20 ธ.ค. เวลา 14:51 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี

ชื่อของทาสในซากึก อาจบอกเรื่องราวบางอย่าง

#คลังศัพท์ซากึก ถ้าใครได้ดูซีรี่ส์เรื่อง The Tale of Lady Ok จะเห็นว่านางเอกของเรามีชื่อทาสว่า ‘กูด็อกอี’ ซึ่งคุณหนูโซฮเย เจ้านายเก่าของนางได้ตั้งไว้เพราะมองว่านางเป็นแค่หนอนแมลงวันใช่ไหมคะ นั่นแหละค่ะ สาเหตุที่แอดมินอยากทำคอนเท้นนี้ เพราะว่าตัวละครหลายๆเรื่องที่พวกบ่าวทาสไม่ได้เป็นตัวเอก คนก็อาจจะไม่สนใจชื่อที่ดูฟังดูไม่ไพเราะเท่าไหร่สำหรับตัวละครเหล่านี้
แต่นี่แหละ คือชื่อที่คนสมัยโชซอนจะตั้งชื่อบ่าวไพร่ในเรือน ซึ่งมีทั้งความหมายที่ดีและความหมายที่ไม่ดี ส่วนใหญ่จะเป็นคำง่ายๆในภาษาเกาหลีไม่สามารถแปลเป็นความหมายที่ไพเราะในตัวอักษรฮันจาของภาษาจีนได้ค่ะ
มีตัวอย่างจากเรื่อง Uprising พระเอกชื่อ “ชอนยอง” นายน้อยอีจงรยอไม่รู้ว่าเป็นชอนยองที่มาจากอักษรฮันจาตัวใด จึงได้แปลชื่อชอนยองโดยใช้ตัวเขียนว่า 踐影
踐(천): ก้าว, เหยียบย่าง 影(영): เงา เพื่อให้กลายเป็นเพียงเงาที่คอยติดตามเขา
แต่เมื่อชอนยองไปอยู่กับท่านคิมจารยอง เขาดันบอกให้ชอนยองใช้ตัวอักษรฮันจา 天 (천): ท้องฟ้า, สวรรค์ ซึ่งเป็นตัวอักษรที่สื่อถึงสิ่งสูงส่ง ท้องฟ้า หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความยิ่งใหญ่และความกว้างใหญ่ และ 煐 (영): ส่องแสง, เปล่งประกาย, รุ่งโรจน์ ซึ่งเป็นตัวอักษรที่สื่อถึงแสงสว่าง ความเจิดจรัส หรือการส่องแสงที่สวยงาม ดังนั้น ชอนยองซึ่งเขียนว่า 天煐 ให้ความรู้สึกถึงความสูงส่ง งดงาม และมีชีวิตชีวา เหมาะกับการใช้เพื่อสื่อถึงบุคคลที่มีความพิเศษ โดดเด่น หรือมีความหมายลึกซึ้งเชิงกวี
นั่นหมายความว่า ทัศนคติในการมองคนที่อยู่ชนชั้นต่ำกว่าของคิมจารยองนั้นดีงามมากกว่าอีจงรยอ
ตัวอย่างการตั้งชื่อบ่าวไพร่ที่ค่อนข้างให้เกียรติ เช่นนายหญิงโจยอฮวา จากเรื่อง Knight Flower ตั้งชื่อสาวรับใช้ของตนว่า “ยอนซอน” ซึ่งเป็นชื่อที่สะกดด้วยตัวฮันจาเหมือนกับ จองจีอุน ใน The King's Affection ตั้งให้ “ดัมอี”
ซึ่งชื่อนี้สามารถแปลได้ตามความหมายของตัวอักษรฮันจาว่า 연(蓮): "ดอกบัว" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความสง่างาม และความสงบในวัฒนธรรมเกาหลี และ 선(膳): "อาหารที่ดี" หรือ "สำรับอาหาร" ซึ่งในความหมายลึกซึ้งอาจสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ ความใส่ใจ หรือการดูแล ดังนั้นความหมายรวมๆคือ "ดอกบัวอันงดงามและอุดมสมบูรณ์" หรือ "ความงามบริสุทธิ์และการดูแลเอาใจใส่อย่างดี" ชื่อนี้จึงให้ความรู้สึกถึงความสง่างาม ความละเอียดอ่อน และความปรารถนาดีในชีวิต
เรียกได้ว่าเป็นการตั้งชื่อที่ยกระดับให้คนมีความเท่าเทียมกันมากค่ะ น่าชื่นชมตัวละครเหล่านี้นะคะ
