6 ชั่วโมงที่แล้ว • ประวัติศาสตร์

พุทธศตวรรษที่ ๑๑ : ยโสธรกับอาณาจักรเจนละ

ยโสธรในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไป คือ จังหวัดเกิดใหม่ แยกออกมาจากจังหวัดอุบลราชธานี มาไม่กี่สิบปีนี่เอง เห็นได้จากในเนื้อเพลง “สาวยโสธร” ผู้ประพันธ์เพลงยังใช้คำว่า “..สาวแห่งเมืองใหม่...” ทั้งนี้ คงเพราะยโสธร เพิ่งจะมามีสถานะเป็นจังหวัดในปี พ.ศ.๒๕๑๕ นี่เอง
ทั้งๆ ที่ว่ากันตามประวัติศาสตร์แล้ว ยโสธรในยุคปัจจุบัน มีอายุอานามมามากว่า ๒๐๐ ปีแล้ว และยิ่งไปกว่านั้น จริงๆ แล้วในพื้นที่ที่ตั้งจังหวัดยโสธรในปัจจุบันมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ย้อนหลังไปได้ไกลกว่านั้นมาก
อาณาเขตของจังหวัดยโสธร มีรูปลักษณ์เหมือนพระจันทร์เสี้ยวแบบคว่ำ ทางด้านใต้จะติดกับจังหวัดศรีสะเกษและอุบลราชธานี ทางด้านซ้ายหรือทิศตะวันตกจะติดกับจังหวัดร้อยเอ็ดโดยมีแม่น้ำชีกั้นเขตแดน
ทางด้านบนหรือทิศเหนือจะติดกับจังหวัดร้อยเอ็ดโดยมีลำน้ำยังกั้นเขตแดนเป็นบางช่วง ส่วนทางด้านขวามือหรือทิศตะวันออกจะติดกับจังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดอำนาจเจริญโดยลำเซบายเป็นเส้นแบ่งเขต ที่กล่าวให้เห็นถึงอาณาเขตพื้นที่ของจังหวัดยโสธรก็เพื่อให้เห็นภาพความเชื่อมโยงของเมืองหรือชุมชนที่อยู่รอบข้างที่มีผลต่อประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัยร่วมกัน
ภายในเขตพื้นที่จังหวัดยโสธรนั้น มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่นักวิชาการได้ศึกษาค้นคว้าและกล่าวถึงอยู่มากพอสมควรที่แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ที่เป็นจังหวัดยโสธรในปัจจุบันเคยมีผู้คนอาศัยอยู่มาก่อนเป็นเวลานานหลายครั้งแล้ว ก่อนที่จะมาถึงยุคปัจจุบันในช่วงสมัยกรุงธนบุรีที่มีการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองที่ “บ้านสิงห์ท่า” ก่อนจะมาเป็นเมืองยศสุนทร และเมืองยโสธร ดังปัจจุบัน
หากเราจะแง้มเปิดดูหน้าประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับยโสธร เรื่องแรกที่มีหลักฐาน และเอกสารอ้างอิงที่เราควรจะหยิบมาพูดถึงก่อนเพื่อนคือ ดินแดนยโสธรคือจุดเริ่มต้นของอาณาจักรเจนละ หรือ อาณาจักรอิศานปุระ
หน้าประวัติศาสตร์ของดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเอเชียอาคเนย์ บอกให้รู้ว่าในดินแดนแถบนี้ มีผู้คนอยู่อาศัยกันมายาวนานหลายพันปี และมีแว่นแคว้นหรืออาณาจักรโบราณที่ก่อเกิด มีอิทธิพลแผ่ขยาย อ่อนแรงและล่มสลายไปมากมายก่อนจะมาถึงยุคปัจจุบัน เปรียบเหมือนดังแผ่นกระดาษที่มีการซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ
ดินแดนในและที่ล้อมรอบภาคอีสานของไทยในปัจจุบัน มีอาณาจักรเก่าแก่ที่โดดเด่นอยู่หลายแห่ง เริ่มตั้งแต่อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ (แถบจังหวัดนครพนมในปัจจุบัน) ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล ก่อนที่จะเกิดอาณาจักรฟูนัน ซึ่งเป็นอาณาจักรที่เก่าแก่และมีหลักฐาน ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของอาณาจักร
