21 ธ.ค. 2024 เวลา 11:00 • ไลฟ์สไตล์

“เงินไม่ใช่ทุกอย่าง แต่สุขภาพจิตของคุณขึ้นอยู่กับมันมากกว่าที่คิด”

รวม 5 พฤติกรรมการเงินที่สร้าง ‘กับดัก’ สุขภาพจิต และ 5 วิธีแก้ไข เพื่อชีวิตที่สมดุลและมีความสุข
แม้ว่าเงินอาจไม่สามารถซื้อความสุขได้โดยตรง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สุขภาพทางการเงิน และ สุขภาพจิต นั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยสำคัญ ในยุคที่ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น หลายคนอาจพบว่าความเครียดทางการเงินส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตอย่างรุนแรง
ผลสำรวจจาก American Psychological Association (APA) เปิดเผยว่า “เงิน” เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ใหญ่เกิดความเครียด และยังสะท้อนให้เห็นว่าความไม่มั่นคงทางการเงินส่งผลต่อทั้งจิตใจและร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ หรือแม้กระทั่งภาวะซึมเศร้า
[ ใครเครียดเรื่องเงินกันบ้าง? 🙋🙋‍♀️ ]
ข้อมูลจาก Bankrate พบว่า 51% ของผู้หญิง ระบุว่าเรื่องเงินส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพจิต ในขณะที่กลุ่ม Gen X (อายุ 44-59 ปี) ต้องเผชิญความเครียดสูงสุด เพราะเป็นช่วงวัยที่ต้องสร้างเครดิต ควบคู่ไปกับการวางแผนเกษียณ ขณะที่ Baby Boomers กลับมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพตัวเองและเหตุการณ์ปัจจุบันมากกว่าเรื่องการเงิน
ปัญหาเรื่องอัตราเงินเฟ้อเป็นปัญหาหลักที่ชาวอเมริกันกังวลติดต่อกันมากว่า 1 ปี ผลสำรวจปีล่าสุด (2024) ผู้คนยังคงโหวตให้เงินเฟ้อเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบต่อสภาพจิตใจของพวกเขา ที่ 65% รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ) 59% และ เงินออมฉุกเฉินไม่เพียงพออีก 56%
เมื่อความกดดันเหล่านี้สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลายคนพบว่า แม้จะพยายามปรับตัว ก็ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากความเครียดทางการเงินได้
[ พฤติกรรมการเงินที่สร้าง “กับดัก” สุขภาพจิต 😅 ]
📍 #ภาวะเครียดจากหนี้ (Debt Stress Syndrome)
หนี้สิน โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตหรือค่าบ้าน ทำให้หลายคนรู้สึกเหมือนถูก “พันธนาการ” ไม่ว่าจะตื่นนอนหรือเข้านอน ภาระหนี้กลายเป็นความกังวลที่ตามหลอกหลอน
📍 #เก็บเงินจนเครียด (Money Dysmorphia)
แม้การมีเงินเก็บจะช่วยสร้างความมั่นคงในชีวิต แต่สำหรับบางคน การย้ำคิดเรื่องเงินออมจนไม่กล้าใช้เงินเลย กลับนำมาซึ่งความเครียดรูปแบบใหม่ คนกลุ่มนี้มักหลงลืมความสุขในปัจจุบัน และโฟกัสเฉพาะอนาคตมากเกินไป
📍 #รายได้เพิ่มใช้จ่ายเพิ่ม (Lifestyle Creep)
พฤติกรรมที่ทุกครั้งที่มีรายได้เพิ่ม กลับยกระดับไลฟ์สไตล์จนเกินตัว เช่น การซื้อบ้านหรู รถใหม่ หรือค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ผลลัพธ์คือไม่มีเงินเก็บเพียงพอรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
📍#การนอกใจเพราะสถานะทางสังคม (Money, Masculinity, and Marital Infidelity)
