฉือก็เล่าถึงการทุ่มเทกายใจเขียนตำราเหล่านี้เพื่อเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง โดยเฉพาะการให้ตรวจสอบศพและบาดแผล ว่าด้วยวิธีชันสูตรพลิกศพ รายละเอียดของศพในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากการตายในหลายสาเหตุ และวิธีจัดการกับบาดแผลบางประเภท
ในเล่มยังอธิบายถึงบทบาทของแมลงในทางนิติวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างเช่น มีผู้ถูกแทงตาย ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่นำใบมีดรูปแบบต่าง ๆ มาทดลองกับซากสัตว์ ก็รู้ได้ว่าแผลแทงนั้นเกิดจากเคียว จึงสั่งให้ชาวบ้านทุกคนมารายงานตัวพร้อมนำเคียวมาด้วย ฝูงแมลงวันหัวเขียวพากันตอมเคียวเล่มหนึ่งเพราะเนื้อเยื่อและกลิ่นเลือดจากศพยังติดอยู่แม้มองไม่เห็นแล้วก็ตาม เจ้าของเคียวตกใจและรับสารภาพ เป็นต้น
หนังสือมีทั้งหมด 6 ตอน เปิดตัวด้วยที่มาที่ไปของซ่งฉือ การตายของบิดาทำให้เขาสนใจการชันสูตรศพ เริ่มแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง และจากตำรามากมาย คดีส่วนใหญ่ในเรื่องอาจไม่หวือหวาเพราะเป็นคดีชาวบ้าน แต่เราอ่านสนุก รู้สึกเข้าถึงง่าย อาจจะเพราะผู้เขียนสอดแทรกวิถีคนพื้นถิ่นให้รับรู้ความเป็นมาเป็นไป รวมทั้งแฝงแนวคิดคุณธรรมและจริยธรรมไว้อย่างแนบเนียนด้วย
เป็นหนังสือชีวประวัติที่มีนางเอกนะคะ 555 แต่ออกแนวสนับสนุนอยู่เบื้องหลังมากกว่า เพราะนางเอกของเรื่องก็คือฮูหยินของซ่งฉือนั่นเอง เปิดตัวมาก็แต่งงานมีบุตรสาวด้วยกันแล้ว แรก ๆ จะเพียงเอ่ยถึงไม่มาก แต่พออ่านไปจะรู้ว่าเป็นสตรีที่คอยให้กำลังใจ คอยสะกิด กระตุ้น ให้สามีใช้ชีวิตอย่างเปี่ยมความหมาย แต่ไม่ใช่ยอมหักไม่ยอมงอ สามีต้องไปรับตำแหน่งเมืองชายขอบหลายปี นางก็ดูแลเรือน ดูแลลูกอย่างสงบเสงี่ยม
หนังสือเล่าเรื่องของซ่งฉือตั้งแต่วัยหนุ่ม วัยรับราชการจากตำแหน่งเล็ก ๆ สู่ตำแหน่งใหญ่ในราชสำนัก กระทั่งสิ้นอายุขัย พบเจอเรื่องราวมากมายทั้งสุข เศร้า ผิดหวัง สมหวัง แต่ไม่เคยยอมแพ้ต่ออุปสรรค แผ้วถางหนทางใหม่ให้ชีวิตตนและครอบครัวดีขึ้นกว่าเดิมให้จงได้
นอกจากจะได้รับอรรถรสในการสืบสวนสอบสวนไขคดีแบบชาวบ้านด้วยวิธีคิดที่ละเอียดลออ จำแนกแจกแจงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เรายังได้เรียนรู้วิธีใช้ชีวิตแบบซ่งฉือที่สะสมความรู้เพื่อรอโอกาสและจังหวะที่เหมาะสม ถ้าพลาดโอกาสนี้ไป ก็ยินดีรอโอกาสใหม่ด้วยหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ และเพิ่มความรู้ให้ตัวเองต่อไปเพื่อรอวันนั้น
คะแนนเต็มสิบ ให้ 10 ดีทุกตรง ยกความดีความชอบส่วนสำคัญให้ผู้แปล-คุณชาญ ธนประกอบ สำนวนและคลังคำไพเราะสละสลวยอย่างยิ่ง บางครั้งใช้คำง่าย ๆ แต่ตราตรึงใจมาก อ่านลื่นไหล ราบรื่น ตลอดเล่ม ประทับใจจริง ๆ ค่ะ
โฆษณา