แล้วตัวอย่างการตั้งชื่อที่ “เหยียด” แบบน่าด่าเลยล่ะมีมั้ย? แน่นอนว่าคงไม่มีแค่คุณหนูโซฮเยนายเก่าของกูด็อกอีคนเดียวที่เป็น ยังมีคุณหนูบ้านอื่นอีก เช่น “สนมโจ” จากเรื่อง Bloody Heart ที่ตั้งชื่อสาวใช้ของนางว่า “ตงกึม” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ขี้สีทอง”
อ่อ ชื่อเหยียดขนาดนี้ เข้าใจละทำไมตงกึมถึงรักสนมพัคมากกว่าสนมโจ ในเมื่อเค้ามองเธอเป็นขี้ขนาดนี้ล่ะนะ
แล้วการตั้งชื่อที่กลางๆ ไม่เชิงบวกเชิงลบล่ะ อันนี้ก็มี ขอพูดถึงสาวใช้หญิงก่อน “ซาวอล” จากเรื่อง The Story of Park's Marriage Contract ซึ่งชื่อของเธอแปลโต้งๆได้เลยว่า “เดือน 4” นั่นก็คือเดือนเมษายนในยุคปัจจุบันนั่นเอง เมื่อซาวอลวาร์ปมาในยุคปัจจุบันตามคุณหนูพัคยอนอู เลขาฮงก็เลยชอบเรียกเธอว่า “April” อยู่บ่อยๆ
กรณีแบบนี้มักเกิดจากการที่ชนชั้นสูงได้ให้กำเนิดบุตรสาว จึงมักจะรับเด็กผู้หญิงจากชนชั้นไพร่มาให้ช่วยดูแลและเป็นเพื่อนเล่นกับลูกสาวของตน เพราะชาวชนชั้นสูงในโชซอนจะมีกฎว่า เด็กผู้หญิงเมื่ออายุถึง 7 ขวบ จะถูกแยกไปอาศัยอยู่เรือนชั้นในของบ้าน ไม่สามารถออกมาวิ่งเล่นปะปนอยู่กับเหล่าเด็กผู้ชายหรือสุงสิงกับพวกไพร่ทาสมากนัก จึงต้องมีสาวใช้หญิงที่อายุเท่ากันกับคุณหนู อาศัยอยู่ด้วยกันที่เรือนใน และคอยไปทำธุระจิปาถะให้
ซึ่งด้วยความที่ปีเกิดนางจะผูกติดอยู่กับคุณหนู จึงทำให้ชื่อตัวจึงกลายเป็นชื่อของเดือนไปโดยปริยาย
กรณีของสาวใช้ “โอวอล“ ของคุณหนูชเวมยองยุน ใน Missing Crown Prince ก็ใช้หลักการเดียวกัน เธอเกิดในปีเดียวกับคุณหนู ใน “เดือน 5” ซึ่งก็คือ เดือนพฤษภาคม ในปัจจุบันนั่นเอง
ในกรณีคนรับใช้ชาย เราอาจจะได้ยินชื่อที่ลงท้ายด้วย ‘ซเว’ อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะ “ทลซเว” จากเรื่อง Durian's Affair มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ในภาษาเกาหลีโดยตรงมากกว่าการมีตัวแปลด้วยอักษรฮันจา โดย ทล (돌) หมายถึง “หิน” หรือ “ก้อนหิน” ซึ่งสื่อถึงความแข็งแกร่ง ความอดทน และความเรียบง่าย และ ซเว (쇠) หมายถึง “เหล็ก” หรือ “โลหะ” ซึ่งสื่อถึงความแข็งแกร่ง ความทนทาน และพละกำลัง
ทลซเวจึงสามารถแปลได้ว่า ”คนที่แข็งแกร่งและอดทนเหมือนหินและเหล็ก” ซึ่งสะท้อนถึงบุคลิกของคนรับใช้ชายในยุคโชซอนที่ต้องมีความอดทนและแข็งแรงในการทำงานหนัก
และอีกความหมายถึงของ ซเว คือนอกจากจะเป็นเหล็กแล้ว ยังหมายถึงความซื่อสัตย์ด้วยค่ะ ก็เลยเป็นเหตุผลที่คนรับใช้ชายตามซากึก มีชื่อลงท้ายด้วย ‘ซเว’ อยู่บ่อยๆ เพราะเจ้านายคาดหวังในความซื่อสัตย์ของบ่าวคนนี้เป็นอย่างมากนั่นเอง
โดยสรุป แอดอยากจะบอกว่า ถ้ามีโอกาสได้ตามดูซีรีส์แนวซากึกมากๆ อยากให้สังเกตชื่อของตัวละครที่เป็นบ่าวเป็นทาสบ้าง แล้วคุณจะเจอสปอยบางอย่างที่มันออกมาจากชื่อของพวกเขา รวมถึงท่าทีของเจ้านายเขาด้วย จะเป็นคนดีหรือไม่ดี หรือกลางๆ ก็ย่อมดูออกแค่จากการแปลชื่อเลยจ้า
#TheTaleOfLadyOk #Uprising #KnightFlower #BloodyHeart #TheStoryofParksMarriageContract #DuriansAffair
#ลูกเป็ดอ้วนเล่าซากึก
โฆษณา