เขตอาณาจักรฟูนันจะอยู่แถบแม่น้ำโขงตอนล่าง (บริเวณประเทศกัมพูชาและเวียตนามในปัจจุบัน) และแผ่ขยายมาจนถึงบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในปัจจุบัน โดยช่วงเวลาของอาณาจักรฟูนันจะอยู่ในช่วงราว พ.ศ. ๖๑๑ – ๑๐๙๓
ในเวลาไล่เลี่ยกับอาณาจักรฟูนัน ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๗ จะมี อาณาจักรจามปา อยู่แถบริมฝั่งทะเลด้านตะวันออก มีศูนย์กลางอยู่แถบเมืองเว้ (เวียตนามในปัจจุบัน)
ตามบันทึกของจีน อาณาจักรฟูนันล่มสลายลงเพราะการก่อเกิดของ อาณาจักรเจนละ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑ อาณาจักรเจนละ นักประวัติศาสตร์อธิบายว่าอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูลตอนปลาย หรือด้านบนของอาณาจักรฟูนัน
เมื่ออาณาจักรเจนละ ได้สถาปนาอำนาจและแผ่อิทธิพลจนสามารถยึดพื้นที่ของอาณาจักรฟูนันเข้ามารวมเป็นอาณาจักรเดียวกัน และได้สร้างเมืองใหม่เป็นเมืองหลวงชื่อ อีศานปุระ ขึ้นมา (อยู่ในเขตจังหวัดกัมปงธม ประเทศกัมพูชา) ต่อมา อาณาจักรเจนละได้เกิดความแตกแยก จนถูกแบ่งแยกออกเป็น ๒ ส่วน คือ เจนละบก (อยู่ทางด้านบน บริเวณเหนือลุ่มน้ำมูล-ชีตอนล่าง และขึ้นไปทางตอนบนจนถึงอาณาจักรน่านเจ้า) และเจนละน้ำ (อยู่ทางด้านล่าง บริเวณลุ่มน้ำโขงตอนล่าง จรดชายทะเล)
จนกระทั่งในภายหลัง ในราวปี พ.ศ. ๑,๓๕๖ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ได้รวมอาณาจักรเจนละบกและเจนละน้ำเข้าเป็นหนึ่งเดียว และสถาปนาอาณาจักรใหม่ คือ อาณาจักรขอม โดยเมืองพระนคร (ยโศธรปุระ บริเวณเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา) เป็นศูนย์กลาง นักประวัติศาสตร์จึงเรียกยุคสมัยนี้ “ยุคเมืองพระนคร” (พ.ศ.๑,๓๔๕ - ๑,๙๗๔) และพระสุริยวรมันที่ ๒ กษัตริย์ในอาณาจักรเขมรนี่เองที่เป็นผู้ให้สร้างปราสาทนครวัด โบราณสถานสำคัญของโลกให้คนในยุคปัจจุบันได้ชื่นชมในความมหัศจรรย์ของคนในอดีต
หน้าประวัติศาสตร์ข้างต้นที่เล่ามานั้น ดูอย่างไรก็ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับยโสธรดังที่ได้เกริ่นไว้แต่อย่างใด จุดเชื่อมต่อของประวัติศาสตร์อยู่ที่ การเกิดขึ้นของอาณาจักรเจนละ
ตามความเห็นเดิมของกลุ่มนักวิชาการชาวฝรั่งเศสมีความเชื่อว่า วิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรเจนละอยู่ในลุ่มน้ำโขงเป็นสำคัญ แล้วจึงขยายอำนาจเข้ามาในบริเวณทะเลสาปในเขตประเทศกัมพูชาปัจจุบัน โดยนักวิชาการฝรั่งเศสเชื่อว่าเมือง “เศรษฐปุระ” ที่ตั้งอยู่บริเวณปราสาทวัดภู เมืองจำปาศักดิ์ เป็นศูนย์กลางของบ้านเมือง ก่อนที่ได้ชัยชนะเหนืออาณาจักรฟูนัน และแผ่ขยายอำนาจลงไปจนถึงแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง หรือเขตประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน
ในบรรดากษัตริย์คนสำคัญของอาณาจักรเจนละ คือ พระเจ้าจิตรเสน หรือ มเหนทรวรรมัน ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าภววรมันที่ ๑ พระเจ้าจิตรเสนเป็นนักรบได้ร่วมกับพระเชษฐาก่อตั้งอาณาจักรเจนละขึ้น ก่อนพระเจ้าอีศานวรมัน พระโอรสชองพระเจ้าจิตรเสน จะได้รวบรวมพื้นที่ของอาณาจักรฟูนันได้ทั้งหมดและได้สร้างเมืองอีสานปุระขึ้นมา
