23 ธ.ค. เวลา 07:48 • สุขภาพ

อดนอนบ่อย ทำร้ายสมอง เป็นเหตุให้สมองเสื่อมจริงหรือ?

หลังจากควงเวรซีรีย์ เช้า-บ่าย-เช้า-ดึก มา ในที่สุดก็มีเวลานั่งเขียนอะไรบ้าง จริงๆไม่ต้องบุคลากรทางการแพทย์ ก็น่าจะรู้ว่าการนอนน้อยเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่เรื่องน่าตลกก็คือ คนทำงานโรงพยาบาลนี่แหละที่ไม่ค่อยได้นอนกัน
3
ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ใครๆก็รู้อยู่แล้ว แต่หลักฐานและการศึกษาเกี่ยวกับผลเสียของการนอนน้อย ก็มากขึ้นและละเอียดขึ้นทุกๆวัน และยิ่งตอกย้ำไปในทางเดียวกันว่าการนอนไม่พอ มีผลร้ายมากกว่าที่เราๆท่านๆเข้าใจกัน
การนอนของมนุษย์เราจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะใหญ่ๆคือ ช่วงหลับธรรมดา (Non-Rapid Eye Movement Sleep หรือ Non-REM Sleep) และ ช่วงหลับฝัน (Rapid Eye Movement Sleep หรือ REM Sleep)
1
ช่วงหลับธรรมดา หรือ Non-REM Sleep เป็นช่วงที่ดวงตาเคลื่อนไหวช้าลงจนไม่มีการเคลื่อนไหว โดยปกติแล้วจะเกิดขึ้นในช่วงแรกของการนอนหลับ เป็นช่วงที่ร่างกายมีการสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆ รวมถึงเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้น แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 (Stage 1) เริ่มง่วง เป็นช่วงที่เราเริ่มจะนอนหลับ โดยทั่วไปจะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ในระยะนี้สมองจะเริ่มทำงานช้าลง ถ้าถูกปลุกให้ตื่นในระยะนี้ เราจะไม่ค่อยงัวเงียหรืออาจจะรู้สึกว่าเรายังไม่ได้นอน บางคนอาจจะเคยเจอปรากฎการณ์ ตกใจตื่น (Hypnic Jerk) หรือการรู้สึกเหมือนกำลังจะตกจากที่สูง แล้วก็สะดุ้งตัวตื่นขึ้นมา นอกจากนี้บางคนอาจจะได้ยินหรือเห็นอะไรบางอย่าง(Hypnagogic Hallucination) ซึ่งการนอนในระยะนี้ไม่ค่อยส่งผลต่อร่างกายมากเท่าไร
1
ระยะที่ 2 (Stage 2) ช่วงผล็อยหลับหรือเคลิ้มหลับ เป็นช่วงรอยต่อระหว่างเริ่มหลับไปยังหลับลึก ในระยะนี้หัวใจจะเริ่มเต้นช้าลง อุณหภูมิในร่างกายจะลดลงเล็กน้อย ปกติในช่วงนี้จะใช้เวลามากกว่า 50% ของการนอน ซึ่งการนอนในระยะนี้จะส่งผลต่อร่างกายทั้งกระตุ้นความจำระยะสั้น รวมถึงเพิ่มสมาธิได้
ระยะที่ 3 (Stage 3) ช่วงหลับลึก ช่วงการหลับในระยะนี้ร่างกายจะเริ่มไม่ค่อยตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก ถ้าถูกปลุกช่วงนี้จะงัวเงียมาก ร่างกายจะอยู่ในภาวะพักผ่อนมากที่สุด และมีการหลั่ง Growth Hormone
ระยะที่สองคือช่วงหลับฝัน หรือ REM Sleep จะมีการเคลื่อนไหวไปมาของตาอย่างรวดเร็ว ในช่วงนี้สมองของเราจะทำงานใกล้เคียงกับตอนที่เราตื่น ช่วงนี้เป็นช่วงที่จะฝันมากกว่าการนอนหลับช่วงอื่นๆ การนอนหลับในช่วยนี้จะช่วยเรื่องการความทรงจำ การเรียนรู้ถาวร และการสร้างจินตนาการ
จากจุดเริ่มต้นของ REM ไปสู่จุดเริ่มต้นของ REM อีกรอบหนึ่ง จะเรียกว่า รอบการนอน (Sleep Cycle) ซึ่ง 1 รอบการนอนนั้นใช้เวลาประมาณ 90 นาที ซึ่งประกอบไปด้วยช่วง Non-REM ประมาณ 80 นาทีและช่วง REM อีก 10 นาทีในหนึ่งคืนของการนอน ควรจะมีจำนวนรอบการนอนประมาณ 3-6 รอบ จึงจะถือว่าเป็นการนอนที่ดีและมีประสิทธิภาพ
การนอนที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้เซลล์ประสาทในสมองทำงานน้อยลง การสร้างสัญญาณประสาทลดลง การคั่งของพวกไอออนทางไฟฟ้าน้อยลง ขนาดของเซลล์สมองมีขนาดปกติ ไม่บวม
สิ่งที่เป็นสิ่งที่สำคัญ เมื่อเซลล์สมองไม่บวม ทำให้ปริมาตรระหว่างเซลล์สมอง(Brain interstitial) เพิ่มมากขึ้น เพิ่มการทำงานของระบบ Brain glymphatic system ช่วยระบายของเสียในสมองให้ออกสู่น้ำไขสันหลัง ทำให้สมองเราสะอาด และพร้อมสำหรับวันใหม่
ในทางกลับกัน หากเรานอนไม่พอ เซลล์สมองมีแนวโน้มจะบวมเพิ่มขึ้น ช่องหว่างระหว่างเซลล์ลดลง glymphatic system ทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้มีสารพิษในระหว่างวันตกค้างในสมองเพิ่มมากขึ้น
1
สารพิษในสมองที่เรากลัวคือ Amyloid-β42 ซึ่งเดิมมีหน้าที่เกี่ยวกับการสื่อสารของเซลล์ประสาท หากสะสมอยู่ในสมองเป็นเวลานานอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและตกตะกอนในสมอง อีกตัวหนึ่งคือ Tau protein เป็นโปรตีนโครงสร้างของเซลล์สมอง (Microtubule) แต่หากมีการสะสมมากขึ้น จะถูกเติมหมู่ฟอสเฟตและตกตะกอนในที่สุด
1
ทั้งสองตัวนี้สามารถตกตะกอนแล้วทำลายสมองได้ มีการศึกษาที่บ่งชี้ว่า สารพิษทั้งสองมีนัยสำคัญต่อการสูญเสียความทรงจำ(Cognitive Dysfunction) และภาวะสมองเสื่อม(Demantia) ได้มากถึง 35.2% และพบว่าเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดภาวะอัลไซน์เมอร์(Alzheimer Disease) จนกลายเป็นเป้าหมายทางยาของการรักษาโรคอัลไซน์เมอร์ นำไปสู่การคิดค้นยาชีววัตถุอย่าง solanezumab, aducanumab โดยเมื่อพื้นฐานจากสารพิษดังกล่าว
2
นอกจากที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีความเสี่ยงอีกมากมายที่เกิดขึ้นได้จากการนอนไม่พอ ทั้งภาวะอารมณ์แปรปรวน ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ และอื่นๆอีกมากมาย ปีใหม่นี้ หากไม่รู้จะลงทุนอะไร ก็ให้ลองลงทุนกับสุขภาพและการนอนที่ดี เพราะสุขภาพที่ดี ซื้อไม่ได้
อ้างอิง
โฆษณา