Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
coffeetravelermag
•
ติดตาม
21 ธ.ค. เวลา 02:56 • ท่องเที่ยว
13TH ANNIVERSARY BLEND EP2 : ผาฮี้ กาแฟดีกลางหุบเขา
กาแฟของบ้านผาฮี้ เป็นกาแฟที่ปลูกในป่าบนภูเขาสูง ห่างจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 - 1,400 เมตร จึงทำให้ที่นี่เป็นแหล่งผลิตอาราบิกาคุณภาพ ที่มีรสชาติโดดเด่น
ตั้งอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย - เมียนมา และพื้นที่ส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาดอยตุง ผาฮี้ เป็นหมู่บ้านที่ขึ้นชื่อเรื่องบรรยากาศที่สวยงาม สายหมอกยามเช้าที่สดชื่น และกาแฟคุณภาพเกรดพรีเมียม ที่ปลูกด้วยมือชาวอาข่า ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงของดอยผาฮี้ ตำบลโป่งงาม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย สถานที่ที่คอกาแฟต่างก็รู้จักกันดี ในฐานะแหล่งปลูกกาแฟที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาดอยตุง จนทำให้กาแฟกลายเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้คนในหมู่บ้านจนมีชื่อเสียงโด่งดัง
กาแฟของบ้านผาฮี้ เป็นกาแฟที่ปลูกในป่าบนภูเขาสูง ห่างจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 - 1,400 เมตร จึงทำให้ที่นี่เป็นแหล่งผลิตอาราบิกาคุณภาพ ที่มีรสชาติโดดเด่น แต่กว่าจะมาเป็นแหล่งกาแฟคุณภาพชั้นยอด ชาวอาข่าหมู่บ้านผาฮี้ก็ผ่านการเดินทางและเรื่องเล่ามากมายไม่น้อยไปกว่าแหล่งอื่น โดยย้อนหลังไปเมื่อราวปี พ.ศ. 2465 บรรพบุรุษของชาวอาข่าผาฮี้ ได้อพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน ในยุคสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมจีน
โดยเข้ามาตั้งถิ่นฐานในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ต่อมาได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ตรงข้ามบ้านผาขาว ใกล้แนวตะเข็บชายแดนไทย - เมียนมา บริเวณดอยช้างมูบ ก่อนจะย้ายมาอยู่ตรงข้ามบ้านนาแก ประเทศเมียนมา ใกล้ ๆ อำเภอแม่สาย และย้ายถิ่นที่อยู่อีกครั้ง ในปี 2485 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อย้ายมาอยู่ที่บ้านห้วยน้ำริน ซึ่งในขณะนั้นมีชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ 11 ครอบครัวเท่านั้น
ชาวอาข่าผาฮี้ อาศัยอยู่ที่บ้านห้วยน้ำรินได้ประมาณ 7 ปี ก่อนที่นายอาเพียว และนางอาบะ พรจรัสโชติ จะพาครอบครัวและพี่น้องประมาณ 7 ครอบครัวมาก่อตั้งหมู่บ้านใหม่ ในตำแหน่งหมู่บ้านปัจจุบัน โดยเดิมทีหมู่บ้านนี้มีชื่อว่า “บ้านจะโคอาข่า” ที่หมายถึงดอยช้างมูบ ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้าน ก่อนจะมีคนเห็นว่าสภาพแวดล้อมของหมู่บ้าน เต็มไปด้วยไม้เสี้ยวป่า หรือที่ในภาษาเมืองเรียกว่า ต้นผักฮี้ และหน้าผาจำนวนมาก ชาวพื้นราบบริเวณนั้น จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านผาฮี้” นับตั้งแต่นั้นมา