มีบทความจาก มหาวิทยาลัยคอนเนกติคัต เรื่อง Her Support, His Support: Money, Masculinity, and Marital Infidelity. ที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Sociological Review พบว่า คู่แต่งงานหนุ่มสาวที่สามีต้องพึ่งพิงเงินของภรรยา มีแนวโน้มที่จะนอกใจมากกว่าคู่แต่งงานที่สามีมีรายได้มากกว่าหรือเท่ากับฝ่ายหญิง
ส่วนสาเหตุของการนอกใจ เป็นเพราะสามีไม่สามารถแสดงอำนาจผ่านการเป็นหัวหน้าครอบครัว ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เขาจึงเลือกใช้วิธีอื่นแสดงออกถึงความเป็นเพศชาย ด้วยการคบชู้ หรือ มีคู่นอนหลายคนแทน (นี่เป็นเพียงกรณีศึกษา ไม่ได้หมายความทุกคู่จะต้องมีปัญหานะ)
📍 บ่อนทำลายความไว้ใจ ด้วยการ #ปกปิดเรื่องการเงิน (Financial Infidelity)
หมายถึงการที่คู่รักหรือคู่สมรสปิดบังหรือไม่เปิดเผยข้อมูลทางการเงินต่อกัน เช่น การมีหนี้สินที่ไม่ได้บอก การใช้จ่ายเงินจำนวนมากโดยไม่แจ้ง หรือการซ่อนบัญชีธนาคาร สิ่งเหล่านี้อาจทำลายความไว้วางใจในความสัมพันธ์ได้
[ 5 วิธีเสริมสุขภาพจิตและลดความเครียดจากเงินตรา ⭐️ ]
1.ทำบัญชีรายรับ - รายจ่าย:
หนึ่งในวิธีลดความเครียดและวางแผนการเงินง่ายๆ นั่นก็คือการจัดทำงบประมาณ เรื่องนี้เป็นรากฐานสำคัญของสุขภาพทางการเงิน
เพราะบัญชีรายรับ - รายจ่ายของเราจะช่วยให้เราเข้าใจว่าเงินถูกใช้ที่ไหน และสามารถระบุจุดที่สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ อีกทั้งการมีงบประมาณที่ชัดเจนช่วยลดความกังวลจากสิ่งที่ไม่แน่นอนและสร้างความรู้สึกควบคุมได้
2. หักเงินอัตโนมัติเพื่อสร้างกองทุนฉุกเฉิน
การมีกองทุนฉุกเฉินเล็ก ๆ ไว้ใช้จ่ายเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน ช่วยลดความเครียดจากปัญหาการเงินที่ไม่คาดคิด แม้เพียงกองทุนสำหรับค่าใช้จ่ายไม่กี่เดือนก็สามารถสร้างความแตกต่างทางความรู้สึกได้มาก
3. ขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาการเงินสามารถให้คำแนะนำและช่วยบอกกลยุทธ์ในการจัดการเงิน .ส่วนนักบำบัดสามารถช่วยดูแลผลกระทบทางอารมณ์ที่เกิดจากความเครียดทางการเงิน
* บางครั้งการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญจะเปิดมุมมองใหม่ ๆ และวิธีการรับมือที่ดีกว่าเดิม
4. การฝึกสติ เช่น การทำสมาธิหรือเขียนบันทึก จะช่วยให้เราจัดการผลกระทบทางอารมณ์จากความเครียดทางการเงิน โดยเทคนิคนี้จะช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบัน และลดความกังวลเกี่ยวกับอนาคต
5. เปิดใจพูดคุยเรื่องนี้ตรงๆ กับคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความรู้สึกโดดเดี่ยว บางสถานการณ์เรื่องเงิน เราจำเป็นที่จะต้องคุยกันให้เคลียร์ เพราะการพูดคุยด้วยเหตุผลและความเข้าใจ จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงปัญหาที่ค้างคาใจ
หรือในกรณีของชีวิตคู่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่แก้ไขได้ยากในภายหลัง เราควรเปิดใจคุยกันถึงเรื่องทรัพย์สินและหนี้สิน เพื่อจะได้รับรู้ร่วมกัน และช่วยกันตัดสินใจว่าคู่เราควรวางแผนการใช้เงินร่วมกันอย่างไรดี
🔚 การเงินและสุขภาพจิตคือสิ่งที่เกี่ยวโยงกันอย่างลึกซึ้ง หากเราดูแลทั้งสองด้านอย่างสมดุล ชีวิตที่มีความสุขและมั่นคงก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อม 💡
2
#aomMONEY #ปัญหาการเงิน #การเงินส่วนบุคคล
โฆษณา