20 ธ.ค. 2024 เวลา 13:25 • ธุรกิจ

แผนผังก้างปลา (Fishbone Diagram)

แผนผังก้างปลา หรือ Fishbone Diagram หรือ Cause and Effect Diagram หรือ Ishikawa Diagram ถูกคิดค้นขึ้นโดยศาสตราจารย์ อิชิกาว่า เมื่อครั้งรวบรวม 7 QC Tools ขึ้นเป็นครั้งแรก แผนผังก้างปลาใช้สำหรับแยกแยะสาเหตุที่น่าจะทำให้เกิดปัญหา โดยให้สาเหตุหลักเป็นก้างปลา และให้หัวปลาเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากสาเหตุนั้น
เนื่องจากสาเหตุที่ระบุล้วนมาจากการคาดเดา ประสบการณ์ และข้อมูลบางส่วน การเขียนแผนผังก้างปลาจึงต้องใช้วิธีระดมสมอง (Brainstorming) จากทีมงานทั้งหมด ไม่ใช่เขียนขึ้นโดยความคิดของผู้รับผิดชอบเพียงคนเดียว
แผนผังก้างปลาแบบคลาสสิค
แผนผังก้างปลานิยมใช้หลัก 4M นั่นคือ Man Machine Method และ Material นำมาตั้งเป็นก้างปลาหลัก (ในหลายหน่วยงานอาจลดจำนวนก้างหลักลง จาก 4 เป็น 3 ได้ ขึ้นอยู่กับตัวประกอบที่น่าจะทำให้เกิดปัญหา) จากนั้นแยกแยะหัวข้อที่น่าจะเป็นสาเหตุลงไปยังก้างหลักต่าง ๆ แล้วแตกย่อยเป็นก้างเล็กก้างน้อยตามสาเหตุนั้น ๆ โดยใช้หลักถามว่าทำไม หรือ Why Why ให้ได้มากที่สุด หรือ 5 ครั้ง เพื่อจะได้เป็นการถามไปจนถึงต้นตอของปัญหา
แผนผังก้างปลาแบบแอดวานซ์
ปัจจุบันการผลิตมีความซับซ้อนมากขึ้น เฉพาะ 4M อาจไม่เพียงพอในการหาสาเหตุ จึงได้มีการเพิ่ม M อีก 2 ตัวลงไป นั่นคือ Measurement (การวัดหรือเครื่องมือวัด) และ Mother Nature (หรือ Environment) เพื่อให้สาเหตุมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และเมื่อมีก้างหลักมากขึ้น ก้างย่อยก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นด้วย
การนำรายละเอียดที่ได้จากการระดมสมองมาลงไว้ในกระดาษ A4 อาจทำให้กระดาษเปรอะไปด้วยตัวอักษรและเส้นก้างปลา ประกอบกับทุกวันนี้การ presentation ด้วยจอคอมพิวเตอร์นิยมมากขึ้น การทำให้เป็นระเบียบโดยใช้ Tree Diagram ผ่านทาง PowerPoint หรือ Excel Sheet แตกย่อยออกไปทำให้แผนผังดูเป็นระเบียบและน่าดูยิ่งขึ้น
โฆษณา