ในยุคแรกของบ้านผาฮี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะปลูกข้าวไร่กับข้าวโพดไว้รับประทานในครัวเรือน และปลูกฝิ่นเป็นอาชีพหลัก แต่ด้วยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงต้องการพลิกฟื้นผืนป่าเสื่อมโทรม และแก้ปัญหาการปลูกฝิ่น จึงได้มีการส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชอื่นทดแทน รวมไปถึงการปลูกกาแฟ เพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้กับชาวเขาในหมู่บ้านแถบนี้
โดยกาแฟสายพันธุ์แรกเริ่มที่เข้ามาในหมู่บ้าน จะเป็นสายพันธุ์โรบัสตา ที่ชาวบ้านได้รับพระราชทานเมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จเยือนหมู่บ้านผาหมีเมื่อราว 50 ปีก่อน และในฐานะลูกหลานที่เติบโตมาท่ามกลางจุดเปลี่ยนสำคัญนี้ พี่ดำรง (ดำรง ชื่นวิไลทรัพย์) ผู้ก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “ผาฮี้อาราบิกา” จึงได้มาบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของหมู่บ้าน
และเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของกาแฟผาฮี้ พร้อมเปิดสวนให้ชมต้นกาแฟสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ผ่านการลองผิดลองถูก และทุ่มเทพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งตลอดเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ ที่พี่ดำรงก้าวเข้าสู่เส้นทางการเป็นเกษตรกรกาแฟ
โครงการพัฒนาดอยตุงเข้ามาเปิดแปลงทดลองวิจัยกาแฟในปี 2531 เพื่อถ่ายทอดความคิด และวิธีการปลูกกาแฟ เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคง ให้ชาวไทยภูเขาสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้
“เริ่มแรกกาแฟเข้ามาในหมู่บ้านจริง ๆ เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านเสด็จที่บ้านผาหมี แล้วได้เอากาแฟมาให้ชาวบ้านลองปลูกดู ซึ่งสายพันธุ์ที่ท่านเอามาในวันนั้นคือสายพันธุ์โรบัสตา ตอนนั้นหมู่บ้านผาฮี้เป็นหมู่บ้านบริวารของหมู่บ้านผาหมี ก็เลยได้รับพระราชทานต้นกาแฟมาด้วย แล้วเราก็เอามาปลูกในหมู่บ้าน แต่สมัยนั้นราคาของโรบัสตาค่อนข้างต่ำ ชาวบ้านก็เลยไม่ค่อยนิยมปลูกกันเท่าไร จนกระทั่งเมื่อปี 2531
โครงการพัฒนาดอยตุงก็ได้เริ่มเข้ามา พร้อมนำองค์ความรู้ในการเพาะปลูกกาแฟมาด้วย ประกอบกับมีคนไปรู้มาว่ามีกาแฟสายพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่โรบัสตา ซึ่งก็คืออาราบิกา จึงได้นำมาลองปลูกในหมู่บ้าน แล้วพอเห็นว่าได้ราคาดีกว่า ชาวบ้านจึงได้เริ่มทยอยปลูกกันมากขึ้น พอเวลาผ่านไป อาราบิกาก็เริ่มเข้ามาแทนที่โรบัสตา จนตอนนี้ในหมู่บ้านจะปลูกอาราบิกาเป็นหลัก และเหลือโรบัสตาเพียงไม่กี่ต้นเท่านั้น”
จากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จนไปถึงพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ได้นำโครงการพัฒนาดอยตุงเข้ามาเปิดแปลงทดลองวิจัยกาแฟในปี 2531 เพื่อถ่ายทอดความคิด และวิธีการปลูกกาแฟ เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคง ให้ชาวไทยภูเขาสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ นับแต่วันนั้น ชีวิตของชาวอาข่าในหมู่บ้านผาฮี้ก็เปลี่ยนไป