แผนผังเมืองโบราณดงเมืองเตย อำเภอคำเขื่อนแก้ว (ภาพจากเว็บไซต์ ฐานข้อมูล แหล่งข้อมูลโบราณคดี ที่สำคัญในประเทศไทย)
อาจารย์ธิดา สาระยา นักประวัติศาสตร์ ได้ศึกษา ค้นคว้าจากหลักฐานต่างๆ แล้วได้เสนอความเห็นที่แตกต่างไปจากความคิดเดิมของกลุ่มนักวิชาการชาวฝรั่งเศสที่อยู่แต่เดิม โดยอาจารย์ธิดาฯ ได้สรุปว่า อาณาจักรเจนละเกิดจากการรวมตัวของแคว้นเศรษฐปุระของพระเจ้าภววรรมัน กับแว่นแคว้นของจิตรเสน
เมื่อรวมตัวกันได้แล้วจึงแผ่อิทธิพลจากดินแดนในเขตลุ่มน้ำมูล-ชีตอนล่าง ลงสู่ภาคตะวันออกของประเทศไทยในปัจจุบันจนถึงอรัญประเทศ และเข้าสู่รอบทะเลสาบเขมร และศูนย์กลางของแว่นแคว้นของจิตรเสน อยู่ที่ชุมชนบ้านเมืองโบราณในแถบจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธรในปัจจุบัน
และบริเวณที่มีหลักฐานให้เห็นว่าเป็นถิ่นกำเนิดของอาณาจักรเจนละ ก็คือ ชุมชนที่บ้านเมืองเตย บ้านตาดทอง บ้านบึงแก บ้านเปือยหัวดง บ้านโพนเมือง และอื่นๆ ในเขตจังหวัดยโสธร-อุบลราชธานี
โดยเฉพาะที่เมืองเตย (ดงเมืองเตย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร) นั้น อาจารย์ธิดาฯ ได้สรุปว่า
“..จากร่องรอยของหลักฐานโบราณคดีอันเก่าแก่และจารึกที่พบ สามารถลงความเห็นได้ว่าเมืองนี้เป็นภูมิลำเนาเดิมของกษัตริย์แห่งสกุลเสนะ กษัตริย์องค์สำคัญในสายสกุลนี้คือ พระเจ้าจิตรเสนหรือมเหนทรวรรมัน ทรงเป็นกษัตริย์นักรบที่สำคัญองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเจนละ”
จารึกดงเมืองเตย (ภาพจากเว็บไซต์ ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย)
เมืองเตยนั้นคงเป็นศูนย์กลางของกลุ่มเมืองเล็กเมืองน้อย ในลุ่มน้ำเซบก เซบาย เช่นที่บ้านตาดทองและบึงแก จากเมืองเตย ตระกูลเสนะขยายอำนาจออกไป เราจึงพบจารึกของมเหนทรวรรมันหนาแน่นในเขตที่ราบลุ่มน้ำมูล-ชี ตอนล่าง
เจนละที่มีจุดเริ่มต้นมาจากดินแดนในบริเวณจังหวัดยโสธรปัจจุบัน คือ ต้นประวัติศาสตร์ของอาณาจักรขอมแห่งเมืองพระนคร
รูปสิงห์ ที่ขุดค้นพบที่ดงเมืองเตย ปัจจุบันอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์อุบลราชธานี
หมายเหตุผู้เขียน
สำหรับผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ศึกษาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ อาณาจักรเจนละ: ประวัติศาสตร์อีสานโบราณ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธิดา สาระยา พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๓๘ และหากสนใจอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้หาดาวน์โหลดหนังสือ ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่ม ๑ โดย D.G.E. Hall ซึ่งแปลและจัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มาอ่านเพิ่มเติมได้
ติดตามอ่านเพิ่มเติม

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา