เมื่อวาน เวลา 12:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“การลงทุนแบบเดิมๆ ไม่ทำให้คุณรวยขึ้นหรอก” จริงเหรอ?

2 เรื่องที่นักลงทุนเงินถุงเงินถังรุ่นใหม่ มักทำพลาดเป็นประจำ จากมุมมองของนักวางแผนการเงิน
‘การลงทุน’ เป็นหนึ่งในวิธีสร้างความมั่งคั่งที่ได้รับความนิยมมาหลายยุคหลายสมัย แต่สำหรับนักลงทุนรุ่นใหม่ ความเข้าใจในแนวทางการลงทุนมักแตกต่างจากรุ่นก่อนหน้าอย่างมาก
ซึ่งบางครั้งอาจนำไปสู่ความผิดพลาดสำคัญที่ขัดขวางการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว และนี่คือ 2 เรื่องที่นักลงทุนรุ่นใหม่มักพลาดเป็นประจำ
จากการศึกษา Wealthy Americans ของ Bank of America Private Bank ประจำปี 2024 พบว่าในกลุ่มคนอายุระหว่าง 21 ถึง 43 ที่มีสินทรัพย์ลงทุนได้อย่างน้อย 3 ล้านดอลลาร์ มีเพียง 28% เท่านั้นที่บอกว่าสามารถรับผลตอบแทนจากหุ้นและพันธบัตรได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย
ทว่า ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 44 ปีขึ้นไป พบว่า 72% บอกว่าแนวทางการลงทุนแบบดั้งเดิม (classic investing practices) ใช้ได้ผลดี และ 84% ของคนนักลงทุนรุ่นเดอะนี้ มองว่า “หุ้นทั้งในและต่างประเทศ” เป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการเติบโตของการลงทุนจากรายการสินทรัพย์ประเภทต่างๆ
ในขณะที่นักลงทุนที่ร่ำรวยและอายุน้อย หุ้นจะตามมาเป็นท้ายๆ โดยการลงทุนที่คนรุ่นใหม่มองเป็นการลงทุนที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงสุด 3 อันดับได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ สกุลเงินดิจิทัล และ Private equity (หุ้นนอกตลาด)
แบรด คลอนต์ซ (Brad Klontz) ) นักวางแผนการเงินที่ได้รับการรับรองและเป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาการเงินที่มหาวิทยาลัย Creighton ได้กล่าวไว้ว่า
“โดยพื้นฐานแล้ว คนอายุมากจะมีรายการการลงทุนที่แม่นยำกว่า โดยจากการศึกษาทั้งหมดที่ผมทำแสดงให้เห็นว่ายิ่งเราอายุมากขึ้น ความเชื่อของเราเกี่ยวกับเงินก็จะยิ่งมีคุณภาพที่ดีมากขึ้น เพราะพูดตรงๆ ว่าเราเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ยากลำบาก”
คลอนต์ซ กล่าวว่านักลงทุนที่ร่ำรวยและอายุน้อยอาจตกเป็นเหยื่อของอคติทางความคิดบางประการเช่นเดียวกับนักลงทุนทั่วไป และอคติดังกล่าวอาจทำให้พวกเขาไม่รักษาหรือเพิ่มผลตอบแทนให้ทำกำไรสูงสุดได้
และต่อไปนี้คือข้อผิดพลาดสำคัญ 2 ประการที่แบรด คลอนต์ซ พบเจอเกี่ยวกับนักลงทุนที่ร่ำรวยในยุคใหม่
🔍 1. มองข้ามคำแนะนำแบบดั่งเดิม (Ignoring Traditional Advice)
นักลงทุนรุ่นใหม่หลายคนมักหลีกเลี่ยงคำแนะนำแบบดั้งเดิม โดยเชื่อว่าวิธีการลงทุนในยุคปัจจุบันนั้นแตกต่างจากในอดีต ความคิดนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย
“ความต้องการที่จะท้าทายภูมิปัญญาดั้งเดิมถือเป็นช่วงพัฒนาการที่สำคัญ” คลอนท์ซกล่าว
“คนหนุ่มสาวในโซเชียลมีเดียบอกกับผมว่า [คำแนะนำการลงทุนแบบดั้งเดิม] มันใช้ไม่ได้แล้ว ทุกอย่างเปลี่ยนไป และนี่เป็นสิ่งที่ผู้คนพูดกันมาตลอดหลายพันปี”
นักลงทุนรุ่นเก่ามักชื่นชอบผลตอบแทนจากหุ้น เพราะประวัติศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าหุ้นสามารถให้ผลตอบแทนได้จริง นอกจากนี้ หลายคนอาจเคยพยายาม และล้มเหลว ในการค้นหาวิธีสร้างความมั่งคั่งที่รวดเร็วและดีกว่า
“ถ้าคุณถามผมว่าทำยังไงให้มั่งคั่งได้เร็วกับผมตอนผมอายุ 20 ผมอาจจะตอบว่าก็ไปเทรดรายวัน (Day trade) สิ แต่ตอนนี้ผมเรียนรู้แล้วว่า ถ้าคิดแบบนั้นผมจะสูญเสียเงินทั้งหมดไปกับมัน”