ปัจจุบันพี่ดำรงได้รับซื้อผลผลิตจากคนในหมู่บ้าน ภายใต้ชื่อกลุ่มวิสากิจชุมชน “ผาฮี้อาราบิกา” ที่มีสมาชิกอยู่ราว 20 คน
“ชีวิตดีขึ้นมากเลย จากที่ไม่รู้เรื่องกาแฟ เราก็ได้เรียนรู้ ชาวบ้านบางคนก็มีโอกาสเข้าไปทำงานในศูนย์วิจัยทดลองกาแฟของโครงการพัฒนาดอยตุง จึงทำให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูกกาแฟมากขึ้น จนสามารถนำความรู้มาพัฒนาต่อยอดให้ผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้น ส่วนตัวผม ผมเริ่มทำกาแฟจริง ๆ ประมาณ 17 ปีที่แล้ว
ในช่วงที่ผมทำงานต่างจังหวัด แล้วทางบ้านต้องการให้กลับมาช่วยงานที่บ้าน ก็เลยได้กลับมาสานต่อสวนกาแฟที่ครอบครัวทำ ตอนนี้ผาฮี้มีอยู่ประมาณ 92 ครัวเรือน ทุกครัวเรือนปลูกกาแฟหมด พื้นที่ปลูกกาแฟทั้งหมู่บ้านมีประมาณ 2,000 ไร่ ผลผลิตถ้าคิดเป็นกะลาได้ประมาณ 200,000 กิโลต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้ 50 % อยู่กับผม”
ปัจจุบันพี่ดำรงได้รับซื้อผลผลิตจากคนในหมู่บ้าน ภายใต้ชื่อกลุ่มวิสากิจชุมชน “ผาฮี้อาราบิกา” ที่มีสมาชิกอยู่ราว 20 คน ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจนี้ เป็นการรวมกลุ่มของเหล่าเกษตรกรในหมู่บ้าน เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ ปุ๋ย และอื่น ๆ โดยมีพี่ดำรงเป็นหัวเรือใหญ่ ที่คอยรับซื้อกาแฟจากบรรดาลูกสวนในราคาที่ยุติธรรม และให้คำแนะนำต่าง ๆ อย่างเหมาะสม นอกจากจะรับซื้อเชอร์รีจากลูกสวนที่อยู่ในกลุ่มวิสาหกิจแล้ว พี่ดำรงยังรับซื้อเชอร์รีจากชาวบ้านคนอื่น ๆ ที่ต้องการขาย แม้จะไม่ได้อยู่ในกลุ่มอีกด้วย
“ตั้งแต่จำความได้พ่อแม่ก็ปลูกกาแฟอยู่แล้ว ก็เลยทำต่อ ๆ กันมา พี่กลับมาช่วยงานพี่ดำรง แบบแยกหน้าที่กันไปเลย เพราะเรามีบ้านสองหลัง คืออยู่ข้างล่าง กับอยู่บนดอย ถ้าเป็นเมื่อก่อนพี่ดำรงต้องทำทุกอย่างคนเดียว ต้องขับรถขึ้น ๆ ลง ๆ มันลำบาก พี่เลยเข้ามาช่วยดูแลสวนกาแฟ เราจะมีการจ้างชาวบ้านมาทำงาน โดยหลังจากเก็บเกี่ยวประมาณมีนา เมษา เราจะจ้างเขามาถางหญ้า แต่งกิ่ง พอปลายเดือนพฤษภา มิถุนา ก็จะใส่ปุ๋ย”
พี่กลับมาช่วยงานพี่ดำรง แบบแยกหน้าที่กันไปเลย เพราะเรามีบ้านสองหลัง คืออยู่ข้างล่าง กับอยู่บนดอย ถ้าเป็นเมื่อก่อนพี่ดำรงต้องทำทุกอย่างคนเดียว ต้องขับรถขึ้น ๆ ลง ๆ มันลำบาก พี่เลยเข้ามาช่วยดูแลสวนกาแฟ
พี่ซัน (สุรศักดิ์ ชื่นวิไลทรัพย์) อดีตพนักงานโรงแรม 5 ดาว ที่ตัดสินใจกลับมาดูแลสวนกาแฟของบ้านเกิด เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระจากงานที่มากขึ้นของพี่ชาย กล่าวในระหว่างเดินชมสวนกาแฟกว่า 15 ไร่ ที่เต็มไปด้วยอาราบิกาหลากหลายสายพันธุ์ ไม่เว้นแม้แต่ เกอิชา นางฟ้ากาแฟ ที่พี่ดำรงได้นำมาทดลองปลูก และขยายพันธุ์มาแล้วกว่า 3 เจน โดยพี่ดำรงได้กล่าวว่า ตัวของพี่ดำรงเรียนจบทางด้านการเกษตร จึงตั้งใจจะใช้ความรู้ที่มี มาพัฒนากาแฟ และสร้างสายพันธุ์ที่จะกลายเป็นกาแฟซิกเนเจอร์ของบ้านผาฮี้ขึ้นมา
และเพื่อให้สามารถทุ่มเทกับการทดลอง ไปพร้อม ๆ กับการดูแลงานส่วนอื่น ๆ จึงได้มอบหน้าที่ดูแลสวนของครอบครัวให้กับพี่ซันที่เป็นน้องชายแท้ ๆ ดูแล โดยพี่ซันจะทำหน้าที่ประหนึ่งลูกสวนคนหนึ่ง ที่ต้องดูแลสวน และดูแลการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อนำไปแปรรูปเป็นกะลา และส่งไปให้พี่ดำรง โดยกะลาที่ส่งไปจะเป็นกะลาเปียก เนื่องจากบนดอยผาฮี้มีแดดน้อย จึงทำให้กะลาแห้งช้า พี่ดำรงจึงต้องนำกะลาไปตากข้างล่าง ก่อนจะนำไปสีเป็นสารต่อไป
พี่ดำรงเรียนจบทางด้านการเกษตร จึงตั้งใจจะใช้ความรู้ที่มี มาพัฒนากาแฟ และสร้างสายพันธุ์ที่จะกลายเป็นกาแฟซิกเนเจอร์ของบ้านผาฮี้ขึ้นมา
“จริง ๆ การที่มีแดดน้อยมันเป็นความพิเศษของที่นี่ เพราะที่นี่จะอยู่ทางตะวันออก พอบ่ายสาม แดดก็จะถูกภูเขาบังจนลับไป ทำให้ที่นี่มีอุณหภูมิเย็นชื้นตลอดทั้งปีประมาณ 18 – 20 องศา แต่ข้อเสียคือตากกะลาไม่แห้งเนี่ยแหละ เราก็เลยต้องเอาลงไปตากข้างล่าง กาแฟของเราให้รสชาติแบบนัตตี้
และมีรสหวานฉ่ำเหมือนคาราเมล แต่ถ้าถามว่าสิ่งที่ทำกาแฟของเราแตกต่างคืออะไร พี่คิดว่ามันคือความสะอาด เราจะไม่พูดว่ากาแฟของเราวิเศษกว่าที่อื่น แต่เรามั่นใจว่าเราทำสะอาดแน่นอน เพราะสำหรับพี่ กาแฟมันต้องคลีนก่อน มันจะได้รสชาติทางธรรมชาติของมัน คือ เป็นกาแฟแบบเบา ๆ สบาย ๆ ดื่มได้ทุกวัน”
พี่ซันได้กล่าวอีกว่า ในตอนแรกที่เปลี่ยนจากงานโรงแรมมาทำสวนกาแฟ พี่ซันค่อนข้างลำบากในหลาย ๆ เรื่อง แต่โชคดีที่ครอบครัวทำมากันอยู่แล้ว ประกอบกับมีพี่ชายคอยให้คำแนะนำ จึงไม่ได้ยากต่อการเรียนรู้มากเกินไป ยิ่งเมื่อเห็นว่ากาแฟที่เขาและพี่ชายพยายามทำ ช่วยสร้างความมั่นคงทางรายได้ และสามารถเปลี่ยนชีวิตให้คนหลาย ๆ ครอบครัว เขาก็ยิ่งรู้สึกภูมิใจในความเหน็ดเหนื่อยที่ได้ลงแรงไป
☕กาแฟ Specialty จากหุบเขาชายแดน
“มันดีมาก ๆ เลย หนึ่งเลยคือเราไม่ใช่แค่ได้ขายอย่างเดียว แต่ได้ช่วยชาวบ้านไปในตัวด้วย เพราะการมีแหล่งขายที่แน่นอน จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้มั่นคงขึ้น”
พี่ดำรงกล่าวถึงการส่งกาแฟที่รับซื้อจากกลุ่มวิสาหกิจและชาวบ้านไปขายตามแหล่งต่าง ๆ โดยหนึ่งในแหล่งที่เป็นคู้ค้ากับพี่ดำรงมายาวนาน และเป็นแหล่งที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านรายได้ให้กับชาวบ้านมากว่า 15 ปี คือ โรงคั่ว Pacamara Coffee Roasters ที่มองเห็นถึงความพิเศษของกาแฟจากหมู่บ้านผาฮี้ และเปลี่ยนให้เมล็ดอาราบิกาของที่นี่ กลายเป็นกาแฟ Specialty ที่คอกาแฟต่างถามหา
“มันเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว ผมส่งตัวอย่างกาแฟไปที่โรงคั่ว Pacamara เป็นปีแรก แล้วคุณซานก็โทรกลับมา ถามว่านี่ใช่กาแฟของผาฮี้จริงไหม ผมก็ตอบว่าจริง แต่ตอนนั้นแกยังไม่ซื้อนะ พอปีต่อมาผมก็ส่งไปอีก แกก็โทรกลับมา ถามว่านี่ใช่กาแฟของผาฮี้จริงไหม ผมก็บอกว่าจริง แต่แกก็ยังไม่ซื้อ