คลอนท์ซพบว่าความกระตือรือร้นของนักลงทุนรุ่นใหม่ต่อคริปโทเคอร์เรนซีสะท้อนเรื่องราวคล้ายกันกับการเทรดรายวันของเขา มันก็จริงที่คริปโทฯ มอบผลตอบแทนมหาศาลให้กับบางคน แต่ก็ทำลายพอร์ตของอีกหลายคนที่เก็งกำไรในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงมาก
“เมื่อพูดถึงวิธีการลงทุนที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว มันคือเกมระยะยาวอย่างแท้จริง และเมื่อผมได้ยินผู้คนพูดถึงคริปโทฯ และสินทรัพย์ทางเลือกอื่น ๆ นั่นแสดงถึงวิธีคิดแบบเกมระยะสั้น ซึ่งพวกเขาอาจสนใจที่จะหาเงินให้ได้เร็วขึ้น”
🔍 2. หมกมุ่นกับการลงทุนที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์โดดเด่น (Obsessed with Status)
คลอนท์ซชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนรุ่นใหม่ที่ร่ำรวยในสหรัฐฯ มักให้ความสำคัญกับ “ความพิเศษเฉพาะตัว” (exclusivity) ในการเลือกการลงทุนของพวกเขา
การลงทุนที่ได้รับความนิยมในกลุ่มนี้ ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ กองทุน private equity และการลงทุนตรงในบริษัทต่าง ๆ ซึ่งล้วนต้องการเงินทุนระดับสูงที่นักลงทุนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ ตัวอย่างเช่น การซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนจำเป็นต้องใช้เงินสำหรับดาวน์ในจำนวนมาก หรือการลงทุนในกองทุน private equity ที่จำเป็นต้องมีสถานะเป็น “นักลงทุนที่ได้รับการรับรอง” (accredited investor) ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึงการมีรายได้มากกว่า $200,000 ต่อปี หรือสินทรัพย์สุทธิสูงกว่า $1 ล้าน
แนวคิดที่ว่า “การลงทุนที่เข้าถึงยากย่อมต้องดีกว่าสินทรัพย์ทั่วไป” เป็นสิ่งที่พบได้บ่อย แต่ในความเป็นจริง ความเชื่อเช่นนี้ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป
คลอนท์ซอธิบายว่า การลงทุนในสินทรัพย์ทั่วไป เช่น S&P 500 ซึ่งสะท้อนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งหมด สามารถทำได้ง่ายและต้นทุนต่ำ โดยใช้เงินเพียงไม่กี่ดอลลาร์พร้อมค่าธรรมเนียมเล็กน้อยผ่านกองทุน ETF (Exchange-Traded Fund)
นอกจากนี้ ผลตอบแทนจาก S&P 500 ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าสูงกว่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยในสหรัฐฯ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ พบว่า ธุรกิจขนาดเล็กครึ่งหนึ่งล้มเหลวภายใน 5 ปีแรก
แม้กองทุน private equity จะมีความน่าสนใจในบางแง่มุม แต่โดยทั่วไปแล้ว การลงทุนในกองทุนเหล่านี้มักมาพร้อมค่าธรรมเนียมที่สูงถึง 1.5%-2% ของเงินลงทุนต่อปี และส่วนแบ่งกำไรอีก 20% หากเกินเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งค่าธรรมเนียมเหล่านี้สามารถกัดกร่อนผลตอบแทนในระยะยาวได้เลย
อย่างไรก็ตาม คลอนท์ซย้ำว่า ไม่ได้หมายความว่าการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ กองทุน private equity หรือธุรกิจขนาดเล็กจะล้มเหลวเสมอไป สิ่งสำคัญคือการเข้าใจเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการเลือกลงทุน เพื่อให้แน่ใจว่าสอดคล้องกับเป้าหมายที่แท้จริงของแต่ละคน
☁️ “เราทุกคนล้วนให้ความสำคัญกับสถานะของตัวเองโดยธรรมชาติ การปฏิเสธเรื่องนี้ไม่ได้ช่วยอะไร แต่มันบ่งบอกถึงความไม่เติบโตทางจิตใจต่างหาก” คลอนท์ซกล่าว
#aomMONEY #การลงทุน #การเงินส่วนบุคคล
โฆษณา