ปีต่อมาผมก็ส่งไปเหมือนเดิม แล้วแกก็โทรกลับมาเหมือนเดิม แต่ที่ไม่เหมือนเดิมคือครั้งนี้แกขับรถมาที่ผาฮี้ มาดูกาแฟที่นี่ด้วยตัวเองเลย แล้วเราก็ได้เริ่มทำการซื้อขายกันในปีนั้นแหละ ซึ่งเป็นปีที่ 3 ของการพูดคุย จากวันนั้นก็ผ่านมาประมาณ 15 ปีแล้ว ที่เราก็ยังคงทำงานด้วยกันมาเรื่อย ๆ”
จากความตั้งใจของคุณซาน (ชาตรี ตรีเลิศกุล) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Pacamara ที่ต้องการตามหาและรวบรวมเมล็ดกาแฟชั้นดีของทั้งเมืองไทยและจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อให้คอกาแฟได้ลิ้มลองรสชาติพิเศษของกาแฟที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ที่ได้นำทางให้คุณซานมาเจอกับพี่ดำรง และทำงานร่วมกันมานานกว่า 15 ปี เรียกได้ว่าพี่ดำรง คือหนึ่งในเกษตรกรที่เติบโตเคียงคู่ไปกับ Pacamara มาอย่างยาวนานเลยก็ว่าได้
“เกณฑ์การรับซื้อเมล็ดของ Pacamara สูงและยากมาก ยิ่งถ้าหากไม่เคยมาก่อน ก็น่าจะลำบากไม่น้อย อย่าง Defect ต้องไม่เกิน 3% Cupping Score ต้อง 80 ขึ้น อะไรแบบนี้ คือเกณฑ์มันเป็นเกณฑ์ของ Specialty Coffee จริง ๆ คือใกล้เคียงกับการประกวดเมล็ดกาแฟพิเศษเลยล่ะ แต่ดีนะ เพราะเราจะได้พยายามรักษาคุณภาพกาแฟของเราไม่ให้ตกเกณฑ์ เป็นการพัฒนากาแฟของไทยอีกทางหนึ่ง”
เกณฑ์มันเป็นเกณฑ์ของ Specialty Coffee จริง ๆ คือใกล้เคียงกับการประกวดเมล็ดกาแฟพิเศษเลยล่ะ แต่ดีนะ เพราะเราจะได้พยายามรักษาคุณภาพกาแฟของเราไม่ให้ตกเกณฑ์ เป็นการพัฒนากาแฟของไทยอีกทางหนึ่ง
“กาแฟสบาย ๆ” คือนิยามที่พี่ดำรงมอบให้กับกาแฟของตัวเอง ซึ่งเมล็ดกาแฟตัวนี้จะถูกนำไปเบลนด์ใน ฮักหม๊ดไจ๋ 13TH ANNIVERSARY BLEND กาแฟเบลนด์พิเศษ ที่จะนำเอาไอเดียและเอกลักษณ์ของ 5 ดอย 8 เกษตรกรมาเบลนด์ เพื่อฉลองครบรอบ 13 ปีของ Pacamara
โดยเมล็ดกาแฟ Thai Doi Pha Hee Arabica Washed ของพี่ดำรง เป็นเมล็ดที่ผ่านกระบวนการ Washed Process ที่เน้นความคลีนของรสชาติ เพื่อให้ได้รสชาติแบบนัตตี้ ผสมรสหวานฉ่ำของคาราเมล ที่เมื่อนำไปเบลนด์กับเมล็ดจากดอยอื่นแล้ว จะช่วยสร้างเอกลักษณ์ใหม่ ที่สามารถดื่มได้แบบสบาย ๆ ตามสไตล์ “Everyday Specialty – กาแฟสเปเชียลตี้ที่ดื่มได้ทุกวัน”
ฮักหม๊ดไจ๋ 13TH ANNIVERSARY BLEND
Roast Level : Medium Light
Taste Profile : Citrus, Plum, Dark Chocolate, Honey & Hint of Floral
-----
สนในผลิตภัณฑ์ติดต่อได้ที่ :
Facebook : Pacamaracoffee
Instagram : Pacamara_th
Website :
www.pacamaracoffee.com
โทร : 09 0902 0378
Coffee Traveler เป็นนิตยสารรายสองเดือน
ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ
และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ
.
สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ :
IN BOX Facebook : Coffee Traveler
.
ช่องทางการติดตามอื่น ๆ
Youtube : Coffee Traveler
Instagram : coffeetraveler_magazine
Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag
Website :
www.coffeetravelermagazine.com/
Tiktok : coffee traveler mag
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย